บัวบก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บัวบก งานวิจัยและสรรพคุณ 48 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บัวบก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ใบบัวบก (ภาคกลาง), ผักหนอก, จำปาเครือ (ภาคเหนือ), ปะหะ, เอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง), แว่นโคก (อีสาน), ผักแว่น (ภาคใต้), เดียกำเช่า, ฮมคัก (จีน)
ชื่อสามัญ Asiatic pennywort, Gotu kola, Indian pennywort, Woter pennywort
ชื่อวิทยาศาสตร์ Centella asiatica (Linn.) Urban.
วงศ์ UMBELLIFERAE (APIACEAE)


ถิ่นกำเนิดบัวบก
  

บัวบก หรือ ใบบัวบก มีถิ่นกำเนิดเดิมในทวีปแอฟริกา ต่อมาจึงถูกนำเข้ามาปลูกในทวีปเอเชียที่ประเทศอินเดีย และประเทศในแถบอเมริกาใต้ อเมริกากลาง รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียเหนือ ปัจจุบัน บัวบกได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทั้งในประเทศเขตร้อน และเขตอบอุ่น ซึ่งพบว่ามีการแพร่กระจายในประเทศแถบอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเรื่อยมาจนถึงทุกประเทศในเอเชีย ส่วนประเทศไทยพบบัวบก ขึ้นในทุกภาคของประเทศ ทั้งนี้บัวบกได้ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรในวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งมีการกล่าวขาน และบันทึกในตำรายาของไทยไว้หลายฉบับด้วยกัน นอกจากนี้คนไทยยังมีการนำบัวบกมาใช้ในการประกอบอาหารทั้งคาว และหวานอีกด้วย ซึ่งสามารถสะท้องถึงความใกล้ชิดของบัวบกกับวิธีชีวิตของคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

ประโยชน์และสรรพคุณบัวบก

  1. ช่วยรักษาสิว
  2. ช่วยทำให้ผิวหน้าขาวกระจ่างใส
  3. ช่วยผิวหน้าเต่งตึงได้
  4. แก้ไข้
  5. แก้ร้อนใน
  6. แก้ช้ำใน
  7. ใช้เป็นยาภายนอกรักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว
  8. เป็นยาบำรุง
  9. ใช้ยาอายุวัฒนะ
  10. ช่วยเสริมสร้างความจำ
  11. บรรเทาอาการปวดศีรษะ
  12. แก้อาการมึนศีรษะ
  13. ช่วยบำรุงหัวใจ
  14. บำรุงกำลัง
  15. บรรเทาอาการปวดตามข้อ
  16. แก้อาการท้องผูก
  17. กระตุ้นระบบขับถ่าย
  18. แก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  19. แก้โรคซาง
  20. แก้โรคดีซ่านในเด็ก
  21. ช่วยบำรุงตับ
  22. ช่วยบำรุงไต
  23. แก้โรคตับอักเสบ
  24. ช่วยบำรุงสายตา
  25. แก้ตาพร่ามัว  
  26. เป็นยาขับโลหิตเสีย
  27. แก้กระหายน้ำ
  28. บรรเทาอาการไอ
  29. แก้อาการเจ็บคอ
  30. รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
  31. รักษาอาการหืดหอบ
  32. แก้โรคลมชัก
  33. ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน  
  34. รักษาโรคปากเปื่อย
  35. ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะติดขัด
  36. แก้โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
  37. ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
  38. ช่วยขับระดู กระตุ้นประจำเดือนให้มาปกติ
  39. รักษาฝี ช่วยให้ฝียุบ 
  40. ช่วยเสริมสร้างและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน
  41. ช่วยต่อต้านการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย
  42. ช่วยบำรุงประสาทและสมองเหมือน ใบแปะก๊วย 
  43. ช่วยเสริมการทำงานของกาบา (GABA)
  44. ช่วยผ่อนคลาย
  45. ช่วยทำให้หลับง่ายขึ้น 
  46. ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่
  47. ช่วยชะลอการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
  48. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไข้ แก้ร้อนใน ช้ำใน ชนิดแคปซูล (รพ.), ชนิดชง (รพ.) ชนิดชง รับประทานครั้งละ 2-4 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ใช้บัวบกรักษาแมลงกัดต่อย และรักษาแผล ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้ใบขยี้ทาแก้แมลงกัดต่อย หรือใช้ส่วนใบสด พอกที่แผลสด วันละ 2 ครั้ง ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ครีมใบบัวบก ทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทาครีมที่มีสารสกัดจากบัวบก สดร้อยละ 7 โดยน้ำหนัก ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1-3 ครั้ง หรือ ตามแพทย์สั่ง หากใช้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ ควรเก็บครีมใบบัวบกในที่เย็น อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส แก้อาการปัสสาวะติดขัด ด้วยการใช้ใบบัวบกประมาณ 50 กรัม นำมาตำแล้วพอกบริเวณสะดือ เมื่อถ่ายปัสสาวะคล่องดีแล้วค่อยเอาออก ใช้เป็นยาห้ามเลือด ใส่แผลสด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20 ใบ นำมาล้างให้สะอาด ตำพอกแผลสด แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบบัวบกมาทุบให้แหลกแล้วนำมาโปะบริเวณที่ฟกช้ำ หรือ จะใช้ใบบัวบก ประมาณ 40 กรัม ต้มกับเหล้าแดงประมาณ 250 cc. ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่ม
 

ลักษณะทั่วไปของบัวบก

บัวบก เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นไหล (stolen) เลื้อยไปตามพื้นดิน หรือ อยู่ด้านล่างหน้าผิวดิน ไหลมีลักษณะทรงกลม ไหลอ่อนมีสีขาว ไหลแก่มีสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ยาวได้มากกว่า 1 เมตร ไหลมีลักษณะเป็นข้อปล้อง บริเวณข้อเป็นจุดแทงออกของก้านใบ ส่วนด้านล่างของข้อมีรากแขนงแทงลึกลงดิน และแต่ละข้อแตกแขนงแยกไหลไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นบัวบกขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยรอบได้อย่างหนาทึบ ใบบัวบก ออกเป็นใบเดี่ยว และออกเป็นกระจุกจำนวนหลายใบบริเวณข้อ แต่ละข้อมีใบ 2-10 ใบ ใบประกอบด้วยก้านใบที่แทงตั้งตรงจากข้อ ก้านใบสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีลักษณะทรงกลม สีเขียวอ่อน ถัดมาเป็นแผ่นใบที่เชื่อมติดกับก้านใบบริเวณตรงกลางของใบ ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน แผ่นใบมีรูปทรงกลม หรือ มีรูปร่างคล้ายไต ขอบใบหยัก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบด้านใบเรียบ สีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นๆปกคลุม และมีสีเขียวจางกว่าด้านบน ขอบใบหยักเป็นคลื่น ดอกบัวบกออกเป็นช่อที่ซอกใบของข้อ ช่อดอกมีรูปทรงช่อคล้ายร่ม อาจมีช่อเดี่ยวหรือมีประมาณ 2-5 ช่อ แต่ละช่อมีประมาณ 3-4 ดอก มีก้านช่อดอกยาวทรงกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีสีขาว ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ขนาดสั้น ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะกลมแบน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีเขียวหรือม่วงน้ำตาล

ใบบัวบก

ใบบัวบก

การขยายพันธุ์บัวบก

การปลูกบัวบกแต่เดิมใช้วิธีปลูกด้วยเมล็ด โดยนำมาเพาะในกระบะ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงดีแล้ว หรือ มีอายุ 15-25 วัน จึงย้ายกล้าลงปลูกในแปลงแล้ว ทำการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ต่อมาได้พัฒนาเป็นการปลูกให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ลำต้นของบัวบกที่แตกจากต้นแม่ ซึ่งจะทำการขุดไหล หรือ ลำต้นนั้นให้ติดดิน จากนั้นนำดินมาพอกที่รากให้เป็นก้อนแล้วเก็บพักไว้ในที่ร่ม แล้วพรมน้ำเล็กน้อย จึงเก็บไว้อย่างน้อย 1 วัน พอวันที่ 2 สามารถจะนำแขนงนั้นไปปลูกได้เลย หรือ หากไม่สะดวกที่จะเก็บพักไว้ก็สามารถจะขุดแขนงมาแล้วปลูกทันทีเลยก็ได้ ส่วนวิธีการปลูกนั้นมีขั้นตอนดังนี้

            การเตรียมดิน ควรไถยกร่องเพื่อตากดินแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน โดยไถพรวนดินให้ร่วนซุยจากนั้นจึงขุดแต่งให้เป็นรูปแปลง ยกร่องเป็นแปลงปลูกกว้าง 3 เมตร ระหว่างแปลงปลูกจัดเป็นร่องน้ำหรือทางเดินกว้าง 50 เซนติเมตร ลึก 15 เซนติเมตร เพื่อให้มีการระบายน้ำทิ้งได้ดี เมื่อทำแปลงเสร็จให้ใส่อินทรียวัตถุหว่านลงบนแปลงให้ทั่ว แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

            การปลูก ขุดหลุมลึก 3-4 ซม. แล้วนำต้นกล้าบัวบก ปลูกหลุมละ 1 ต้น โดยให้ระยะห่างระหว่างต้นและระยะระหว่างแถว 15x15 เซนติเมตร ซึ่งก็จะได้บัวบกจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 70000-72000 ต้น เมื่อปลูกเสร็จแล้วให้ทำการรดน้ำให้ชุ่ม

            การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังจากปลูก 15-20 วัน โดยใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สองจะห่างจากการใส่ครั้งแรก 15-20 วันโดยเปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 3 กิโลกรัมต่อไร่ การใส่ปุ๋ยครั้งที่สามจะห่างจาการใส่ครั้งสอง 15-20 วัน โดยเปลี่ยนเป็นใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตรา 50  กิโลกรัม/ไร่ ทุกครั้งที่มีการใส่ปุ๋ยเสร็จแล้วจะต้องรดน้ำให้ชุ่ม

            การให้น้ำ สามารถให้น้ำได้ 2 วิธี คือ ระบบมินิสปริงเกอร์ ซึ่งเปิดให้น้ำเช้าและเย็น ช่วงละ 10-15 นาที หากเป็นการใช้สายยางเดินฉีดน้ำให้รดจนกว่าจะชุ่มเพราะใบบัวบกจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อได้รับความชื้นที่เหมาะสม

องค์ประกอบทางเคมี

 Asiatic acid, Asiaticoside, madecassic acid, madecaassoside, dlutamic acid, alanine, lysine, histidine, triterpene นอกจากนี้บัวบกยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบัวบก
โครงสร้างบัวบก

โครงสร้างใบบัวบก

โครงสร้างต้นใบบัวบก

คุณค่าทางโภชนาการใบบัวบก (ใบสด 100 กรัม)

  • น้ำ                                           86            กรัม
  • พลังงาน                                  54            กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน                                    1.8            กรัม
  • ไขมัน                                      0.9            กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต                        9.6             กรัม
  • ใยอาหาร                               2.6            กรัม
  • เถ้า                                         1.7             กรัม
  • แคลเซียม                             146            มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                              30              มิลลิกรัม
  • เหล็ก                                      3.9             มิลลิกรัม
  • แอสคอบิด (วิตามิน C)          15              มิลลิกรัม
  • ไทอะมีน (วิตามิน B1)             0.24          มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน (วิตามิน B2)      0.09          มิลลิกรัม
  • ไนอะซีน (วิตามิน B3)             0.8            มิลลิกรัม
  • เบต้าแคโรทีน                       2,428         ไมโครกรัม
  • วิตามิน A                                405            ไมโครกรัม


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบัวบก

ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเอทานอล (2-4) และสารสกัดด้วยน้ำร้อน จากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus (2-5), b-Streptococcus group A และ Pseudomonas aeruginosa สารสกัดเฮกเซน สารสกัดไดคลอโรมีเทน สารสกัดเอทิลอะซีเตท สารสกัดอีเทอร์ และสารสกัดเมทานอลจากใบ มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ S. aureus แต่ไม่มีผลต่อเชื้อ P. aeruginosa สารสกัดจากส่วนราก ใบและส่วนเหนือดิน รวมทั้งน้ำมันหอมระเหยจากบัวบก มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เช่น Bacillus subtilis, Escherichia coli, Proteus vulgaris และ Pseudomonas cichorii มีรายงานว่าอนุพันธ์บางชนิดของ asiaticoside สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคในหลอดทดลอง และลดร่องรอยโรคที่เกิดจากเชื้อวัณโรคในตับ ปอด ปมประสาทของหนูตะเภาที่ทำให้เป็นวัณโรคได้          

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ สารสกัดเอทานอลจากใบมีฤทธิ์ลดการอักเสบอย่างอ่อนในหนูขาว โดยไปยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase-1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ prostraglandin สาร saponin ขนาด 1 ไมโครโมล จะลดการอักเสบ และอาการบวมในหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดอาการบวมที่หูด้วย croton oil ขี้ผึ้ง Madecassol ซึ่งประกอบด้วยสาร asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside สามารถลดการอักเสบ เมื่อใช้ทาที่ผิวหนังหนูซึ่งเกิดการอักเสบจากการฉายรังสี ผงแห้งจากส่วนเหนือดินของบัวบก ให้คนรับประทาน สามารถลดอาการอักเสบได้

          ฤทธิ์สมานแผล สารสกัด 95% เอทานอลจากใบ ขนาด 1 มล./กก. พบว่ามีผลเพิ่มการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุผิว เพิ่มการสร้างคอลลาเจน เมื่อให้ทางปาก และทาที่แผลของหนูขาว สารสกัดจากบัวบก (titrated extract) ซึ่งประกอบด้วยสาร asiatic acid, made cassic acid และ asiaticoside มีฤทธิ์สมานแผลในหนูขาว โดยจะเร่งการสร้าง connective tissue เพิ่มปริมาณคอลลาเจน และกรด uronic เมื่อนำสารสกัดมาใช้ทาภายนอกเพื่อรักษาแผลในหนูขาว พบว่าทำให้แผลหายเร็วขึ้น โดยทำให้มีการกระจายตัวของหนองในบาดแผล และแผลมีขนาดเล็กลง แต่ถ้าใช้รับประทานจะไม่ได้ผล ขณะที่รายงานบางฉบับพบว่า เมื่อให้หนูขาวกินสารสกัดในขนาดวันละ 100 มก./กก. มีผลในการรักษาแผลโดยทำให้การสร้างผิวหนังชั้นนอกเร็วขึ้น และบาดแผลมีขนาดเล็กลง ครีม ขี้ผึ้งและเจลที่มีสารสกัดน้ำจากบัวบก 5% เมื่อใช้ทาที่แผลของหนูขาว 3 ครั้ง/วัน นาน 24 วัน พบว่ามีผลเพิ่มการเจริญเติบโตของเยื่อบุผิว เพิ่มการสร้างคอลลาเจน และเพิ่ม tensile strength ซึ่งสูตรที่อยู่ในรูปเจลจะให้ผลดีกว่าขี้ผึ้งและครีม

          สาร asiaticosideมีฤทธิ์สมานแผล เร่งการหายของแผลเมื่อทดลองในหนูขาว หนูถีบจักร และในคน เมื่อให้สาร asiaticoside ขนาด 1 มก./กก. ทางปากแก่หนูตะเภาและใช้ทาที่ผิวหนังในหนูตะเภาปกติและหนูขาวที่เป็นเบาหวานซึ่งแผลหายช้า ที่ความเข้มข้น 0.2% และ 0.4% ตามลำดับ พบว่ามีผลเพิ่ม tensile strength เพิ่มปริมาณของคอลลาเจน และลดขนาดของแผล tincture ที่มี asiaticoside เป็นส่วนประกอบ 89.5% จะเร่งการหายของแผล เมื่อใช้ทาที่แผลของหนูตะเภา

          สำหรับการทดลองในคน มีรายงานว่าครีมที่มีสารสกัดอัลกอฮอล์จากบัวบกเป็นส่วนประกอบ 0.25-1% สามารถช่วยรักษา และสร้างผิวหนังในคนสูงอายุ ครีมที่มีสารสกัดจากบัวบก 1% สามารถรักษาแผลอักเสบ และแผลแยกหลังผ่าตัดในผู้ป่วยจำนวน 14 ราย ภายใน 2-8 สัปดาห์ โดยพบว่าได้ผลดี 28.6% ผลปานกลาง 28.6% และผลพอใช้ 35.7% ไม่ได้ผล 1 ราย และรักษาแผลเรื้อรังที่เกิดจากอุบัติเหตุ ในผู้ป่วยจำนวน 22 ราย ภายใน 21 วัน พบว่าขนาดของแผลจะลดลง มีแผลหายสนิท 17 ราย ยังไม่หายสนิท 5 ราย tincture ที่อยู่ในรูป aerosol ซึ่งมี asiaticoside 89.5% เมื่อใช้ฉีดที่แผลของผู้ป่วยซึ่งเป็นแผลชนิดต่างๆ จำนวน 20 ราย พบว่าสามารถรักษาแผลหายได้ 16 ราย (64%) และทำให้อาการดีขึ้น 4 ราย (16%) โดยมีอาการข้างเคียง คือ การไหม้ของผิวหนัง (burning sensation) เมื่อให้ผู้ป่วยที่เป็น post-phlebitic syndrome รับประทานสารสกัด triterpenoid ในขนาด 90 มก./วัน นาน 3 สัปดาห์ พบว่าจะลดการเพิ่มจำนวนของ circulating endothelial cell

          ฤทธิ์แก้ปวด สารสกัด 60% เอทานอลจากใบ ขนาด 20 มก./กก. และสารสกัด 95% เอทานอลจากทั้งต้น ขนาด 100 มก./กก. มีฤทธิ์แก้ปวดในหนูขาว และหนูถีบจักร แต่สารสกัด 50% เอทานอลจากทั้งต้นในขนาด 125 มก./กก. ไม่มีฤทธิ์แก้ปวด เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร

          ฤทธิ์ลดไข้ สารสกัด 95% เอทานอลสามารถลดไข้ได้ 1.20F เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูขาว แต่ถ้าฉีดสารสกัด 50% เอทานอล ขนาด 125 มก./กก. เข้าช่องท้องหนูถีบจักรจะไม่ได้ผล  สารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดิน และใบ ขนาด 2 ก./กก. ไม่มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิของร่างกาย เมื่อทดลองในหนูถีบจักร

          ฤทธิ์ต้านฮีสตามีนสารสกัดใบบัวบก ด้วยแอลกอฮอล์ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:1 ใช้ทาภายนอกจะสามารถลดการแพ้ได้ และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือ อักเสบเนื่องจากแมลงกัดต่อย

          ฤทธิ์ต้านเชื้อรา สารสกัดเอทานอลจากทั้งต้น มีผลต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลาก ได้แก่ Trichophyton mentagrophytes และ T. rubrum ในขณะที่สารสกัดด้วยน้ำร้อน ไม่พบว่ามีผลต้านเชื้อราทั้ง 2 ชนิดนี้ ส่วนน้ำมันหอมระเหยจะมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา Aspergillus niger, Rhizopus oryzae, Fusarium solani, Candida albicans และ Colletotrichum musae

          รักษาแผลในกระเพาะอาหาร จากการทดสอบในหนูแรทพบว่า สารสกัดด้วยเอทานอล สารสกัดด้วยน้ำจากทั้งต้น และจากใบ มีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยความเครียด และกรดเกลือในเอทานอล โดยจะลดขนาดของแผล เพิ่มจำนวนของหลอดเลือดขนาดเล็กในเนื้อเยื่อ เพิ่มจำนวน และการกระจายของเซลล์ที่บริเวณแผล ซึ่งสอดคล้องกับการทดลองในคนที่รับประทานสารสกัดจากบัวบก (Madecassol) พบว่าช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของบัวบก

การทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบความเป็นพิษของสารสกัดด้วย 50% เอทานอล เมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร ขนาด 250 มก./กก. และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือ ให้ทางปากของหนูขาว ขนาด 10 ก./กก. สารสกัด 70% เอทานอลมีค่า LD50 เท่ากับ 675 มก./กก. ในหนูขาวเพศผู้ (ไม่ระบุวิธีการให้) แต่มีรายงานการแพ้และอักเสบต่อผิวหนังในคน เมื่อใช้ผงแห้ง สารสกัดที่มีกลัยโคไซด์จากบัวบกร้อยละ 2 สารสกัดด้วยน้ำ สารสกัดจากทั้งต้นในความเข้มข้นร้อยละ 2 และสารสกัด Madecassol ที่ประกอบด้วย asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside ทาภายนอก  

          พิษต่อเซลล์ น้ำคั้นจากบัวบกเป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัด 50% เอทานอลเป็นพิษต่อเซลล์ 9KB สารสกัดเมทานอลและสารสกัดอะซีโตน มีความเป็นพิษต่อเซลล์ CA-Ehrich, Dalton’s lymphoma และ L929 แต่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ human lymphocyte สารไทรเทอร์ปีนส์จากทั้งต้น มีความเป็นพิษต่อเซลล์ fibroblast ของคน

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ สารสกัดอัลกอฮอล์มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ในแบบที่ต้องการเอนไซม์จากตับกระตุ้นการออกฤทธิ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98, TA100 โดยมีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์แบบ frameshift เท่านั้น ไม่พบแบบ base-pair substitution สารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดิน ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ S. typhimurium TA98, TA100

          พิษต่อระบบสืบพันธุ์ น้ำคั้นจากทั้งต้น ขนาด 0.5 มล. มีผลคุมกำเนิดในหนูถีบจักร 55.60% สารสกัดจากบัวบกขนาด 0.2 มล. ฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักร พบว่าไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน สาร saponin จากทั้งต้น ขนาด 2% ไม่มีผลฆ่าเชื้ออสุจิของคน

          ทำให้เกิดอาการแพ้ สารสกัด 30% อีเทอร์ ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างอ่อนต่อผิวหนังหนูตะเภา ในคนมีรายงานการแพ้ และอักเสบต่อผิวหนัง เมื่อใช้ผงแห้ง สารสกัดกลัยโคไซด์ 2% สารสกัดน้ำ สารสกัดจากทั้งต้น 2% (ไม่ระบุชนิดสารสกัด) และสารสกัด Madecassol ที่ประกอบด้วย asiatic acid, madecassic acid และ asiaticoside oinment ที่มีบัวบก เป็นส่วนประกอบ 1% ทำให้เกิด acute erythemato-bullous การระคายเคืองต่อผิวหนังเกิดได้ทั้งการใช้พืชสดหรือแห้ง อาการระคายเคืองต่อผิวหนังของบัวบกมีผลค่อนข้างต่ำ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  • บัวบกไม่เหมาะกับคนที่มีภาวะเย็นพร่อง หรือ ขี้หนาว ท้องอืดบ่อยๆ
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาที่มีส่วนประกอบของบัวบกในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกเนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออกได้
  • ควรระวังการใช้ใบบัวบกร่วมกับยาที่มีผลต่อตับ ยาขับปัสสาวะ และยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ ง่วงนอน เพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้
  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการเมแทบอลิซึมผ่าน Cytochrome P450 (CYP 450) เนื่องจากบัวบกมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP 2C9 และ CYP 2C19
  • ในการทำเป็นสมุนไพรไม่ควรนำใบบักบก ไปตากแดดเพื่อทำให้แห้ง เพราะจะทำให้สูญเสียตัวยาสมุนไพรซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยได้ โดยให้ผึ่งลมตากไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก เมื่อแห้งแล้ว ให้นำมาใส่ขวดปิดฝาให้สนิทป้องกันความชื้น
  • การรับประทานบัวบกในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้ธาตุในร่างกายเสียสมดุลได้ เพราะเป็นยาเย็นจัด แต่ถ้ารับประทานในขนาดที่พอดีแล้วจะไม่มีโทษต่อร่างกาย และได้ประโยชน์สูงสุด
     
เอกสารอ้างอิง บัวบก
  1. อารีรัตน์ ลออปักษา, สุรัตนา อำนวยผล, วิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร 2531;13(1):23-35.
  2. จันทรพร ทองเอกแก้ว, 2556, บัวบก : สมุนไพรมากคุณประโยชน์.
  3. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ, สุมาลี พฤกษากร, ไชยวัฒน์ ไชยสุต และคณะ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางรักษาสิวจากน้ำหมักชีวภาพที่ได้จากพืชไทย. การประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 3, 30 สิงหาคม-3 กันยายน, นนทบุรี, 2549. หน้า 40.   
  4. บัวบก. สมุนไพรที่มีการใช้ในสาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. Chen YJ, Dai YS, Chen BF, et al. The effect of tetradrine and extracts of Centella asiatica on acute radiation dermatitis in rats. Biol Pharm Bull 1999;22(7):703-6.
  6. บักบก/ใบบัวบก (Gotu kola) ประโยชน์และสรรพคุณใบบัวบก. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อเกษตรกรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puchkaset.com
  7.  วีระสิงห์ เมืองมั่น. รายงานผลการวิจัยเรื่องการใช้ครีมบัวบกรักษาแผลอักเสบ. การประชุมโครงการการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ในโรงพยาบาล, กรุงเทพฯ, 30 พค. 2526.
  8. กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
  9. บัวบก. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  10. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร,2547, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน(2).
  11. Dabral PK, Sharma RK. Evaluation of the role of rumalaya and geriforte in chronic arthritis-a preliminary study. Probe 1983;22(2):120-7.
  12. แก้ว กังสดาลอำไพ, วรรณี โรจนโพธิ์, ชนิพรรณ บุตรยี่. การประเมินฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ของสมุนไพรไทยในรูปของยาตำรับ สามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและสมุนไพรบางชนิด โดยวิธีเอมส์เทสต์. การประชุมวิชาการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 3, 3-4 สิงหาคม 2533:47-9.
  13. Maquart FX, Chastang F, Simeon A, Birembaut P, Gillery P, Wegrowski Y. Triterpenes from Centella asiatica stimulate extracellular matrix accumulation in rat experimental wounds.  Eur J Dermatol 1999;9(4):289-96.
  14. Ray PG, Majumdar SK. Antimicrobial activity of some Indian plants. Econ Bot 1976;30:317-20.
  15. วีระสิงห์ เมืองมั่น. การใช้ครีมใบบัวบกรักษาแผลอักเสบโดยการทาภายนอก. หนังสือรวบรวมผลงานการวิจัยโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพร และยาไทยทางคลินิค (2525-2536):69-74.
  16. Yamazaki M, Maebayashi Y, Iwase N, Kaneko T. Studies on pharmacologically active principles from Indonesian crude drugs. I. Principle prolonging pentobarbital-induced sleeping time from Curcuma xanthorrhiza Roxb. Chem  Pharm Bull 1988;36(6):2070-4.
  17. Dunstan CA, Noreen Y, Serrano G, Cox PA, Perera P, Bohlin L. Evaluation of some Samoan and Peruvian medicinal plants by prostaglandin biosynthesis and rat ear oedema assays.  J Ethnopharmacol 1997;57:35-56.
  18. Sarma DNK, Khosa RL, Chansauria JPN, Sahai M. Antistress activity of Tinospora cordifolia and Centella asiatica extracts. Phytother Res 1996;10(2):181-3.
  19. สุมาลี เหลืองสกุล. ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองของสารสกัดจากสมุนไพร 6 ชนิด. การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13, สงขลา, 20-22 ตค. 2530: 522-3.
  20. Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  21. Matsui ADS, Hoskin S, Kashiwagi M, Aguda BW, Zebart BE, Norton TR, Cutting WC. A survey of natural products from Hawaii and other areas of the Pacific for an antifertility effect in mice. Int Z Klin Pharmakol Ther Toxikol 1971;5(1):65-9.
  22. ณัฐพันธุ์ ตันตินฤพงษ์ ตุลาภรณ์ ม่วงแดง. การพัฒนาสบู่สมุนไพรต้านเชื้อ. โครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์, กรุงเทพ: มหาวิทยาลัยมหิดล, 2000.
  23. Babu TD, Kuttan G, Padikkala J. Cytotoxic and anti-tumour properties of certain taxa of Umbelliferae with special  reference to Centella asiatica (L.) Urban.J Ethnopharmacol 1995;48(1):53-7
  24. ศิริรัตน์ โกศัลยวัฒน์, จันทรา ชัยพานิช, เกษียร ภังคนนท์. การใช้ครีมใบบัวบก 1% รักษาแผลเรื้อรัง. สารศิริราช 2531; 40(6):455-61.
  25. De Lucia R, Sertie JAA, Camargo EA, Panizza S. Pharmacological and toxicological studies on Centella asiatica extract. Fitoterapia 1997;68(5):413-6.
  26. Yang HC, Chaug HH, Weng TC. Influence of several Chinese drugs on the growth of some pathologic organisms: preliminary report. J Formosan Med Ass 1953,52: 109-12.
  27. Shukla A, Rasik, Jain GK, Shankar R, Kulshrestha DK, Dhawan BN. In vitro and in vivo wound healing activity of asiaticoside isolated from Centella asiatica. J Ethnopharmacol 1999;65:1-11.
  28. Samy PR, Ignacimuthu S. Antibacterial activity of some folklore medicinal plants used by tribals in Western Ghats of India. J Ethnopharmacol 2000;69:63-71.
  29. Ramaswamy AS, Periyasamy SM, Basu NK. Pharmacological studies on Centella asiatica. J Res Indian Med 1970;4:160.
  30. Bombardelli E, Patri G, Pozzi R. Complexs of saponins and their aglycons with phosphiolipids and pharmaceutical and cosmetic compositions containing them. U S US 5,166,136, 1992:3pp.
  31. Mokkhasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U. Pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. (continued). J Med Assoc Thai 1971;54(7):490-504.
  32. Cho KH, Chung TJ, Kim SJ, Lee TH, Yoon CM. Clinical experiences of madecassol (Centella asiatica) in the treatment of peptic ulcer. Korean J Gastroenterol 1981;13(1):49-56.
  33. Hausen BM. Centella asiatica (Indian pennywort), an effective therapeutic but a weak sensitizer. Contact Dermatitis 1993;29(4):175-9.
  34. Cheng CL, Guo JS, Luk J, et al. The healing effects of Centella extract and asiaticoside on acetic acid induced gastric ulcers in rats. Life Sci 2004;74(18):2237-49.
  35. Yang HC, Chaug HH, Weng TC. Influence of several Chinese drugs on the growth of some pathologic organisms: preliminary report. J Formosan Med Ass 1953;52:109-12.