ปลาไหลเผือก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ปลาไหลเผือก งานวิจัยและสรรพคุณ 20 ข้อ


ชื่อสมุนไพร
ปลาไหลเผือก

ชื่ออื่นๆ ตงกัดอาลี (มุสลิม) พญารากเดียว (ทั่วไป) ตุงสอ แฮพันชั้น (ภาคเหนือ) เพียก (ภาคใต้) หยิกบ่อถอง เอี่ยนด่อน (ภาคอีสาน) ไหลเผือก (ตรัง) คะนาง (ตราด) ตรึงบาดาล (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Eurycoma longifolia jack.
วงศ์  SIMAROUBACEAE 

                                                                                                                                                                    

ถิ่นกำเนิดปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีมาก หรือแถบเส้นศูนย์สูตรและเขตร้อนชื้น เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ เพราะต้นปลาไหลเผือกเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง และมักจะพบต้นปลาไหลเผือกมากสภาพในป่าต่างๆกัน เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ฯลฯ

ประโยชน์และสรรพคุณปลาไหลเผือก 

  1. ถ่ายพิษต่างๆ ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้พิษเสมหะ และโลหิต
  2. แก้ไข้ แก้ไข้มาลาเรีย
  3. แก้ลม
  4. แก้วัณโรคระยะบวม
  5. ขับเหงื่อ ขับพยาธิ
  6. แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
  7. แก้เจ็บคอ
  8. แก้โรคอัมพาต
  9. ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง
  10. แก้ท้องผูก
  11. ใช้เลิกเหล้า ทำให้อาเจียน และถ่าย ใช้ล้างพิษยาเสพติด ใช้บำบัดผู้ที่ติดยาเสพติด และแก้อาการลงแดงจากยาเสพติด
  12. ใช้รักษาไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู
  13. ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง
  14. ช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้วัณโรค
  15. ช่วยแก้พิษสำแดง 
  16. ช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศของเพศชายได้ 
  17. บำรุงหลังคลอดบุตร
  18. ต้านเซลล์มะเร็ง 
  19. ช่วยเพิ่มความสมบรูณ์ให้กับเสปิร์ม (อสุจิ)
  20. ช่วยในการกระตุ้นกามารมณ์ได้เป็นอย่างดี

        ปลาไหลเผือก มีชื่ออยู่ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา ที่เป็นตำราแพทย์แผนไทย ที่เกี่ยวกับแม่และเด็ก การปฏิสนธิ การรักษาครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูเด็กทารก ซึ่งเชื่อว่าเป็นคัมภีร์ที่น่าจะมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่เรื่องปลาไหลเผือก มีระบุแต่เพียงใช้เป็นยาทาแก้โรคพยาธิภายนอก โดยท่านให้เอา รากปลาไหลเผือก เอื้องเพ็ดม้า เมล็ดในมะนาว เมล็ดในชุมเห็ดเทศ ผลมูลเหล็ก เปลือกกระเบา เปลือกกระเบียน เปลือกเลี่ยน รากทองหลางหนาม รากทองพันชั่ง ผลมะแว้งเครือ ผลมะเขือขื่น บัลลังก์ศิลา หอระดานทอง ยาฝิ่น และพิมเสน รวมยา 10 สิ่ง เอาเสมอภาค ทำเป็นจุณ (บดเป็นผง) ใช้น้ำมะนาวเป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ ละลายน้ำจันทน์แดง ทาตัวแก้พยาธิอันเป็นแผ่นเป็นเม็ดก็ดี ท่านว่า "ตกสิ้น" (หมายความว่า หาย)

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ตำรายาไทยใช้รากแก้ไข้ โดยใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (หนัก 8-15 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ต้านโรคมะเร็ง รักษาโรคอัมพาต ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง ขับพยาธิ แก้อาการท้องผูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ แก้วัณโรค กาฬโรค ขับเหงื่อ รักษาความดันโลหิตสูง แก้ไข้ทุกชนิด นำรากแห้งประมาณ 8-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มทุกเช้าและเย็นแก้ไข้จับสั่น แก้ไข้สันนิบาต แก้ไข้พิษ ไข้ทรพิษ แก้ไข้เหือดหัด แก้ไข้กาฬนกนางแอ่น แก้เบาพิการ นำเปลือกลำต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน  ต้มใส่น้ำครึ่งลิตร กินเช้า 1 แก้ว เย็น 1 แก้ว (กินเป็นน้ำร้อนจะเห็นผลไว) เติมน้ำทุกวัน ต้มเช้า ต้มเย็น จะไม่เสีย ให้ต้มแค่เดือด โรคกระเพาะอาหาร ชงยาผงปลาไหลเผือกใส่น้ำเปล่า 1 แก้ว กินก่อนอาหารวันละ 3แก้ว ฝนรากปลาไหลเผือกทาแก้พิษต่างๆ เช่น ปลาดุก ตะขาบ แมงป่อง ฝี ผดผื่นคัน ผสมกับน้ำมะนาวทาจะหาย งูสวัด ผสมยาผงปลาไหลเผือกกับน้ำมะนาว ทารอบๆ แผลช้าๆ แล้วจะหายทันที (ต้มกินไข่พิษด้วย) ปวดฟัน ใช้ยาผงปลาไหลเผือกอุดฟันที่ปวดแล้วอมไว้ 5 นาที จะหาย กินของแสลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ อาหารเป็นพิษ ไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย เมาค้าง ใช้ยาผงชงใส่น้ำอุ่น  1 แก้ว ดื่มจะหายทันที หอบหืด ผสมยาผงปลาไหลเผือกใส่น้ำซาวข้าว กิน 1 แก้วหรือต้มกินเช้า-เย็น ริดสีดวงจมูก ต้มปลาไหลเผือก กินเช้า-เย็น ครั้งละ 2 แก้ว ริดสีดวงทวาร ต้มรากปลาไหลเผือก กินน้ำ เช้า- เย็น ครั้งละ 2 แก้ว ถ้ามีหัวออกมาให้ใช้ยาทาด้วย  รากรักษาโรคคอพอก ด้วยการใช้ตำรับยาสามราก นำมาฝนกับน้ำมะนาว ใส่เกลือทะเล เติมน้ำใส่ขวดไว้ใช้กินต่างน้ำประมาณ 2 เดือน อาการคอพอกก็จะค่อย ๆ ยุบไป จนหายเป็นปกติ  รากใช้ฝนกับน้ำกินหรือฝนกับน้ำปูนใสกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ช่วยแก้ฝีในท้อง ฝีในอก (วัณโรค) ด้วยการใช้ปลาไหลเผือกนำมาเคี้ยวกินได้เลย หรือจะนำมาต้มกินก่อนอาหารเช้าและเย็นก็ได้ แก้ฝี แผลพุพอง แผลเรื้อรัง ให้ใช้รากผสมกับน้ำปูนใสแล้วนำมาใช้ทา ต้นและรากนำมาต้มกับน้ำหรือแช่ในน้ำ ใช้อาบแก้ผื่นคันที่เกิดจากการแพ้อากาศหรือจากการแพ้สารเคมี

 

ปลาไหลเผือก

ปลาไหลเผือก

ลักษณะทั่วไปปลาไหลเผือก

สมุนไพรชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับ “ปลาไหลเผือก” คือ รากเป็นสีขาว มีลักษณะยาวคล้ายปลาไหลเผือก จึงเรียกกันว่าปลาไหลเผือก อีกทั้งยังมีเพียงรากเดียว จึงทำให้บางท้องถิ่นจึงเรียกอีกชื่อว่า “พญารากเดียว”   โดยปลาไหลเผือกจัดเป็น  ไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-10 เมตร เปลือกสีน้ำตาล เป็นไม้ลงราก รากกลมโตสีขาวยาว กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล กิ่งก้านสั้นเป็นกระจุกที่ปลายยอดของลำต้น แตกกิ่งก้านน้อย ก้านใบออกจากลำต้นตรงส่วนปลาย เรียงหนาแน่นช่วงปลายกิ่ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบประกอบยาวได้กว่า 35 เซนติเมตร ใบย่อย 8-13 คู่ เรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม รูปใบหอกแกมรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เรียวยาว ใบย่อยเรียงแบบตรงข้าม กว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น ปลายใบแหลม ฐานใบมน ขอบใบเรียบ โคนใบเบี้ยว เส้นใบเห็นไม่ชัดเจน ปลายโค้งจรดกัน เส้นกลางใบนูนเล็กน้อยด้านบน นูนเด่นชัดด้านล่าง ไม่มีก้านใบย่อย แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเรียบเป็นมัน ผิวด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนประปราย ก้านช่อใบยาว 7-15 เซนติเมตร ดอกช่อแบบแยกแขนง ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง และซอกใบ เป็นช่อพวงใหญ่ ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ดอกแยกเพศร่วมต้น หรือแยกเพศต่างต้น มีขนละเอียดและขนสั้นเป็นต่อมกระจาย ทั้งก้านช่อดอก ก้านดอก ใบประดับ และกลีบเลี้ยง มีขนประปรายและมีขนต่อมเป็นกระจุก กลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงปนแดง เส้นผ่าศูนย์กลางดอก 6-7 มิลลิเมตร กลีบดอกรูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 2 มิลลิเมตร ยาว 4-5 มิลลิเมตร กลีบดอกแยกจากกันเป็นอิสระ เกสรเพศผู้ยาวมี 5-6 อัน ยาว 1.5-2.5 มิลลิเมตร ติดสลับกับกลีบดอก โคนก้านชูอับเรณูมีรยางค์และมีขน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันในดอกเพศเมียขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ในดอกเพศผู้ยาวได้ถึง 2 ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 5-6 คาร์เพล แยกจากกัน แต่ละอันมี 1 ช่อง มีออวุล 1 เม็ด  ก้านเกสรเพศเมียเรียวยาว เชื่อมกันหรือแนบชิดกัน ติดเหนือรังไข่ประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ยอดเกสรรูปโล่ มี 5-6 แฉก ชี้ขึ้น ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ใบประดับรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยม กว้าง 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร หลอดกลีบเลี้ยงสั้น โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ผลทรงกลม เป็นพวง มีประมาณ 5 ผลย่อย ทรงรีหรือรูปไข่ กว้าง 8-12 มิลลิเมตร ยาว 1-2 เซนติเมตร ผนังผลชั้นในแข็ง ก้านผลยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกนอกบาง กลางผลมีร่องตื้นๆตามยาว ผลแก่สีแดงถึงม่วงดำ เมล็ดรูปรีมี 1 เมล็ด ออกดอกช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม


การขยายพันธุ์ปลาไหลเผือก

ต้นปลาไหลเผือกนับเป็นไม้ที่หาต้นพันธุ์ได้ค่อนข้างยากชนิดหนึ่ง การจะได้รากของปลาไหลเผือกมาใช้ประโยชน์ทางยาก็ต้องอาศัยเวลา เพราะปลาไหลเผือกเป็นไม้ที่ค่อนข้างจะเจริญเติบโตช้าเพราะกว่าต้นจะมีรากต้องมีอายุเกิน 5 ปี นับว่าต้องใช้เวลานานพอสมควรเลยทีเดียว โดยปลาไหลเผือกสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการตอนกิ่ง และจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการน้ำและความชื้นสูง เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกประเภท มักจะพบต้นปลาไหลเผือกได้ทั่วไปที่ระดับความสูงเท่าระดับน้ำทะเลจนถึงสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร และจะพบขึ้นกระจายตามป่าทั่วไป เช่น ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เป็นต้น 


องค์ประกอบทางเคมี

  • สารออกฤทธิ์ที่มีรสขมกลุ่ม quassinoids พบมากกว่า 150 ชนิด เช่น eurycomanol, eurycomalactone, eurycolactone, eurycomanone, canthin-6-one,9-hydroxycanthin-6-one,9-methoxycanthin-6-one เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของปลาไหลเผือก

        ปลาไหลเผือก                               ปลาไหลเผือก

               Quassinoids                                                                                                   eurycomanone

 

           ปลาไหลเผือก                             ปลาไหลเผือก

                Eurycomanol                                                                               9-hydroxycanthin-6-one

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

มีการทดลองเรื่องการปรับพฤติกรรมทางเพศในหนูทดลองโดยให้สารสกัดรากปลาไหลเผือกด้วย น้ำ เมทานอล, บิวทานอล, คลอโรฟอร์มในขนาด 200, 400, 800 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลา 10 วัน โดยผลการทดลองระบุว่า หนูเพศผู้มีอาการตื่นตัวและเข้าจับคู่กับหนูเพศเมียมากขึ้นและมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศมากขึ้นรวมถึงน้ำหนักของventral prostate และseminal vesicles เพิ่มขึ้นด้วย และยังมีการทดสอบในคน ด้านการเพิ่มสรรถภาพทางเพศ โดยให้อาสาสมัครเพศชายที่มีสุขภาพดี ที่มีอายุระหว่าง 30 – 55 ปี จำนวน 109 คน โดยให้สารสกัดรากปลาไหลเผือก จำนวน 300 มก./วัน เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า สมรรถภาพทางกายและทางเพศดีขึ้น ปริมาณน้ำอสุจิ/จำนวนสเปิร์มเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มขึ้น และในอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะมีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่มีอายุ เฉลี่ย 33 ปี จำนวน 75 คน โดยให้สารสกัดรากปลาไหลเผือก 200 มก./วัน เป็นระยะเวลา 9 เดือน ผลการศึกษาพบว่าปริมาณน้ำอสุจิและจำนวนสเปิร์มเพิ่มขึ้น จำนวนสเปิร์มที่มีลักษณะปกติเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวของสเปิร์มเพิ่มขึ้นอีกทั้งคู่สมรสของอาสาสมัครยังตั้งครรภ์ 11 คน ส่วนการศึกษาในอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะพร่องฮอร์โมน testosterone ที่มีอายุ เฉลี่ย 51 ปี จำนวน 76 คน โดยให้สารสกัดรากปลาไหลเผือก 200 มก./วัน เป็นระยะเวลา 1 เดือน  ผลการศึกษาพบว่าระดับฮอร์โมน  testosterone เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชเรื่อง สมรรถภาพทางกาย เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยป้อนสารสกัดน้ำรากปลาไหลเผือก ให้แก่หนูแรทเพศผู้ขนาดวันละ 200 และ 800มก./กก. นาน 14 วัน มีผลเพิ่มระดับฮอร์โมน testosterone เพิ่มมวลกล้ามเนื้อน่อง และลดไขมันในช่องท้อง และการศึกษาทางคลินิก ในอาสาสมัครเพศชาย 13 คน หญิง 12 คนอายุระหว่าง 57 – 72 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดรากปลาไหลเผือกขนาด 400 มก./วัน นาน 5 สัปดาห์ แล้ววิเคราะห์ค่าชีวเคมีในเลือด, ทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยวิธีการวัดแรงบีบมือ (handgrip test) และตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า ระดับฮอร์โมน testosterone เพิ่มสูงขึ้น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้น เพศชาย > เพศหญิงฤทธิ์ต้านเบาหวาน ป้อนสารสกัดน้ำรากปลาไหลเผือกขนาด 50, 100 และ 150 มก./กก. มีผลลดน้ำตาลในเลือดหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน และไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหนูปกติ 

ฤทธิ์แก้ไข/แก้ปวด/ต้านการอักเสบ จากการศึกษา ตำรับยา “จันทน์ลีลา” (โกฐสอ, โกฐเขมา, โกฐจุฬาลัมพา, กระตอม, จันทน์เทศ, จันทน์แดง, บอระเพ็ด และรากปลาไหลเผือก) พบว่ามีฤทธิ์ลดไข้เร็ว ต้านการอักเสบ ออกฤทธิ์คล้ายยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ฤทธิ์คลายความเครียดและวิตกกังวล มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยป้อนสารสกัดรากปลาไหลเผือก (สารสกัดน้ำ, คลอโรฟอร์ม, เมทานอล และนิวทานอล) ให้แก่หนูเม้าส์ขนาด 300 มก./กก. มีผลช่วยลดอาการเครียดและวิตกกังวลได้ และการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครที่มีภาวะเครียดปานกลาง 63 คน (ชาย 32, หญิง 31) โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม  (1)รับประทานสารสกัดรากปลาไหลเผือกขนาด 200 มก./วัน (2)รับประทานยาหลอก ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ประเมินความเครียดด้วยแบบสอบถาม Profile of Mood States (POMS) ตรวจวัดฮอร์โมน cortisol และ testosterone ในน้ำลาย ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครมีอาการดีขึ้น ระดับฮอร์โมน cortisol ลดลง, ระดับฮอร์โมน testosterone เพิ่มขึ้น

ฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย สารกลุ่ม quassinoid หลายชนิด มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ในหลอดทดลอง
ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง สารกลุ่ม quassinoid และอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งหลายชนิดเช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เมื่อทำการศึกษาในหลอดทดลอง

ฤทธิ์การต้านแพ้ จากการสกัดสารจากรากสดของต้นปลาไหลเผือกด้วยแอลกอฮอล์ 50% ในความเข้มข้นถึง 0.01 กรัมต่อซีซี แล้วทำการทดลองกับลำไส้ของหนูตะเภาที่ตัดแยกจากลำตัว พบว่าทำให้กล้ามเนื้อเรียบเกิดการคลายตัว และยังสามารถต้านฤทธิ์ของ Histamine ได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยา

การศึกษาด้านความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน ค่าความเข้มข้นที่ทำให้หนูเม้าส์ตายครึ่งหนึ่ง (LD₅₀) ภายใน 48 ชั่วโมง โดยใช้ สารสกัดเอทานอล 34% และสารสกัดน้ำ  พบว่าเมื่อป้อนทางปาก สารสกัดเอทานอล 34% มีค่า LD₅₀= 1500 – 2000 มก./กก. สารสกัดน้ำมีค่า LD₅₀= > 3000 มก./กก. และเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องพบว่า สารกสัดเอทานอล 34% มีค่า LD₅₀= 15 – 20 มก./กก.แต่สารสกัดน้ำ มีค่า LD₅₀= 150 – 250 มก./กก.

การศึกษาความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของสารสกัดรากปลาไหลเผือก ซึ่งมีสาร quassinoidsเป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์ พบว่าขนาดที่ทำให้หนูแรทเพศผู้และเพศเมียตายครึ่งนึง (LD50) คือ 1,293 และ > 2,000 มก./กก.น้ำหนักตัว ตามลำดับ และการศึกษาต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูแรททั้งเพศผู้และเพศเมียโดยป้อนรากปลาไหลเผือก ขนาด 10, 25 และ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว พบว่ารากปลาไหลเผือกมีผลเพิ่มดัชนีชี้วัดการเจริญพันธุ์ของหนูแรทเพศผู้ เมื่อได้รับสารสกัดนานติดต่อกัน 28 วัน และมีช่วยลดเปอร์เซนต์การสูญเสียศักยภาพในการฝังตัวของตัวอ่อน ทั้งก่อนและหลังกระบวนการฝังตัว (pre-implantation loss and post-implantation loss) ลดการฝ่อของตัวอ่อนในครรภ์ (late resorption) ในหนูเพศเมียที่รับสารสกัดติดต่อกัน 14 วัน ไม่พบอาการความเป็นพิษอื่นๆ และไม่พบความความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ แสดงให้เห็นว่าขนาดสูงที่สุดของรากปลาไหลเผือกซึ่งได้รับทุกวันแล้วไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษหรือผลเสียใดๆ ต่อร่างกาย (no-observed-adverse-effect level: NOAEL) คือ 100 มก./กก.น้ำหนักตัว ซึ่งมีค่าต่ำกว่าค่าLD50 ถึง 10 เท่า

การศึกษาด้านความเป็นพิษแบบกึ่งเรื้อรัง ในหนูเม้าส์ เมื่อป้อนสารสกัดเอทานอล 34% 600 มก./กก. ระยะเวลา 7 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า น้ำหนักตัวหนูเม้าส์ลดลง น้ำหนักปอด ตับ และไตเพิ่มขึ้น หนูมีอาการหายใจลึกและช้าลง และเมื่อป้อนสารสกัดน้ำ 1000 มก./กก.ให้หนูแรท เป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า เซลล์ตับเกิดความเสียหาย เนื้อเยื่อตับเกิดการอักเสบ พบเซลล์เม็ดเลือดขาวในตับจำนวนมาก มีการสะสมของไขมันในตับเพิ่มขึ้นในหนูขาว

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ขายส่งสมุนไพร

ควรระมัดระวังในการใช้รากปลาไหลเผือกในปริมาณสูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานรวมถึงควรระวังการใช้ร่วมกับยารักษาโรคเบาหวานและการใช้ร่วมกับยาสลายลิ่มเลือดหรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin เป็นต้น

ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยาpropranololก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้รากปลาไหลเผือกเช่นกัน เนื่องจากมีรายงานการวิจัยระบุว่าสารสกัดรากปลาไหลเผือกมีผลยับยั้งการดูดซึมของยาดังกล่าว หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร และเด็กเล็กก็ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากยังไม่มีรายงานความปลอดภัยและมีผู้ใช้บางรายระบุว่าหลังจากรับประทานทำให้นอนไม่หลับ

รากปลาไหลเผือกเป็นสมุนไพรที่มีพิษเบื่อเมา การนำมาใช้จึงต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย วิงเวียนศีรษะ หรือมีไข้อ่อนๆ หากมีอาการดังกล่าวก็ให้หยุดรับประทานแล้วดื่มน้ำเยอะๆ จนกว่าอาการจะหายไป 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Low BS ,Das PK ,Chan KL. Acute, reproductive toxicity and two-generation teratology Studies of standardi2ed quassinoid-rich extract Eurycoma longifolia Jack in Sprague-Dawly rats. Phyt-other Res 2014;28:1022-9
  2. ไตรย (THRAI) ฐานข้อมูลตำรายาสมุนไพรไทย, หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “เรื่องน่ารู้ของปลาไหลเผือก : สมุนไพรคู่ใจพรานไพร คู่กายของชายชาตรี ยาอายุวัฒนะ เสริมพลังชีวิต”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: thrai.sci.ku.ac.th. [20 เม.ย. 2014].
  3. ปลาไหลเผือก...ยาบำรุงกำลังยุคคุณปู่.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน.ปีที่24ฉบับที่517.คอลัมน์ภูมิปัญญาชาวบ้าน.2554
  4. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ปลาไหลเผือก”.  หน้า 110.
  5. พิชานันท์ ลีแก้ว.”สมุนไพรในกระแส.ปลาไหลเผือกกระชายดำ”.เอกสารการประชุม.สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ปลาไหลเผือก”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 450-452.
  7. ปลาไหลเผือกใหญ่.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=82
  8. มัณฑนา นวลเจริญ.พรรณไม้ป่าชายหาด.ปทุมธานี.สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ2552หน้า92
  9. ปลาไหลเผือก”.สารศิลปยาไทย ฉบับที่ ๑๒, สมาคมผู้ประกอบโรคศิลปแผนไทย (เชียงใหม่). 
  10. ปลาไหลเผือก.แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก.http://thaiherbal.org/930/930
  11. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ปลาไหลเผือก”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 108.
  12. ปลาไหลเผือกใหญ่.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pharogardar.com/main.php?action=viewpage&pid=149
  13. การศึกษาความเป็นพิษของปลาไหลเผือก.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.wahidol.ac.th/active/shownewss.asp?id=1106