ไพล ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ไพล งานวิจัยและสรรพคุณ 27ข้อ


ชื่อสมุนไพร ไพล
ชื่ออื่นๆ ปูเลย (ภาคเหนือ) ,ว่านไฟ (ภาคกลาง) ,ว่านปอบ (ภาคอีสาน) , มิ้นสะล่าง (รัฐฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber montanum (J.Koenig) Link ex A.Dietr.
ชื่อพ้อง Zingiber cassumunar Roxb., Zingiber purpureum Roscoe
วงศ์  ZINGIBERACEAE

ไพล

 

ถิ่นกำเนิดไพล

ไพลพรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทั่วไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยนั้นพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่นิยมปลูกกันมากในแถบจังหวัด กาญจนบุรี,สุพรรณบุรี,ปราจีนบุรีและสระแก้ว

 
ประโยชน์และสรรพคุณไพล

  1. ช่วยขับโลหิตร้ายทั้งหลายให้ตกเสีย
  2. ขับระดูสตรี
  3. แก้ฟกช้ำ
  4. แก้เคล็ดบวม
  5. ขับลมในลำไส้ ขับระดู
  6. ใช้ไล่แมลง
  7. แก้จุกเสียด
  8. รักษาโรคเหน็บชา
  9. แก้ปวดท้อง บิดเป็นมูกเลือด
  10. ช่วยสมานแผล สมานลำไส้
  11. แก้ลำไส้อักเสบ
  12. แก้มุตกิดระดูขาว
  13. ขับลม
  14. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  15. แก้ท้องผูก
  16. แก้อาเจียน
  17. แก้ปวดฟัน
  18. เป็นยารักษาหืด
  19. แก้เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง
  20. แก้โรคผิวหนัง แก้ฝี ดูดหนอง สมานแผล
  21. แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  22. เป็นยาชาเฉพาะที่
  23. ใช้ป้องกันเล็บถอด
  24. ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด
  25. รักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ
  26. ลดอาการอักเสบ บวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา และลดอาการปวด
  27. ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

                นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้เหง้าไพล ในยารักษาอาการทางระบบทางเดินอาหาร ตำรับ “ยาประสะกานพลู” มีส่วนประกอบของไพลร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย เนื่องจากธาตุไม่ปกติ และยารักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา ปรากฏตำรับ “ยาประสะไพล” มีไพลเป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร


รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ไพล

แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ใช้เหง้าไพลแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม
รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอกใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา)
การเตรียมสมุนไพรไว้ใช้รักษาเอง
เก็บเหง้าไพลสดที่แก่จัดอายุ ๑๐ เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่มีสารสำคัญอยู่มาก ทำไว้ใช้ได้ ๓ รูปแบบ ดังนี้
• นำเหง้าไพลสดมาตำให้แหลกพอกบริเวณที่มีอาการ
• ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาดหั่นเป็น ชิ้นบางๆ ต้มกับน้ำมันพืชโดยใช้ไฟอ่อนๆ ในอัตรา ๒:๑ ต้มจนน้ำมันที่ได้เป็นสีเหลืองใส กรองเอาเฉพาะน้ำมัน อาจผสม การบูรเล็กน้อย เพื่อประคบบริเวณที่มีอาการ เช้า-เย็น หรือเวลาปวดจนกว่าจะหาย
• ใช้เหง้าไพลสดตำผสมการบูรประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ ห่อเป็นลูกประคบและอังไอน้ำให้ร้อน ใช้ประคบบริเวณที่ปวดวันละ ๒ ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี และยังมีกลิ่นสมุนไพรที่ทำให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายลงได้
แก้บิด ท้องเสีย ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน
เป็นยารักษาหืด ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น
เป็นยาแก้เล็บถอด ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง
ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผลด้วย ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย

การใช้วิธีการใช้ไพลรักษาอาการบวม ฟกช้ำ อักเสบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (สาธารณสุขมูลฐาน) 
1. นำไพลมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ถูนวดบริเวณที่อักเสบ
2. เตรียมน้ำมันไพลด้วยการจี่ในกะทะ (คั่วในกะทะ) จนได้น้ำมันสีเหลือง นำมาทาถูนวด
หมายเหตุ: ครีมน้ำมันไพลขององค์การเภสัชกรรม เตรียมจากน้ำมันซึ่งกลั่นจากหัวไพล สาระสำคัญจะเป็นน้ำมันหอมระเหย
ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ครีมที่มีน้ำมันไพลร้อยละ 14 ทาและถูเบา ๆ วันละ 2-3 ครั้ง บริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย ปวดบวม จากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดยอก ฟกช้ำ


ลักษณะทั่วไปไพล

ไพลเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปีเหง้าอวบหนาผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลืองอมสีส้ม มีกลิ่นเฉพาะ กาบใบเรียงสลับโอบกันแน่นชูเหนือ ดินเป็นลำต้นเทียม สูง 1.2-1.8 เมตร แตกกอกาบใบเกลี้ยงหรือมีขนตามขอบ ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับระนาบเดียว รูปแถบ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 20-35 เซนติเมตร ปลายเรียวยาว โคนสอบ ผิวใบด้านล่างมีขนนุ่ม ก้านใบยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ลิ้นใบเป็นสองแฉกตื้นยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มีขน ช่อดอก แบบช่อเชิงลด ออกจากเหง้า ก้านช่อตั้งตรงขึ้นเหนือดิน ยาว 20–25 เซนติเมตร รูปกระสวยถึงรูปไข่ กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร ใบ ประดับเรียงซ้อนกันแน่น สีน้ำตาลขอบสีเขียว อ่อน รูปไข่ ยาว 3-3.5 เซนติเมตร ผิวมีขนนุ่ม ปลายแหลม ใบประดับย่อยยาว 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด สีขาว ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร กลีบดอกสีเหลือง อ่อน โคนติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นสามแฉก เกสรเพศผู้ เป็นหมันที่เปลี่ยนไปเป็นกลีบปากยาวประมาณ 6 เซนติเมตร รูปเกือบกลม สีขาว ปลายแยกเป็น 2 แฉก และจะแยกออกลึกขึ้นเมื่อดอกใกล้โรย เกสรเพศผู้เป็นหมันที่เหลือรูปขอบขนาน สีเดียว กับกลีบปาก ขนาบสองข้างของโคนกลีบปากและ เชื่อมเป็นแผ่นเดียวกัน เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 1 อัน ก้านเกสรเพศผู้สั้นมาก อับเรณูเป็นหงอนยาว และโค้งหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย ที่ยาวขึ้นไป เหนืออับเรณูรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ผล แบบผลแห้งแตก รูปกลม

ต้นไพล

 
การขยายพันธุ์ไพล

ไพลสามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่ว ไปๆจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ใน การปลูกไพลชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนซุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคแง่งเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเหง้าแก่เมื่ออายุ 2-3 ปี หลังปลูก

องค์ประกอบทางเคมีของไพล

องค์ประกอบทางเคมีไพลมีองค์ประกอบเคมีเป็น น้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.87,8 โดย องค์ประกอบเคมีของน้ำมันระเหยง่ายอาจแตก ต่างกันไปตามแหล่งที่มา แต่โดยทั่วไปมักมีสาร กลุ่มมอโนเทอร์พีน (monoterpene) เป็นหลัก เช่น แอลฟา-ไพนีน ( ᶏ-pinene), ซาบินีน (sabinene), แอลฟา-เทอร์พินีน ( ᶏ-terpinene), แกมมา-เทอร์พินีน ( ᶌ-terpinene), เทอร์พีน- 4-ออล (terpenen-4-ol)  

ไพล
ᶏ-pinene
   ไพล
 sabinene


            นอกจากนั้นไพลยังมี สารสีเหลืองเคอร์คูมิน ( c u r c um i n ) ได้แก่ cassumunin A-C, curcumin , อนุพันธ์แนฟโทควิโนน (naphthoquinone derivatives), อนุพันธ์บิวทานอยด์ (butanoid der ivat ives) หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ cassumunarins (อี)-4-(3,4-ดีเมทอกซีเฟนิล)บิว-3-อีน-1-ออล [(E)-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol หรือสารดี(D)], (อี)-1-(3,4-ดีเมทิลเฟนิล) บิวทาไดอีน [(E)-1-(3,4-dimethylphenyl) butadiene หรือ สารดีเอ็มพีบีดี (DMPBD)], อนุพันธ์ไซโ ค ล เ ฮ ก ซีน ( c y c l o h e x e n e derivatives) เช่น ซีส-3-(3,4-ไดเมทอกซีเฟนิล) -4-[(อี)-3,4-ไดเมทอกซีสไตริล]ไซโคลเฮก-1- อีน [cis-3-(3,4)-dimethoxyphenyl)-4-[(E)-3, 4-dimethoxystyryl]cyclohex-1-ene]
 

ไพล
[E-4-(3,4-dimethoxyphenyl)but-3-en-1-ol]
   โครงสร้างไพล
curcumin


การศึกษาทางคลินิกไพล

ขายสมุนไพร

ครีมไพลซึ่งมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบ (14%) พบว่าใช้ภายนอกลดอาการปวดบวมในการรักษาข้อเท้าแพลง เหง้ามีสาร veratrole มีฤทธิ์ขยายหลอดลม มีการทดลองให้รับประทานในผู้ป่วยโรคหืดพบว่าได้ผลทั้งหืดชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาไพล

มีฤทธิ์ขยายหลอดลม มีการทดลองในผู้ป่วยเด็กที่เป็นหืด พบว่าให้ผลดีทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลัน มีฤทธิ์กดหัวใจ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ แก้ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ กระตุ้นการผลิตน้ำดี ไล่แมลง ฆ่าแมลง ต้านออกซิเดชั่น ต้านฮิสตามีน เป็นยาชาเฉพาะที่ ฆ่าอสุจิ แก้หืด ยับยั้งหัวใจเต้นผิดปกติ กดการทำงานของหัวใจ ลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดความแรงในการเต้นของหัวใจ คลายกล้ามเนื้อมดลูก ลดการหดเกร็งของลำไส้ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ลดความดันโลหิต
 

ฤทธิ์ทางยาไพล

ฤทธิ์ลดการอักเสบ เมื่อทดลองนำครีมไพล (ไพลจีซาล) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันไพลร้อยละ 14 ไปใช้ในผู้ป่วยข้อเท้าแพลง โดยให้ทาวันละสองครั้ง พบว่าสามารถลดการปวดบวมได้มากกว่ากลุ่มควบคุมเมื่อใช้ไปได้ 4 วัน และมีการกินยาแก้ปวด (paracetamol) ในสองวันแรกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมด้วย ผู้ป่วยที่ได้รับไพลจีซาลสามารถงอข้อเท้าได้มากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ความสามารถงอส่วนฝ่าเท้าไม่แตกต่างกัน เมื่อนำน้ำมันไพลที่อยู่ในรูปของเจล (ไพลเจล) มาทดสอบ พบว่าไพลเจลสามารถลดการอักเสบของอุ้งเท้าหนูได้ โดยสามารถลดการบวมได้เทียบเท่ากับ piroxicam gel ทั้งยังลดความแดงและบรรเทาอาการปวดได้ด้วย
การทดสอบสาร phenylbutenoids ในไพลจำนวน 7 ชนิด ต่อการยับยั้งเอนไซม์ในกระบวนการอักเสบ คือ cyclooxygenase-2 พบว่ามีสาร 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เป็นสาร phenylbutenoid dimer 2 ชนิดและสาร phenylbutenoid monomer 2 ชนิด โดยสารกลุ่มแรกจะมีฤทธิ์แรงกว่า
ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ น้ำคั้นหัวไพลมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และช่วยลดอาการปวด
ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน มีการทดสอบฤทธิ์ต้านฮีสตามีนของไพลในผู้ป่วยเด็กโรคหืด โดยฉีดฮีสตามีนที่แขนซ้ายก่อนได้รับยา และฉีดที่แขนขวาอีกครั้งหลังการให้กินไพลแห้งบด ทำการวัดรอยนูนแดงที่เกิดขึ้นหลังฉีดฮีสตามีน 15 นาทีเปรียบเทียบระหว่างแขนทั้งสองข้าง พบว่าไพลมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนโดยสามารถลดขนาดของตุ่มนูนที่เกิดจากการฉีดด้วยฮีสตามีนได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาคลอเฟนิลามีน นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยเฮกเซนมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนในกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กส่วนปลายและกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมในหนูตะเภา
ฤทธิ์แก้ปวด สาร (E)-4 (3',4'-dimethylphenyl) but-3-en-l-ol จากไพลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อทดสอบในหนูแรท (10) และไพลเจลมีฤทธิ์แก้ปวดเมื่อใช้เป็นยาทาภายนอก
ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนแสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Bacillus subtilis (แบคทีเรียแกรมบวก) และ Pseudomonas aeruginosa (แบคทีเรียแกรมลบ) แต่สารสกัดด้วยเมทานอลไม่แสดงฤทธิ์ สารสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินหายใจบางชนิด ได้แก่ b-streptococcus group A นอกจากนี้สาร Terpinene-4-ol และ sabinene ก็มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อราพบว่าสารสกัดด้วยเมทานอล, ไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราในโรคผิวหนังด้วย ได้แก่ Epidermophyton floccosum, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum
ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ พบว่าสาร D จากสารสกัดด้วยเฮกเซนสามารถยับยั้งฤทธิ์ของฮีสตามีน อะเซททิลโคลีน นิโคทีน และเซโรโทนินได้ เมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้เล็กส่วนปลายของหนูตะเภา และสารดังกล่าวสามารถยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีนและลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมที่ถูกระตุ้นด้วยไฟฟ้าได้ เมื่อนำสารสกัดด้วยน้ำมาทดสอบผลต่อกล้ามเนื้อเรียบของหนูแรท พบว่าสามารถยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ลำไส้และกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตามเมื่อทดสอบกับกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดงจากสายสะดือเด็กทารก ยังไม่พบการออกฤทธิ์ของน้ำสกัดไพลที่ชัดเจน
 

การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันของสารสกัดไพลด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และสารสกัด D (แขวนตะกอนใน tween 80 ร้อยละ 2) ไม่พบอาการพิษแม้จะให้ทั้งกรอกทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูเม้าส์ แต่เมื่อให้เกลือโซเดียมของสาร D ที่ละลายในน้ำฉีดเข้าช่องท้องจะทำให้หนูหายใจลึกและถี่ขึ้น มีการเคลื่อนไหวน้อยลง และขาหลังอ่อนเปลี้ยกว่าปกติ แต่หนูทั้งหมดยังมีชีวิตอยู่รอดภายหลังการทดลอง การทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ ทั้งจากการตรวจดูลักษณะภายนอก และจากการตรวจสอบทางพยาธิวิทยา ในการศึกษาพิษเฉียบพลันของตำรับยาแก้หืดที่มีส่วนผสมของไพลในหนูแรท พบว่าสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 และเฮกเซน ไม่เกิดพิษใดๆ ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรัง โดยผสมไพลในอาหารหนู ซึ่งให้หนูกินเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าการผสมไพลในอาหารร้อยละ 18 เท่านั้นที่ทำให้หนูโตช้า แต่ยังไม่พบความผิดปกติอื่น เมื่อทำการตรวจปัสสาวะและเลือด หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ ส่วนผงไพลเมื่อให้ในหนูเม้าส์พบว่ามีพิษต่อตับหลังจากให้ไป 1 ปี แต่เมื่อให้กับลิงในขนาด 50 เท่าของขนาดรักษาในคนเป็นเวลา 6 เดือน ยังไม่พบพิษ
เมื่อทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันไพลต่อสัตว์ทดลอง 3 ชนิด ได้แก่ หนูแรท หนูเม้าส์ และกระต่าย โดยให้ทางปาก พบว่าน้ำมันไพลมีความเป็นพิษเล็กน้อย (1 มีการทดสอบความเป็นพิษของ terpinen-4-ol จากน้ำมันไพล พบว่าไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับกระต่าย นอกจากนี้ในการทดสอบการระคายเคืองของ terpinen-4-ol กับกระต่าย โดยสอดครีมความเข้มข้นร้อยละ 3, 5 และ 7 ทางช่องคลอดเป็นเวลา 10 วัน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงน้ำหนักกระต่าย แต่มีความผิดปกติกับช่องคลอด ส่วน กระเพาะปัสสาวะ มดลูก รังไข่ ไต และ ตับ ปกติ และพบว่าการป้อนสาร terpinen-4-ol มีความเป็นพิษปานกลางต่อหนูแรท และสาร terpinen-4-ol ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออสุจิของวัวใกล้เคียงกับยาสังเคราะห์ Delfen (ครีมมี nonoxynol-9 ร้อยละ 5) ประสะไพลและน้ำสกัดจากประสะไพลที่ให้กับหนูแรท ไม่พบอาการพิษ
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

1. ไพลอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังได้
2. การรับประทานในขนาดสูงหรือใช้เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดพิษต่อตับ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืด และไม่ควรนำเหง้าไพลมาใช้รับประทานเป็นยาเดี่ยว ติดต่อกันนาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่เป็นพิษต่อตับออกจากไพลเสียก่อน
3. การใช้ครีมไพลห้ามใช้ทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
4. ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรและเด็กเล็ก

เอกสารอ้างอิง

1. ต้นร่างอ้างอิงสมุนไพรไทย:ไพล.คณะอนุกรรมการจัดทำต้นร่างอ้างอิงยาสมุนไพร ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์การเลือก.ปีที่10ฉบับที่1มกราคม-เมษายน 2555.หน้า52-56
2. ไพล.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก https://th.wikipedia.org/w/index.php?title=ไพล&oldid=5728576
3. ไพล.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก
http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=96
4. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต, วิเชียร จีรวงส์.คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2542. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์และมูลนิธิ ภูมิปัญญา, 2548. หน้า 511-2.
5. ชยันต์ พิเชียรสุนทร, วิเชียร จีรวงส์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 2 เครื่องยาพฤกษวัตถุ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนัก พิมพ์อมรินทร์. 2547. หน้า 227-31
6. Faculty of Pharmacy, Mahidol University. Specification of Thai Medicinal Plants. Volume
Bangkok: Aksornsampan Press. 1986. p. 108-11.
7. สำนักงานคณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐาน กระทรวงสาธารณสุข. ยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. หน้า 120-1.
8. Soontornsaratune P, Wasuwat S, Sematong T. Anti-inflammatory effects of a topical preparation of Phlai oil/Plygesal on carrageenan-induced footpad swelling in rats. TISTR 1990; Research Project No. 30-22/Report No 3:1-7.
9. Theilade I. A synopsis of the genus Zingiber (Zingiberaceae) in Thailand. Nord J Bot. 1999;19(4):389-410.
10. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2549 ตามประการคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2549 เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2547 (ฉบับที่ 4). กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร แห่งประเทศไทย. 2549. หน้า 66-71.
11. วิรุฬห์ เหล่าภัทรเกษม และคณะ. ความสัมฤทธิ์ผลของครีม สมุนไพรไทย (ไพลจีซาล) ในการรักษาข้อเท้าแพลงในนักกีฬา. ศรีนครินทร์เวชสาร. 2536;8(3)
12. ไพล.กลุ่มยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ.สมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
13. ภก.สุดเหมือนฝัน ธนธัญญา.บรรเทาอาการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวเข่าและข้อเท้า.นิตรสารหมอชาวบ้าน.คอลัมน์รู้ไหม?ยาอะไรเอ่ย?เล่มที่311.มีนาคม2548
14. ไพล.ฉบับประชาชนทั่วไป.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.