ทองพันชั่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ทองพันชั่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ทองพันชั่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าไก่ (ไทย), แปะเฮาะเล่งจือ (จีน-จีนแต้จิ๋ว), หญ้ามันไก่, ทองพันดุลย์, ทองคันชั่ง (ภาคกลาง), ผกาฮ้อมบก (สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus nasutus (Linn.) Kurz.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhinacanthus communis Nees
ชื่อสามัญ White crane flower
วงศ์ Acanthaceae


ถิ่นกำเนิดทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง เป็นไม้ล้มลุกกึ่งไม้พุ่ม มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร พบทั่วไปในประเทศเขตร้อนของภูมิภาคดังกล่าว อาทิเช่น ประเทศ อินเดีย เกาะมาดากัสการ์, มาเลเซีย ฯลฯ แล้วมีการกระจายพันธุ์ไปในประเทศเขตร้อนใกล้เคียง เช่น บังคลาเทศ, พม่า, ไทย, อินโดนีเซีย เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย มีการนำมาใช้ทองพันชั่ง เป็นยาสมุนไพรและนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ, ไม้มงคลมาตั้งแต่อดีตแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณทองพันชั่ง  

  1. รักษากลาก เกลื้อน
  2. รักษาผื่นคัน
  3. แก้ไข้ตัวร้อน
  4. แก้พยาธิผิวหนัง
  5. รักษาอาการผมร่วง
  6. รักษาอาการปวดฝี
  7. แก้พิษฝี
  8. แก้อักเสบ
  9. บำรุงร่างกาย
  10. เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย 
  11. รักษาโรคมะเร็ง
  12. ดับพิษไข้
  13. แก้พิษงู
  14. รักษาโรคผิวหนัง
  15. แก้น้ำเหลืองเสีย
  16. รักษาอาการไส้เลื่อน
  17. รักษามะเร็งเนื้องอก
  18. รักษามะเร็งปอด
  19. แก้ไอเป็นเลือด
  20. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  21. แก้ริดสีดวงทวาร
  22. รักษาโรคตับพิการ
  23. รักษาโรครูมาติซึม
  24. รักษาโรคไขข้อพิการ
  25. แก้ลมเข้าข้อทำให้ปวดบวมต่างๆ 
  26. รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  27. เป็นยาอายุวัฒนะ
  28. รักษาโรคนิ่ว
  29. ช่วยทำให้ระบบกระเพาะอาหารทำงานได้ดีมากขึ้น
  30. ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ
  31. ช่วยแก้อาการช้ำใน

           ทองพันชั่ง รักษามะเร็ง ช่วยยับยั้งมะเร็ง เช่น มะเร็งในกระเพาะ มะเร็งในคอ มะเร็งในปาก มะเร็งในปอด เพราะต้นทองพันชั่งมีสารสำคัญคือ “สารแนพโทควิโนนเอสเทอร์” (Naphthoquinone Ester) ซึ่งเป็นสารประกอบที่มีการออกฤทธิ์ในการช่วงยับยั้งมะเร็งเยื่อบุช่องปาก มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มีรายงานว่าในประเทศไต้หวันใช้ทองพันชั่งเป็นยาพื้นบ้านในการบำบัดรักษาโรคเบาหวาน โรคผิวหนัง ความดันโลหิตสูง และตับอักเสบ


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ทาแก้กลากเกลื้อน หรือ โรคผิวหนังผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบสดผสมน้ำมันถ่านหิน หรือ แอลกอฮอล์ 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ อาจใช้รากบดเป็นผงแช่แอลกอฮอลล์ 1 อาทิตย์ เอามาทาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และผื่นคันอื่นๆ ใช้ใบ หรือ รากสด ตำกับน้ำปูนใสผสมพริกไทย พอกแก้โรคผิวหนังเรื้อรัง กลาก และโรคผิวหนังอักเสบ หรือ ใช้ใบ (สด หรือ แห้ง) หรือ ราก (สด หรือ แห้ง) ตำให้ละเอียด แช่เหล้าพอท่วมตั้งไว้ 7 วัน นำน้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นบ่อยๆ หรือ ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย เมื่อหายแล้วให้ทาต่ออีก 7 วัน เหตุที่ต้องแช่ไว้นาน 7 วัน เป็นเพราะน้ำยาที่ยังแช่ไม่ครบกำหนดจะมีฤทธิ์กัดผิวหนัง ถ้านำไปทาจะทำให้ผิวหนังแสบ และคันมากขึ้น น้ำยาจากรากแห้งกัดผิวมากกว่าใบแห้ง

  • ส่วนน้ำยาจากใบสดทองพันชั่ง ไม่กัดผิว ใช้รับประทานเป็นยาภายใน รักษาโรคมะเร็ง และวัณโรคระยะเริ่มแรก

ใช้ทั้งต้น สด จำนวน 30 กรัม ต้มกับน้ำ จำนวนท่วมใบยา ต้มดื่มต่างน้ำ

ใช้ก้านและใบสด 30 กรัม (แห้ง 10-15 กรัม) ผสมน้ำตาลกรวดต้มน้ำดื่ม รักษาโรคปอดระยะเริ่มแรก

  • ช่วยขับปัสสาวะ ให้ใช้ใบสด คั่วให้แห้งนำมาชงเป็นชาใช้ดื่มจะช่วยขับปัสสาวะได้ 

ลักษณะทั่วไปของทองพันชั่ง

  • ต้นทองพันชั่ง มีลักษณะเป็นไม้พุ่มเตี้ยขนาดเล็ก มีความสูงต้นประมาณ 1-1.5 เมตร มักแตกหน่อและแผ่กิ่งก้านออกเป็นกอ ลำต้นและกิ่งก้านมีขนประปรายทั่วไป กิ่งอ่อนมักเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาว ส่วนโคนของลำต้นเนื้อไม้แกนแข็ง
  • ใบ เป็นใบเดี่ยวลักษณะรูปไข่ ปลายใบและโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ และแต่ละคู่ออกสลับทิศทางกัน เนื้อใบบางและเกลี้ยง ใบยาว 4-6 เซนติเมตร กว้าง 2-3 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวอ่อน
  • ดอก เป็นดอกช่อขนาดเล็ก มีสีขาวออกเป็นช่อสั้นๆ ตรงซอกมุมใบ มองดูดอกมีลักษณะเหมือน นกกระยางกำลังบิน (แต่ชาวสุรินทร์เห็นว่าดอกทองพันชั่ง คล้ายข้าวเม่า คือ มีกลีบดอกสี่กลีบตกออกคล้ายข้าวเม่า จึงเรียกต้นทองพันชั่ง ว่า “ผกาอ็อมบก” แปลว่า ต้นดอกข้าวเม่า) กลีบรองดอกมี 5 กลีบ และมีขน กลีบดอกสีขาวติดกันตรงโคนเป็นหลอด ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบขนยาวประมาณ 0.8 เซนติเมตร กว้าง 0.1 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 แฉกแหลมสั้นๆ กลีบล่างแผ่กว้าง 1.5 เซนติเมตร แยกเป็น 3 แฉก โคนกลีบมีจุดประสีม่วงแดง เกสรตัวผู้สีน้ำตาลอ่อน มีสองอันยื่นพ้นปากหลอดออกมาเล็กน้อย รังไข่มี 1 อัน รูปยาวรี มีหลอดท่อรังไข่คล้ายเส้นด้าย ยาวเสมอปากหลอดดอก ก้านเกสรสั้นติดอยู่ที่ปากท่อดอก
  • ผล มีลักษณะเป็นฝัก กลมยาว และมีขนภายใน มี 4 เมล็ด เมื่อแห้งสามารถแตกได้

    ทองพันชั่ง

    ทองพันชั่ว

การขยายพันธุ์ทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วย การเพาะเมล็ดและนำกิ่งมาปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการปลูกที่ได้ผลดี คือ วิธีการ คือ ตัดกิ่งแก่ที่มีตาติดอยู่ 2-3 ตา แล้วปลิดใบทิ้งให้หมดจากนั้นตัดบริเวณกิ่งให้เฉียงทำมุม 45 องศา แล้วปักลงไปในดินที่ชุ่มน้ำโดยให้กิ่งเอียงเล็กน้อยทองพันชั่ง เป็นพืชที่ไม่ชอบร่มเงามาก (ต้องการที่ที่มีแสงแดดลอดผ่านมารำไร) มักชอบที่ดินปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ไม่ขังแฉะ และต้องคอยดูแลการให้น้ำให้ดินชุ่มชื้น รวมถึงต้องคอยกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ เพราะถ้าหากขาดน้ำ หรือ ถูกแสงแดดมากจนเกินไปใบจะเป็นจุดเหลืองแล้วค่อยๆ แห้งตาย ดังนั้นการปลูกจึงควรปลูกในฤดูฝน


องค์ประกอบทางเคมี

ใบทองพันชั่ง พบสารสำคัญ คือ rhinacanthin และ oxymethylanthraquinone รากมี Resin Rhinacanthin (1.9 เปอร์เซ็นต์) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคได้ มีเกลือโพแทสเซียม และมี Oxymethylanthraquinone นอกจากนี้ยังพบสาร Quinone, Rutin (quercetin - 3 - rutinoside) (สารอนุพันธุ์ แนพโทควิโนนเอสเทอร์ ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง)

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีขอทองพันชั่ง

ทองพันชั่ง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของทองพันชั่ง

ฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและยีสต์ ผลการศึกษาการฆ่าเชื้อรา Trichophyton rubrum ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก โดยวิธี paper disc เทียบกับยาต้านเชื้อรา griseofulvin และ nystatin โดยใช้สารสกัดจากใบและกิ่ง ด้วยน้ำ แอลกอฮอล์ และคลอโรฟอร์ม พบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์น้อยมาก ส่วนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์มมีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้ดีพอสมควร สารสกัดทองพันชั่ง ด้วยเมทานอล ไดคลอโรมีเทนและเฮก เซน มีผลยับยั้งเชื้อรา Epidermophyton floccousm, Microsporum gypseum, Trichophyton mentagrophytes และ T. rubrum ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เมื่อทดสอบบนจานเลี้ยงเชื้อ สาร rhinacanthin C, D และ N ซึ่งแยกจากใบเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรา บนจานเลี้ยงเชื้อ พบว่าสารดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด สามารถต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคทางผิวหนัง ได้แก่ Trichophyton rubrum, T. mentagrophytes และ Microsporum gypseum ได้ โดยที่สาร rhinacanthin C มีฤทธิ์แรงที่สุด สารสกัด RN-A และ RN-B ซึ่งเป็นกลุ่ม sesquiterpenoid จากใบทองพันชั่ง มีลักษณะโครงสร้างคล้ายกับสาร pyrano-1,2-naphthoquinones สามารถฆ่าสปอร์ของเชื้อรา Pyricularia oryzae ซึ่งเป็นราที่เป็นสาเหตุของโรคในข้าวเจ้าได้ สาร 3,4-dihydro-3,3-dimethyl-2H-naphtho(2,3-o)pyran-5,10-dione จากทองพันชั่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา

           สาร rhinacanthin C, D และ N จากใบทองพันชั่ง สามารถยับยั้งยีสต์ Candida albicans ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อราในช่องปาก และช่องคลอด

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส สารสกัดใบทองพันชั่งด้วยน้ำและเอทานอล เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัส Herpes simplex type1 (HSV-1) ซึ่งเป็นสาเหตุของเริม สาร rhinacanthin C และ D จากต้นทองพันชั่ง เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัส ในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อ cytomegalovirus ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนี่งของการติดเชื้อไวรัสในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาร rhinacanthin E และ F จากส่วนเหนือดินของต้นทองพันชั่ง เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ได้ 

การศึกษาทางพิษวิทยาของทองพันชั่ง

การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดต้นทองพันชั่ง ด้วยแอลกอฮอล์ร้อยละ 50 เมื่อป้อน หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม ไม่พบอาการเป็นพิษในหนูเม้าส์ ซึ่งขนาดที่ใช้ทดลองนี้เป็น 3,333 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรายา

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

การเก็บมาใช้ ควรเก็บใบและรากจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงได้รับปุ๋ย, แสงแดด และน้ำเพียงพอ กล่าว คือ ใบไม่มีจุดเหลือง มีสีเขียวสดเป็นมัน และควรเลือกเก็บจากต้นที่มีอายุเกิน 1 ปี หรือ ออกดอกแล้วและสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคหืด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็งในเลือด โรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรรับประทานสมุนไพรทองพันชั่ง

เอกสารอ้างอิง ทองพันชั่ง
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, บรรณาธิการ. 2530. ก้าวไปกับสุมนไพร เล่ม 3 พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:ธรรกมลการพิมพ์.
  2. ทองพันชั่ง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. ทองพันชั่ง. ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/man.php?action=viewpage&pid=69
  4. Wu, T.S., Tien, J.J., Yeh, M.Y., and Lee, K.H. 1988. Isolation and cytotoxicity of rhinacanthin-A and- B, Two napthoquinones from Rhinacanthus nasutus. Phytochemistry 27 (12) : 3787-3788.
  5. มาโนช วามานนท์ และเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, บรรณาธิการ. 2530. ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.
  6. ทองพันชั่ง. นิตยสารหมอชาวบ้าน. เล่มที่ 6.คอลัมน์สมุนไพรน่ารู้.ตุลาคม 2522
  7. ภโวทัย พาสนาดสภณ. สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร (Active Ingradients in Herbs). คอลัมน์ บทความวิชาการ.วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี.ปีที่ 27. ฉบับที่ 1.กันยายน 2558-กุมภาพันธ์. 2559. หน้า 120-131
  8. ทองพันชั่ง. กลุ่มสมุนไพรแก้มะเร็ง. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพฯรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_gata/herbs/herbs+19.htm
  9. โครงการสมุนไพร เพื่อการพึ่งตนเอง. 2531. ทองพันชั่ง : แก้กลาก เกลื้อน สังคัง. ข่าวสารสมุนไพร 32 : 32-35.
  10. Wongwanakul, R., Vardhanabhuti, N.,Siripong, P., &Jianmongkol, S. (2013). Effects of rhinacanthin-C on function andexpression ofdrugeffluxtransporters in Caco-2cells. Fitoterapia,89, 80-85.