มะกรูด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะกรูด งานวิจัยและสรรพคุณ 30 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะกรูด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะขูด, มะขุน, มะกูด, บะกูด (ภาคเหนือ), ส้มมั่วผี, ส้มกรูด (ภาคใต้), โกร้ยเชีด (เขมร), มะขู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อสามัญ Kaffir lime, Mauritius papeda, Leech lime
ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus hystrix DC.
วงศ์ RUTACEAE


ถิ่นกำเนิดมะกรูด

มะกรูดเป็นพืชตระกูลส้ม และมะนาว เป็นพืชพื้นเมืองในเขตร้อนชื้นแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา ฯลฯ ซึ่งถูกจัดเป็นไม้ผล สำหรับมะกรูดในประเทศไทยนั้น ชาวไทยคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นสมุนไพรคู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน เพราะนิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงที่จำเป็นอย่างขาดไม่ได้เลย (ซึ่งโดยปกติแล้วเรามักจะนิยมใช้ใบมะกรูด และผิวมะกรูดมาเป็นส่วนผสมของพริกแกง) นอกจากนี้มะกรูด ก็ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านของความงาม และในด้านของยาสมุนไพร อีกทั้งยังถือว่าเป็นไม้มงคลที่นิยมปลูกไว้บริเวณบ้านอีกด้วย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุข โดยมักจะปลูกไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้า
 

ประโยชน์และสรรพคุณมะกรูด

  1. ช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระสูง
  2. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
  3. ช่วยกระทุ้งพิษ
  4. แก้ฝีภายใน
  5. แก้เสมหะเป็นพิษ
  6. มีน้ำมันหอมระเหยผ่อนคลายความเครียด คลายความกังวล
  7. เป็นยาบำรุงหัวใจ
  8. แก้ลม หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  9. แก้อาการไอ
  10. ช่วยขับเสมหะ
  11. ช่วยฟอกโลหิต
  12. แก้อาการเลือดออกตามไรฟัน
  13. ช่วยขับลมในลำไส้
  14. แก้อาการจุกเสียด ท้องอืด แน่นท้อง
  15. ช่วยขับระดู
  16. ช่วยขับลม
  17. ช่วยบำรุงหนังศีรษะ
  18. ช่วยบำรุงเส้นผมให้แข็งแรง
  19. แก้ปัญหากลิ่นเท้าเหม็น มีกลิ่นอับเชื้อรา
  20. แก้อาเจียนเป็นโลหิต
  21. แก้ช้ำใน
  22. แก้น้ำลายเหนียว
  23. ช่วยกัดเถาดานในท้อง
  24. แก้ลักปิดลักเปิด
  25. ช่วยป้องกันรังแค
  26. แก้ชันนะตุ
  27. แก้ปวดท้องในเด็ก
  28. ช่วยเจริญอาหาร
  29. แก้ปวดศีรษะ
  30. แก้อาการนอนไม่หลับ

        ใบมะกรูด และน้ำมันมะกรูด สามารถใช้ดับกลิ่นคาวในอาหาร และใช้ในการประกอบอาหาร หรือ แต่งกลิ่นคาวหวานของอาหาร เช่น ต้มยำ แกงเผ็ด ผัดเผ็ด ฉู่ฉี่ ห่อหมก ฯลฯ มีการนำเปลือกของมะกรูดมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบางชนิด อย่างเช่น สบู่ แชมพูมะกรูด หรือ ยาสระผมมะกรูด ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงและแมลง เป็นต้น ส่วนสรรพคุณทางยาของมะกรูดนั้นมีดังนี้ 

           ตำรายาไทยใบมะกรูด มีรสปร่า หอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน กัดเสมหะในคอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสียฟอกโลหิตระดู ขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ผิว มีรสปร่าหอม ร้อน เป็นยาขับลมในลำไส้ แก้แน่น ขับระดู ขับผายลม เป็นยาบำรุงหัวใจ ผล ดองเป็นยาฟอกเลือดในสตรี ช่วยขับระดู ขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด ลักปิดลักเปิด น้ำมันจากผิวช่วยป้องกันรังแค และทำให้เส้นผมดกดำเป็นเงางาม ผล รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิตระดู ขับระดู ขับลมในลำไส้ ถอนพิษผิดสำแดง ผล ปิ้งไฟให้สุก ผ่าครึ่งลูก เอาถูฟอกสระผม ทำให้ผมดกดำเป็นเงางาม นิ่มสลวย แก้คัน แก้รังแค แก้ชันนะตุ ทำให้ผมสะอาดแพทย์ตามชนบทใช้ผลเอาไส้ออก ใส่มหาหิงคุ์แทน สุมไฟให้เกรียม บดกวาดปากลิ้นเด็กอ่อน ขับขี้เทา ขับลม แก้ปวดท้องในเด็ก หรือ ใช้ผลสดนำมาผิงไฟให้เกรียม แล้วละลายให้เข้ากับน้ำผึ้ง ใช้ทาลิ้นให้เด็กที่เกิดใหม่ ยาพื้นบ้านบางถิ่นใช้น้ำมันมะกรูดดองยาที่เรียกว่า “ยาดองเปรี้ยวเค็ม” ที่ใช้กินเป็นยาฟอกโลหิตในสตรี น้ำผลมะกรูด มีรสเปรี้ยว แก้เสมหะในลำคอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิตระดู ขับลมในลำไส้ และใช้ถนอมยาไม่ให้บูดเน่า แก้อาการท้องอืด ช่วยเจริญอาหาร ใช้สระผมกันรังแค เนื้อของผล แก้ปวดศีรษะ

            ตำรายาไทย: ผิวมะกรูดจัดอยู่ใน “เปลือกส้ม 8 ประการ” ประกอบด้วย ผิวส้มเขียวหวาน ผิวส้มจีน ผิวส้มซ่า ผิวส้มโอ ผิวส้มตรังกานู ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว หรือ ผิวส้มโอมือ และผิวมะกรูด มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด กองหยาบ แก้เสมหะโลหะ ใช้ปรุงยาหอม แก้ทางลม

                ในตำราพระโอสถพระนารายณ์: ระบุตำรับ “น้ำมันมหาจักร” เตรียมได้ง่าย ใช้เครื่องยาน้อยสิ่ง หาซื้อได้ง่าย ในตำรับให้ใช้น้ำมันงา 1 ทะนาน (ขนาดทะนาน 600) มะกรูดสด 30 ลูก ปอกเอาแต่ผิว เตรียมโดยเอาน้ำมันงาตั้งไฟให้ร้อน เอาผิวมะกรูดใส่ลง ทอดจนเหลืองเกรียมดีแล้วให้ยกน้ำมันลง กรองเอากากออก ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาเครื่องยาอีก 7 สิ่ง บดให้เป็นผงละเอียด ใส่ลงในน้ำมันที่ได้ เครื่องยาที่ใช้มี เทียนทั้ง 5 (เทียนตาตั๊กแตน เทียนข้าวเปลือก เทียนขาว เทียนแดง และเทียนดำ) หนักสิ่งละ 2 สลึง ดีปลีหนัก 1 บาท และการบูรหนัก 2 บาท สรรพคุณ ใช้ยอนหู แก้ลม แก้ริดสีดวง แก้เปื่อยคันก็ได้ ทาแก้เมื่อยขบ และใส่บาดแผล ที่มีอาการปวด ที่เกิดจากเสี้ยน จากหนาม จากหอกดาบ ระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ จะไม่เป็นหนอง

                นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ผิวมะกรูด ในยารักษาอาการโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ตำรับ "ยาหอมเทพจิตร" มีส่วนประกอบของผิวมะกรูด อยู่ใน "เปลือกส้ม 8 ประการ" ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในท้อง ตำรับ “ยาประสะไพล” มีส่วนประกอบของผิวมะกรูด ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ ใช้ในสตรีที่ระดูมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาน้อยกว่าปกติ และขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ขับลมในลำไส้ แก้แน่น แก้เสมหะ ฝานผิวมะกรูดสดเป็นชิ้นเล็กๆ 1 ช้อนแกง เติมการบูร หรือ พิมเสน 1 หยิบมือ ชงด้วยน้ำเดือดแช่ทิ้งไว้ ดื่มแต่น้ำรับประทาน 1-2 ครั้ง ถ้ายังไม่ทุเลากินติดต่อกัน 2-3 วันใช้สระผม ให้ดกดำ เงางาม รักษาชันนะตุ ให้ผ่ามะกรูดเป็น 2 ชิ้น เมื่อสระผมเสร็จแล้ว เอามะกรูดมาสระซ้ำโดยยีไปบนผม น้ำมะกรูดเป็นกรดจะทำให้ผมสะอาด แล้วล้างเอาสมุนไพรออกให้หมด หรือ ใช้ผลเผาไฟ นำมาผ่าซีกใช้สระผม ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ด้วยการใช้ผิวมะกรูด รากชะเอม ไพล เฉียงพร้า ขมิ้นอ้อย ในปริมาณเท่ากัน นำมาบดเป็นผง นำมาชงละลายน้ำร้อน หรือ ต้มเป็นน้ำดื่ม ช่วยฟอกโลหิต ด้วยการนำผลมะกรูด สดมาผ่าเป็น 2 ซีก แล้วนำไปดองกับเกลือ หรือ น้ำผึ้งประมาณ 1 เดือน แล้วรินเอาแต่น้ำดื่ม จะช่วยฟอกโลหิตได้เป็นอย่างดี


ลักษณะทั่วไปของมะกรูด

มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เนื้อไม้เป็นเนื้อแข็ง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นแตกกิ่งก้านจำนวนมากตั้งแต่ระดับล่างของลำต้นทำให้มีลักษณะเป็นพุ่ม ตามลำต้น และกิ่งมีหนามแหลมยาวใบมะกรูด เป็นใบประกอบ ออกเป็นใบเดี่ยว มีก้านใบแผ่ออกเป็นครีบคล้ายแผ่นใบ ใบมะกรูดมีลักษณะหนา เรียบ มีผิวมัน สีเขียว และเขียวเข้มตามอายุของใบ ใบมีคอดกิ่วที่กลางใบทำให้ใบแบ่งออกเป็น 2 ตอน หรือ คล้ายใบไม้ 2 ใบ ต่อกัน ขนาดใบกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ใบมีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอกมะกรูดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกออกเป็นช่อมีสีขาว แทงออกบริเวณส่วนยอด หรือ ตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกประมาณ 1-5 ดอก หลีบดอกมีสีขาวครีม 5 กลีบ มีขนปกคลุม ภายในดอกมีเกสรมีสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย และเมื่อแก่จะร่วงง่าย ผลมะกรูด หรือ ลูกมะกรูด มีลักษณะค่อนข้างกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร ผลคล้ายผลส้มซ่า ผลมีขนาดใหญ่กว่าลูกมะนาวเล็กน้อย ลักษณะของผลมีรูปร่างแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์ เปลือกผลค่อนข้างหนา ผิวเปลือกมีสีเขียวเข้ม ผิวขรุขระเป็นลูกคลื่น หรือ เป็นปุ่มนูน ภายในเปลือกมีต่อมน้ำมันหอมระเหยเป็นจำนวนมาก มีจุกที่หัว และท้ายของผล เมื่อสุก ผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ด้านในผลประกอบด้วยเนื้อฉ่ำน้ำ มีเมล็ดแทรกบริเวณกลางผล 5-10 เมล็ด เนื้อผลมีรสเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย

มะกรูด 

มะกรูด

การขยายพันธุ์มะกรูด

การขยายพันธุ์มะกรูดสามารถทำได้ด้วยหลายวิธี เช่น การตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา การต่อยอด และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การตอนกิ่ง การต่อยอด และการเพาะด้วยเมล็ด เมื่อได้ต้นกล้าที่จะนำไปปลูกแล้ว ขั้นตอนต่อไป ให้ขุดหลุม ให้ขนาดหลุม กว้างxยาวxลึก ประมาณ 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยขี้วัวผสมดิน กรีดถุงดำออก น้ำต้นกล้าลงปลูก กลบดิน รดน้ำ คลุมฟาง และทำหลักปักกับต้นเพื่อกันโยกเวลาลมพัด โดยทั่วไปนิยมปลูกมะกรูดระยะชิด คือ 2x2 เมตร 1 ไร่ จะได้มะกรูด 400 ต้น หากปลูกระยะ 1.5x1.5 เมตร 1 ไร่จะได้ 1067 ต้น ในการปลูกระยะชิดนี้จะเป็นการปลูกมะกรูดเพื่อจำหน่ายใบ เนื่องจากมีการตัดใบจำหน่ายทุกๆ 3-4 เดือน พุ่มมะกรูด ก็จะไม่ชิดกันมาก หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นลูกมะกรูด ผู้ปลูกอาจปลูกระยะห่าง 4x4 เมตร 1 ไร่จะได้ 200 ต้น หรือ 5x5 เมตร 1 ไร่จะได้ 65 ต้น เป็นต้น สำหรับมะกรูดปลูกได้ดีในดินทุกชนิด และระยะปลูกมะกรูดนั้น ปลูกได้หลายระยะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และพื้นที่ของผู้ปลูกดังที่กล่าวมาแล้
 

องค์ประกอบทางเคมี

นํ้ามันหอมระเหยมะกรูด ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ สารในกลุ่มเทอร์พีน (terpenes) และสารที่ไม่ใช่กลุ่มเทอร์พีน (non-terpene) หรือ oxygenated compounds ตัวอย่างเช่น ในผิวมะกรูดมีน้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 4 มีองค์ประกอบหลักเป็น “เบตาไพนีน” (beta-pinene) ประมาณร้อยละ 30, “ลิโมนีน” (limonene) ประมาณร้อยละ 29, beta-phellandrene, citronellal นอกจากนี้ยังพบ linalool, borneol, camphor, sabinene, germacrene D, aviprin

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของมะกรูด

โครงสร้างมะกรูด

ที่มา :  Wikipedia

           สารกลุ่มคูมาริน ได้แก่ umbelliferone, bergamottin, oxypeucedanin, psoralen, N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO) น้ำจากผลพบกรด citric ส่วนในใบมะกรูด เมื่อกลั่นด้วยไอน้ำ จะได้น้ำมันระเหยง่ายประมาณร้อยละ 0.08 มีองค์ประกอบหลักเป็น “แอล-ซิโตรเนลลาล” (l-citronellal) ประมาณร้อยละ 65, citronellol, citronellol acetate นอกจากนี้ยังพบ sabinene, alpha-pinene, beta-pinene, alpha-phellandrene, limonene, terpinene, cymene, linalool และสารอื่นที่พบได้แก่ indole alkaloids, rutin, hesperidin, diosmin, alpha-tocopherol ส่วนคุณค่าทางโภชนาการของมะกรูดนั้นสามารถแยกได้ดังนี้ 

           คุณค่าทางโภชนาการของใบมะกรูด (100 กรัม)

  • พลังงาน                         171       กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน                            6.8       กรัม
  • ไขมัน                              3.1       กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต                29.0     กรัม
  • เส้นใย                             8.2       กรัม
  • แคลเซียม                     1672     มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                      20        มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                       3.8       มิลลิกรัม
  • วิตามินเอ                      303      ไมโครกรัม
  • ไทอามีน                        0.20      มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน                  0.35      มิลลิกรัม
  • ไนอาซิน                        1.0        มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                       20        มิลลิกรัม
  • เถ้า                                4.0        กรัม

คุณค่าทางโภชนาการของผิวลูกมะกรูด (100 กรัม)

  • คาร์โบไฮเดรต              21.3     กรัม
  • โปรตีน                          2.8       กรัม
  • ไขมัน                           1.1        กรัม
  • ใยอาหาร                    3.4        กรัม
  • แคลเซียม                    322       มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                   62         มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                   1.7        มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1                   0           มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                 0.13       มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                     115        มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของน้ำมะกรูด (100 กรัม)

  • คาร์โบไฮเดรต            10.8      กรัม
  • โปรตีน                        0.6        กรัม
  • ไขมัน                          0           กรัม
  • ใยอาหาร                    0            กรัม
  • แคลเซียม                   20         มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                20         มิลลิกรัม
  • เหล็ก                          0.6        มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 1                 0.02     มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2                  58         มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                     55         มิลลิกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะกรูด

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ สาร coumarins 2 ชนิด ที่ได้จากผลมะกรูด ได้แก่ bergamottin และ N-(iminoethyl)-L-ornithine (L-NIO) มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ (NO) ในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งหลั่งจาก macrophage ของหนูที่ถูกกระตุ้นด้วย lipopolysaccharide (LPS) และ interferon-g (IFN- g) โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 14.0 µM และ 7.9 µM ตามลำดับ สารคูมาริน 3 ชนิด ได้แก่ bergamottin, oxypeucedanin และ psoralen สามารถยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ เมื่อทดสอบในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ของหนู ที่ถูกกระตุ้นด้วยลิโปพอลิแซ็กคาร์ไรด์ (LPS) และอินเตอร์เฟอรอน (interferon)

           ฤทธิ์ปกป้องตับ ศึกษาฤทธิ์ปกป้องตับของใบมะกรูดในหนูขาว โดยให้สารสกัด 80% เมทานอล จากใบมะกรูด ขนาด 200 mg/kg เป็นเวลา 7 วัน ก่อนให้ยา paracetamol ขนาด 2 g/kg เป็นเวลา 5 วัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดพิษต่อตับ ซึ่งยา paracetamol จะกระตุ้นให้ตับของหนูเกิดพิษในวันที่ 5 ใช้สาร Silymarin ขนาด 100 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน ในวันที่ 7 จะมีการตรวจประเมินการทำงานของตับ ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ (ALT, AST, ALP), total bilirubin, total protein, blood serums และ hepatic antioxidants (SOD, CAT, GSH and GPx) จากการทดสอบพบว่าสารสกัดใบมะกรูดจะช่วยฟื้นฟูตับ โดยทำให้ระดับเอนไซม์ตับ และเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระของตับกลับมาอยู่ในระดับปกติได้อย่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ซึ่งการศึกษานี้สรุปได้ว่าสารสกัดใบมะกรูดมีฤทธิ์ปกป้องตับไม่ให้เกิดพิษจากยา paracetamol ได้

           ฤทธิ์ช่วยปรับสภาพเส้นผม น้ำมันหอมระเหยจากผลมะกรูด เช่น b-pinene (30.6%), limonene (29.2%), sabinene (22.6%), citronellal (4.2%) และน้ำคั้นจากผล ซึ่งมีวิตามินต่างๆ และกรดซิตริก (2.56%) เมื่อผสมลงในผลิตภัณฑ์ครีมปรับสภาพเส้นผม โดยเปรียบเทียบกับสารเคมี alpha hydroxy acids (AHAs) พบว่าช่วยปรับสภาพเส้นผมให้ดีขึ้น

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดน้ำ และอะซีโตน ของใบมะกรูดทั้ง 3 ชนิด (ใบสด ต้ม และทอด) โดยใช้ 3 วิธี การทดสอบ ได้แก่ ORAC, FRAP และ DPPH radical scavenging activity ผลการศึกษาพบว่าใบมะกรูดทอดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด ตามด้วยใบมะกรูดสด และใบมะกรูดต้ม ตามลำดับ จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากใบ พบสารฟลาโวนอยด์ 9 ชนิด ได้แก่ theobromine, cyanidin, myricetin, peonidin, quercetin, luteolin, hesperetin, apigenin และ isorhamnetin โดยมีปริมาณผลรวมของสารฟลาโวนอยด์เท่ากับ 1110 ± 74.1, 556 ± 29.7 และ 1235 ± 102.5 มก. ต่อ 100 ก. แห้ง ในใบมะกรูดสด ต้ม และทอด ตามลำดับ พบปริมาณของ hesperetin สูงที่สุด ปริมาณสารโพลิฟีนอลเท่ากับ 2.0 (สด), 1.8 (ต้ม) และ 1.9 (ทอด) ก. GAEs/100 ก. สด

           ฤทธิ์ป้องกันการแตกหักของโครโมโซม ทดสอบในหนูถีบจักร โดยใช้วิธีการตรวจไมโครนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดง เพื่อดูผลการยับยั้งการแตกหักของโครโมโซม โดยการป้อนใบมะกรูดสด ขนาด 0.2 และ 0.4 ก. แห้ง/นน. 1 กก./วัน เป็นเวลา 14 วัน และให้สารก่อมะเร็ง DMBA (40 มก./นน. 1 กก.) หรือ MMC (1 มก./นน.1 กก.) หลังจากนั้นเจาะเลือดที่เวลา 0, 24 และ 48 ชม. ผลการศึกษาพบว่าใบมะกรูดสด ขนาด 0.2 ก. แห้ง/นน. 1 กก. มีแนวโน้มในการลดการแตกหักของโครโมโซมที่เกิดจาก MMC และ DMBA ได้ไม่แตกต่างกัน ที่ 24 ชม. และ 48 ชม. ตามลำดับ สรุปได้ว่ากระบวนการประกอบอาหารโดยเฉพาะการต้มมีผลต่อการลดปริมาณสารฟลาโวนอยด์ สารโพลีฟีนอล รวมทั้งลดความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในใบมะกรูด ใบมะกรูดที่ความเข้มข้น 0.2 ก./นน. 1 กก. มีผลต่อการลดจำนวนไมโครนิวเคลียส ที่เกิดขึ้นจากการชักนำของสารก่อมะเร็งชนิดตรง คือ MMC และสารก่อมะเร็งชนิดที่ต้องอาศัยเอนไซม์จากตับกระตุ้นการออกฤทธิ์ คือ DMBA เล็กน้อย

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดผิวมะกรูดด้วยอัลกอฮอล์ น้ำ และสารสกัดผิวมะกรูด ด้วยเอทานอล (80%) ในความเข้มข้น 5 มก./แผ่น ด้วยวิธี Disc diffusion พบว่าสามารถยับยั้งแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus ได้ ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูด ด้วยความเข้มข้น 0.5 มก./แผ่น ไม่สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus

           ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดน้ำของใบมะกรูด ในอัตราส่วนของความเข้มข้น 1:10, 1:50, 1:500 ทำการทดสอบด้วยวิธี disc agar diffusion มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Trichophyton mentagrophytes ได้เพียงเล็กน้อย คือ 38, 26 และ 11% ตามลำดับ และสารสกัดเดิมในอัตราส่วนความเข้มข้น 1:50 และ 1:500 พบว่าสามารถต้านเชื้อรา Microsporum gypseum ได้เล็กน้อยเช่นกัน คือ 25 และ 17% ตามลำดับ


การศึกษาทางพิษวิทยาของมะกรูด

การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดใบด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 357 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ มีการทดสอบความเป็นพิษอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสกัดผิวมะกรูดด้วยเอทานอล (95%) เมื่อป้อนให้หนูกินเพื่อศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน พบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 100 ก./กก.

           ฤทธิ์เสริมการเกิดมะเร็งตับ จากการทบทวนงานวิจัยพบว่ามะกรูด มีฤทธิ์ต้านฤทธิ์ของสารเสริมการเกิดมะเร็ง (tumor promoter) ในการทดลองแบบ tumor promoter-induced Epstein-Barr virus activation ได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาฤทธิ์ของมะกรูดต่อการเกิดมะเร็งตับของหนูขาว สายพันธุ์ F344 ที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 2-amino-3,8-dimethylimidazo [4,5-ƒ] quinoxaline (MeIQx) ในการทดลองแบบ medium-term bioassay ผลการวิจัยพบว่ามะกรูดมีฤทธิ์เสริมฤทธิ์ของ MelQx ในการทําให้เกิดมะเร็งตับ (preneoplastic liver foci) อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อป้อนสารสกัดผิวมะกรูดด้วยเอทานอล (95%) ให้กับหนูขาวที่ตั้งครรภ์ขนาด 1 และ 2.5 ก./กก. ทางสายยางให้อาหารวันละ 2 ครั้ง พบว่าสามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนได้ 42.5 ±14.8 และ 86.1±8.1% ตามลำดับ และมีผลทำให้แท้งได้ 86.3±9.6 และ 96.9±3.1% ตามลำดับ และสารสกัดผิวมะกรูดด้วยคลอโรฟอร์มเมื่อป้อนให้กับหนูที่ตั้งครรภ์ในขนาด 0.5 และ 1.0 ก./กก. ทางสายยางให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช่นกัน พบว่าสามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนได้ 34.4±14.3 และ 62.2±14.5% ตามลำดับ และมีผลทำให้แท้งได้ 62.2±14.5 และ 91.9± 5.5% พิษต่อเซลล์ สารสกัดใบด้วยเมทานอล ทำการทดสอบกับเซลล์ ด้วยความเข้มข้น 20 มคก./มล. พบว่ามีพิษต่อ Cells-Raji (9) น้ำมันหอมระเหย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้และขนาด) เป็นพิษต่อเซลล์ CEM-SS ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดใบด้วยน้ำ และน้ำร้อน ทำการทดสอบในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ ด้วยความเข้มข้น 0.5 มล./จาน พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และ B. subtilis M-45 (Rec-)
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้น้ำมันหอมระเหยมะกรูด กับผิวหนังในปริมาณที่มาก ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงเนื่องจากน้ำมันที่ได้จากการบีบผิวผล อาจทำให้เกิดพิษเมื่อสัมผัสกับแสงได้ และเกิดมีสารสีเกินที่ผิวหนัง บริเวณใบหน้า และลำคอ เพราะมีสารกลุ่มคูมาริน แต่น้ำมันจากผิวผลที่ได้จากการกลั่นจะไม่มีสารนี้  น้ำมะกรูดมีความเป็นกรดสูง จึงควรระมัดระวังการรับประทานขณะท้องว่าง เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้


เอกสารอ้างอิง มะกรูด
  1. ดนัย ทิวาเวช, Hirose M, Futakuchi M, วิทยา ธรรมวิทย์, Ito N, Shirai T. ฤทธิ์เสริมการเกิดมะเร็งตับของข่า กระชาย และมะกรูด ในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 2-amino-3,8-dimethylimidazo(4,5-ƒ)quinoxaline (MeIQx). การประชุมวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 11 “วิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยกับกติกาใหม่ของโลก” กรุงเทพฯ, 9-11 ตุลาคม 2543:33
  2. มะกรูด (ผิวผล). ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpege&pid=99
  3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.2546.ประมวลผลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  4. Murakami A, Gao G, Kim OK, Omura M, Yano M, Ito C, et al. Identification of coumarins from the fruit of Citrus hystrix DC as inhibitors of nitric oxide generation in mouse macrophage RAW 264.7 cells. J Agric food chem. 1999;47:333-339.
  5. กอบกุล เฉลิมพันธ์ชัย, ดวงชัย บำเพ็ญบุญ, ธิดา โตจิราการ และคณะ. ตำรับยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทำลายจุลินทรีย์. รวมบทคัดย่องานวิจัยการแพทย์แผนไทย และทิศทางการวิจัยในอนาคต สถาบันการแพทย์แผนไทย, 2543.
  6. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข.2544.
  7. มะกรูด/ใบมะกรูดประโยชน์ และสรรพคุณมะกรูด.พืชเกษตรดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkset.com
  8. Tangyuenyongwatana P, Gritsanapan W. Prasaplai: An essential Thai traditional formulation for primary dysmenorrhea treatment. TANG. 2014;4(2):10-11.
  9. ชนิพรรณ บุตรยี่. การศึกษาชีวภาพความพร้อมและคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของฟลาโวนอยด์จากใบมะกรูดในหลอดทดลอง และศักยภาพในการป้องกันการแตกหักของโครโมโซมในหนูเม้าส์โดยวิธีการตรวจไมโครนิวเคลียสในเม็ดเลือดแดง [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล;2551.
  10. มะกรูด (ใบ). ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=98
  11. คุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรางสาธารณสุข.2530.
  12. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, ธิราภา แสนเสนา และคณะ. ฤทธิ์ต้านเชื้อและต้านการก่อกลายพันธ์ของพืชตระกูลส้ม. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2537;21(1):7-15.
  13. มะกรูด.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  14. Abirami A, Nagarani G, Siddhuraju P. Hepatoprotective effect of leaf extracts from Citrus hystrix and C. maxima against paracetamol induced liver injury in rats. Food Science and Human Wellness. 2015;4:35-41.
  15. Piyachaturawat P, Glinsukon T, Chanjarunee A. Antifertility effect of Citrus hystrix DC. J Ethnopharmacol 1985;13:105-10.
  16. Tiwanwech D, Hirose M, Futakuchi M, Lin C, Thamavit W, Ito N, Shirai T. Enhancing effects of Thai edible plants on 2-amino-3,8-dimethylimidazo (4,5-F) quinoxaline hepatocarcinogenesis in a rat medium-term bioassay. Cancer Lett 2000;158(2):195-201.
  17. รัตนา สินธุภัค, อริยา ติรณะประกิจ, อริยา จินดามพร และคณะ. การยับยั้งการเจริญของเชื้อราที่ก่อโรคกลากด้วยสมุนไพรไทย. วารสารวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2535;6(1): 10-20.
  18. Murakami A, Kondo A, Nakamura Y, Ohigashi H, Koshimizu K. Possible anti-tumor promoting properties of edible plants from Thailand, and identification of an active constituent, cardamonin of Boesenbergia pandurata. Biosci Biotech Biochem 1993; 57(11):1971-3.
  19. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P.  Study on toxicity of Thai medicinal plants. Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  20. Monosri A, Abe M and Manosroi J. Hair care: fruitful parsuits. An investigation into the effects of porcuine orange (Citrus hystrix DC) extracts in hair treatment. สัมมนาวิชาการเทคโนโลยีชีวภาพเภสัชกรรม ครั้งที่ 2 "การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการแพทย์แผนไทย", เชียงใหม่, 21-23 มิ.ย. 2543.
  21. สรรพคุณของน้ำมันมะกรูด.กระทู้ถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://medplant.mahidol.ac.th/iser/reply.asp?id=6148
  22. Taufiq-Yap YH, Peh TH, Ee GCL, Ali AM, Rahmani M, Sukari MA, Muse R. Chemical variability and some biological activities of leaf essential oils from five species of Malaysian Citrus.  Oriental Journal of Chemistry 2001;17(3);387-90.
  23. Ungsurungsie M, Suthienkul O, Paovalo C. Mutagenicity screening of popular Thai spices. Food Chem Toxicol 1982;20:527-30.