โรคมือเท้าปาก (Hand Foot and Mouth disease – HFMD)

โรคมือเท้าปาก  (Hand Foot and Mouth  disease – HFMD)

โรคมือเท้าปากคืออะไรโรคมือ-เท้า-ปาก เป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่ติดต่อกันง่าย แต่มักไม่รุนแรงและหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ซึ่งโรคมือเท้าปากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน มักเกิดจากไวรัสกลุ่มEnterovirus แต่ในแถบร้อนชื้น มักพบได้ตลอดปีโดยส่วนมากแล้ว พบมากในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีแต่อาจพบในเด็กอายุมากกว่านี้ก็ได้ และหากมีการเกิดโรคในสถานเลี้ยงเด็กหรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเพราะโรคนี้ระบาดได้ง่าย อนึ่งโรคนี้เป็นโรคคนละชนิดกับโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อยที่พบได้ในสัตว์กีบคู่ ซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ติดต่อมาสู่คน ยกเว้นในกรณีที่คนไปสัมผัสคลุกคลีอยู่กับสัตว์ที่ป่วยหรือผู้ที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์เหล่านี้ ที่อาจมีรายงานการติดเชื้อได้บ้าง

อันที่จริงแล้ว โรคมือ เท้า ปาก ว่าไม่ใช่โรคใหม่ แต่รู้จักกันมานานมากกว่า 50 ปีแล้ว  โดยมีประวัติความเป็นมาของโรค ดังนี้

·         พ.ศ. 2500 มีรายงานการระบาดของกลุ่มอาการไข้ซึ่งพบร่วมกับตุ่มน้ำใสในช่องปาก มือและเท้าในผู้ป่วยเด็กที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยพบสาเหตุจากเชื้อ Coxsackie virus A16(Cox A16)1

·         พ.ศ. 2502 พบการระบาดของกลุ่มอาการเช่นเดียวกันในเมือง Bermingham ประเทศอังกฤษ และได้มีการเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า Hand-Foot-and Mouth Disease (HFMD)

หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งไวรัสที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการมือ เท้า ปาก ไม่ได้เกิดจากไวรัสชนิดเดียวแต่มีมากกว่า 10 สายพันธุ์

สำหรับการระบาดใหญ่ของกลุ่มอาการโรคมือ เท้า ปาก พบว่ามีรายงานตั้งแต่ พ.ศ.2540-2555 มีดังนี้

·         พ.ศ.2540 มาเลเซีย (เสียชีวิต 31 ราย)  พ.ศ.2541 ไต้หวัน (ผู้ป่วย 1.5 ล้านราย เสียชีวิต 78 ราย)

·         พ.ศ.2550 อินเดีย (ผู้ป่วย 38 ราย)  และ พ.ศ.2551 อินเดีย (ผู้ป่วย 25,000 ราย เสียชีวิต 42 ราย) สิงคโปร์ (ผู้ป่วยมากกว่า 2,600 ราย) เวียดนาม (ผู้ป่วย 2,300 ราย เสียชีวิต 11 ราย) มองโกเลีย (ผู้ป่วย 2,600 ราย) และบรูไน (ผู้ป่วย 1,053 ราย)

·         พ.ศ.2552 จีน (ผู้ป่วย 115,000 ราย เสียชีวิต 85 ราย)  และ พ.ศ.2553 จีน (ผู้ป่วย 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 537 ราย)

·         พ.ศ.2554 เวียดนาม (ผู้ป่วย 42,000 ราย เสียชีวิต 98 ราย) และจีน (ผู้ป่วย 1.3 ล้านราย เสียชีวิต 437 ราย)

·         พ.ศ.2555 กัมพูชา (เสียชีวิต 52 ราย) จีน (ผู้ป่วย 460,000 ราย เสียชีวิต 112 ราย) ไทย (ผู้ป่วย 168,60 ราย เสียชีวิต 1 ราย)

สำหรับสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในปี 2558 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 40,417 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 62.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 3 ราย ส่วนในปี 2559 ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 28 มีนาคม 2559 มีผู้ป่วย 8,973 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 13.78 ต่อประชากร 1 แสนคน และยังไม่มีผู้เสียชีวิต

ตั้งแต่เริ่มมีการตรวจพบเชื้อ EV71 ในผู้ป่วยโรค HFMD ในปี2541 ในประเทศไทยก็เริ่มมีการเฝ้าระวังรายงานและสอบสวนผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ EV71 และป้องกันควบคุมโรคตั้งแต่นั้นมา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีและประมาณครึ่งหนึ่งติดเชื้อ EV71 ที่มีอาการไม่รุนแรง

ส่วนในด้านรายงานการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากจากสำนักระบาดวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1 เมษายน 2559 มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนทั้งตามโรงเรียนและในชุมชน 8 เหตุการณ์ จากจำนวนผู้ป่วย 22 ราย ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดโรคและการแพร่ระบาดของโรค

สาเหตุของโรคมือเท้าปากโรคมือเท้าปาก เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเอนเทอโร (Enterovirus) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลากหลายสาย เช่น ค็อกแซคกีเอและบี (Coxsackie A, B), ไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 (Enterovirus 71 – EV71)สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือการระบาดจากการติดเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 16 (Coxsackievirus A 16) ซึ่งอาการมักจะไม่รุนแรง และผู้ป่วยมักจะหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสาเหตุที่พบได้น้อยและมีอาการรุนแรง คือ การติดเชื้อไวรัสเอนเทอโรชนิด 71 ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้โรคมือเท้าปากยังอาจเกิดได้จากเชื้อไวรัสค็อกแซคกีเอชนิด 5, 7, 9, 10 และเชื้อไวรัสค็อกแซคกีบีชนิด 2 และ 5 ได้บ้าง 

            ซึ่งโรคนี้ส่วนใหญ่มักจะติดต่อกันจากการกินอาหาร น้ำดื่ม การดูดเลียนิ้วมือ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำที่ผิวหนัง หรือละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ส่วนน้อยที่ติดต่อโดยการสูดเอาฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด  ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้ว ประมาณ 3-6 วัน ผู้ป่วยจึงจะมีอาการ

อาการของโรคมือเท้าปาก  หลังจากติดเชื้อ 3-7 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการเริ่มต้น คือ มีไข้ตํ่าๆ ประมาณ 38-39o C และมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวระยะนี้จะมีระยะเวลาประมาณ 1-2 วัน จากนั้นจะเริ่มมีอาการเจ็บปาก ตรวจร่างกายจะพบมีรอยโรคในบริเวณปาก มือและเท้าได้ดังนี้

·         รอยโรคบริเวณปากพบในผู้ป่วยร้อยละ 100 มีรอยโรคจํานวน 5-10 แห้ง พบได้ทุกบริเวณในปากแต่ที่พบได้บ่อย คือเพดานปาก ลิ้น  และเยื่อบุกระพุ้งแก้ม รอยโรคระยะเริ่มต้น ลักษณะเป็นรอยสีแดงอาจนูนเล็กน้อยขนาด 2-8 มิลลิเมตรจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มนํ้าสีเทาขนาดเล็กขอบแดงช่วงที่รอยโรคเป็นตุ่มนํ้าจะสั้น จึงมักตรวจไม่พบ  รอยโรคในระยะนี้แต่ก็มักพบลักษณะเป็นแผลตื้นๆ สีเหลืองถึงเทาของแดงซึ่งอาจจะมารวมกันเป็นรอยโรคใหญ่ได้ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอาการเจ็บปากจะไม่รุนแรงและหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาภายใน 5-10 วัน

·         รอยโรคที่ผิวหนัง อาจเกิดขึ้นพร้อมรอยโรคที่ปาก หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยจํานวนตั้งแต่ 2-3 แห้งไปจนถึง 100 แห่ง พบที่มือบ่อยกว่าเท่า ลักษณะเป็นรอยแดงๆอาจนูนเล็กน้อยขนาด 2-10 มิลลิเมตร ตรงกลางสีเทา บางรอยโรคมีลักษณะเป็นตุ่มนํ้าใสขอบแดง มีกระจายขนานไปกับแนวของผิวหนังอาจเจ็บหรือไม่ก็ได้หลังจากนั้น 2-3 วัน จะเริ่มตกสะเก็ด และค่อยๆ หายไปภายใน 7-10 วัน โดยไม่มีรอยแผลเป็นหลงเหลือบริเวณอื่นๆ ที่อาจพบรอยโรคได้เช่นกัน คือ ก้น แขน ขา และอวัยวะสืบพันธุ์ในเด็กทารกอาจพบกระจายทั่วตัวได้ โดยทั่วไปโรคมือเท้า ปากจัดว่ามีอาการน้อยโดยมากมักมีเพียงไข้ครั่นเนื้อครั่นตัวและเจ็บปาก แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้โดยเฉพาะจากการติดเชื้อ enterovirus 71 ปัจจัยเสี่ยงต่อการพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ

·         อายุในกลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยจะพบอาการแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมากดังเช่นการระบาดในปีพ.ศ.2541 ที่ประเทศไต้หวัน พบว่าอัตราการเสียชีวิตโดยรวม คือ 44.4/100,000 รายแต่กลุ่มที่อัตราการเสียชีวิตสูงสุด คือ 6-11 เดือนเท่ากับ 96.96/100,000 ราย

·         มีไข้สูงมากกว่า 39o C และนานเกิน 3 วัน

·         มีอาการอาเจียนมากรับประทานอาหารไม่ได้

ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในข้อ 2 และ 3 จากการศึกษาที่โรงพยาบาลเด็ก Chang Gung ประเทศไต้หวัน พบว่าสัมพันธ์กับการติดเชื้อ EV มากกว่า Cox A  โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ทางระบบประสาท ระบบหัวใจ และปอดได้สูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด และภาวะช็อก

อย่างไรก็ตามเชื้อคอกแซคก็ไวรัส เอ 16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่าจากเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 มาก

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก

·         เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากที่สุด เพราะมักพบการติดเชื้อและการระบาดของโรคใน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือศูนย์เด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่

·         การที่ผู้ดูแลเด็กไม่ได้ให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของโรคมือเท้าปาก

·         สภาพที่อยู่อาศัย หรือโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็กไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น มีลักษณะอับ ทึบ แสงแดดส่องไม่ถึง

·         การใช้ข้าวของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกัน

·         การไอ จาม รดกัน หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว

แนวทางการรักษาโรคมือ เท้าปาก การวินิจฉัยโรคมือเท้าปากโดยทั่วไปใช่อาการและอาการแสดงเป็นสําคัญ (clinical diagnosis) โดยแพทย์จะตรวจร่างกายหารอยโรคจําเพาะที่บริเวณมือเท้า ปากร่วมกับมีไข้ได้แก่  ผู้ป่วยมีไข้ 38 – 39 องศาเซลเซียส  พบจุดนูนแดง ตุ่มน้ำใส หรือ แผลที่เยื่อบุปาก ลิ้น และเหงือก พบจุดแดงราบ ตุ่มนูน หรือตุ่มน้ำที่มือ เท้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และแก้มก้น

การตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง (cutaneous lesion) ทางพยาธิวิทยา(histology) จะพบเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil และ lymphocyte เพิ่มขึ้น แต่จะไม้พบmultinucleated giant cell หรือ inclusion body 11 สําหรับในกรณีที่ต้องการทราบชนิดของเชื้อไวรัสที่ก้อโรค สามารถทําได้โดยการแยกเชื้อไวรัส หรือตรวจร่องรอยการติดเชื้อจากนํ้าเหลือง สําหรับประเทศไทยใช้วิธี micro-neutralization หากพบผู้ป่วยในข่ายสงสัยให้เก็บตัวอย่างดังนี้

·         อุจจาระภายใน 14 วันของการป่วยโดยเก็บประมาณ 8 กรัม ใส่กล่องพลาสติกสะอาด

·         สวอบลําคอ (throat swab) โดยจุ่มปลายสวอบลงใน viral transport media ให้จมปลายตัวอย่างในข้อ 1 และ 2 ให้เก็บส่งโดยแช่เย็นในกระติกนํ้าแข็งอุณหภูมิ 4-8o C และส่งห้องปฏิบัติการโดยเร็วที่สุด

·         เก็บเลือด 2 ครั้งประมาณ 3-5 มล.ต่อครั้ง ครั้งแรกที่สุดภายใน 3-5 วันหลังป่วยและครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรก 14วัน โดยใส่ในหลอดแก้วปราศจากเชื้อพันพลาสเตอร์ให้แน่น เก็บตัวอย่างในตู้เย็นเพื่อรอส่งตรวจพร้อมกัน

โรคมือเท้าปากไม่มีวัคซีนหรือยาสำหรับรักษาโรคโดยตรง การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่นการให้ยาลดไข้ paracetamol หรือให้ยาบ้วนปากเพื่อช่วยลดอาการเจ็บของแผลในช่องปากถ้าตุ่มกลายเป็นหนองหรือพุพองก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน เป็นต้น ถ้ามีภาวะขาดน้ำเนื่องจากกินและดื่มไม่ได้ ก็จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ก็จำเป็นต้องรับเด็กไว้รักษาในโรงพยาบาลหรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญดูแลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ.2539 มีการศึกษาที่ Medical College of Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการทดลองใช้ acyclovir ในการรักษาผู้ป่วยโรคมือเท้า ปาก 13 รายซึ่ง 12 รายเป็นเด็กอายุ 1-5 ปีและอีก 1 รายเป็นผู้ใหญ่โดยเริ่มใช้ยา acyclovir ภายใน 1-2 วัน หลังเริ่มมีรอยโรคพบว่าอาการของผู้ป่วยดีขึ้น และรอยโรคเปลี่ยนแปลงดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังเริ่มรักษา ได้ให้ acyclovir ต่ออีก 5 วันจนรอยโรคหายไปหมด ผู้ศึกษาเชื่อว่า acyclovir อาจไปยับยั้งเอนไซม์ thymidine kinase ของ Cox A16แต่ก็อาจมีประโยชน์ ด้านอื่นด้วยเช่น อาจทําให้ผู้ป่วยสร้าง interferon เพื่อยับยั้งไวรัสมากขึ้น15 อย่างไรก็ดียังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ acyclovir ในการลดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

และหลังจากการติดเชื้อผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสที่ก่อโรค แต่อาจเกิดโรคมือเท้า ปากซํ้าได้จาก enterovirus ตัวอื่นๆ

การติดต่อของโรค มือ เท้า ปาก  โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำใส หรือสารคัดหลั่งจากจมูกและปากอันได้แก่ น้ำมูก เสมหะ หรือน้ำลาย นอกจากนี้แล้วไวรัสยังสามารถพบได้ในอุจจาระ โดยไวรัสสามารถแพร่กระจายได้ตั้งแต่ในระยะแรกที่แสดงอาการโดยช่วงที่มีการแพร่กระจายมากที่สุด คือ สัปดาห์แรกที่ผู้ป่วยมีอาการและอาจจะยังพบได้อีกหลายสัปดาห์ในอุจจาระของผู้ป่วยที่หายจากอาการของโรคแล้ว นอกจากนี้แล้วในผู้ใหญ่อาจจะสามารถแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้โดยไม่แสดงอาการใดๆ ซึ่งการได้รับไวรัสอาจเป็นการได้รับโดยตรงเช่นจากการไอหรือจาม หรืออาจจะได้รับไวรัสโดยอ้อมโดยการสัมผัสกับพื้นผิวหรือสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เช่นในสถานรับเลี้ยงเด็กซึ่งอาจมีของเล่นหรือของใช้เด็กที่ปนเปื้อนน้ำลายเนื่องจากเด็กเล็กมักชอบนำสิ่งของเข้าปาก  ดูดเลียนิ้วมือ รวมถึงจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดูเด็กที่ไม่สะอาด เป็นต้น  เนื่องจากโรคมือเท้าปากมักพบในเด็กเล็ก ดังนั้นการระบาดมักพบในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือตามโรงเรียนอนุบาล  เชื้อเอนเทอโรไวรัสสามารถทนสภาวะกรดในทางเดินอาหารมนุษย์ได้ และมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ 2-3วัน

โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเย็นหรือชื้นแฉะเชื้ออาจอยู่ได้เป็นเดือน  นอกจากนี้ การทำลายเชื้อต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม น้ำยาฆ่าเชื้อทั่วๆ ไปบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์และแอลกอฮอล์เจลใช้ป้องกันไวรัสไข้หวัดได้ แต่สำหรับเชื้อไวรัสเอนเทอโร แอลกอฮอล์ไม่มีผลโดยตรง

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การดูแลตามอาการ และเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้

·         ทานยาลดไข้ พาราเซตามอล เป็นครั้งคราวเวลา มีไข้สูง 

·         ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตดูว่ามีปัสสาวะออกมากและใส จึงนับว่าได้น้ำพอเพียง

·         ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้กินอาหารเหลวหรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน เพื่อบรรเทาอาการเจ็บในปาก อาจใช้วิธีอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีม  หรือบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น ๑ แก้ว) วันละหลายๆ ครั้งเพื่อบรรเทาอาการเจ็บแผลในปาก

·         แยกของใช้ไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน-ส้อม ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ ขับถ่ายอุจจาระลงในในโถส้วม

·         ควรทำความสะอาดพื้นห้องและพื้นผิวอื่นๆ ที่สัมผัสบ่อยๆ รวมถึงห้องสุขาและห้องน้ำ โดยล้างด้วยน้ำและผงซักฟอก แล้วตามด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ ไฮยีน คลอร็อกซ์ โดยผสมตามฉลากปิดข้างขวด ทิ้งไว้ ๑๐ นาที ก่อนล้างออกด้วยน้ำให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง

·         แยกเด็กที่ป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ ทั้งเพื่อนบ้าน และพี่น้องที่อยู่ในบ้านเดียวกัน เช่น การกอดรัด การเล่นของเล่นที่เปื้อนน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย โดยเฉพาะในกรณีที่มีน้องเล็กๆ อายุ ๑-๒ ปีหรือน้อยกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง ไม่นำเด็กไปในที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี

·         ขอให้เด็กหยุดเรียนเป็นเวลา ๗ วันนับจากวันเริ่มมีอาการ (ถึงแม้ว่าเด็กอาจมีอาการดีขึ้นก่อนครบ ๗ วัน) หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูง อาเจียน หอบเหนื่อย ซึม ชัก หรืออาการแย่ลง ต้องรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันทีในกรณีผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่ให้หยุดงานเป็นเวลา 7 วันเช่นกัน

·         ควรปรึกษาแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

-          ตุ่มน้ำ กลายเป็นตุ่มหนองหรือพุพองจากการเกา ให้แพทย์พิจารณาใช้ยาปฏิชีวนะรักษา

-          มีอาการเจ็บแผลในปาก จนกินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อย 

-          มีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย ควรส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

-          อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์

การป้องกันตนเองจากโรคมือเท้าปาก

·         สำหรับเด็ก ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย ก่อนกินอาหาร หรือเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย

·         สำหรับผู้ดูแลเด็ก ให้ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนการเตรียมอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย รวมทั้งหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก หลังการช่วยล้างก้นให้แก่เด็กเล็กที่เพิ่งขับถ่าย หรือสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งของเด็ก เช่น น้ำมูก น้ำลาย

·         ให้บุตรหลานหลีกเลี่ยงการเล่น หรือคลุกคลีกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก

·         ไม่นำเด็กเล็กไปในที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ และควรให้อยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดีในช่วงที่มีการระบาดของโรคมือเท้าปากในพื้นที่

·         หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด  ขวดนม ช้อนชาม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของเล่น เป็นต้น  ร่วมกับคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคนี้

·         ฝึกเด็กให้มีสุขนิสัยที่ดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่นิ้วมือหรือของเล่นเข้าปาก

·         ทําความสะอาดพื้น เครื่องใช้เสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนเชื้อ ด้วยนํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไปภายในบ้าน

·         พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยตรวจดูอาการของบุตรหลานทุกวัน หากมีแผลในปากหลายแผล โดยเฉพาะถ้าเจ็บมากจนทำให้ไม่ค่อยกินอาหาร ให้ช่วยแจ้งแก่โรงเรียนเพื่อให้มีการดำเนินการควบคุมโรคที่เหมาะสม

·         สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไปต่างประเทศที่มีการระบาด สามารถเดินทางได้ตามปกติ โดยให้ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงพาบุตรหลานไปสถานที่แออัด และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์

สมุนไพรที่ใช้รักษา/บรรเทาอาการของโรคมือเท้าปาก สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้บรรเทาอาการของโรคมือเท้าปากนั้นมีดังนี้ หากมีแผลในปากก็สามารถใช้กลีเซอรีนพญายอหยอดบริเวณแผลได้ เนื่องจากในใบพญายอมีสารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้แผลหายเร็วขึ้นและปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง 

            สมุนไพรในโรค มือ-เท้า-ปาก คือ ฟ้าทลายโจร (Andrographis paniculata (Burm.F.) Nees.) เป็นงานวิจัยที่ทำในประเทศจีน โดยนักวิจัยได้สกัดสารสำคัญของฟ้าทลายโจรและทำให้อยู่ในรูปแบบของยาฉีด คือ Andrographolide Sulfonate injection

งานวิจัยนี้ทำในเด็กที่เป็นโรค มือ-เท้า-ปาก อายุ 1-13 ปี จำนวน 230 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้รับการรักษาแบบแผนเดิมร่วมกับ สารสกัดฟ้าทะลายโจรในรูปแบบบาฉีด (Andrographolide Sulfonate injection)อีกกลุ่มจะได้รับการรักษาแบบแผนเดิม โดยติดตามผล 7-10 วัน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า กลุ่มแรกจะพบอาการแทรกซ้อนแบบรุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่สองอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังทำให้ไข้ลดลงได้เร็วขึ้น ทำให้แผลที่ผิวหนังและแผลในปากหายมากกว่ากลุ่มที่รักษาแบบแผนเดิม และไม่พบการเสียชีวิตรวมทั้งผลข้างเคียงที่รุนแรงในกลุ่มทดลองอีกด้วย

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.      ดร.ภก.ปิยทิพย์  ขันตยาภรณ์.โรคมือเท้าปากในเด็ก.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ภาควิชาจุลชีววิทยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.

2.      Chang L, Lin T, Huang Y, et al. Comparison of enterovirus 71 and coxsackie-virus A16 clinical illnesses during the Taiwan enterovirus epidemic, 1998. Pediatr Infect Dis J 1999;18(12): 1092-6.

3.      Abzug MJ. Hand-Foot-and-Mouth Disease. Kliegman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed.

4.      รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคมือ-เท้า-ปาก.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 326.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.มิถุนายน.2549

5.      โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-Food-and-Mouth Disease; HEMD) และโรคจากเชื้อ  Enterovirus 71(EV-71) .หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.

6.      หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคมือ-เท้า-ปาก (Hand-foot-and-mouth-disease)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1121-1123.

7.      Alsop J. Hand-foot-and-mouth disease in Birmingham in 1959. Br Med J 1960;2:1708.

8.      Shelley WB, Hashin M, Shelley ED. Acyclovir in the treatment of hand-foot-and-mouth disease.Cutis 1996;57:232-4.

9.      โรคมือ เท้า ปาก พ.ศ.2555. หมอชาวบ้าน(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.doctor.or.th/news/detail/13337

10.  Ho M, Chen E, Hsu K, et al. An epidemic of enterovirus 71 infection in Taiwan. N Engl J Med 1999; 341(13): 929-35.

11.  Jennifer CH, Antoinette FH. Hand-food-and-mouth disease. In: Freedberg IM, Eisen AZ, editors. Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine. 5th ed. New York: McGraw-Hill; 1999. p. 2403-7.

12.  สมุนไพรที่เคยมีการทำวิจัยในโรคมือเท้าปาก.อภัยภูเบศสาร.ปีที่ 12 .ฉบับที่133.กรกฎาคม.2557

13.  Luan YC, Tzou YL, Yhu CH, Kou CT, Shin RS, Ming LK, et al. Comparison of enterovirus 71 and coxsackie virus A16 clinical illnesses during the Taiwan enterovirus epidemic, 1998.Pediatr Infect Dis J 1999;18:1092-6.

14.  Robinson CR. Report on an outbreak of febrile illness with pharyngeal lesions and examthem. Toronto, Summer 1957-isolation group A Coxsackie virus. Can Med Assoc J 1958;79:615.

15.  Theokiss Z, Joel DK. Enterovirus infection. Pediatrics in Review 1998;19:183-91.

16.  พญ.ชนิกานต์ คีรีวิเชียร,พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ.โรคมือเท้าปาก (Hand-Food-and-Mouth-Disease).คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.กันยายน 2545.หน้า 1- 9

17.  โรคมือเท้าปาก-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com