โรคไวรัสตับอักเสบ

โรคไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)

1.  โรคไวรัสตับอักเสบคืออะไร ตับนับเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม อยู่หลังกระบังลมและมีหน้าที่ที่สำคัญต่างๆ ดังนี้ เป็นคลังสะสมอาหาร เช่น แป้ง ไขมัน โปรตีน เอาไว้ใช้ และปล่อยเมื่อร่างกายต้องการ สังเคราะห์สารต่างๆ เช่น น้ำดี สารควบคุมการแข็งตัวของเลือด ฮอร์โมน กำจัดสารพิษ และสิ่งแปลกปลอม เช่นเชื้อโรค หรือยา แต่ในปัจจุบันคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคที่เกี่ยวกับตับสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ ภาวะไขมันสะสมในตับ และโรคตับอักเสบ ผู้ป่วยด้วยโรคตับอักเสบพบได้ทุกวัย ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่เป็นโรคตับอักเสบเฉียบพลัน ส่วนน้อยเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังและอาจมีภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็ง ตับวาย มะเร็งตับ

ตับอักเสบเป็นภาวะทางการแพทย์ที่มีการอักเสบของตับและเกิดการทำลายของเซลล์ตับ ทำให้การทำหน้าที่ต่าง ๆ ของตับผิดปกติ ร่างกายอาจแสดงอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลยแต่มักจะนำไปสู่อาการดีซ่าน อาการเบื่ออาหาร และอาการไข้  

สาเหตุของโรคตับอักเสบ ที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดื้อไวรัส รองลงมาเกิดจาก พิษสุรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโปรโตซัวเลปโตสไปโสสิส พยาธิ ยาบางชนิด สารเคมี โดยส่วนมากจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ ไวรัสตับอักเสบชนิด อี ซึ่งแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันในรายละเอียดโดยทั่วไปเมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอับเสบ ระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถกำจัดเชื้อและจะหายเองได้ แต่มีบางรายร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะตับแข็งและมะเร็งตับต่อไป

นอกจากนี้โรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส (Viral Hepatitis) เป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุ่นแรงสูงและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่ง องค์การอนามันโลก หรือ WHO ถือว่าโรคนี้เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกทีเดียว เพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงภัยจากโรคตับอักเสบ องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้วัน ที่ 28 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันโรคตับอักเสบโลก (World hepatitis day)”

2.  สาเหตุของโรคไวรัสตับอักเสบ  โรคไวรัสตับอักเสบนั้นนับเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคตับอักเสบ ที่มีสาเหตุมมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส 5 ชนิด คือ Hepatitis A virus (HAV), Hepatitis B virus (HBV), Hepatitis C virus (HCV), Hepatitis D virus (HDV) Hepatitis E virus (HEV) นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นหรือไวรัสตัวอื่นอีก ซึ่งยังไม่สามารถตรวจพบได้ เชื้อไวรัสตับอักเสบ ดังกล่าวสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

·         กลุ่มที่ติดต่อทางการกิน ได้แก่ HAV และ HEV โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรงมากนัก และไม่มีผลข้างเคียงตามมา ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อกลุ่มนี้ในระยะเฉียบพลันแล้วจะไม่มีอาการตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็ง และโรคมะเร็ง

·         กลุ่มที่ติดต่อทางเลือด และเพศสัมพันธ์ ได้แก่ HBV และ HCV ไวรัสกลุ่มนี้มีอาการแทรกซ้อนตามมาได้สูง เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการติดเชื้อเรื้อรัง และอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง หรือ โรคมะเร็งตับได้

3.  อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ อาการ ที่เด่นชัด คือ อ่อนเพลีย ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเหมือนขมิ้น) โดยมักไม่มีอาการไข้ (ตัวร้อน) ร่วมด้วย บางคนอาจมีอาการปวดเสียด หรือจุกแน่น แถวลิ้นปี่ หรือชายโครงขวา (ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ) ในบางคนอาจสังเกตได้ว่า ก่อนมีอาการดีซ่าน จะมีอาการดีซ่าน จะมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ถ่าย เหลว หรือท้องเดินร่วมด้วย เมื่อไข้ลด (อาจมีไข้อยู่ 4-5วัน) ก็สังเกตเห็นปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม แล้วเห็นอาการตาเหลือง ตัวเหลืองตามมา

นอกจากนี้ ถ้าคนไข้ได้รับการเจาะเลือดตรวจจะพบว่า ระดับเอนไซม์ทรานซามิเนส ได้แก่ เอสจีโอที (SGOT) และเอสจีพีที (SGPT) ขึ้นสูงกว่าคนปกติ ทำให้วินิจฉัยได้แน่นอนว่า อาการดีซ่านที่เกิดจากโรคตับนั้น เป็นโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส คนไข้จะรู้สึกสบายขึ้น หายอ่อนเพลีย หายเบื่ออาหาร ผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย บางครั้งมีอาการตาเหลืองเล็กน้อย นานเป็นปีฯ ถึงสิบๆ ปี ก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ส่วนผู้ที่เป็นพาหะของไวรัสตับอับเสบบีหรือซี จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้เห็นจะทราบต่อเมื่อตรวจเลือดพบเชื้อเท่านั้น ซึ่งหากจะแยกอาการตามชนิดของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบนั้นสามารถแยกได้ดังนี้

ไวรัสตับอักเสบเอ จะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันคือ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดีซ่าน โดยในผู้ใหญ่จะมีอาการมากกว่าในเด็ก ไวรัสตับอักเสบเอเป็นไวรัสที่เป็นเฉียบพลัน หายแล้วหายขาดในคนที่มีภูมิคุ้มกันแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก

ไวรัสตับอักเสบบี การติดเชื้อจากไวรัสชนิดนี้มักจะทำให้เกิดการแฝงตัวเป็นไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง โดยผลที่เกิดในระยะยาวของการติดเชื้อไวรัสบีนั้นคือ ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในระยะยาว หากไม่ได้รับการติดตามรักษาที่เหมาะสม

ไวรัสตับอักเสบ ซี ไวรัสชนิดนี้มักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ จากภาวะตับอักเสบฉับพลัน แต่จะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของตับ เมื่อมีการอักเสบไปนานๆ ก็จะเกิดพังผืดสะสมในตับจนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด

ไวรัสตับอักเสบ ดี อาการของไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดตับอักเสบซ้ำซ้อนขึ้นมา เช่นเดียวกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบ อี การเกิดโรคของไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ตัวเหลืองตาเหลือง ผู้ป่วยหลายๆรายอาจมีอาการเหลืองนานเป็นอาทิตย์ หรือ สองสามเดือนได้

4.  กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงจะเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ไวรัสตับอักเสบชนิดเอ กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอสูงคือ กลุ่มที่มีสุขอนามัยหรือการสุขาภิบาลไม่ดี เช่น ทานอาหารสุกๆดิบๆ รับประทานอาการหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาดและผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัด

ไวรัสตับอักเสบชนิดบี เนื่องจาก ไวรัสชนิดนี้มักพบในสารคัดหลั่งของมนุษย์ เช่น เลือด น้ำนม อสุจิ น้ำลาย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ จึงได้แก้ผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารคัดหลั่งเหล่านี้ นอกจากนั้นยังสามารถติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้อีกด้วย

ไวรัสตับอักเสบชนิดซี กลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ ได้แก่ บุคคลที่ใช้เข็มหรือของมีคมร่วมกัน เช่น ผู้ติดเฮโรอีน กลุ่มผู้ที่ชอบสักตามร่างกาย เป็นต้น

ไวรัสตับอักเสบชนิดดี ไวรัสชนิดนี้เป็นไวรัสที่มักจะพบว่าเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบี ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบดีจึงเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่นเดียวกับผู้ที่เสี่ยงจะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

ไวรัสตับอักเสบชนิดอี ไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ในคนและสัตว์ เช่น หมูและสัตว์อื่นๆ และกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงจุติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้แก่บุคคลที่รับประทานอาหารสุบๆ ดิบๆ หรือผู้ที่สีสุขภาวะไม่สะอาดเป็นต้น

5.  แนวทางการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ  แพทย์วินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบได้จาก ประวัติอาการของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสโรค (เช่น การกินอาหาร การได้รับเลือด การระบาดของโรคในที่ทำงาน การมีเพศสัมพันธ์สำส่อน หรือการใช้ยาเสพติด) การตรวจร่างกาย ถ้ามีอาการชัดเจน คือ มีอาการอ่อนเพลีย ดีซ่าน โดยมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ไม่มีประวัติดื่มสุราจัด น้ำหนักลดเล็กน้อย (เพียง 1-2 กิโลกรัม) ยังกินอาหารได้ ดื่มน้ำได้ ไม่อาเจียน แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ได้แก่ ตรวจพบตับโตเล็กน้อย ลักษณะนุ่ม ไม่เจ็บมาก โดยไม่พบสิ่งผิดปกติอื่นๆ รวมทั้งไม่พบอาการไข้ (ตัวร้อน) ก็อาจวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส และให้การดูแลรักษาขั้นต้นได้ แต่ถ้ามีอาการไม่ชัดเจน หรือเป็นเรื้อรัง หรือสงสัยเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะทำการตรวจการทำงานของตับ โดยการหาระดับ SGOT[AST],SGPT [ALT]ค่าปกติน้อยกว่า 40 IU/L ถ้าค่ามากกว่า 1.5-2 เท่าให้สงสัยว่าตับอักเสบ หากพบว่าผิดปกติแพทย์จะขอตรวจเดือนละครั้งติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน การตรวจหาตัวเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ตรวจหา Ig M Anti HAV ไวรัสตับอักเสบ บี ตรวจหา HBsAg ถ้าบวกแสดงว่ามีเชื้ออยู่   Anti HBs ถ้าบวกแสดงว่ามีภูมิต่อเชื้อ  HBeAg ถ้าบวกแสดงว่าเชื้อมีการแบ่งตัว HBV-DNA เป็นการตรวจเพื่อหาปริมาณเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ ซี Anti-HCV เป็นการบอกว่ามีภูมิต่อเชื้อ  HCV-RNA ดูปริมาณของเชื้อ การตรวจดูโครงสร้างของตับ เช่นการตรวจคลื่นเสียงเพื่อดูว่ามีตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือไม่ การตรวจชิ้นเนื้อตับ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะนำชิ้นเนื้อตับเพื่อวินิจฉัยความรุนแรงของโรค เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ หากไม่มีอาการอะไรมากมายก็จะไม่ให้ยา เนื่องเพราะโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ และนัดคนไข้มาตรวจดูอาการทุก 1-2สัปดาห์ จนกว่าจะแน่ใจว่าหายดี  ผู้ป่วยโรคตับอักเสบไวรัสส่วนมากมักมีอาการไม่รุนแรง แม้ไม่ได้รับการดูแลรักษาเป็นพิเศษก็หายได้เอง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีอาการอ่อนเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียนมาก ปวดท้องมาก ตัวเหลืองจัด ปวดมึนศีรษะรุนแรง พูดไม่รู้เรื่อง หรือไม่รู้สึกตัว รวมทั้งหญิงมีครรภ์และผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นอยู่เดิม  บางครั้งอาจให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ยาแก้อาเจียน วิตามินบำรุง (หากเบื่ออาหารมาก) ฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือ (ถ้ากินได้น้อย หรืออาเจียนมาก) เป็นต้น ถ้าหากตรวจพบว่าเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง (ซึ่ง มักเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีหรือซี) ซึ่งจะมีอาการอักเสบนานเกิน 6 เดือน แพทย์อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น เจาะเนื้อตับออกมาพิสูจน์ ตรวจเลือดเพื่อดูสาเหตุความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนเป็นระยะการรักษาอาจฉีดยาอินเตอร์เฟียรอน (interferon) สัปดาห์ละ 3 ครั้ง นาน 4-6 เดือน ยานี้จะช่วยลดปริมาณเชื้อไวรัส และลดการอักเสบของตับ ส่วนผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นพาหะ ของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัว และนัดตรวจทุก 3-6 เดือน ไปเรื่อยๆ เพื่อเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

6.  การติดต่อของโรคไวรัสตับอักเสบ

·         เชื้อไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A virus ย่อว่า HAV) สามารถติดต่อทางระบบทางเดินอาหาร  โดยการกินอาหาร ดื่มนมหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของคนที่มีเชื้อโรคนี้ (เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทฟอยด์) ดังนั้นจึงสามารถแพร่กระจายได้ง่าย บางครั้งอาจพบการระบาดในค่ายทหาร โรงเรียน หรือ หมู่บ้าน

ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบจากไวรัสเอ 15-45 วัน (เฉลี่ย 30 วัน)

·         เชื้อไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus ย่อว่า HBV) เชื้อนี้จะมีอยู่ในเลือด และยังอาจพบมีอยู่ในน้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยทางเพศสัมพันธ์ หรือถ่ายทอดจากแม่ที่มีเชื้อนี้ไปยังทารกขณะคลอด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อโดยทางเลือด เช่น การให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่แปดเปื้อนเลือดของผู้ที่มีเชื้อโรคชนิดนี้ เป็นต้น

ระยะฟักตัวของโรคตับอักเสบชนิดบี 30-180 วัน (เฉลี่ย 60-90 วัน)

·         เชื้อไวรัสตับอักเสบซี (hepatitis C virus ย่อว่า HCV) เชื้อนี้สามารถติดต่อแบบเดียวกับไวรัสตับอักเสบบีทุกประการ และมีการดำเนินของโรคแบบเดียวกับไวรัสตับอักเสบบี กล่าวคือ อาจทำให้เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง หรือคนที่ติดเชื้ออาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่มีเชื้ออยู่ในร่างกายสามารถแพร่โรคให้คนอื่นได้ เรียกว่าเป็นพาหะของโรค (carrier) ในที่สุดอาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง คือ ตับแข็งกับมะเร็งตับ ลักษณะอาการเหล่านี้มักจะไม่พบในคนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

·         ไวรัสตับอักเสบ ดี       เป็นไวรัสที่แฝงมากับไวรัสตับอักเสบ บี พบได้มากในกลุ่มประเทศยุโรป โดยไวรัสตัวนี้ ต้องอาศัยส่วนประกอบของไวรัสตับอักเสบบี ในการแบ่งตัว ดังนั้นการติดเชื้อจะเกิดขึ้นพร้อมกับไวรัสตับอักเสบบีหรือเกิดในผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ ในร่างกาย ด้วยเหตุนี้การติดต่อจึงมีลักษณะเหมือนกับไวรัสตับอักเสบชนิดบี

·         ไวรัสตับอักเสบอี การเกิดโรคในคนนั้นผู้ป่วยหลายๆ รายมีประวัติสัมผัสหรือรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ ซึ่งเป็นเหตุของการติดเชื้อได้ ดังนั้นการติดต่อของไวรัสชนิดนี้จึงมีลักษณะเหมือนกับไวรัสตับอักเสบชนิดเอ

7.   การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ

·         ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลที่ดูแลรักษาแนะนำ

·         พักผ่อนเต็มที่ ควรหยุดงาน หยุดโรงเรียนตามแพทย์แนะนำ

·         ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม

·         กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ แต่ควรเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย  เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ

·         กินยาบรรเทาอาการต่างๆตามแพทย์แนะนำ

·         ไม่ซื้อยากินเองเพราะอาจส่งผลให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้น หรืออาจมีผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น เพราะตับไม่สามารถกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายได้ตามปกติ

·         งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพราะจะเพิ่มการทำลายเซลล์ตับ

·         รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดความรุนแรงของโรค และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

·         ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย

·         แยกเครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะแก้วน้ำและช้อน

·         พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

·         ควรรีบพบแพทย์ก่อนนัดหรือเป็นการฉุกเฉินเมื่อกิน/ดื่มไม่ได้ หรือเกิดอาการสับสน และ/หรือซึมลง เพราะอาจเป็นอาการของตับวาย 

8.  การป้องกันตนเองจากโรคไวรัสตับอักเสบ

·         รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ

·         ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสมอโดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย

·         กินแต่อาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง สะอาด ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง และอาหารสุกๆดิบๆ

·         รักษาความสะอาดแก้วน้ำและช้อนเสมอ

·         ระมัดระวังการสัมผัสเลือดและสารคัดหลั่งของบุคคลอื่น โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือบาง อย่างร่วมกันเช่น เข็มฉีดยา เครื่องมือสักตามร่างกาย และกรรไกรตัดเล็บ

·         ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์

·         ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบชนิดมีวัคซีน

·         การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบบเอ

o   ทารกแรกคลอดทุกราย โดยเฉพาะถ้ามารดาเป็นพาหะของเชื้อ

o   เด็กทั่วไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

o   เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อาจเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ แล้ว

o   คนที่จะเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อโรค

·         การฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสตับอักเสบบี

o   ทารกแรกคลอดทุกราย โดยเฉพาะถ้ามารดาเป็นพาหะของเชื้อ

o   เด็กทั่วไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

o   เด็กโต วัยรุ่น ผู้ใหญ่ อาจเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี แล้ว ให้ตรวจเลือดก่อนพิจารณาฉีด วัคซีน

9.  สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคไวรัสตับอักเสบ

ลูกใต้ใบ หรือ จูเกี๋ยเช่า เป็นหนึ่งสมุนไพรบำบัดตับ ต้นของลูกใต้ใบสามารถแก้ตับอักเสบ ต้นลูกใต้ใบประกอบด้วย สารไกลโคไซด์( Glycosides) ซาโพนิน (Saponin) แทนนิน (tannins) สารฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งเป็นกลุ่มสารพฤกษเคมี เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของพืชนั้น ลูกใต้ใบช่วยบำรุงตับ ลดอาการตับอักเสบ มีผลการวิจัยในสัตว์พบว่า สามารถป้องกันความเป็นพิษของยาพาราเซตตามอลต่อตับได้ และยังมีผลการวิจัยพบสารสกัดจากลูกใต้ใบสามารถป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ อย่าง เหล้า ช่วยรักษาการอักเสบของตับทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี และยังพบว่าทำให้การตับฟื้นตัวและยับยั้งเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ( HBV) ได้อีกด้วย

โดยมีการทดลองและศึกษาวิจัยระหว่างคณะแพทย์จากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และคณะแพทย์อินเดียแห่งเมืองมีคราสได้ศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่มีการใช้รักษาอาการดีซ่านมาตั้งแต่โบราณ โดยได้นำพืชสมุนไพรกว่า 1,000 ชนิดที่ใช้กันทั่วโลกมาทดสอบ 

จากการทดลองพบว่า พืชสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสชนิดนี้ และสารสกัดของ ลูกใต้ใบ มีฤทธิ์สูงสุด การทดลองทางคลินิกในเมืองมีคราสทำโดยให้แคปซูลยาสมุนไพร 200 มิลลิกรัมน้ำหนักแห้งแก่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี 37 คน วันละครั้ง 30 วันติดต่อกันพร้อมกับให้ยาหลอกซึ่งภายในแคปซูลบรรจุน้ำตาลแล็กโทสแทน 23 คน หลังจากนั้นเจาะเลือดผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อไวรัส พบว่าผู้ป่วย 22 คน (ร้อยละ 59) ไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกเพียง 1 คนที่ไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือด และภายหลังการติดตามผลการรักษาต่อไปอีก 9 เดือน พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 22 คน ยังคงตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดต่อไป

เห็ดหลินจือ มีสารโพลีแซกคาไรด์ (polysaccharides) ออกฤทธิ์ยับยั้งสารพิษต่อตับ ไม่ให้ทำลายเซลล์ตับ เช่นสาร คาร์บอนเตตราคลอไรด์ ปรับปรุงการทำงานของตับ และยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสารกลุ่มไตรเทอร์ปินนอยด์ (triterpenoids) ซึ่งมีสรรพคุณยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ และสารเยอร์มาเนียม(germanium )ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายและยังมีกรดกาโนเดอลิก (ganoderic acid) กรดลูซิเดนิก (luci denic acid) เป็นสารต่อต้านสารพิษที่มีต่อตับ ยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในตับ 

 

เอกสารอ้างอิง

1. โรคตับอักเสบ สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคประจำปี 2555.สำนักระบาดวิทยา.กรมควบคุมโรค.กระทรวงสาธารณสุข.

2. ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์.ไวรัสตับอักเสบ(Viral hepatitis) .หาหมอดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://heemor.com/th

3. รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี. โรคตับอักเสบ จากเชื้อไวรัส.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่81.คอลัมน์โรคน่ารู้.มกราคม.2529

4. มารู้จักไวรัสตับอักเสบกันเถอะ.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน.คณะเวชศาสตร์เขตร้อน.มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-Viral-hepatitis-th.php

5. รศ.นพ.สุรเกียรต์ อาชานานุภาพ.ตับอักเสบจากไวรัส.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่291.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กรกฏาคม.2546

6. รศ.จันทร์เพ็ญ  วิวัฒน์.การทดลองใช้ยาสมุนไพรรักษาไวรัสตับอักเสบ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่121.คอลัมน์โลกกว้างและการแพทย์.พฤษภาคม.2541

7. ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหนะนำโรค กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข http://webdb.dmsc.moph.go.th

8. Dienstag,J., and Isselbacher, K. (2001). Acute viral hepatitis. In Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J. Harrrison’s: Principles of internal medicine. (p1721-1737). New York. McGraw-Hill. 

9. สมพนธ์ บุณยคุปต์.(2538).ตับอักเสบ. งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี.แผ่นพับ.

10. ทวีศักดิ์ แทนวันดี.(ม.ป.ป.).โรคตับอักเสบจากไวรัสซี. เชอริง-พราว จำกัด.

11. ชมรมตับอักเสบแห่งประเทศไทย (ม.ป.ป.).ไวรัสตับอักเสบมฤตยูเงียบ.เชอริง-พราว จำกัด.

12. ยง ภู่วรรณ.(2539).ไวรัสตับอักเสบและการป้องกัน. กรุงเทพฯ : ชัยเจริญ.