งาดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

งาดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร งาดำ
ชื่อสามัญ Black Sasame seeds Black
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sesamum indicum Linn
วงศ์ Pedaliaceae


ถิ่นกำเนิดงาดำ
 

งาดำ มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา บริเวณประเทศเอธิโอเปีย แล้วแผ่กระจายไปยังอินเดีย จีน และประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนในประเทศอินเดียมีการระบุว่ามีการปลูกงามาแล้วหลายพันปี ก่อนที่พ่อค้าชาวอาหรับ และเมดิเตอร์เรเนียล จะนำงาไปปลูกแถบอาหรับ และยุโรป

           นอกจากนี้ยังมีผู้พบหลักฐานว่า ชาวบาบิโลนในประเทศโซมาเลียมีการปลูกงามานานกว่า 2,500 ปี ก่อนคริสตกาล และใช้นํ้ามันงาสำหรับทำยา และอาหาร ซึ่งมีบันทึกใน Medical Papyrus of Thebes กล่าวว่า ทหารโรมันได้นำงาไปปลูกในประเทศอิตาลีในคริสศตวรรษที่ 1 แต่ปรากฏว่าสภาพภูมิอากาศไม่เหมาะกับการปลูก และในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 และ18 มีการนำงามาปลูกในประเทศสหรัฐอเมริกาโดยทาสชาวแอฟริกัน

           ด้านการใช้ประโยชน์จากงาดำ นั้นอินเดีย จีน และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียจะใช้งาทำเป็นนํ้ามันเพื่อปรุงอาหาร ส่วนชาวยุโรปจะนำงามาทำเค้ก ไวน์ และนํ้ามัน รวมถึงใช้ในการปรุงอาหาร และเป็นเครื่องหอม ส่วนชาวแอฟริกันใช้ใบงาทำ ดอกไม้เพลิง พอกผิวหนัง และใช้เป็นสารไล่แมลงให้สัตว์เลี้ยงเป็นต้น


ประโยชน์และสรรพคุณงาดำ

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย
  2. ช่วยบำรุงผม
  3. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  4. ช่วยบำรุงกระดูก
  5. ช่วยบำรุงเล็บ
  6. รักษาอาการท้องผูก ช่วยระบบขับถ่ายดีขึ้น เป็นยาระบายอ่อนๆ
  7. ช่วยป้องกันโรคภาวะกระดูกพรุน
  8. แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ
  9. แก้ปวดบวม
  10. ช่วยลดการอักเสบ
  11. ช่วยในการเผาผลาญ และสลายไขมัน ลดความอ้วน
  12. ช่วยบำรุงระบบประสาท และสมอง
  13. ช่วยให้นอนหลับสบาย
  14. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ
  15. ช่วยชะลอความแก่
  16. ช่วยป้องกันการเกิดโรคเหน็บชา
  17. ช่วยบรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวาร
  18. รักษาอาการปวดตามข้อ
  19. รักษาอาการอ่อนเพลีย เมื่อตามร่างกาย
  20. รักษาอาการคัดจมูก
  21. รักษาอาการเป็นหวัด
  22. รักษาอาการปวดประจำเดือน

งาดำ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในปัจจุบันงาดำ นั้นส่วนมากจะนิยมนำมาทำเป็นขนม หรือ ส่วนผสมของขนม และผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคมากกว่าการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่ก็มีตำรายาไทยแผนโบราณที่ได้ระบุปริมาณการใช้เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ เช่น

  1. รักษาอาการปวดตามข้อ ใช้งาคั่วรับประทาน 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์
  2. รักษาอาการอ่อนเพลีย เมื่อตามร่างกาย รับประทานงาคั่ว 2-3 ช้อนโต๊ะ 2-3 อาทิตย์
  3. รักษาอาการเหน็บชา คั่วเมล็ดงา 1 ลิตร ร่วมกับรำข้าว 1 ลิตร และกระเทียม หั่น 1 กำมือ จากนั้น ตำบดผสมกัน และผสมน้ำผึ้ง หรือ น้ำตาลรับประทาน 1 เดือน
  4. รักษาอาการคัดจมูก ใช้งาคั่ว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับกับข้าวสุก หรือ น้ำเต้าหู้รับประทาน 2-3 วัน
  5. รักษาอาการเป็นหวัด รับประทานงาคั่ว วันละ 4 ช้อนโต๊ะ
  6. รักษาอาการท้องผูก ใช้งาคั่วผสมกับเกลือรับประทานร่วมกับข้าว
  7. รักษาอาการปวดประจำเดือน รับประทานงาผง ½ ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง
  8. ใช้บำรุงสมอง และระบบประสาท ใช้งาคั่วผสมกับมะขามป้อม และน้ำผึ้ง รับประทานวันละ 1 ครั้ง
     

ลักษณะทั่วไปของงาดำ

งาดำ เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง อาจแตกกิ่ง หรือ ไม่แตกกิ่งแขนง ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะสีเหลี่ยม มีร่องตามยาว ไม่มีแก่น มีลักษณะอวบน้ำ และมีขนสั้นปกคลุม เปลือกลำต้นบาง มีสีเขียว

           ใบงาดำ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นชั้นๆ ตามความสูง ประกอบด้วยก้านใบสั้น ยาวประมาณ แผ่นใบมีรูปหอก สีเขียวสด กว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-16 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ยาวจรดขอบใบ

           ดอกงาดำ เป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นกลุ่มตรงซอกใบ จำนวน 1-3 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น มีกลีบรองดอก จำนวน 5 กลีบ ส่วนกลีบดอกมีลักษณะเป็นกรวย ห้วยลงดิน กลีบดอกอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกเมื่อบานมีสีขาว ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลีบล่าง และกลีบบน โดยกลีบล่างจะยาวกว่ากลีบบน ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 2 คู่ มี 1 คู่ยาว ส่วนอีกคู่สั้นกว่า ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีก้านเกสรยาว 1.5-2 เซนติเมตร ปลายก้านเกสรแหว่งเป็น 2-4 แฉก

           ผลงาดำเรียกว่า ฝัก มีลักษณะทรงกระบอกยาว ผิวฝักเรียบ ปลายฝักแหลมเป็นติ่ง และแบ่งออกเป็นร่องพู 2-4 ร่อง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว และมีขนปกคลุม ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำอมเทา จากนั้น ร่องพูจะปริแตก เพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก สีดำจำนวนมาก เมล็ดเรียงซ้อนในร่องพู เมล็ดมีรูปรี และแบน ขนาดเมล็ดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดบางมีสีดำ มีกลิ่นหอม แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 80-100 เมล็ด

งาดำ

งาดำ

การขยายพันธุ์งาดำ

งาดำขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ซึ่งนิยมปลูกด้วยกัน 2 แบบ คือ การหว่านเมล็ด และโรยเมล็ดเป็นแถว แบ่งช่วงปลูกออกเป็น 3 ช่วง คือ

  • ช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
  • ช่วงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม
  • ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

           การเตรียมแปลงปลูกในพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง สามารถปลูกงาดำ ได้ทุกฤดู ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทานมักปลูกในช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ พื้นที่แปลงปลูกจะต้องไถกลบดิน 1 รอบก่อน และตากดินนาน 7-10 วัน จากนั้น หว่านด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 1-2 ตัน/ไร่ ก่อนไถพรวนดินกลบอีกรอบ หรือ หว่านปุ๋ยคอกตั้งแต่ตอนไถรอบแรก (ใช้สำหรับพื้นที่ไม่รกมาก) เพราะรอบต่อมาจะเป็นการหว่านเมล็ดได้เลย ส่วนการปลูกแบบหยอดเมล็ด ให้ไถร่องตื้น หรือ ใช้คราดดึงทำแนวร่องก่อน

การปลูกงาดำ

  • การปลูกแบบหว่านลงแปลง หลังไถกลบรอบแรก หรือ ไถพรวนดินในรอบ 2 แล้ว ให้หว่านเมล็ดงาดำ อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ไร่ ควรหว่านเมล็ดให้กระจายให้มากที่สุด ก่อนไถพรวนหน้าดินตื้นๆ กลบ
  • การปลูกแบบหยดเมล็ดเป็นแถว หลังไถยกร่อง หรือ ดึงคราดทำแนวร่องเสร็จ ให้โรยเมล็ดตามความยาวของร่อง ให้เมล็ดห่างกันอย่างสม่ำเสมอ ใช้เมล็ดในอัตราเดียวกับการหว่านเมล็ด ก่อนคราดหรือเกลี่ยหน้าดินกลบ

การดูแลรักษาหลังการหว่านเมล็ด

หากปลูกในช่วงแล้ง เกษตรมักติดตั้งระบบให้น้ำ ซึ่งควรให้เป็นประจำ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนการปลูกในฤดูฝน เกษตรมักปล่อยให้งาดำเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ทั้งนี้ หากพบโรค หรือ แมลงให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัด ส่วนการใส่ปุ๋ย ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 ในระยะ 1-1.5 เดือน แรกหลังปลูก และอาจใส่ร่วมกับปุ๋ยคอก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ ส่วนการกำจัดวัชพืช ให้ลงแปลงถอนวัชพืชด้วยมือเป็นประจำ ทุก 2 ครั้ง/ เดือน โดยเฉพาะใน 1-1.5 เดือนแรก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตงาดำ

สามารถเก็บเกี่ยวเมล็ดได้หลังการปลูกประมาณ 70-120 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสังเกตจากฝักที่เริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือ น้ำตาลอมดำ ส่วนใบจะเริ่มสีเหลือง และบางพันธุ์มีการร่วงแล้ว ทั้งนี้ จะต้องเก็บฝักก่อนที่เปลือกฝักจะปริแตก ส่วนพันธุ์งาดำที่นิยมปลูกในปัจจุบันนั้นมีด้วยกัน 4 พันธุ์ คือ

  • งาดำ บุรีรัมย์จัดเป็นพันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะเด่น คือ ฝักแบ่งออกเป็น 4 กลีบใหญ่ เมล็ดมีขนาดใหญ่ สีเกือบดำสนิท มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 90-100 วัน ให้ผลผลิต ประมาณ 60-130 กิโลกรัม/ไร่
  • งาดำ นครสวรรค์ จัดเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมมากในเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคกลาง เหนือ และอีสาน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด และแตกกิ่งก้านมาก ใบมีขนาดใหญ่ มีลักษณะค่อนข้างกลม ส่วนเมล็ดมีสีดำ อวบ และขนาดใหญ่ มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลาง ประมาณ 95-100 วัน ให้ผลผลิต 60-130 กิโลกรัม/ไร่
  • งาดำ มก.18 เป็นพันธุ์งาดำแท้ ที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในช่วงปี 2528-2530 ที่ได้จากการผสมของงาพันธุ์ col.34 กับงาดำ นครสวรรค์ มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นค่อนข้างสูง มีการทอดยอด แต่ไม่แตกกิ่ง ลำต้นมีข้อสั้น ทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง เมล็ดมีสีดำสนิท 1,000 เมล็ด มีน้ำหนักประมาณ 3 กรัม หากในฤดูฝนจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 85 วัน หากปลูกฤดูหนาว หรือ ฤดูแล้ง มีอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 90 วัน ให้ผลผลิต แต่ค่อนข้างสูง ในช่วง 60-148 กิโลกรัม/ไร่
  • งาดำ มข.2 เป็นพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพันธุ์ดั้งเดิม คือ งาดำ พันธุ์ ซีบี 80 ที่นำเข้ามาจากประเทศจีน มีลักษณะเด่น คือ ลำต้นสูงประมาณ 105-115 เซนติเมตร ลำต้นมีการแตกกิ่ง แต่แตกน้อย ประมาณ 3-4 กิ่ง/ต้น เมล็ดสีดำสนิท 1,000 เมล็ด หนักประมาณ 2.77 กรัม มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 70-75 วัน ให้ผลผลิตปานกลางถึงสูง ประมาณ 80-150 กิโลกรัม/ไร่ เป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง และต้านทานต่อโรค  เน่าดำได้ดี

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของงาดำ

โครงสร้างงาดำ 

ที่มา: Wikipedia

องค์ประกอบทางเคมี

ในเมล็ดมีน้ำมันอยู่ราว 45-55% ประกอบด้วยกรดไขมันเช่น oleic acid, linoleic acid, palmitic acid, stearic acid นอกจากนี้ยังมี สารกลุ่ม lignan ชื่อ Sesamin, sesamol, d-sesamin, sesamolin, สารอื่นๆ เช่น sitosterol (สารกันหืน คือ sesamol ทำให้น้ำมันงาไม่เหม็นหืน) นอกจากนี้งาดำยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

          คุณค่าทางโภชนาการของงาดำ (งาดำ 100 กรัม)

  • น้ำ                                   4.2        กรัม
  • พลังงาน                         603        กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน                            20.6      กรัม
  • ไขมัน                             48.2       กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต               21.8       กรัม
  • ใยอาหาร                        9.9         กรัม
  • เถ้า                                 5.2         กรัม 
  • แคลเซียม                     1228      มิลลิกรัม
  • กรดแอสพาร์ติก              1.646     กรัม
  • ไทอะมีน                         0.94       มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                    584        มิลลิกรัม
  • ไรโบฟลาวิน                   0.27       มิลลิกรัม
  • ไนอะซีน                         3.5         มิลลิกรัม
  • กรดกลูตามิก                  3.955     กรัม
  • เหล็ก                             8.8         มิลลิกรัม
  • เมไธโอนีน                     0.586      กรัม
  • ทรีโอนีน                        0.736      กรัม
  • ซีสทีอีน                         0.358      กรัม
  • ซีรีน                               0.967      กรัม
  • ฟีนิลอะลานีน                 0.940      กรัม
  • อะลานีน                         0.927      กรัม
  • อาร์จินีน                        2.630      กรัม
  • โปรลีน                           0.810      กรัม
  • ไกลซีน                          1.215      กรัม
  • ฮิสทิดีน                          0.522      กรัม
  • ทริปโตเฟน                    0.388      กรัม
  • ไทโรซีน                        0.743      กรัม
  • วาลีน                             0.990      กรัม
  • ไอโซลิวซีน                   0.763      กรัม
  • ลิวซีน                           1.358      กรัม
  • ไลซีน                            0.569      กรัม
  • ธาตุแคลเซียม               975         มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                      14.55      มิลลิกรัม
  • ธาตุซีลีเนียม               5.7          มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม                 11            มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส              629         มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี                  7.75        มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม          468         มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม             351         มิลลิกรัม
  • ธาตุแมงกานีส             2.460      มิลลิกรัม
  • ธาตุทองแดง                 4.082      มิลลิกรัม


ตำรับยาสมุนไพรล้านนา

ใช้รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ตำรับยาน้ำมันที่ระบุในตำราพระโอสถพระนารายณ์ : มีรวม 3 ตำรับ ที่ใช้น้ำมันงาเป็นส่วนประกอบ ดังนี้ “น้ำมันทรงแก้พระเกศาหล่น (ผมร่วง) ให้คันให้หงอก” ประกอบด้วยสมุนไพร 19 ชนิด นำมาต้มแล้วกรองกากออก เติมน้ำมันงา แล้วหุงให้เหลือแต่น้ำมันใช้แก้พระเกศาหล่อน คัน หงอก “น้ำมันแก้เปื่อยพัง” มีสรรพคุณ แก้ขัดเบา หรือ ปัสสาวะไม่ออก แก้ปวดขบ แก้หนอง มีรวม 2 ตำรับ แต่ละตำรับ ประกอบด้วยสมุนไพร 12 ชนิด และน้ำมันงาพอควร หุงให้เหลือแต่น้ำมัน ยานี้ใช้ ยอนเป่าเข้าไปในลำกล้อง (ทางเดินปัสสาวะในองคชาติ)

           ส่วนตำราแพทย์แผนปัจจุบันระบุว่าสารออกฤทธิ์ในงาดำ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ต้านเซลล์มะเร็ง รักษาอาการไอ จากการระบุประสิทธิภาพการรักษาโรคของเมล็ดงาโดยฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าช่วยบรรเทาอาการไอ นับเป็นประโยชน์ข้อเดียวของงาดำ และงาขาว ที่มีข้อมูลมากที่สุดในปัจจุบัน ลดระดับคอเลสเตอรอล น้ำมันงาเป็นหนึ่งในน้ำมันจากพืชที่กล่าวกันว่าดีต่อสุขภาพ โดยเชื่อว่าอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีที่ช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอล และในน้ำมันงานี้ยังพบไขมันอิ่มตัวในปริมาณน้อยวัยทอง หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นภาวะของความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและจิตใจจากการที่ร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกต่อไป อาจได้ใช้ประโยชน์จากสารเซซามิน (Sesamin) ในเมล็ดงาที่เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกจุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนไปเป็นสารสำคัญอย่างเอนเทอโรแลกโตน (Enterolactone) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจน และมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายฮอร์โมนเอสโตเจนของเพศหญิงอย่างไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) งาเป็นอาหารที่มีแร่ธาตุมากที่สำคัญ คือ ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส โดยปริมาณแคลเซียมที่พบจะมีมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 40 เท่า และฟอสฟอรัสมากกว่าพืชผักทั่วไปกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นธาตุที่ทำหน้าที่เสริมสร้างกระดูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก และสตรีวัยหมดประจำเดือนกรดไขมันไลโนเลอิค และกรดไขมันชนิดโอเลอิค ช่วยในการลดระดับไขมันชนิดต่างๆ ในเส้นเลือด ช่วยป้องกันการเกิดเกล็ดเลือด และลิ่มเลือด งามีคาร์โบไฮเดรตในปริมาณตํ่า แต่มีวิตามินบีทุกชนิดสูงจึงนับได้ว่างามีวิตามินบีอยู่เกือบทุกชนิด จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงระบบประสาท บำรุงสมอง บรรเทาอาการเหน็บชา แก้ร่างกายอ่อนเพลีย แก้อาการปวดเมื่อย และแก้การเบื่ออาหาร งามีปริมาณใยอาหารในปริมาณสูง ทำหน้าที่เสริมสร้าง และกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทั้งการย่อย การดูดซึม และการขับถ่าย ช่วยป้องกันอาการท้องผูก ยับยั้ง และดูดซึมสารพิษ พร้อมขับออกทางอุจจาระ ทำให้ป้องกันมะเร็งในลำไส้ และควบคุมระดับไขมันในเลือด กรดไลโนเลอิคพบในเมล็ดงาจำนวนมาก เป็นกรดที่มีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโต และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง เพราะทำให้ผนังเซลล์ภายในภายนอกทำงานอย่างปกติ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของงาดำและงาขาว

ฤทธิ์ลดการอักเสบ สาร sesamin จากน้ำมันเมล็ดงา เมื่อทำการทดสอบโดยผสมลงในอาหารของหนูถีบจักร และป้อนให้หนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการติดเชื้อ และการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งหนูที่มีการอักเสบจะมีการหลั่งสาร dienoic, eicosanoids, TNF-a (tumor necrosis factor-a) และ cyclooxygenase มากขึ้น จากผลการทดลอง พบว่าสาร sesamin ในน้ำมันเมล็ดงา มีฤทธิ์ลดการอักเสบที่ลำไส้ของหนูได้ โดยลดการผลิตสารจำพวก Prostaglandin E2 (PGE2), Thromboxane B2 (TXB2) และ TNF-a อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (1) เมื่อทำการทดลองในชายปกติ 11 คน โดยฉีดสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ Auromyose ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ของ TNF-a, PGE2 และ leukotriene B4 (LTB4) จากนั้นให้ชายทั้ง 11 คน รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของน้ำมันงา 18 ก./วัน นาน 12 สัปดาห์ และทำการวัดระดับ TNF-a, PGE2  และ LTB4 ในกระแสเลือดทั้งก่อนและหลังให้อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของน้ำมันงา พบว่าระดับของสารที่ทำให้เกิดการอักเสบดังกล่าวข้างต้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าน้ำมันงาไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ (2) 0.5 ก. ของสารสกัดเมทานอล 100% จากเมล็ดงา 100 ก. ไม่มีผลยับยั้ง cyclooxygenase 2 และ nitric oxide ในเซลล์ RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำโดย lipopolysaccharide (3)

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดอัลกอฮอล์หรืออะซีโตนจากเมล็ดงา ความเข้มข้น 25 มคก./มล. (4) และสารสกัดเอทานอล 80% จากใบ ลำต้น ราก และผล ความเข้มข้น 500 มก./มล. (5) ไม่มีผลยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus (4, 5) และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa (5)


การศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณของงาดำและงาขาว

ที่ช่วยรักษาอาการไอ เป็นการทดลองในเด็กอายุ 2-12 ปี จำนวน 107 คน ที่มีอาการไอจากโรคหวัด โดยให้รับประทานน้ำมันงา 5 มิลลิลิตรก่อนนอนติดต่อกัน 3 วัน เพื่อลดความรุนแรง และความถี่ของการไอ ผลลัพธ์พบว่าในวันแรกอาการไอของเด็กที่รับประทานน้ำมันงาดีขึ้นกว่ากลุ่มรับประทานยาหลอก แต่อยู่ในระดับไม่มากนัก และเมื่อผ่านไป 3 วัน เด็กทั้ง 2 กลุ่มต่างมีอาการดีขึ้น และไม่พบว่าการใช้น้ำมันงาก่อให้เกิดผลข้างเคียงใดๆ ศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่บาดเจ็บในโรงพยาบาลทั้งหมด 150 คน โดยกลุ่มหนึ่งให้การรักษาด้วยการทาน้ำมันงาควบคู่ไปกับการรักษาปกติ ส่วนอีกกลุ่มให้การดูแลรักษาปกติเพียงอย่างเดียว ผลปรากฏว่าน้ำมันงาช่วยลดความรุนแรงของความเจ็บ และส่งผลให้คนไข้รับประทานยาแก้ปวดน้อยลง

           คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ค้นพบว่าในเมล็ดงาดำ มีสารเซซามินอยู่ภายในซึ่งสารตัวนี้สามารถที่จะช่วยในการยับยั้งการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สลายกระดูก ที่ให้เกิดโรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุน ได้โดยจะเข้าไปทำให้แคลเซียมประสานกับกระดูกเพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของโรคสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดอุดตันในสมองเส้นเลือดแตก ที่ทำให้เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตโดยสารเซซามินจะเข้าไปช่วยปกป้องเซลล์ประสาทที่ยังดีอยู่ และช่วยฟื้นฟูเซลล์ประสาทที่เสื่อมสภาพสุดท้ายก็เป็นโรคมะเร็ง ที่ถือเป็นโรคที่เกิดมากเป็นอันดับ 1 ในขณะนี้ซึ่งเซลล์มะเร็งนั้นจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเพราะมีเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นมาแล้วไปสร้างการหล่อเลี้ยงให้กับเซลล์มะเร็งนั้นๆ จากนั้นก็จะแพร่กระจายไปเรื่อยซึ่งสารเซซามิน ก็จะเข้าไปปกป้องเซลล์พร้อมกับตัดวงจรหรือลดเส้นเลือดใหม่ที่เป็นน้ำเลี้ยงให้กับเซลล์มะเร็งพร้อมกับค่อยๆ ฟื้นฟูสภาพเซลล์ให้กลับคืนมา

           โดยผลการวิจัยในห้องทดลองที่ได้ร่วมกับนักศึกษาปริญญาโท ได้ทดสอบกับไข่ไก่ที่ปกติจากนั้นได้ทำการฉีดเซลล์หรือสารพิษเข้าไป ก็พบว่าไข่ไก่จะเกิดอาการเป็นพิษ หรือ คล้ายกับการเป็นมะเร็ง จากนั้นก็ทำการฉีดสารเซซามิน เข้าไปก็พบว่าการฟื้นฟูของเซลล์เริ่มกลับคืนมา และได้ทดสอบด้วยการฉีดสารเซซามินเข้าไปในไข่ไก่ปกติ แล้วเมื่อเวลาผ่านไป 6 ชั่วโมง ถึงฉีดสารพิษ หรือ เซลล์มะเร็งเข้าไป ก็พบว่ามีการปกป้องเซลล์ได้มากกว่าไข่ไก่ที่ไม่ถูกฉีดสารเซซามินอย่างเห็นได้ชัด


การศึกษาทางพิษวิทยาของงา

การทดสอบความเป็นพิษเมื่อฉีดสารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล และน้ำ (1:1) เข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่าเท่ากับ 500 มก./กก. น้ำมันจากเมล็ดงาไม่ระบุความเข้มข้น พบว่ามีพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อฉีดน้ำมันจากเมล็ดงาเข้าทางเส้นเลือดดำของกระต่าย พบว่า MIC มีค่าเท่ากับ 0.74 มล./กก. เมื่อป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของข้าวโพด เมล็ดฝ้าย น้ำมันมะกอก และน้ำมันงาให้กับหนูเพศผู้-เมีย ในขนาด 0.1, 0.5% ของอาหารเป็นเวลานาน 105 วัน พบว่าหนูทุกตัวมีการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันที่ตับ และในหนูเพศเมีย เนื้อเยื่อที่ต่อม thyroid ชนิด microfollicular จะมีจำนวนเซลล์เพิ่มขึ้นมากผิดปกติ  และในหนูทุกตัวที่ป้อนอาหารที่มีส่วนผสมในขนาด 0.5% ของอาหาร พบว่าน้ำหนักของหัวใจเพิ่มมากขึ้น

           ทำให้เกิดอาการแพ้มีรายงานว่าคนรับประทานเมล็ดงา แล้วเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น ในคนเพศชายพบว่ามีอาการแพ้ด้วยการสูดดม และทำ skin prick tests ผล positive และเมื่อรับประทานเมล็ดงาขนาด 2 มก./วัน พบว่าเกิดอาการผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ นอกจากนี้มีรายงานในคนเพศหญิง เมื่อรับประทานเมล็ดงาขนาด 10 ก./คน และสูดดม พบว่าเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง มีอาการหอบ จมูกอักเสบ และมีผื่นขึ้นคล้ายลมพิษ อีกทั้งมีรายงานว่าผู้ที่รับประทานเมล็ดงา และเกิดอาการแพ้แบบ anaphylactic shock เนื่องจากสารในเมล็ดงาไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันชนิด non-IgE ผู้ป่วยอายุ 46 ปี เกิดอาการแพ้หลังจากการใช้น้ำมันงาในเยื่อหุ้มฟัน ทำให้เกิด anaphylactic shock ด้วยเช่นกัน มีรายงานในผู้ป่วยที่รับประทานอาหารที่มีงาเป็นส่วนผสม และเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง 10 ราย ผู้ป่วยทุกคนทำ skin prick test ต่องา และตรวจ IgE antibodies พบว่าได้ผล positive ทั้ง 2 ชนิด ทุกคน และพบว่าสารที่ทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรงในงา คือ 2S albumin

           พิษต่อระบบสืบพันธุ์ สารสกัดเมล็ดด้วยบิวทานอล เอทานอล (95%) และน้ำ เมื่อป้อนให้กับหนูขาวเพศเมียขนาด 3.05 ก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร พบว่าไม่มีผลต้านการฝังตัวของตัวอ่อน สารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล เมื่อป้อนให้กับหนูขาวที่ตั้งครรภ์ขนาด 200 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร พบว่าไม่มีผลทำให้แท้ง และไม่มีผลต้านการฝังตัวของตัวอ่อน สารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) เมื่อป้อนให้กับหนูขาวเพศเมียทางปากขนาด 200 มก./กก. พบว่าไม่มีพิษต่อตัวอ่อน สารสกัดเมล็ดด้วยเบนซีนและปิโตรเลียมอีเทอร์ เมื่อป้อนให้กับหนูขาวที่ตั้งครรภ์ทางสายยางให้อาหารขนาด 150 มก./กก. พบว่าไม่เป็นพิษต่อตัวอ่อน น้ำมันจากเมล็ดงาดำเมื่อป้อนให้หนูที่ตั้งครรภ์ทางสายยางสู่กระเพาะอาหาร ในขนาด 4 มล./ตัว โดยให้ในช่วงสัปดาห์ที่ 6-10 ของการตั้งครรภ์ พบว่าไม่มีผลทำให้เกิดความพิการของตัวอ่อน

           พิษต่อเซลล์ สารสกัดทั้งต้นด้วยเอทานอล (90%) ขนาด 0.25 มก./มล. พบว่ามีพิษต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวในคน (Lymphocytes Human) และสารสกัดเดิมเมื่อทำการทดสอบกับ Cells vero, Cell-CHO (Chinese Hamster Ovary) และเซลล์ Lymphoma Daltons พบว่าขนาดที่มีผลทำให้เกิดพิษต่อเซลล์เป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (ED50) มีค่าเท่ากับ 0.36, 0.44 และ 1.2 มก./มล. ตามลำดับ สารสกัดรากและใบด้วยเมทิลีนคลอไรด์ทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (CA-Colon-SW480) พบว่าความเข้มข้นที่มีผลยับยั้ง และเกิดความเป็นพิษต่อเซลล์เป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่าเท่ากับ 3.6 และ 6.1 มคก./มล. ตามลำดับ และสารสกัดรากด้วยเมทานอลและเมทิลีนคลอไรด์ด้วยความเข้มข้น 500 ppm พบว่าไม่มีผลต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ในคน (CA-Human-Colon-CO-115) สารสกัดเมล็ดงาด้วยเอทานอล:น้ำ (1:1) ทำการทดสอบกับเซลล์มะเร็ง (CA-9KB) พบว่าขนาดที่มีผลทำให้เกิดพิษต่อเซลล์เป็นจำนวนครึ่งหนึ่งมีค่ามากกว่า 20 มคก./มล. สารสกัดน้ำของเมล็ดด้วยความเข้มข้น 500 มคก./มล. พบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง (CA-Mammary-Microalveolar) แต่เมื่อทำการทดสอบกับ Cell CA-JTC-26 ด้วยสารสกัดเดิม และความเข้มข้นเท่าเดิม พบว่าไม่มีพิษต่อเซลล์ และสารสกัดเมล็ดด้วยเมทานอลทดสอบในเซลล์มะเร็ง CA-A549 และ CA-Colon-2 พบว่าความเข้มข้นที่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์เป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (IC50) มีค่ามากกว่า 20 มคก./มล. สารสกัดเมล็ดด้วยเอทานอล ทำการทดสอบในเซลล์ CA-A549, CA-Mammary-MCF-7, Colon cancer cell line DLD-1, และเชื้อ Salmonella typhimurium TA1530 พบว่าไม่มีพิษต่อเซลล์และเชื้อดังกล่าวข้างต้น น้ำมันจากเมล็ดงา ความเข้มข้น 0.01%, 0.1% พบว่าไม่มีพิษต่อเซลล์ และในความเข้มข้น 1% มีพิษอย่างอ่อนต่อเซลล์ fibroblasts ของหนู ในขณะที่น้ำมันจากเมล็ดงา ความเข้มข้น 100 มคก./มล. มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (CA-Colon-CACO-2, CA-Colon SW480, Human Colon Cell line HT 29 น้ำมันจากเมล็ดงาดำ ด้วยความเข้มข้น 300 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษต่อเซลล์ Melanoma-Nhem และ Melanoma-SK-Mel-2 สาร sesaminol จากน้ำมันงา (ไม่ระบุขนาด) สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและทำให้เซลล์ lymphoid leukemia Molt 4B ตาย

           ฤทธิ์ก่อมะเร็ง เมื่อผสมน้ำมันเมล็ดงาลงในอาหารหนูในอัตราส่วน 2% ของอาหาร และให้หนูกิน พบว่าน้ำมันจากเมล็ดงามีผลทำให้ squamous cell ของมะเร็งที่กระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อฉีดน้ำมันจากเมล็ดงาให้กับหนูถีบจักรเข้าทางช่องท้องขนาด 0.5 มล./ตัว พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อมะเร็งต่อเซลล์ Pulmonary adenomas

           ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์เมื่อทำการทดสอบสารสกัดไม่ระบุส่วนด้วยคลอโรฟอร์มและเมทานอล (2:1) ในจานเพาะเลี้ยงเชื้อ ด้วยความเข้มข้น 100 มก./จานเลี้ยงเชื้อ พบว่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ Salmonella typhimurium TA98, TA100 และไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ต่อเซลล์ Cells-Pig-Kidney-LLC-PK-1 และ Cells-Trophoblastic-Placenta สารสกัดเมล็ดด้วยอะซีโตน ความเข้มข้น 0.2 ก./จานเพาะเชื้อ พบว่าไม่มีผลก่อกลายพันธุ์ต่อเชื้อ S. typhimurium TA98 และ TA100


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เด็กๆ เองรับประทานงาดำ และงาขาวที่พบในอาหารปกติได้โดยไม่น่าจะเป็นอันตรายใดๆ ส่วนการใช้เพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น อาการ ไอ ควรใช้เพียงช่วงสั้นๆ โดยให้รับประทานน้ำมันงา 5 มิลลิลิตรก่อนนอนติดต่อกันไม่เกิน 3 วัน
  2. การรับประทานงาดำ และงาขาวอาจทำให้ระดับความดันโลหิตลดต่ำเกินไปในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ
  3. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังการรับประทานงาดำ และงาขาว เพราะอาจส่งผลให้ระดับของน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
  4. เนื่องจากงาดำและงาขาวอาจส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดขณะผ่าตัด หรือ หลังจากรับการผ่าตัดแล้ว ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใดๆ จึงควรหยุดรับประทานงาดำอย่างน้อย 2 สัปดาห์
  5. ผู้รับประทานบางรายอาจมีอาการแพ้ได้ เช่น ลมพิษ ริมฝีเปลือกตาปากบวมแดง คันจมูก หายใจลำบาก ความดันโลหิตลดลงจนช็อกหมดสติ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นทันทีหลังจากรับประทาน 90 นาที
  6. หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้เกิดการระบายมากผิดปกติจนนำไปสู่อาการท้องร่วงได้
  7. งาดำอาจเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งลำไส้ เนื่องจากงาดำมีขนาดเล็กมาก เวลารับประทานเข้าไปบางคนอาจเคี้ยวไม่ละเอียดทุกเม็ดแต่เลือกที่จะกลืนเข้าไปเลย ก่อให้เกิดการอุดตัน และนำไปสู่มะเร็งลำไส้ได้
     
เอกสารอ้างอิง งาดำ
  1. งา.สมุนไพร ที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. งา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=45
  3. งา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ทานงาดำคั่ววันละ 2 ช้อนโต๊ะมีผลอย่างไร.กระทู้ถาม-ตอบ (ออนไลน์) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.เข้าได้จาก http://www.medp;ant.mahidol.ac.th/user/reply-asp?id=6700
  5. กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, งาดำ, ตารางแสดงคุณค่างทางโภชนาการของอาหารไทย.
  6. Vlietinck AJ, Van Hoof L, Totte J, Lasure A, Vanden Berghe D, Rwangabo PC, Mvukiyumwami J. Screening of hundred Rwandese medicinal plants for antimicrobial and antiviral properties. J Ethnopharmacol 1995;46:31-47.
  7. Chavali SR, Utsonomyia FA. Antiinflammatory and protective effects of feeding sesame oil enriched diets to mice after cecal ligation and puncture. Immune Consequences Trauma Shock Sepsis: Mech Ther Approaches, [Int Congr], 3rd  1994;2(Pt.2):920-4.
  8. บุญเกื้อ ภูศรี : ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, 2544, งาพืชทรงคุณค่า.
  9. Hee Hong C, Kyung Hur S, Oh O-J, Sook Kim S, Ae Nam K, Kook Lee S. Evaluation of natural products on inhibition of inducible cyclooxygenase (COX-2) and nitric oxide synthase (iNOS) in cultured mouse macrophage cells. J Ethnopharmacol 2002;83:153-9.
  10. Dhar ML, Dhar MM, Dha Wan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  11. เยาวมาลย์ และคณะ,2529, การใช้โประโยชน์จากงา. วารสารแก่นเกษตร ปีที่ 14 ฉบับที่ 6.
  12. งาดำ สรรพคุณ และการปลูกงาดำ.พืชเกษตร ดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://puechkaset.com
  13. Wolde ST, Engels F, Miltenburg AMM, Kuijpers EAP, Struijk-Wielinga GI, Dijkmans BAC. Sesame oil in injectable gold: two drugs in one? Br J Rheumatol 1997;36(9): 1012-5.
  14. วีระศักดิ์ อนัมบุตร และวิไลศรี ลิมปพยอม, 2539, คุณลักษณะและการใช้ประโยชน์จากงา.
  15. Dhar ML, Dhar MM, Dha Wan BN, Mehrotra BN, Ray C. Screening of Indian plants for biological activity: part I. Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  16. Sato A. Studies on anti-tumor activity of crude drugs. III. The effects of decreasing resistance of cancer cell in long-term in vitro screening test with aqueous extracts of some crude drugs. Yakugaku Zasshi 1990;110(7):490-7.
  17. Runnebaum B, Rabe T, Kiesel L, Prakash AO. Biological evaluation of some medicinal plant extracts for contraceptive efficacy in females. Future aspects in contraception. Part 2. Female contraception. Boston:MTP Press, Ltd, 1984:115-28.
  18. Anon. Final report of the safety assessment of sesame oil. J Amer Coll Toxicol 1993;12(3):261-77.
  19. Ruan CC, Liang Y, Liu JL, Tu WS, Liu ZH. Antimutagenic effect of natural foods on moldy foods in high liver cancer incidence area. Mutat Res 1992;279(1):35-40.
  20. Munro IC, Hand B, Middleton EJ, Heggtveit HA, Grice HC. Toxic effects of brominated vegetable oils in rats. Toxicol Appl Pharmacol 1972;22(3):432-9.