โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจก

โรคต้อกระจกคืออะไร  ก่อนที่จะรู้ถึงความหมายของต้อกระจกนั้น เราควรจะทำความรู้จักกับเลนส์ตาหรือที่เราเรียกกันภาษาชาวบ้านว่า แก้วตา กันก่อน แก้วตาหรือเลนส์ตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสอยู่หลังม่านตา (มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้าน หน้าและด้านหลัง มีความหนาประมาณ 5 ม.ม. เส้นผ่าศูนย์ กลางประมาณ 9 ม.ม. มีหน้าที่ทำงานร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา ที่ทำให้เกิดการมองเห็น

นอกจากนี้แก้วตายังสามารถเปลี่ยนกำลังการหักเหได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้สามารถโฟกัสภาพในระยะต่างๆได้ชัดขึ้น นั่นก็คือ ในคนปกติจะมองเห็นชัดทั้งไกลและใกล้ ดังนั้นธรรมชาติจึงสร้างแก้วตาให้อยู่ในที่ปลอดภัย โดยอยู่ในใจกลางของดวงตาเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายใดๆ แต่ถึงแม้ว่าแก้วตาจะไม่ได้รับอันตรายใดๆจากภายนอก แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสื่อมสภาพจากอายุที่เพิ่มขึ้นหรือการถูกปัจจัยที่จะเร่งทำให้เกิดความเสื่อมของแก้วตาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับเลนส์แก้วตาต่างๆได้ เช่น ต้อกระจก  ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ สำหรับต้อกระจกนี้

ก่อนอื่นต้องขอให้คำจำกัดความ หรือความหมายของคำว่า “ต้อกระจก” เสียก่อน ต้อกระจกหมายถึงภาวะที่เลนส์ภายในลูกตาเกิดภาวะขาวขุ่นขึ้นเนื่องจากสาเหตุอะไรก็ได้ ตามปกติแล้วเลนส์ภายในลูกตามีภาวะใสโปร่งแสงคล้ายกระจกใส มีหน้าที่ปรับแสงที่ผ่านเข้าตา ทำให้เราสามารถเห็นภาพวัตถุต่าง ๆ ได้ชัดเจน และเมื่อเกิด “ต้อกระจก” ก็จะทำให้ตัวเลนส์ตามีลักษณะขาวขุ่นขึ้น ทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปตกกระทบที่จอประสาทรับภาพ (retina) ได้ชัดเจน ผู้นั้นจึงมองอะไรไม่ชัด ตาฝ้า มัว แล้วในที่สุดถ้าขาวขุ่นมากขึ้น จะมืดและ มองอะไรไม่เห็นจากตาข้างนั้น ต้อกระจก เป็นโรคที่พบบ่อยสำหรับผู้สูงอายุ หากปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดก็จะทำให้ตาบอด นับว่าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของภาวะสายตาพิการของผู้สูงอายุ

สาเหตุของโรคต้อกระจก โดยส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)  ส่วนน้อย (ประมาณร้อยละ 20) อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิด (Congenital Cataract)ทารกสามารถเป็นต้อกระจกได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยอาจเกิดได้จากพันธุกรรม การติดเชื้อ การได้รับอันตรายหรือมีพัฒนาการระหว่างอยู่ในครรภ์ไม่ดี ทารกที่พบว่าเป็นต้อกระจกแต่กำเนิด ได้แก่ ภาวะกาแล็กโทซีเมีย โรคหัดเยอรมัน หรือโรคเท้าแสนปมชนิดที่ 2 ก็อาจนำมาซึ่งการเกิดต้อกระจกชนิดนี้ เด็กเล็กบางคนอาจแสดงอาการในภายหลัง โดยมักเป็นทั้งสองข้าง บางครั้งต้อกระจกนี้เล็กมากจนไม่ส่งผลต่อการมองเห็น แต่เมื่อพบว่ามีผลกระทบต่อการมองเห็นจึงจะผ่าออก ต้อกระจกทุติยภูมิ (Secondary Cataract)การผ่าตัดรักษาโรคตาชนิดอื่นอย่างเช่นต้อหิน การป่วยเป็นม่านตาอักเสบ หรือตาอักเสบ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อกระจกตามมาได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือโรคความดันโลหิตสูง การได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะบางตัว ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคต้อกระจกได้ง่ายเช่นกัน เกิดจากภาวะแรงกระแทกที่ลูกตา ก็ทำให้เลนส์ตาขวาขุ่นได้ โดยเฉพาเมื่อโดนสิ่งมีคมทิ่มทะลุเข้าตา เข้าไปโดนเลนส์ตา เกิดภาวะต้อกระจกได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าโดนวัตถุไม่มีคมกระแทก ก็อาจจะเกิดต้อกระจกตามมาทีหลังได้ ถ้าความแรงนั้นมากพอให้เยื่อเลนส์ตาแตกแยก เกิดจากโดนรังสีเอกซเรย์ บริเวณลูกตาอยู่เสมอ ๆ ได้แก่ พวกที่มีมะเร็งบริเวณเบ้าตา และรักษาด้วยรังสี ซึ่งรังสีนี้อาจลึกลงไปโดนเลนส์ตาทำให้ขุ่นได้ และเกิดต้อกระจกตามมา  นอกจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว อาจจะมีอิทธิพลมาจากอย่างอื่นได้ เป็นต้นว่า อาหารพวกที่มีสภาพทุโภชนา หรือพวกอาหารการกินไม่ถูกสุขอนามัย ขาดโปรตีน และวิตามินทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าธรรมดา

อาการของโรคต้อกระจก โรคต้อกระจกนั้นยากที่จะสังเกตได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าอาการของต้อกระจกจะเพิ่มมากขึ้นจนกระทบต่อการมองเห็น โดยผู้ป่วยมักมีอาการดังนี้

  1. อาการเด่นของต้อกระจกคือ ตาค่อยๆมัวลงอย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวด หรือ ตาแดงแต่อย่างใด อาการตามัวจะเป็นมาขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีแสงสว่างจ้า เช่น เมื่อออกแดด แต่กลับมองเห็นเกือบเป็นปกติในที่มืดสลัวๆ หรือเวลาพลบค่ำ เนื่องจากเมื่ออยู่ในที่แจ้งม่านตาจะหดแคบลง ทำให้แสงสว่างที่จะเข้าตาเข้ายากขึ้น ตรงกันข้ามกับเมื่ออยู่ในที่มืด ซึ่งม่านตาจะขยายทำให้แสงเข้าตาได้มากขึ้น จึงเห็นชัดขึ้นในที่มืด
  2. ในผู้สูงอายุเวลาอ่านหนังสือต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ๆกับพบว่าอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น นั่นเป็นเพราะอาการจากเริ่มมีการเสื่อมของแก้วตาทำให้การหักเหแสงเปลี่ยน จึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่ (Secondary myopia)
  3. ในเด็ก ๆ ที่เป็นต้อกระจกอาจจะพูดหรือบอกไม่ได้ถึงการมองเห็นเพียงแต่จะสังเกตได้ว่าเด็กจะมอง จับหรือเล่นของเล่นไม่ถนัด ตาอาจส่ายไปมา หรือเขไปทางไปทางใดทางหนึ่งได้
  4. มองเห็นภาพซ้อน หรือ เห็นแสงไฟกระจาย
  5. มองเห็นภาพเป็นสีเหลืองหรือซีดจางลงกว่าที่สายตาคนปกติเห็น
  6. ต้องใช้แสงสว่างมากขึ้นในการอ่านหนังสือหรือกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา

ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก

  1. เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท
  2. ในบางรายแก้วตาอาจบวมหรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของเหลวในลูกตา ทำให้เกิดความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้
  3. ผู้ป่วยจะสามารถมีอาการปวดตาอย่างรุนแรงได้

แนวทางการรักษาโรคต้อกระจก แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบแก้วตา (เลนส์ตา) ขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องตาผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า การใช้เครื่องส่องตา (ophthalmoscope) ตรวจตาจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (red reflex) หากไม่แน่ใจ แพทย์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษตรวจอย่างละเอียด อาจจำเป็นต้องตรวจวัดความดันลูกตา (เพื่อแยกออกจากโรคต้อหินที่จะพบความดันลูกตาสูงกว่าปกติ) และตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น

  • การตรวจวัดสายตา (Visual Acuity Test) การวัดความสามารถการมองเห็นในระยะต่าง ๆ โดยให้อ่านชุดตัวอักษร เมื่อทดสอบตาข้างใด ๆ อีกข้างจะถูกปิดไว้ วิธีนี้เป็นการประเมินว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสายตาให้เห็นหรือไม่
  • การทดสอบโดยขยายรูม่านตา (Retinal Eye Exam) ทำได้ด้วยการหยดยาลงที่ตาเพื่อให้รูม่านตาเปิดกว้างขึ้น แล้วใช้เลนส์ขยายแบบพิเศษตรวจดูจอประสาทตาและเส้นประสาทตาเพื่อหาความผิดปกติของตา หลังการตรวจนี้ ดวงตาของผู้ป่วยมองเห็นในระยะใกล้พร่ามัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • การตรวจโดยใช้กล้องจักษุจุลทรรศน์ชนิดลำแสงแคบ (Slit Lamp Examination) เป็นการใช้กล้องที่มีความเข้มของลำแสงสูงและบางพอที่จะส่องกระจกตา ม่านตา เลนส์แก้วตา รวมถึงพื้นที่ว่างระหว่างม่านตาและกระจกตา ช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างที่เป็นส่วนเล็กได้อย่างสะดวก

เนื่องจากโรคต้อกระจกไม่มียาที่ใช้กิน หรือหยอดใดๆที่ช่วยแก้อาการของต้อกระจกได้ ระยะแรก ๆ ของโรคต้อกระจกสามารถบรรเทาได้ด้วยการตัดแว่นสายตาใหม่ สวมแว่นกันแดดกันแสงสะท้อน หรือการใช้เลนส์ขยายจนกว่าต้อกระจกจะเริ่มกระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงจะทำการผ่าตัด ในอดีตมักรอให้ต้อกระจกสุกจึงทำการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ แต่ปัจจุบันมักนิยมรักษาโดยการสลายต้อกระจกแต่เนิ่นๆ คือเมื่อปัญหาตามัวนั้นทำให้เป็นอุปสรรคกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยก็ควรรับการรักษา เพราะการรอต้อกระจกสุก จะทำให้การรักษาด้วยการสลายต้อทำได้ยาก และยังอาจทำให้เกิดโรคตาอื่นแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นได้

ในปัจจุบันการรักษาต้อกระจกมีเพียงวิธีเดียว คือ การผ่าตัดเอาเลนส์ตาที่ขุ่นออกและใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ในปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกมีความปลอดภัยสูงใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน และไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลหลังผ่าตัด

วิธีการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันมี 3 วิธี

  1. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
  2. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการใช้เฟมโตเชคเคินเลเซอร์ (Femtosecond Laser assisted Cataract Surgery)
  3. การผ่าตัดนำเลนส์ตาออกทั้งก้อน (Extracapsular cataract extraction) ซึ่งวิธีนี้ใช้ในกรณีที่เลนส์ตาแข็งมากๆ

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจก

  1. อายุ – เป็นสาเหตุหลักส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกมากกว่า 80% โดยเฉพาะในคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากากรเสื่อมตามวัย เพราะเลนส์ที่อยู่ในตาเรานั้นต้องถูกใช้งานรับแสงมานานเท่ากับอายุของตัวเราจึงเกิดการเสื่อมสภาพได้
  2. แสง UV – การทำงานบางชนิดโดยไม่ใส่หน้ากากป้องกันแสงหรือรังสีเข้าตา เช่นเวลาเชื่อมเหล็ก ก็สามารถทใด้เกิดโรคต้อกระจกได้
  3. โรคเกี่ยวกับตา – การติดเชื้อในตา ม่านตาอักเสบ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของโรคต้อกระจก
  4. การถูกกระทบกระแทกบริเวณตาอย่างรุนแรง
  5. โรคประจำตัวบางชนิดเช่น เบาหวาน ที่ทำให้เป็นโรคต้อกระจกเร็ววกว่าปกติ
  6. การทานยาประเภท ateroid
  7. เด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อจาก มีมารดามีการติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

การติดต่อของโรคต้อกระจก โรคต้อกระจกเกิดจากเลนส์ตาหรือแก้วตา เสื่อมสภาพจากหลากหลายสาเหตุทำให้มีลักษณะขุ่นขาวทึบแสงเป็นผลให้แสงผ่านเข้าไปสู่ลูกตาได้น้อย จึงทำให้เกิดการมองเห็นภาพฝ้าฟางมากขึ้นเรื่อยๆจนมองไม่เห็นในที่สุด ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อเป็นโรคต้อกระจก

  1. ถนอมสายตาด้วยการสวมใส่แว่นกันแดดหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจ้า
  2. เข้ารับการตรวจรักษาจากจักษุแพทย์แต่เนิ่นๆเพื่อจะได้ทำกรรักษาได้อย่างทันท่วงทีไม่ให้อาการแย่ลงจนไม่สามารถรักษาได้
  3. ปฏิบัติตามแพทย์สั่งและไปตรวจตามนัดอย่างเคร่งครัด
  4. รักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่
  5. หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาแล้วผู้ป่วยควรนอนพักให้มากที่สุด และลุกขึ้นเดินเท่าที่จำเป็นเท่านั้นและควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การยกของหนักหรือกระเทือนมาก การออกกำลังกายอย่างหนัก รวมถึงการไอหรือจามแรงๆ เป็นเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายดี

การป้องกันตนเองจากโรคต้อกระจก

  1. ควรสวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ป้องกันแสง UV ที่เป็นปัจจัยกระตุ้น
  2. ควรพบจักษุแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติทางตาและไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง โดยเฉพาะยาที่มีส่วนประกอบของ Steroids
  3. ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือ เมื่อท่านมีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  4. ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลบให้อยู่ในระดับปกติ
  5. หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุกับดวงตา หรือใส่เครื่องป้องกันเวลาทำงานที่เสี่ยงตอการกระทบกระแทกดวงตา
  6. เมื่อมีการใช้สายตาติดต่อกันนาน ควรมีการพักสายตา
  7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามิน และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีในผักและผลไม้หลากสี เช่น มะเขือเทศ แครอท ฟักทอง กล้วย ผลไม้ตระกูลเบอรี่
  8. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์
  9. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สมุนไพรที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคต้อกระจก  จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยพบว่า สมุนไพรไทยหลายชนิดสามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้ โดยเฉพาะในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ขมิ้นชัน และฟักข้าว โดยในขมิ้นชัน มีสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ คือ เคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และเกลือแร่ต่างๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เป็นต้น ดังนั้น ขมิ้นชันจึงมีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย และสามารถรักษาอาการและโรคต่างๆ ได้หลายชนิด

ส่วนฟักข้าวนั้น มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสำคัญ คือ ไลโคปีน (lycopene) โดยในเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมีไลโคพีนสูงกว่ามะเขือเทศ 12 เท่า ซึ่งสามารถช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา โรคต้อกระจก และประสาทตาเสื่อม และตาบอดตอนกลางคืนได้ อีกทั้ง ยังมีงานวิจัยพบว่า ไลโคปีนและเคอร์คิวมินอยด์ ยังช่วยป้องกันต้อกระจกที่เกิดจากโรคเบาหวานได้อีกด้วยนอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่สามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้ อาทิเช่น มะขามป้อม มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่า วิตามินซีมีบทบาทในการป้องกันการเกิดต้อกระจก โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และกรองรังสียูวีให้เลนส์ตา นอกจากมะขามป้อมแล้ว ยังมีผลไม้อื่นๆ ที่มีวิตามินซีสูง ได้แก่ ฝรั่ง มะปราง มะละกอ มะกอก ส้ม มะขาม ลูกหว้า เป็นต้น นอกจากสมุนไพรไพรแล้ว สมุนไพรต่างประเทศที่มีการสรรพคุณบำรุงและป้องกันโรคเกี่ยวกับตาได้เป็นอย่างดี อาทิเช่น

Ginseng หรือโสม คือรากของ Panax ginseng มี สารสำคัญคือ ginsennosides ซึ่งเป็น steroidal saponin มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายชนิด ได้แก่ antiapoptotic, anti-inflammatory, antioxidant จากการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน พบว่า โสมแดงเกาหลีสามารถเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังจอตา จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในลักษณะการป้องกันโรคต้อหิน นอกจากนี้สาร Rb1 และ Rg3 ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง TNF-alpha จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมด้วย เนื่องจากการอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้ การทดลองในหนูแสดงว่าโสมสามารถลดการเสื่อมของจอตาในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ ลดผลที่เกิดจากการเหนี่ยวนำหนูให้เป็นต้อกระจกด้วย selenite ได้ ดังนั้นโสมจึงเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจสำหรับการป้องกันโรคตาทั้ง 4 คือ โรคต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม และภาวะเบาหวานขึ้นจอตา 
Gingko Biloba Extract (GBE) คือสารสกัดจากใบของต้นแป๊ะก๊วย (Ginkgo biloba) ในใบมีสารสำคัญสองกลุ่มคือ เฟลโวนอยด์และเทอร์พีนอยด์ GBE เป็นอาหารเสริมที่นิยมมากที่สุดในยุโรปและอเมริกามีฤทธิ์ป้องกันการทำลายจากอนุมูลอิสระ และป้องกัน lipid peroxidation จากการทดลองพบว่า GBE สามารถป้องกันการเสื่อมของ mitochondria ป้องกันการเสื่อมของ optic nerve จึงสามารถป้องกันตาบอดในผู้ป่วยโรคต้อหิน และ ผู้ป่วยจอตาเสื่อมได้ และสามารถลดการหลุดของจอตา (retinal detachment) ได้ GBE จึงมีประโยชน์ในกรณีป้องกันและรักษาโรคต้อหินและโรคที่เกี่ยวข้องกับจอตา
Danshen ชื่อสามัญคือ Asian Red Sage หรือตังเซียม หรือตานเซิน (Salvia miltiorrhiza) ส่วนที่ใช้คือราก ในตำรายาใช้เป็นยากระตุ้นการไหลเวียนเลือด ใช้รักษาฝี สารสำคัญคือ salvianoic acid B เป็นสารพอลีฟีนอลิกละลายน้ำและเป็น antioxidant ที่มีฤทธิ์แรงและยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในคนที่เป็นเบาหวานจะเกิดอาการอักเสบและหนาขึ้นของผนังเส้นเลือดฝอยทำให้ อนุมูลอิสระไม่สามารถถูกกำจัดออกไปได้จึงไปทำลายเซลล์ประสาทตา เมื่อทดลองฉีดตังเซียมเข้าไปที่เนื้อเยื่อจอตาที่ขาดออกซิเจนในหนูที่เป็นเบาหวานพบว่าสามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้ การทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยโรคต้อหินพบว่า ตังเซียมสามารถคงสภาพลานสายตา (visual field) ในผู้ป่วยระยะกลางและระยะปลายได้ ดังนั้น ตังเซียมจึงมีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคตาที่เกี่ยวข้องกับ oxidative stress เช่น จอประสาทตาเสื่อม ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา และต้อกระจก และมีรายงานการศึกษาวิจัยของ ดร.พอล จาคส์ (Paul Jacques) กรรมการเกษตรสหรัฐอเมริกาพบว่า คนอเมริกันที่รับประทานผักและผลไม้บ่อยๆ มีโอกาสเกิดต้อกระจกน้อยกว่าผู้ไม่บริโภคผักและผลไม้ถึง 4 เท่าครึ่ง และผู้ที่ไม่รับประทานผักและผลไม้เลยจะเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกมากขึ้นถึง 6 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีระดับวิตามินซีในเลือดต่ำ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกมากขึ้นถึง 11 เท่า ส่วนผู้ ที่มีระดับสารแคโรทีนอยด์ในเลือดต่ำจะมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปถึง 7 เท่า

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. โรคต่อกระจก.แผ่นพับประชาสัมพันธ์.หน่วยตรวจโรคจักษุฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช.2560.
  2. ต้อกระจก(Cataract) . บทความเผยแพร่.ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
  3. นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์.ต้อกระจก.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่70.คอลัมน์โรคตา.กุมภาพันธ์2529
  4. Sastre J, Lloret A, Borris C et al, Ginkgo biloba extract EGb 761 protects against mitochondrial aging in the brain and in the liver, Cell and Molecular Biology, 2002;48(6):685-692.
  5. รศ.ดร.ภญ.อ้อมบุญ วัลลิสุต สมุนไพรและสารธรรมชาติบำรุงตา.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ต้อกรระจก-อาการ.สาเหตุ.การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.เข้าถึงได้จาก http://pobpad.com
  7. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ต้อกระจก (Cataract)” .(นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).หน้า950-952.
  8. Kim NR, KimJH, and Kim CY, Effect of Korean red ginseng supplementation on ocular blood flow in patients with glaucoma, Journal of Ginseng Research, 2010;34(3);237- 245.
  9. Janssens D, Delaive E, Remacle J, and Michiels C, Protection by bilobalide of the ischaemia-induced alterations of the mitochondrial respiratory activity, Fundamental and Clinical Pharmacology, 2000;14(3):193-201.
  10. นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ต้อกระจก.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่370.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กุมภาพันธ์2553
  11. Cho JY, Yoo ES, Baik KU, Park MH, and Han BH, In vitro inhibitory effect of protopanaxadiol ginsenosides on tumor necrosis factor (TNF)-alpha production and its modulation by known TNF-a antagonists, Planta Medica, 2001;67(3):213-218.
  12. ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงค์กิตติรักษ์.ต้อกระจก.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่390.คอลัมน์รักษ์”ดวงตา”.ตุลาคม.2554
  13. Sen S, Chen S, Wu Y, Feng B, Lui EK, and Chakrabarti S, Preventive effects of North American ginseng (Panax quinquefolius) on diabetic retinopathy and cardiomyopathy, Phytotherapy Research, 2012;27(2):290-298.
  14.  Wu ZZ, Jiang JY, Yi YM, and Xia MT, Radix Salvia miltiorrhizae in middle and late stage glaucoma, Chinese Medical Journal, 1983;96(6):445-447.
  15. Zhang L, Dai SZ, Nie XD, Zhu L, Xing F, and Wang LY, Effect of Salvia miltiorrhiza on retinopathy, Asian Pacific Journal of Tropical Medicine, 2013;6(2):145-149.
  16. Lee SM, Sun JM, Jeong JH et al, Analysis of the effective fraction of sun ginseng extract in selenite induced cataract rat model, Journal of the Korean Ophthalmological Society, 2010;51:733-739.
  17. Chen Y, Lin S, Ku H et al, Salvianolic acid B attenuates VCAM-1 and ICAM-1 expression in TNF-alpha-treated human aortic endothelial cells, Journal of Cellular Biochemistry,2001;82(3):512-521.