โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease)

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease)

โรคอัลไซเมอร์คืออะไร โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้ค้นพบครั้งแรกโดยจิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ Alois Alzheimer ในปี พ.ศ. 2499 ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมอง ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย ในช่วง 8 -10 ปี หลังจากเริ่มมีอาการและไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีอาการสมองเสื่อมรุนแรงยิ่งขึ้น

            โดยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer,s disease, AD) นี้มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้ป่วยภาวะสมองทั้งหมด จะมีอาการหลงลืม โดยจะลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมว่าวันนี้รับประทานอาหารเช้าหรือยัง ลืมว่าเคยพบใครในวันนี้ ชอบพูดซ้ำ ถามคำถามซ้ำ สติปัญญาความเฉลียวฉลาดลดลง ทักษะต่างๆ เริ่มสูญเสียไป การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป และทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

            ในปี ค.ศ.2007 มีการรายงานว่าประเทศสหรัฐอเมริการมีผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer,s disease, AD) มากถึง 5 ล้านคน และจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 16 ล้านคน ในอีก 40 ปีข้างหน้า ในประเทศทางแถบซีกโลกตะวันตก พบว่าโรคอัลไซเมอร์จะเกิดกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเพิ่มขึ้นตามอายุ จากบุคคลที่มีอายุ 60-64 ปี มีอัตราเสี่ยงประมาณ 1-3% บุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีอัตราเสี่ยง 6-8% และเพิ่มขึ้นเป็น 30-40% ในบุคคลที่อายุมากกว่า 85 ปี

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุและการดำเนินโรคของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนักในปัจจุบัน งานวิจัยบ่งชี้ว่าโรคนี้มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างคล้ายคราบในสมองที่เรียกว่า พลาก (plaque) และแทงเกิล (tangle)  และความผิดปกติที่มีผลโดยตรงต่อสมอง ซึ่งเป็นศูนย์การสื่อสารที่น่ามหัศจรรย์ในการควบคุมความรู้สึก และการตอบสนอง การสื่อสารที่สำคัญต่างๆ ในร่างกายจะถูกส่งผ่านสมอง โดยมีสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (NEURO-TRANMITTER) เป็นตัวสื่อสาร สารนี้จะช่วยนำคำสั่งจากสมองไปยังอวัยวะเป้าหมายเพื่อให้เกิดการทำงานขึ้น สำหรับสารสื่อประสาทที่มีความสำคัญอย่าง  ยิ่งต่อความจำของคนคือ สารอะเซติลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารนี้ช่วยทำให้มนุษย์มีความสามารถในการจำ และหากในสมองมีสารนี้ลดลงมากจะทำให้เซลล์สมองมีปัญหาในการสื่อสาร และพบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีระดับของสารอะเซติลโคลีนลดลงอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุทำให้ความสามารถในการจำและการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลงตามไปด้วย  และยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกเช่น ผู้ป่วยประมาณ 7% มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม และสามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ ตำแหน่งความผิดปกติบนโครโมโซมที่พบชัดเจนแล้วว่าทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์อยู่บนโครโมโซมคู่ที่ 21, 14, 1, และ 19 ผู้ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมเหล่านี้ จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่อายุน้อยกว่าคนที่ไม่ได้มีความผิดปกติทางพันธุกรรม นอกจากนี้พบว่าในผู้ป่วยโรคกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ซึ่งมีความผิดปกติคือมีสารพันธุกรรมของโครโมโซมแท่งที่ 21 เกินมา หากมีชีวิตอยู่เกิน 40 ปี จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด

                                                                                       

อาการของโรคอัลไซเมอร์

  1. ในระยะก่อนสมองเสื่อม (Predementia) อาการแรกสุดมักจะเข้าใจผิดว่าเกิดขึ้นเองจากความชรา หรือเกิดจากภาวะเครียด ความบกพร่องที่เห็นชัดคือการสูญเสียความจำ คือพยายามจำข้อมูลที่เรียนรู้เมื่อไม่นานมานี้ไม่ได้และไม่สามารถรับข้อมูลใหม่ๆ ได้ ในระยะก่อนแสดงอาการทางคลินิกนี้อาจเรียกอีกอย่างว่า ความบกพร่องทางการรู้เล็กน้อย (mild cognitive impairment)
  2. สมองเสื่อมระยะแรก (Early dementia) อาการเริ่มแรกมักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่มเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่มบอกไปหรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆ เช่น วางของแล้วลืม ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ สับสนเรื่อง วัน เวลา สถานที่ นึกคำพูดไม่ค่อยออกหรือใช้คำผิดๆ แทน มีอารมณ์ พฤติกรรมและบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การตัดสินใจแย่ลง ไม่สามารถมีความคิดริเริ่มใหม่ๆ ได้ อาการต่างๆ เหล่านี้จะค่อยเริ่มเปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานและกิจวัตรประจำวัน
  3. สมองเสื่อมระยะปานกลาง (Moderate dementia) เมื่ออาการของโรคเริ่มพัฒนาถึงขั้นต่อมา ผู้ป่วยจะยิ่งมีปัญหาด้านความทรงจำ ผู้ป่วยมักต้องได้รับความช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำแต่งตัว และการเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว โดยอาการที่แสดงเพิ่มขึ้นอาจมีดังนี้
    1. การจำชื่อของคนรู้จักกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้นทุกที พยายามนึกชื่อเพื่อนและครอบครัวแต่นึกไม่ออก
    2. เกิดภาวะสับสนและสูญเสียการรับรู้ด้านสถานที่ เวลา และบุคคล เช่น หลงทาง หรือเดินไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่รู้วันเวลา
    3. การทำกิจวัตรประจำวันที่มีหลายขั้นตอนกลายเป็นเรื่องยากขึ้น เช่น การแต่งตัว
    4. มีพฤติกรรมหมกมุ่น ทำอะไรซ้ำ ๆ หรือวู่วาม
    5. ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีปัญหาในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย
    6. มีอาการหลงผิด เชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นความจริงอย่างสนิทใจ รวมถึงอาจรู้สึกหวาดระแวงหรือสงสัยในตัวผู้ดูแลหรือครอบครัวของตนเอง
    7. มีปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการใช้ภาษาสื่อสาร
    8. มีปัญหาด้านการนอนหลับ
    9. เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น อารมณ์ไม่คงที่ แปรปรวนบ่อยครั้ง มีภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวล หงุดหงิด กระวนกระวายยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
    10. ทำงานที่ต้องใช้การกะระยะได้ลำบาก
    11. มีอาการประสาทหลอน
  4. สมองเสื่อมระยะสุดท้าย (Advanced dementioa) ระยะที่อาการของโรครุนแรงขึ้นอย่างมากจนนำความเศร้าเสียใจและวิตกกังวลมาให้บุคคลใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการดูแลและให้ความช่วยเหลือตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร การเคลื่อนไหว หรือการเข้าห้องน้ำ
    1. อาการหลงผิดหรือประสาทหลอนที่เป็น ๆ หาย ๆ กลับยิ่งแย่ลงเรื่อย ๆ
    2. ผู้ป่วยอาจอาละวาด เรียกร้องความสนใจ และไม่ไว้วางใจผู้คนรอบข้าง
    3. กลืนและรับประทานอาหารลำบาก
    4. เปลี่ยนท่าทางหรือเคลื่อนไหวตัวเองลำบาก ต้องได้รับการช่วยเหลือ
    5. น้ำหนักลดลงมาก แม้จะรับประทานอาหารมากหรือพยายามเพิ่มน้ำหนักแล้วก็ตาม
    6. มีอาการชัก
    7. กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่
    8. ค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการพูดลงไปทีละน้อยจนไม่สามารถสื่อสารได้
    9. มีปัญหาด้านความทรงจำในระยะสั้นและระยะยาวอย่างร้ายแรง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

  1. อายุ โดยภาวการณ์เสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้นโดยช่วงอายุระหว่าง 65-74 ปี พบว่าจะมีอัตราเสี่ยงโดยเฉลี่ย 3% ช่วงอายุระหว่าง 75-84 ปี พบว่ามีอัตราเสี่ยงสูงขึ้นเป็น 19%
  2. กรรมพันธุ์ และ กลุ่มอาการ Down Syndrome จากการศึกษาพบว่าในคู่แฝดแม้ ถ้าแฝดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว คู่แฝดอีกคนหนึ่งจะมีภาวะความเสี่ยงสูงถึง 40-50% และนอกจากนั้นถ้าหากมีญาติในครอบครัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ พบว่าก็จะโอกาสเสี่ยงในการเป็นเพิ่มสูงขึ้น ในเรื่องกรรมพันธุ์พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของยีนและในผู้ที่เป็น Down Syndrome ถ้ามีอายุยืนถึง 40-50 ปี จะพบว่ามีภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้
  3. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่ายีนจะเป็นปัจจัยที่บ่งบอกถึงอัลไซเมอร์ในคู่แฝดแท้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากพบว่าคู่แฝดนั้นอาจได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ต่างกันถึง 15 ปี และผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในฮาวายจะมีอัตราการเป็นอัลไซเมอร์สูงกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น
  4. การตรวจพบโปรตีนชนิดหนึ่งในยีนที่อยู่ในโครโมโซมคู่ที่ 19 ผลจากหายๆ การวิจัยระบุว่า apolipoprotein E4 (APOE4) จะเพิ่มภาวะความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
  5. การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช้สเตียรอยด์อย่างไม่สม่ำเสมอ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ใช้ยาในกลุ่ม NSAIDS เป็นประจำ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี มีอัตราเสี่ยงน้อยลงถึง 30-60% ที่จะเป็นอัลไซเมอร์ งานวิจัยอีกขั้นหนึ่งระบุว่าหลังจากที่มีการใช้ NSAIDS เพิ่มขึ้นพบว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ลดลง
  6. การใช้หรือไม่ได้ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ระยะสั้นในวัยหมดประจำเดือนจากหลายๆ กรณีการศึกษาวิจัย พบว่าหญิงในวัยหมดประจำเดือนที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนสามารถป้องกันหรือ ชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจมีผลต่อการช่วยรักษาโรคนี้ได้
  7. ภาวะขาดสารอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์เป็นที่ชื่อกันว่า โมเลกุลออกซิเจน ในร่างกาย หรือ เรียกว่า Free radicles เป็นต้นต่อของการเกิดมะเร็งโรคลำไส้และยังมีส่วนทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้สารอาหารที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ วิตามินเอ ซี อี ซีเลเนียม
  8. ภาวะเกิดสมองกระทบกระเทือน มีหลักฐานที่ชี้แนะว่าการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจนทำให้หมดสติ จะมีผลทำให้เกิดโอกาสเป็นอัลไซเมอร์สูงขึ้น

โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคนี้มีปัจจัยการเกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ทางที่ดีควรปรับเปลี่ยนด้วยการเลิกสูบบุหรี่ รับประทานอาหารมีประโยชน์ รักษาน้ำหนักให้ไม่มากเกิน ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคอัลไซเมอร์ไปในคราวเดียวกัน เพศ (SeX) จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าเพศเป็นปัจจัยเสี่ยงของพัฒนาการของภาวะสมองเสื่อมเช่นกัน โดยพบว่าเพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์มากกว่าเพศชายถึง 3.5 เท่าการออกกำลังกาย (Physical activity) จากรายงานการวิจัยหลายฉบับยืนยันได้ว่า การออกกำลังกายในผู้สูงอายุจะช่วงเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ (cognitive function)  นอกจากนั้นยังช่วยลดความถดถอยในการเรียนรู้ (cognitive decline) ลงได้ ดังนั้นผู้ที่ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าผู้ที่ออกกำลังกาย

แนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์  สำหรับการตรวจเบื้องต้นจะพิจารณาจากอาการที่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดแจ้งให้ทราบ และสอบถามครอบครัวหรือคนรอบข้างของผู้ป่วยเกี่ยวกับสุขภาพโดยรวม ประวัติสุขภาพ ความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมและลักษณะนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ป่วย รวมทั้งใช้การถามคำถามหรือทำแบบทดสอบความจำ การแก้ปัญหา การนับเลข หรือทักษะทางด้านภาษา เพื่อตรวจดูการทำงานของสมองในแต่ละส่วนและพิจารณาว่าควรรับการตรวจเพิ่มเติมหรือส่งให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางตรวจรักษาต่อไปหรือไม่

ดังนั้นเมื่อวินิจฉัยจากอาการได้แล้วว่าผู้ป่วยมีภาวะของความจำเสื่อมเกิดขึ้น ขั้นต่อไปแพทย์จะต้องตรวจหาสาเหตุของความจำเสื่อมนั้น โดยอาศัยการตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการเอกซเรย์ต่างๆ เพื่อให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของความจำเสื่อม และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป เช่น การเจาะเลือดดูภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อดูว่ามีเนื้องอกในสมอง มีเลือดออกใต้ชั้นเยื่อหุ้มสมองหรือไม่ เป็นต้น   ถ้าการตรวจวินิจฉัยไม่พบสาเหตุอื่นๆ ประกอบกับอาการและการทดสอบทางสมองและสภาพจิต เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคอัลไซเมอร์ จึงจะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์    ในกรณีที่มีปัญหาในการวินิจฉัย อาจต้องอาศัยการตัดชิ้นเนื้อสมองเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด การรักษาด้วยยาอาจช่วยรักษาอาการที่เป็นได้มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถชะลอหรือหยุดการดำ เนินของโรคได้ แบ่งการรักษาออกได้เป็น3 รูปแบบ ได้แก่

  1. การรักษาด้วยยา แบ่งเป็น
  • การรักษาอาการความจำเสื่อม ปัจจุบันมียาอยู่ 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากคณะ กรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือ Donezpezil , Rivastigmin, Galantamine, และ Memantine มีการศึกษาพบว่า การใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) ช่วยบรร เทาอาการของผู้ป่วยได้ แต่ก็ยังไม่มีการศึกษายืนยันชัดเจน บางการศึกษาพบว่าการให้วิตามินอี เสริมในขนาดสูงจะช่วยชะลอการเสียชีวิตได้ แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
  • การรักษาอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรง รวมทั้งอาการประสาทหลอน โดยการใช้ยารักษาโรคจิตมารักษาตามอาการที่ปรากฏ
  1. การรักษาทางจิตสังคม ได้แก่
  • การรักษาที่มุ่งเน้นการกระตุ้นสมอง เช่น ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด การบำบัดโดยอาศัยสัตว์เลี้ยง
  • การบำบัดด้วยการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต เช่น การรวมกลุ่มทำกิจกรรมแลก เปลี่ยนประสบการณ์ในอดีต การใช้ภาพถ่าย สิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ดนตรี ที่ผู้ป่วยคุ้นเคยในอดีตมาช่วยฟื้นความทรงจำ
  • การให้เข้าไปอยู่ในห้องที่เรียกว่า Snoezelen room ซึ่งเป็นห้องที่ออกแบบให้มีสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะกับวิธีการกระตุ้นการรับรู้และความรู้สึกที่หลากหลาย ที่เรียกว่า Multisensory integration อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับสัมผัส และการเคลื่อนไหว
  1. การให้การดูแลผู้ป่วย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจะต้องเข้าใจอาการของโรคต้องทำใจ ยอมรับ และอดทน ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้คนเดียว และเข้าใจการดำเนินของโรคว่า ผู้ป่วยต้องอาศัยความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ

การติดต่อของโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์เป็นหนึ่งในโรคของภาวะสมองเสื่อมที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง ดังนั้นจึงไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์

  1. ผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการของความจำเสื่อมควรหยุดขับรถด้วยตนเองคนเดียว ไม่ควรไปยังสถานที่ไม่คุ้นเคยเพียงลำพังหรือไปทำธุระคนเดียวโดยเฉพาะหากเป็นเรื่องสำคัญ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน และเมื่อมีอาการมากแล้วจะต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา
  2. ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์หรือให้ผู้ดูแลพาไปพบแพยท์ตามนัดสม่ำเสมอ เพื่อประเมินอาการต่างๆ ติดตามการใช้ยา และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
  3. ผู้ป่วยควรพกป้ายประจำตัว หรือใส่สายข้อมือที่ระบุชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรติด ต่อให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการพลัดหลงหากต้องออกนอกบ้าน หรือเกิดเดินหนีออกนอกบ้านไปคนเดียว
  4. ควรมีการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและลดภาระต่อผู้ดูแลได้บ้าง เช่น การล็อกบ้านและรั้วไม่ให้ผู้ป่วยออกนอกบ้านไปคนเดียว การติดป้ายบนเครื่องใช้ต่างๆภายในบ้านให้ชัดเจนโดยระบุว่าคืออะไร ใช้งานอย่าง ไร การติดป้ายหน้าห้องต่างๆ ให้ชัดเจนว่าเป็นห้องอะไร เป็นต้น
  5. ผู้ป่วยควรหากิจกรรมทำ และควรเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ที่ดูแลและคนที่อยู่ในบ้าน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ผู้ป่วยสม่ำเสมอ
  6. ผู้ป่วยควรออกกำลังกายเท่าที่จะทำได้เพื่อให้มีร่างกายที่แข็งแรงซึ่งส่งผลที่ดีไปถึงสมองได้

การป้องกันตนเองจากโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคนี้ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ ได้แก่

  1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การสูบบุหรี่ การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
  2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อยๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อยๆ คิดเลข ดูเกมส์ตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นต้น
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เช่น เดินเล่น รำมวยจีน เป็นต้น
  4. การพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อยๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่างๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น
  5. ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวอยู่เดิมก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น การตรวจหา ดูแลและรักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น
  6. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น
  7. พยายามมีสติในสิ่งต่างๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา
  8. พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆทำเพื่อคลายเครียด เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคอัลไซเมอร์

  • ขมิ้นชัน  หรือ  ขมิ้น  มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longa L. มีรายงานการวิจัยหลายฉบับยืนยันว่าสาร curcumin มีประสิทธิภาพในการต่อต้านอนุมูลอิสระ สาร curcumin มีคุณสมบัติปกป้องเซลประสาทในสมองของสัตว์ทดลองจากการทำลายของสารเอทานอล (ethanol-induced brain injury) สารชนิดนี้ยังช่วยลดปริมาณ lipid peroxide และเพิ่มปริมาณ glutathione ในสมองหนูแรท สาร curcumin และ curcuminoids ที่ได้จากเหง้าขมิ้น มีฤทธิ์สัมพันธ์กับการต้านอนุมูลอิสระและการต้านการอักเสบ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์
  • บัวบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica L. มีรายงานการวิจัยพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากใบบัวบก ซึ่งประกอบด้วยสารกลุ่ม monoterpenes เช่น bornyl acetate, α-pinene, β-pinene, γ-terpinene มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์acetylcholinesterase  พบว่าสารสกัดชนิดนี้มีฤทธิ์กล่อมประสาท (tranquilizing) ซึ่งเกิดจากสารไตรเทอร์ปีน (triterpenes) ที่ชื่อว่า brahmoside สารสกัดจากใบบัวบกยังมีฤทธิ์กดประสาท (sedatvie) ต้านอาการซึมเศร้า (antidepressant) และมีฤทธิ์เป็น cholinomimetic ในสัตว์ทดลอง จากการค้นพบนีจึงอาจนำบัวบกไปใช้รักษาอาการซึมเศร้าและอาการกังวลในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ โดยมีผลกระตุ้นระบบ cholinergic activity และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ (cognitive function)
  • ถั่ว  นอกจากถั่วจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีแล้ว ถั่วยังเป็นแหล่งของวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระระดับแม่ทัพตามธรรมชาติ และเป็นแหล่งของเกลือแร่ที่มีส่วนสำคัญในระบบการทำงานของร่างกาย รวมถึงระบบการนำประสาทต่างๆ ด้วย เช่น แมกนีเซียม สังกะสี ซีลีเนียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
  • ใบแปะก้วย (Ginkgo biloba) เป็นสมุนไพรจีนที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นเลิศ และมีสรรพคุณในการเพิ่มสมาธิและความทรงจำ

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.อารีย์  ตัณฑ์เจริญรัตน์. โรคอัลไซเมอร์  ALZHE1MER DISEASE. วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.ปีที่12.ฉบับที่2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2553.หน้า 169-182.
  2. ภก.ผศ.ชาญชัย สาดแสงจันทร์.ศักยภาพของพืชสมุนไพรไทยกับภาวะสมองเสื่อม.วารสารไทภษัชยนิพนธ์(ฉบับการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์) มศก.ปีที่7.ฉบับเดือน มกราคม-เดือนธันวาคม 2555 หน้า 1-21
  3. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.(2544).เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ.กรุงเทพฯ.กรมการแพทย์.
  4. อัลไซเมอร์ โรคอัลไซเมอร์ Alzheimer.หาหมอ.com  (ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://haamor.com/th
  5. Barnes DE,Yaffe K, Satariano WA, et al.A longitudinal study of cardiorespiratory fitness and cognitive function in older adults. Journal of the American Geriatric Society 2003;51:459-65.
  6. ผศ.นพ.วีรศักดิ์  เมืองไพศาล โรคสมองเสื่อม.ภาควิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. Karp A, Paillard-Borg S, Wang HX, et al. Mental, physical and social components in leisure activities equally contribute to dementia  risk. Dementia Geriatric Cognitive Disorders 2006; 21: 65-73.
  8. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล.(2551).ตำราบำบัดโรคด้วยอาหารและสารเสริม.กรุงเทพฯ: บริษัท รวมทรรศน์ จำกัด
  9. อัลไซม์เมอร์-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://pobpad.com
  10. พนัส ธัญญะกิจไพศาล.(2544).คู่มือการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์.กรุงเทพฯ:โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา.
  11. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข.(2544).ความรู้เรื่องอัลไซเมอร์.กรุงเทพฯ:ศูนย์สารนิเทศและประชาสัมพันธ์.
  12. Alzheimer’s disease, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 17th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2008 (electronic book)
  13. Berchtold NC, Cotman CW (1998). "Evolution in the conceptualization of dementia and Alzheimer's disease: Greco-Roman period to the 1960s". Neurobiol. Aging 19 (3): 173–89. PMID 9661992. doi:10.1016/S0197-4580 (98) 00052-9
  14. Tiraboschi P, Hansen LA, Thal LJ, Corey-Bloom J (June 2004). "The importance of neuritic plaques and tangles to the development and evolution of AD". Neurology 62 (11): 1984–9. PMID 15184601
  15. Albert MS. Changing the trajectory of cognitive decline? The New England Journal

Medicine 2007; 357: 502-3.

  1. Walsh DM, Selkoe DJ. Deciphering the molecular basis of memory failure in Alzheimer’s disease. Neuron 2004; 44: 181-93.
  2. May AB, Adel B, Marwan S, et al, Sex differences in the association of the apolipoprotein E epsilon 4 allele with incidence of dementia, cognitive impairment, and decline. Neurobiology of Aging 2012; 33(4): 720-731.
  3. Yaffe K, Barnes D, Nevitt M, et al. A prospective study of physical activity and cognitive decline in elderly women: women who walk. Archives International Medicine 2001; 161: 1703-8.