หญ้าหวาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าหวาน งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าหวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Stevia rebaudiana Bertoni
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium rebaudianum Bertoni, Stevia rebaudiana (Bertoni) Hemsl.)
ชื่อสามัญ Stevia
วงศ์ Asteraceae


ถิ่นกำเนิดหญ้าหวาน
  

หญ้าหวานเป็นพืชที่มนุษย์รู้จักมาเป็นเวลานานกว่า 1,500 ปี ชนพื้นเมืองแถบอเมริกาใต้เป็นผู้ค้นพบ และนำมาใช้เป็นครั้งแรก มนุษย์ได้นำสารสกัดของหญ้าหวานมาเป็นส่วนประกอบในชาที่ชงดื่มรวมถึงยาสมุนไพรโบราณ โดยเฉพาะในประเทศปารากวัย และบราซิล ซึ่งชื่อเดิมของหญ้าหวานที่ชาวพื้นเมืองปารากวัยเรียก คือ kar-he-e หรือ ภาษาสเปน เรียกว่า yerba ducle แปลว่า สมุนไพรหวาน เป็นสมุนไพรที่ชาวพื้นเมืองของปารากวัย และบราซิล ใช้ผสมในอาหาร หรือ เครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความหวาน และใช้ชงเป็นชาดื่ม ที่เรียกว่า “มะเตะ” มานานมากกว่า 400 ปี แล้วส่วนในแถบเอเชียพบว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการใช้สารสกัดจากหญ้าหวาน อย่างแพร่หลาย โดยนำไปเป็นส่วนประกอบของอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ผักดอง ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว เนื้อปลาบด เป็นต้น 

           สำหรับในประเทศไทยหญ้าหวานเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2518 โดยเป็นการนำมาทดลองปลูก ในภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาได้อนุญาตให้มีการใช้สารสตีวิโอไซด์เพื่อการบริโภค หญ้าหวานจึงจัดอยู่ในพืชสมุนไพรอีกชนิดหนึ่ง

 

ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าหวาน  

  1. ลดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน
  2. ยารักษาเบาหวาน
  3. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  4. ช่วยลดอาการฟันผุ
  5. ช่วยลดอาการเหงือกบวมอักเสบ
  6. ช่วยป้องกันโรคฟันผุ
  7. ความดันโลหิต
  8. แก้โรคไขมันในเลือดสูง
  9. แก้โรคอ้วน
  10. แก้โรคหัวใจ
  11. ช่วยบำรุงร่างกาย
  12. ช่วยบำรุงตับ
  13. ช่วยสมานแผลภายนอก และภายใน



รูปแบบและขนาดวิธีใช้

จากผลงานวิจัยของทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สรุปว่า สารสกัดจากหญ้าหวานมีความปลอดภัยในทุกๆ กรณี โดยค่าสูงสุดที่กินได้อย่างปลอดภัย คือ 7,938 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว)/วัน ซึ่งสูงมากถ้าเทียบกับการผสมในเครื่องดื่ม หรือ กาแฟถึง 73 ถ้วยต่อวัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน เพราะคนส่วนใหญ่กินกันประมาณ 2-3 ก็ถือว่ามากเพียงพอต่อวันแล้ว ซึ่งการใช้หญ้าหวาน อย่างปลอดภัย คือ ประมาณ 1-2 ใบ ต่อเครื่องดื่ม 1 ถ้วย ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม และไม่หวานมากจนเกินไป แต่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลกที่เกี่ยวกับสารเจือปนในอาหาร ได้กำหนดค่าความปลอดภัย เบื้องต้นไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตามอาจต้องระมัดระวังการใช้ในใช้ในขนาดสูงติดต่อกันโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโรคไตและตับ 

           ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 360 พ.ศ.2556 เรื่อง สตีวิออลไกลโคไซด์) สตีวิออลไกลโคไซด์ หมายความว่า สารสกัดบริสุทธิ์จากใบหญ้าหวาน ซึ่งประกอบด้วย สตีวิโอไซด์ รีบาวดิโอไซด์ เอ รีบาวดิโอไซด์ บี รีบาวดิโอไซด์ ซี รีบาวดิโอไซด์ ดี รีบาวดิโอไซด์ โคไซด์ เอ รูบุโซไซด์ และ สตีวิออลไบโอไซด์ สารสกัดจากหญ้าหวานที่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต้องมีปริมาณสารในกลุ่มสตีวิออลไกลโคไซด์ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐาน องค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ


ลักษณะทั่วไปหญ้าหวาน
 

  • ลำต้นหญ้าหวาน เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นแตกกิ่งสาขาตั้งแต่ระดับโคนต้น ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มเตี้ย สูงประมาณ 30-90 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง มีลักษณะทรงกลม เปลือกลำต้นบาง สีเขียวอ่อน หุ้มติดกับแกนลำต้น แกนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
  • ใบหญ้าหวาน เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกใบออกเดี่ยวๆ เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ตามลำต้น และกิ่ง เหนือซอกใบจะแตกยอดสั้นๆ ทั้งสองข้าง แต่ละใบมีรูปหอกกลับ กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ สีเขียวสด ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย และงุ้มเข้ากลางแผ่นใบ เมื่อเคี้ยว หรือ ต้มน้ำดื่มจะมีรสหวานจัด
  • ดอก หญ้าหวานออกดอกเป็นช่อที่ปลายยอด มีก้านดอกสั้น กลีบดอกมีจำนวน 5 กลีบ รูปหอก หรือ รูปไข่ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว ด้านในมีเกสรตัวผู้สีเหลืองอมน้ำตาล และเกสรตัวเมีย 1 อัน ที่มีก้านเกสรสีขาวยาวยื่นออกมาจากกลางดอก คล้ายหนวดปลาดุก ทั้งนี้หญ้าหวาน จะออกดอกตลอดปี ในฤดูฝนจะออกดอกสีม่วง ส่วนฤดูอื่นๆ ออกดอกสีขาว
  • ผล เป็นผลแห้งขนาดเล็ก ไม่ปริแตก ภายในมีเมล็ดเดี่ยวจำนวนมาก เมล็ดสีดำ มีขนปุยปกคลุม

หญ้าหวาน

หญ้าหวาน

การขยายพันธุ์หญ้าหวาน

หญ้าหวานเป็นพืชที่ชอบอากาศที่ค่อนข้างเย็น ในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส เป็นพืชที่ชอบดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทรายที่ระบายน้ำได้ดี และพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีเมื่อเพาะปลูกในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600-700 เมตร ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2518 ที่แถบภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา ซึ่งปรากฏว่าให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกจนถึงปัจจุบัน

           หญ้าหวานขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ

  1. การเพาะกล้าจากเมล็ด มีข้อดี คือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมาก ให้ผลผลิตสูง และนานหลายฤดู รวมถึงทนต่อโรค และแมลงได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลง หรือ ให้ผลผลิตใบต่ำลง
  2.  การปักชำกิ่ง มีข้อดี คือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้เวลานาน มีต้นทุนการปักชำ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตให้ต่ำกว่ากล้าจากเมล็ด รวมถึง ลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรค และแมลง


สำหรับการเก็บเกี่ยว
 

การเก็บใบหญ้าหวานจะเริ่มเก็บครั้งแรกได้ 25-30 วัน หลังปลูก หากต้นสมบูรณ์พอ จะเก็บได้ต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดทั้งปี จะเก็บได้ประมาณ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งเก็บใบสดได้ประมาณ 40-60 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตใบสูงสุดในฤดูฝน ให้ผลผลิตต่ำในช่วงฤดูหนาว และฤดูแล้ง ทั้งนี้ หญ้าหวาน 1 รุ่นจะมีอายุเก็บเกี่ยวไดนานถึง 3 ปี

           สำหรับหญ้าหวาน สดที่เก็บเกี่ยวได้ จะต้องล้างทำความสะอาด และตากแดดให้แห้งก่อนส่งโรงงาน แบ่งออกเป็น 2 เกรด คือ เกรด A และเกรด B หากสภาพใบไม่สมบูรณ์ ใบมีสีเหลือง หรือ ซีด จะถูกคัดเป็นเกรด B แต่เกรดของใบไม่มีผลทำให้ความหวานแตกต่างกัน

           หญ้าหวานแห้ง เกรด B จะพบประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณหญ้าหวานแห้งทั้งหมด หญ้าหวานแห้งเกรด A อาจขายเป็นใบชา ในราคา 200-500 บาท/กิโลกรัม ส่วนเกรด B จะถูกขายในราคาประมาณ 150 บาท/กิโลกรัม และใช้บดเป็นผงหญ้าหวานแห้ง ที่ขายในกิโลกรัมละ 500 บาท [5] ส่วนราคารับซื้อหญ้าหวานแห้งหน้าโรงงาน อาจมีราคาในช่วงเดียวกัน หรือ สูงกว่า (ข้อมูล ราคาปี 2555)


องค์ประกอบทางเคมี
 

ใบหญ้าหวาน แห้ง สกัดด้วยน้ำได้สารหวานประมาณร้อยละหนึ่ง ซึ่งสารหวานเหล่านี้มี ชื่อเรียกว่า สตีวิโอไซด์ (Stevioside) ซึ่งมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150-300 เท่า มีความคงตัวสูงทั้งในตัวทำละลาย กรดอ่อน เบสอ่อน และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัว หรือ เปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร ใช้ในปริมาณน้อย ไม่มีพิษ และปลอดภัยในการบริโภคซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าสารสกัดจากหญ้าหวานประกอบไปด้วยกลุ่มสารที่มีชื่อเรียกว่า ไกลโคไซด์ (Glycoside) และ อะไกลโคน (Aglycone) สารไกลโคไซด์จะประกอบไปด้วยโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ส่วนสารอะไกลโคนจะประกอบไปด้วยน้ำตาลที่มีโมเลกุลใหญ่ขึ้น หรือ อาจเรียกรวมๆ ว่า โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) ซึ่งกลุ่มน้ำตาลเหล่านี้นี่เองที่ทำให้สารสกัดของหญ้าหวาน มีรสหวาน

           โดยสารสำคัญต่างๆ ที่พบในหญ้าหวานมีหลายชนิด ได้แก่

  • Stevioside พบมากที่สุด 2.0-7.7%
  • Rebaudioside A ถึง F พบลำดับรองลงมา ประมาณ 0.8-2.9%
  • Steviol
  • Steviolbioside
  • Dulcoside A

           สารสติวิออลไกลโคไซด์ (รูปที่ 1) มีลักษณะเป็นผงสีขาวถึงสีเหลืองอ่อนไม่มีกลิ่น มีความคงตัวสูงในตัวทำละลาย กรดอ่อน เบสอ่อน และทนความร้อน

หญ้าหวาน

คุณสมบัติทางกายภาพ และเคมีของ stevioside

  • สูตรทางเคมี : C35H60O18
  • น้ำหนักโมเลกุล : 804.9
  • จุดหลอมเหลว : 198 °C          

หญ้าหวาน

รูปที่   2    Stevioside

ที่มา : อ้างถึงใน ศิวาพร (2546) และสาโรจน์ (2547)

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าหวาน

ในปี ค.ศ.1991 มีนักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า Emily Procinska และคณะ ได้ออกมาค้นคว้ารายงานวิจัยของ John M. Pezzuto ว่าอาจมีข้อผิดพลาด โดยตีพิมพ์ในวารสาร Mutagenesis ระบุว่า ญ้าหวาน ไม่มีผลทำให้เกิด Mutagenic (สารก่อกลายพันธุ์) แต่อย่างใด ทั้งนี้ได้ทำการทดลองซ้ำอยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ได้มีรายงานต่างๆ ออกตามมาอีกมากมายที่ระบุว่าผลของ mutagenic ในสารสกัดหญ้าหวานมีผลน้อยมาก หรือ อาจจะไม่มีผลเลย และต่อมาจึงได้มีการตรวจสอบความเป็นพิษพบว่า งานวิจัยส่วนมากระบุว่าหญ้าหวานไม่มีพิษ และไม่มีหลักฐานใดๆ ระบุว่าหญ้าหวานให้เกิดโรคมะเร็งแต่อย่างใด และยังมีการศึกษาทางคลินิกอีกหลายๆ ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่มีผลการศึกษาระบุถึงกลไกการออกฤทธิ์ในร่างกายมนุษย์ คือ กลไกการออกฤทธิ์ของหญ้าหวาน คือ สารสกัดของหญ้าหวานที่เป็นไกลโคไซด์ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส และสารอะไกลโคนซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น (Polysaccharides) จะทำปฏิกิริยากับต่อมรับรสของลิ้น ทำให้เรารับรสชาติความหวานซึ่งมีมากกว่าน้ำตาลถึง 150 เท่า และต่อมรับรสบางส่วนจะทำปฏิกิริยากับสารอะไกลโคนซึ่งทำให้รู้สึกถึงรสขมได้เล็กน้อย และระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ก็สามารถย่อยสลาย และแยกไกลโคไซด์ของหญ้าหวานออกมาเป็นน้ำตาลกลูโคสได้อีกด้วย โดยน้ำตาลกลูโคสที่ได้นี้ส่วนใหญ่จะถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ดึงไปใช้เป็นพลังงานของตัวลำไส้เอง จึงมีกลูโคสจากสารสกัดหญ้าหวานเพียงส่วนน้อยที่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนสารสตีวิออล และสารโพลีแซคคาไรด์ (Poly saccharides) บางส่วนจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และส่วนใหญ่ที่เหลือจะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระ


การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าหวาน

จากการศึกษาความเป็นพิษในหนูหลายๆ การศึกษา โดยให้สารสตีวิโอไซด์ ผสมในอาหารในขนาดต่างๆ จนถึง 5% (ขนาดสูงถึง 2 g/kg น้ำหนักตัว ให้ติดต่อกัน 3 เดือน จนถึง 2 ปี ไม่พบความเป็นพิษที่รุนแรงต่อตับ และไต อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าหนูที่ได้รับ สตีวิโอไซด์ โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในขนาดสูงถึง 1.5 g/kg น้ำหนักตัว มีผลต่อไตโดยมี blood urea nitrogen (BUN) และ creatinine ในเลือดสูงขึ้น แต่ขนาดดังกล่าวเป็นขนาดที่สูงกว่าขนาดที่ใช้รับประทานในคนมากประกอบกับเป็นการให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ดังนั้นผลการศึกษาถึงความปลอดภัยของสตีวิโอไซด์ในอาหาร เป็นเวลานานจนถึงปัจจุบันปรากฏว่ามีแนวโน้มทางด้านความปลอดภัยที่ดี เมื่อต้นปี ค.ศ.2009 ประเทศสหรัฐอเมริกาโดย USFDA ได้พิจารณาและประกาศว่า หญ้าหวาน ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัย "Generally Recognized As Safe (GRAS) ส่วนการทดสอบการกลายพันธุ์ของสารสกัดหญ้าหวาน โดย Fujita คณะ (1979), Okumura คณะ (1978) และ Tama Biochemical Co-Ltd. (1981) ทำการทดลองกับเชื้อ Salmonella typhimurium, Escherichia coli และ Bacillus subtilis ผลการทดลอง พบว่า สารดังกล่าวไม่ก่อกลายพันธุ์แต่อย่างใด


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

แม้ปัจจุบันยังไม่พบข้อห้ามใช้หญ้าหวานที่เด่นชัด แต่ข้อควรระวัง คือ

  1. ไม่ควรบริโภคหญ้าหวานใน ปริมาณที่เกินกว่าที่กำหนดในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับคำรับรองความปลอดภัยการบริโภคจากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.)
  2. เลี่ยงบริโภคหญ้าหวานในกรณีที่แพ้พืชตระกูลเดียวกับหญ้าหวาน เช่น ดอกเบญจมาศ ดาวเรือง เป็นต้น เนื่องจากผู้ที่แพ้พืชเหล่านี้อาจเสี่ยงมีอาการแพ้หญ้าหวานได้เช่นกัน
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานหญ้าหวานควรหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด รวมทั้งปรึกษาแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติใดๆ เนื่องจากหญ้าหวาน หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากหญ้าหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปได้
  4. สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร และเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคหญ้าหวาน เสมอ
  5. ผู้บริโภคหญ้าหวานบางรายอาจเกิดอาการท้องอืด คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือ ชาตามร่างกายได้
  6. ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์หญ้าหวานที่หมดอายุ

เอกสารอ้างอิง หญ้าหวาน
  1. รศ.ดร.ภก.พิสมัย กุลกาญจนาธร. หญ้าหวาน.....หวานทางเลือก....เพื่อสุขภาพ. ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. มตรี สุทธจิตต์ และคณะ, 2540, การรวบรวม การทบทวน การวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย และการสังเคราะห์แนวความคิดที่-เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของหญ้าหวาน-และผลิตภัณฑ์จากหญ้าหวาน.
  3. เชาวนี สุวรรณโชติ, 2556, การศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน-โรงงานสกัดผงหญ้าหวาน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่.
  4. Rajab R., Mohankumar C., Murugan K., Harish M. and Mohanan PV. Purification and toxicity studies of stevioside from Stevia rebaudiana Bertoni.Article. 2009; 16(1):49-54.
  5. มัทนียา วังประภา, 2548, การผลิตสารสตีวิโอไซด์-โดยการเพาะเลี้ยงหญ้าหวาน-ในเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ.
  6. หญ้าหวาน.วิกิพีเดีย.สารานุกรมเสรี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.th.wikipedia.org/wiki/
  7. กล้าณรงค์ ศรีรอต. 2542. สารให้ความหวาน (sweeteners) : คุณสมบัติและการใช้ประโยชน์.
  8. หญ้าหวาน (Stevia) สรรพคุณ และการปลูกหญ้าหวาน. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพือเกษตรกรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. CODEX-2010: JECFA Monograph (2010) INS no. 960
  10. Kroyer G. Stevioside and Stevia-sweetener in food: application, stability and interaction with food ingredients. J. Verbr. Lebensm. 2010; 5:225-229
  11. หญ้าหวานต้านโรค พิสูจน์ได้จริงหรือไม่.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  12. Goyal SK., Samsher And Goyal RK. Stevia (Stevia rebaudiana) a bio-sweetener: a review. International Journal of Food Sciences and Nutrition. 2010; 61(1):1-10.
  13. การใช้หญ้าหวานมีผลอย่างไรต่อผู้ป่วยเบาหวาน. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6687
  14. Munish P, Deepika S, Ashok T and Kdownstream. Processing of stevioside and its potential applications. Biotechnology Advances 2011; 29: 781-791.
  15. Madan S, Ahmad S; Singh G.N, Kohli, Kanchan, Kumar Y, Singh R, Garg M. Stevia rebaudiana (Bert.) Bertoni-A review. Indian Journal of Natural Products and Resources 2010; 1:267-286.