โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction Diseases : ED)

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction Diseases : ED)

โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศคืออะไร โรค อี.ดี. (E.D.) หรือ คำเต็ม คือ erectile dysfunction diseases ความหมายคือ ความบกพร่องของการแข็งตัวขององคชาต  นี่คือความหมายที่ตรงที่สุด ส่วนคำว่า "หย่อนสมรรถภาพทางเพศ" แพทย์จะใช้ศัพท์ว่า impotent เพราะมีความหมายกว้างกว่า เช่น ความสนใจทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ร่วมเพศไม่ได้ มีความผิดปกติของการหลั่งอสุจิ เช่น หลั่งเร็วเกินไป เป็นต้น ก็จะเรียกอาการเหล่านี้รวมๆ กันว่า หย่อนสมรรถภาพทางเพศ  แต่ในปัจจุบันมักจะเรียกอาการเหล่านี้รวมๆ กันว่า โรค ED.  โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เป็นปัญหาสุขภาพเพศชายที่สำคัญ เนื่องจากมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของชีวิตซึ่งผู้ป่วยโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่มีโรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน จึงขาดข้อมูลทางสถิติที่เป็นปัจจุบัน จากการสืบค้นข้อมูลความชุกโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่เก็บอย่างเป็นระบบในประเทศไทย พบข้อมูลล่าสุดเมื่อปีพ.ศ.2542 ซึ่งพบอัตราความชุกร้อยละ37.50โดยโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุและการมีโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคร่วม 

            ส่วนกลไกการแข็งตัวขององคชาตนั้นโดยปกติแล้ว "แข็ง" หรือ "ไม่แข็ง" เป็นสิ่งที่ผู้ชายทุกคนรู้สึกได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับอวัยวะเพศของตนเอง แต่เชื่อว่ามีไม่กี่คนที่จะเข้าใจถึงกลไกตามธรรมชาติ ว่าเกิดขึ้นอย่างไร ศ.นพ.กฤษฎา รัตนโอฬาร ได้อธิบายให้ฟังตามหลักวิชาการแพทย์ว่า

"อวัยวะเพศชายเปรียบเทียบเหมือนฟองน้ำ ถ้าหากเราตัดตามขวาง จะเห็นเป็นโพรงเต็มไปหมด ซึ่งโพรงเหล่านี้มีผนังที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบและเนื้อเยื่อต่างๆ แล้วก็เป็นโพรงที่เลือดจะไหลเข้าไป คือเวลาปกติเลือดแดงจะไหลเข้าไปในโพรงนี้ เพื่อเอาอาหาร และออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ แล้วก็ไหลออกมาเป็นเลือดดำ ทีนี้เวลาจะแข็งตัวเลือดก็จะเข้าไปคั่งในโพรงนี้มากขึ้น โพรงนี้ก็ยืดออกทำให้อวัยวะเพศขยายตัวออกไป พอยืดออกไปมากๆ จะเหมือนปลิงดูดเลือด คือจะเป่งออกก็จะไปกดเลือดดำทำให้ไหลออกไม่ได้ เลือดก็จะขังอยู่ในโพรงนี้มาก นั่นคือการแข็งตัวเต็มที่

"การแข็งตัวขององคชาตต้องมีสิ่งเร้า ซึ่งก็มีหลายองค์ประกอบ เช่น ประการแรกจะเกิดจากการกระตุ้นที่อวัยวะเพศโดยตรง สองเกิดจากการกระตุ้นเร้าอารมณ์ ทางด้านรูป รส กลิ่น เสียง เป็นจินตนาการ และสามเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติสรีรวิทยาของผู้ชายตอนนอนหลับ ซึ่งจะมีการแข็งตัวเป็นระยะๆ ขณะที่หลับไปแล้วโดยที่เจ้าตัวไม่ทราบ บางคนสงสัยว่านอนหลับแล้ว ทำไมองคชาตจึงแข็งตัวได้ อันนี้เข้าใจว่าคงเป็นกลไกตามธรรมชาติ ที่จะนำเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อให้มากขึ้น เพราะถ้าไม่มีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้น หรือว่าได้อาหารน้อย ก็จะเสื่อมเหมือนอวัยวะทั่วๆ ไป การแข็งตัวจะสิ้นสุดลงเมื่อผู้ชาย มีการหลั่งอสุจิ หรือหมดความสนใจทางเพศ ภาวะดังกล่าวเลือดที่จะไหลเข้าไปก็ลดลง ฉะนั้นเลือดดำก็จะไหลออกไป เมื่อมีเลือดคั่งอยู่ในฟองน้ำน้อยลง อวัยวะเพศก็อ่อนตัว"

สาเหตุของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศมีสาเหตุที่สำคัญ 2 ประการได้แก่ สาเหตุทางกาย และสาเหตุทางจิตใจ สามารถจัดหมวดหมู่ข้อมูลของสาเหตุได้เป็น 7 สาเหตุกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

1. อายุที่เพิ่มขึ้น พบว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นพบอุบัติการณ์การเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศเพิ่มมากขึ้นด้วยซึ่งเกิดจากการเสื่อมของต่อมที่ผลิตฮอร์โมน testosterone ทำให้ระดับฮอร์โมนลดลง   

2. โรคประจำตัวพบว่าโรคประจำตัวหลายโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมา ดังนี้ 

2.1โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีผลกระทบทำให้การไหลเวียนของเลือดแดงไปยัง องคชาตลดลงนอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงยังมีผลทำให้องคชาตไม่แข็งตัวอีกด้วย

2.2 โรคเบาหวาน มักพบเมื่อมีอาการแสดงของโรคเบาหวานตั้งแต่5 ปีขึ้นไป โดยผลกระทบของโรคมีผลต่อการทำลายหลอดเลือด ระบบประสาท และระบบฮอร์โมน ประกอบกับการมีโภชนาการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมเช่น รับประทานอาหารพวกแป้งและไขมันมากเกินไป ทำให้มีไขมันไปสะสมตามหลอดเลือด ซึ่งนำไปสู่การเสื่อมของหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น

2.3โรคต่อมลูกหมากอักเสบ พบว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแข็งตัวขององคชาตไม่เต็มที่และไม่สามารถควบคุมการหลั่งอสุจิได้ความรุนแรงขึ้นอยู่กับการอักเสบที่เกิดขึ้น

3. การผ่าตัดและการบาดเจ็บในอุ้งเชิงกราน ทำให้ใยประสาทจากบริเวณไขสันหลังที่ไปควบคุมการ

แข็งตัวขององคชาตถูกตัดหรือถูกทำลาย ส่งผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมา

  1. ยาที่ใช้ในการรักษาโรคประจำตัวบางชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งที่มีหลักฐานที่ชัดเจน

ว่าหลังการใช้ยาจะส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้เช่น ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยาฮอร์โมนโกลนาโดโทรฟินที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ยาต้านโรคลมชักยาต้านความดันโลหิตสูงล้วนมีผลให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่รุนแรงมากขึ้น

5. ภาวะทางจิตใจเช่น ความเครียด ความวิตกกังวลโรคซึมเศร้า รวมถึงผลจากความคิดด้านลบที่มีต่อ

ตนเองซึ่งจะส่งผลให้ความรู้สึกต้องการทางเพศลดลง ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

6. สังคมและเศรษฐกิจ พบว่าอาชีพและรายได้มีผลต่อการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โดยผู้ที่มี

การศึกษาและรายได้สูง มีโอกาสเกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้น้อยกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำ เนื่องจากมีการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในการดูแลสุขภาพอนามัยทั่วไป รวมถึงเรื่องสุขภาพทางเพศ และเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ดีกว่า

7. พฤติกรรมสุขภาพและปัจจัยอื่นๆ ดังนี้

            7.1  การสูบบุหรี่สารเคมีในบุหรี่จะทำลายหลอดเลือด และก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูงมะเร็งต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตที่ทำให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมา

             7.2  การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการนอน

พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง

             7.3 การออกกำลังกายผลจากการออกกำลังกายสม่ำเสมอทำให้ร่างกายแข็งแรงฮอร์โมนในร่างกายสมดุลอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส ซึ่งผู้ที่ออกกำลังกายมีโอกาสเกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเลย

             7.4 พฤติกรรมทางเพศ เช่น รูปแบบการมีกิจกรรมทางเพศ ค่านิยม ความรู้ความต้องการทางเพศคุณค่า และความรู้สึกนึกคิดต่อการมีเพศสัมพันธ์เช่น การมีพฤติกรรมทางเพศที่รุนแรงแล้วทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บหรือมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์จนต้องหยุดการมีเพศสัมพันธ์อย่างกะทันหัน ทำให้รู้สึกสูญเสียคุณค่าและ เกิดความรู้สึกผิดต่อการมีเพศสัมพันธ์บางคนจำฝังใจจนถึงขั้นที่พออีกฝ่ายบอกว่าเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์องคชาตจะอ่อนตัวลงอย่างกะทันหันและไม่กลับมาแข็งตัวอีก ส่งผลให้เกิดการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

อาการของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศนั้นจะมี 3 ลักษณะ 
            1. ไม่มีความรู้สึกหรือความต้องการทางเพศ
            2. อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือแข็งได้ไม่ดีพอ หรือไม่นานพอที่จะเกิดความพึงพอใจ ในเพศสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

            3. การหลั่งน้ำกามเร็วเกินไป

            นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งระดับความรุนแรงของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศออกเป็น 3 ระดับดังนี้

            ระดับที่ 1 การหย่อยสมรรถภาพทางเพศระดับเล็กน้อย คือ องคชาตสามารถแข็งตัวได้ดีพอสำหรับที่จะมีเพศสัมพันธ์เกือบทุกครั้ง

            ระดับที่ 2 การหย่อนสมรรถภาพทางเพศระดับปานกลาง คือ องคชาตสามารถภาพทางเพศโดยสิ้นเชิง คือ องคชาตไม่สามารถแข็งตัวได้ดีพอสำหรับที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยเกิดอาการนี้ทุกครั้งที่มีความรู้สึกต้องการทางเพศ

แนวทางการรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  การวินิจฉัยภาวะนี้ไม่ยาก คนเป็นเองก็รู้อยู่แก่ใจแล้ว ซึ่งแพทย์เพียงแต่จะช่วยหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยการซักถามจากประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการง่ายๆ ดังนั้นหน้าที่ของคนไข้คือบอกความจริงแก่แพทย์ให้มากที่สุด

การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ปัจจุบัน การรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศส่วนใหญ่รักษาตามสาเหตุที่เกิด โดยวิธีการรักษาเริ่มตั้งแต่การชี้แนะให้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง การกระตุ้นด้วยอุปกรณ์การใช้ยา และการผ่าตัด ดังรายละเอียดต่อไปนี้คือ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คือ ควรเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม เพราะถ้าเข้านอนดึกกว่านั้นและยังนอนหลับไม่สนิท จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศทำได้ไม่สมบูรณ์

  1. การชี้แนะให้ปฏิบัติตัว

1.1 ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ ฝึกโยคะ เต้นรำ หรือหางานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ทำประจำ ซึ่งควรเป็นงานที่ทำแล้วเพลิดเพลิน สามารถดึงตัวเองออกมาจากความเครียดได้

1.2 ให้คนอื่นช่วย เช่น เข้าคอร์สการบำบัดความเครียดตามโรงพยาบาลหรือคลินิกสุขภาพ การทำสปา อบไอน้ำ นวดตัวซึ่งมีการนวดหลายแบบให้เลือก อบสมุนไพร อบเซาว์น่า การเข้าคอร์สเพื่อล้างพิษ หรือการฝังเข็มเป็นต้น

1.3 เมื่อความเครียดลดลงแล้ว เริ่มฟื้นฟูความสามารถทางเพศอย่างที่เคยมีมา ถ้าคุณแต่งงานแล้ว คนที่ควรพูดคุยและขอความร่วมมือก็คือภรรยา ไม่แนะนำให้ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการ เพราะอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. การกระตุ้นด้วยอุปกรณ์  การใช้ปั๊มสุญญากาศ เป็นวิธีการรักษาง่ายๆที่ได้ผลดีเกือบร้อยละ 90 แต่อาจรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติอีกทั้งการต้องใช้ยางรัดที่โคนองคชาต อาจทำให้ผู้ใช้รำคาญ รู้สึกชา หลั่งน้ำอสุจิไม่สะดวก จึงได้รับความนิยมไม่มากนักอย่างไรก็ตาม การใช้ปั๊มสุญญากาศเป็นวิธีทางเลือกที่เหมาะกับผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะลงทุนเพียงแค่ครั้งเดียว
  2. การรักษาด้วยยา

3.1 ยากลุ่มยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ phosphodiesterase-5 (PDE-5 inhibitor) เนื่องจากการกระตุ้นให้องคชาตแข็งตัวนั้น เส้นประสาทในองคชาติจะมีการปล่อยสาร “ไนตริกออกไซด์” ออกมากระตุ้นให้มีการสร้างสารไซคลิกจีเอ็มพี (cGMP) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ sinusoid ในองคชาตหลังจากนั้นองคชาตจึงแข็งตัว โดยสารไซคลิกจีเอ็มพีจะถูกทำลายโดยเอ็นไซม์ PDE-5 ดังนั้น การรับประทานยากลุ่ม PDE-5 inhibitor จึงช่วยชดเชยให้การแข็งตัวขององคชาตดีขึ้น ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ยาซิลเดนาฟิล (sildenafil) และที่กำลังจะวางจำหน่ายอีกหลายชนิด เช่น ทาดาลาฟิล(tadalafil)  และวาเดนาฟิล (vardenafil) โดยให้รับประทานก่อนมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 1 ชั่วโมง ผลข้างเคียงของยาที่พบได้แก่ อาการปวดศีรษะ ร้อนวูบ จากการที่มีหลอดเลือดขยายตัว ซึ่งยามีค่าครึ่งชีวิตที่ยาวนาน คือ ประมาณ 17 ชั่วโมง

3.2 ยากลุ่มอะโปอมร์ฟีน  (apomorphine) ให้อมใต้ลิ้น ประมาณ 10 นาที ก่อนมีเพศสัมพันธ์ยากลุ่มนี้ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานกับยากลุ่มไนเตรต ประสิทธิภาพประมาณร้อยละ 50 ได้ผลเร็วภายใน 30 นาที ผลข้างเคียงของยาที่พบได้คือ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่บริเวณศูนย์ควบคุมการแข็งตัวขององคชาตบริเวณ paraventricular nucleus (PVN) ซึ่งอยู่ในบริเวณก้านสมอง

3.3 ยากลุ่มที่ใช้สอดทางท่อปัสสาวะ หรือ medicatedurethral system forerection (MUSE)จะมีตัวยาprostaglandin E-1 ซึ่งออกฤทธิ์เป็นยาขยายหลอดเลือด แต่การสอดทางท่อปัสสาวะต้องใช้ขนาดยาสูงและร้อยละ30 มีอาการแสบภายในท่อปัสสาวะขณะสอดยาอีกทั้งยามีราคาค่อนข้างสูงจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักอย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง

3.4ยาฉีดเข้าโคนองคชาต (intracavernous injection therapy: ICI) กลุ่มนี้มียาขยายหลอดเลือดหลายๆ ชนิด แต่ที่นิยมมากที่สุดจะเป็นกลุ่ม prostaglandin E-1(caverject) เช่นเดียวกับยาสอด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่กลัวการฉีดยาเข้าตัวเอง และมีอาการปวดหลังการฉีดได้บ่อยอีกทั้งยามีราคาแพง จึงหมดความนิยมลงไป ทั้งๆ ที่ได้ผลดีถึงร้อยละ 90

  1. การผ่าตัดใส่แกนองคชาตเทียม แกนองคชาตเทียมที่ได้รับความนิยมจะเป็นแบบ 3 ชิ้น คือ มีแกน 2แกนปั๊มน้ำ และถุงเก็บน้ำ การผ่าตัดทำได้ง่ายมาก มีเพียงแผลขนาดเล็กระหว่างโคนองคชาตกับถุงอัณฑะ ยาว 1 นิ้วการผ่าตัดเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ได้ผลใกล้เคียงกับธรรมชาติแต่มีข้อเสียคือ มีราคาแพงมากการรักษาแต่ละวิธีนั้น มีข้อดีข้อเสียและความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายที่แตกต่างกัน

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

1. โรคเรื้อรังทางระบบหลอดเลือดและประสาท เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดตีบเป็นต้น

2. โรคระบบต่อมไร้ท่อ ที่สำคัญคือโรคเบาหวาน

3. โรคเกิดจากการผ่าตัด หรือภยันตรายต่าง ๆ เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หรือกระเพาะปัสสาวะ โรคของไขสันหลัง

4. โรคทางจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

5. บุหรี่และเหล้า

6. ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางตัว ยากล่อมประสาท ยาฮอร์โมน และยาโรคกระเพาะเป็นต้น

การติดต่อของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาทางด้านร่างกาย ซึ่งก็คือโรคภัยต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคระบบต่อมไร้ท่อ ฯลฯ ภาวะโรคทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า รวมถึงการขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศนี้ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อเพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คนหรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. ปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำ หรือกินยา หรือฮอร์โมนตามที่แนะนำ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้ระบบต่างๆของร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะมีผลทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นด้วย
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะจะช่วยในเรื่องการบำรุงสมรรถภาพทางเพศอีกทางหนึ่ง
  4. หมั่นพูดคุยปรับความเข้าใจกับภรรยาและทำชีวิตครอบครัวให้เป็นสุข อันจะเป็นการลดความเครียดในครอบครัวที่ส่งผลถึงสมรรถภาพทางเพศ
  5. หากเป็นโรคต่างๆที่มีผลกระทบทำให้เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศให้รีบทำการรักษาอย่างรวดเร็ว และควรปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำในโรคนั้นๆ
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มสุราเพราะมีผลการศึกษาวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

การป้องกันตนเองจากโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  1. หลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะเหล้า บุหรี่ และอาหารไขมันสูง
  2. ควบคุมโรคที่เป็นอยู่แต่เนิ่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  3. บำรุงร่างกาย และจิตใจให้ผ่องใส แข็งแรง
  4. รักษาชีวิตครอบครัวให้เป็นสุข
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยการออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะทำให้กล้ามเนื้อต่างแข็งแรง
  6. การนวดกระตุ้นองคชาตจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่เข้าไปในองคชาติ เมื่อทำเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้เส้นเลือดขยายตัวเนื้อเยื่อแข็งแรง
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คือ ควรเข้านอนไม่เกิน 5 ทุ่ม เพราะถ้าเข้านอนดึกกว่านั้นและยังนอนหลับไม่สนิท จะทำให้การสร้างฮอร์โมนเพศทำได้ไม่สมบูรณ์

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

กระชายดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia parviflora Wall. ex Baker ชื่อภาษาอังกฤษ คือ black ginger อยู่ในวงค์(Zingiberaceae) ในเหง้ากระชายดำ ประกอบด้วยสารสำคัญต่างๆ ได้แก่ น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ (flavonoids) กลุ่มฟลาโวน (flavones) เช่น 5,7-dimethoxyflavone, 5,7,4'-trimethoxyflavone, 5,7,3', 4'-tetramethoxyflavone และ 3,5,7,3',4'-pentamethoxyflavone กลุ่มสารแอนโทไซยานิน (antho-cyanins) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) อื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีเข้ม จะมีปริมาณสารฟีนอลิกรวมและสารฟลาโวนอยด์สูงกว่าพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง ส่วนพันธุ์ที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง จะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าพันธุ์ที่มีสีเข้ม  สรรพคุณในตำรายาไทยของกระชายดำ ระบุว่าเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกาม เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ในการใช้แบบพื้นบ้าน จะนำมาทำเป็นยาลูกกลอน โดยเอาผงแห้งมาผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน หรือทำเป็นยาดองเหล้าและดองน้ำผึ้ง

สำหรับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฤทธิ์ทางชีวภาพ และเภสัชวิทยาของกระชายดำที่สนับสนุนสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสมรรถภาพทางเพศของกระชายดำ พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเหง้ามีผลทำให้พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ทดลองดีขึ้น และมีผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์โดยเพิ่มน้ำหนักของท่อพักเชื้ออสุจิ ถุงน้ำอสุจิ ต่อมลูกหมาก และกล้ามเนื้อก้นของหนู

สารสกัดจากเหง้ายังมีผลเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศของสัตว์ทดลอง มีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบองคชาต (carvernosum) ของหนูแรท และกล้ามเนื้อเรียบอวัยวะเพศผู้ของคนที่ได้จากการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อคลายตัว เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี ทำให้อวัยวะเพศเกิดการแข็งตัว นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและสารกลุ่มฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัวและขยาย เลือดจึงไหลเวียนเข้าสู่อวัยวะเพศได้ดี

การศึกษาในอาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี อายุเฉลี่ย 65.05±3.5 ปี ที่รับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากกระชายดำ ขนาด 25 และ 90 มก./วัน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่าสารสกัด ขนาด 90 มก./วัน มีผลเพิ่มการตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางเพศ (erotic stimuli) ของอาสาสมัครได้ โดยเพิ่มขนาดและความยาวขององคชาติ ลดระยะเวลาในการหลั่งน้ำกาม และเพิ่มความพึงพอใจต่อการแข็งตัว (erection satisfaction) และผลยังคงอยู่จนถึง 2 เดือนที่ได้รับสารสกัดอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อหยุดให้สารสกัดก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่แคปซูลกระชายดำไม่มีผลต่อระดับของฮอร์โมน testosterone, FSH, LH, cortisol และ prolactin

จากข้อมูลรายงานการวิจัยจะเห็นว่า กระชายดำมีผลเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเพศคลายตัว ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาสนับสนุนสรรพคุณพื้นบ้านของกระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กระชายดําไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ช่วยทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ง่าย และบ่อยขึ้น มีระยะเวลาในการแข็งตัวที่นานขึ้น

กวาวเครือแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea superba Roxsb. วงศ์Fabaceae สรรพคุณ หัวใต้ดิน ทำให้นอนหลับและเสพติดเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง บำรุงความกำหนัด เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ สาระสำคัญ Butenin สารในกลุ่ม Isoflavonvids flavonoids flavonoid glycosides 

การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด หลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

  1. กวาเครือแดงและสารสกัดแอลกกอฮอล์ออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase (PDE) ทำให้ cavernosal smooth muscle เกิดการคลายตัว ทำให้ปริมาณเลือดที่เข้าไปในองคชาตของเพิ่มขึ้น ความยายขององคชาตเพิ่มขึ้น และเหนี่ยวนให้เกิดการแข็งตัวขององคชาต
    1. ทำให้จำนวนและการเคลื่อนที่ของอสุจิเพิ่มขึ้น
    2. ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลและ testosterone เพิ่มขึ้น
    3. ประสิทธิภาพจะขึ้นกับขนาดที่ให้

การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นกำหนด
การทดลองทางคลินิก การศึกษาในเพศชาย อายุระหว่าง 30-70 ปี 17 คน และมีประวัติว่ามีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ให้รับประทานกวาวเครือแดงแคปซูลขนาด 250 มก. วันละ 2 แคปซูล ใน 4 วัน แรก หลังจากนั้นให้รับประทานวันละ 4 แคปซูล จนครบ 3 เดือนแล้ว ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับดัชนีชี้วัดสมรรถภาพทางเพศ (IIEF-5) ในทุกๆสองสัปดาห์พบว่า กวาวเครือแดงไม่มีผลต่อค่าเลือดและระดับ testosterone ซึ่งไม่ต่างกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ผลคะแนนจากแบบสอบถาม  (IIEF-5) พบว่ากวาวเครือแดงทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้น 82.4%

ถั่งเช่า (ตังถั่งเช่า ตังถั่งแห่เช่า หญ้าหนอน) ชื่อวิทยาศาสตร์ Ophiocordy ceps sinensis  วงศ์  Ophiocordycipitacceae สรรพคุณ กระตุ้นกำหนัด บำรุงร่างกาย บำรุงปอด ตับ ไต สาระสำคัญ galactomannan, adenosine, cordycepin , cordycepic acid, ergosterol, β-sitosterol, Vitamins, monerals

การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด หลอดทดลองและสัตว์ทดลอง การศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัขวิทยาในหลอดทอลองและสัตว์ทดลองพบว่าถั่งเข่ามีฤทธิ์ปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ

การทดลองทางคลินิก การวิจัยในผู้ชาย 22 คน  ใช้ถั่งเช่าเป็นอาหารเสริม พบว่าช่วยเพิ่มจำนวนของอสุจิและลดปริมาณของอสุจิที่ผิดปกติลง กรณีศึกษาในผู้ป่วยทั้งชายและหญิง 189 คน ที่มีความต้องการทางเพศลดลง พบว่าถั่งเช่าสามารถให้อาการและความต้องการทางเพศสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการรับประทานถั่งเช่าจะช่วยปกป้องและช่วยให้การทำงานของต่อมหมวกไตดีขึ้น ฮอร์โมนจากต่อมไทมัสและจำนวนของอสุจิที่สามารถปฏิสนธิได้เพิ่มขึ้น และช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศของผู้หญิงได้

ข้อควรระวังในการใช้ถั่งเช่า

  1. ระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
  2. ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
  3. ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากถั่งเช่ามีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน
  4. ไม่ควรใช้กับหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็ก เนื่องจากยังขาดมีข้อมูลด้านความปลอดภัย
  5. ห้ามใช้ในคนที่แพ้เห็ด Cordyceps ผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และผู้ป่วยที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าอาหารรสเผ็ดร้อนต่างๆ จะช่วยกระตุ้นกำหนัดได้ เช่น เครื่องเทศต่างๆ หัวหอม กระเทียม  พริกไทย  โสมต่างๆ ในแปะก๊วย (จิงโกะ) เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

  1. พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์.(2547).คู่มือ “เซ็กซ์”กรุงเทพฯ ก.พล.
  2. Hatzimouratidis, K., et al. (2554). เพศสัมพันธ์ในผู้สูงอายุ.วารสาร มฉก.วิชาการ,15(29),97-112.
  3. จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์.คุณผู้ชายกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.คอลัมน์ บทความวิชาการ.วารสารก้าวทันโลกวิทยาศาสตร์.ปีที่6 ฉบับที่1.2549.หน้า31-40
  4. รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์.เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(ตอนที่1).ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ.(2553).เอกสารประกอบประชุมวิชาการเรื่อง โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.เครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ. ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ กรุงเทพฯ วันที่ 29 กันยายน 2553.
  6. ธารดาว ทองแก้ว.”อี.ดี.”ปัญหาทางเพศที่ผู้ชายกลัวที่สุด.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่292.คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก.สิงหาคม.2546
  7. ชัชวาล วงค์สารี. โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.บทบาทพยาบาล.คอลัมน์บทความวิชาการ.วารสารวิทยาลัยพยาบาลปกเกล้า จันทบุรี.ปีที่ 27.ฉบับที่2.มีนาคม-สิงหาคม.2559.หน้า133-139
  8. อรัญญา  ศรีบุศราคัม.กระชายดำกับสมรรถภาพทางเพศ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. Kongkanand, A. (2000). Prevalence of erectile dysfunction in Thailand. Thai Erectile Dysfunction Epidemiological Study Group. International Journal of Andrology, 23(suppl. 2), 77-80.
  10. รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์.เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ(ตอนที่2).ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. สมภพ เรื่องตระกูล.(2546.) ความผิดปกติทางเพศ.กรุงเทพฯ เรือนแก้วการพิมพ์.
  12. ชนิกร เจริญจิตต์กุล. (2554). เพศสัมพันธ์ในผู้สูงอายุ.วารสาร มฉก.วิชาการ, 15 (29), 97-112.
  13. ผศ.ดร.วีณา นุกูลการ.สมุนไพรกับภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  14. ศัรัณยพร กิจไชยา, จริยา อัครวรัณธร, และสลักจิต ชุติพงษ์วิเวท. (2555). การศึกษาวิเคราะห์ยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่ผิดกฎหมายในเขตภาคตะวันออกของประเทศไทย. วารสารอาหารและยา, 19(1), 44-51.