ลูกใต้ใบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ลูกใต้ใบ งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลูกใต้ใบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าใต้ใบ, มะขามป้อมดิน, หน่วยใต้ใบ (ภาคเหนือ), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฎร์ธานี), จูเกี๋ยเช่า (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.
ชื่อสามัญ Egg woman, Tamalaki, Stonebreaker.
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนต่างๆ ของโลกทั้งในทวีป อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย อีกทั้งมีการกระจายพันธุ์ไปอยู่ในหลายๆ ประเทศเขตร้อนของภูมิภาคดังกล่าว เช่น เปรู บราซิล ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย พม่า ลาว ฯลฯ ส่วนในประเทศไทยนั้น ต้นลูกใต้ใบ สามารถพบได้ทั่วทุกจังหวัด ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมักพบในที่โล่งแจ้ง หรือ ตามบริเวณเงาไม้ใหญ่ในที่โล่งทั่วไป หรือ ขึ้นแซมกับพืชที่เกษตรกรปลูก จนต้องถูกกำจัดเหมือนวัชพืชอื่นๆ เลยทีเดียว

ประโยชน์และสรรพคุณลูกใต้ใบ 

  1. ช่วยปกป้องตับจากพิษของสารเคมี
  2. ช่วยรักษาผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับให้มีอายุยาวขึ้น
  3. ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย  
  4. บำรุงธาตุในร่างกาย
  5. ช่วยเจริญอาหาร
  6. รักษาโรคตา
  7. ช่วยควบคุม และลดระดับน้ำตาลในเลือด
  8. ช่วยลดความดันโลหิต
  9. แก้ไข้
  10. ช่วยลดความร้อน
  11. ช่วยลดไข้ทุกชนิด
  12. ช่วยรักษามาลาเรีย
  13. ช่วยแก้อาการไอ
  14. ช่วยแก้หืด
  15. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ
  16. ช่วยขับเหงื่อ
  17. ช่วยขับปัสสาวะ
  18. ช่วยขับเสมหะ
  19. แก้ท้องเสีย
  20. แก้ปวดท้อง
  21. แก้ท้องมาน
  22. แก้บิด
  23. แก้ระดูขาวไข้ประจำเดือนของสตรี
  24. รักษาไข้ทับระดู
  25. ช่วยบำรุงสายตา ทำให้สายตาดี
  26. ช่วยรักษาโรคตา
  27. ช่วยแก้พิษตานซาง
  28. แก้น้ำเหลืองเสีย
  29. บำรุงตับ
  30. รักษาดีซ่าน
  31. รักษาอาการปวดข้อ ปวดกระดูก
  32. ช่วยลดอาการอักเสบ
  33. รักษาโรคเริม
  34. ช่วยขับประจำเดือน


รูปแบบและขนาดวิธีใช้
 

  • แก้ไข้ ให้นำต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำปริมาณ 2 ถ้วยแก้ว จากนั้นเคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
  • รักษาโรคเริม ให้ใช้ลูกใต้ใบ ประมาณ 5 ใบ ตำผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาแต่นำมา จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำยามาแปะตรงที่เป็น
  • รักษาอาการปวดข้อ ใช้ยอดอ่อนมาต้มกับน้ำแล้วดื่มรักษาอาการปวดกระดูก ปวดข้อ
  • แก้ปวดเมื่อย นำลูกใต้ใบมาล้างน้ำ และสับเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง ต้มใส่หม้อดิน นำมาดื่มแทนชา
  • แก้ไอ นำใบอ่อนของต้นใต้ใบ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 แก้ว เคี่ยวจนเหลือน้ำ 1 1/2 แก้วใช้จิบแก้ไอ
  • ขับประจำเดือน นำต้นลูกใต้ใบมาต้มกิน ก็จะช่วยปรับสมดุลเลือดลมในร่างกาย แก้ระดูขาวไข้ประจำเดือนของสตรี ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติได้
  • ไข้ทับระดู ให้นำลูกใต้ใบทั้ง 5 มาล้างน้ำสะอาด นำมาตำผสมเหล้าขาว คั้นเฉพาะน้ำยามาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา
  • บำรุงสายตาให้ใช้ผลต้มดื่ม และยังช่วยรักษาโรคตา
  • กำจัดพิษออกจากตับ ใช้ต้มดื่มติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษต่างๆ และช่วยบำรุงตับ


ลักษณะทั่วไปลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะขามป้อม เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กจัดอยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae จีนัส Phyllanthus เหตุที่มีชื่อเรียกว่า ลูกใต้ใบ, หญ้าลูกใต้ใบ หรือ หญ้าใต้ใบ เนื่องจากมีผลขนาดเล็กออกตามซอกก้านใบย่อย และห้อยลงให้เห็นว่าลูกอยู่ใต้ใบ ในประเทศไทยมีพืชล้มลุกที่มีลักษณะดังกล่าวคล้ายคลึงกัน และถูกเรียกว่าลูกใต้ใบอยู่อย่างน้อย 5 ชนิด หรือ สปีชีส์ (species) ได้แก่ Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn., P.debilis, P.niruri, P.urinary Linn (หญ้าใต้ใบ) และ P.virgatus G.Forst. แต่มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าลูกใต้ใบชนิด P.amarus Schumach. & Thonn. นั้นเป็นชนิดที่ให้สารที่มีสรรพคุณทางยามากที่สุด ซึ่งลูกใต้ใบ ชนิดนี้มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ดังนี้

  • ต้นลูกใต้ใบ จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 10-50 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นไม่มีขน และทุกส่วนของต้นมีรสขม
  • ใบลูกใต้ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวประกอบแบบขนนกเรียงสลับกันชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อยประมาณ 23-25 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ โคนใบมนแคบ ส่วนปลายใบมนกว้างของใบเรียบไม่มีขน ใบด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร มีก้านใบสั้นมาก มีหูใบสีขาวนวล ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติดอยู่ 2 อัน
  • ดอกลูกใต้ใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซติเมตร ดอกเพศเมียมักจะอยู่บริเวณโคนก้านใบ ส่วนดอกเพศผู้มักจะอยู่บริเวณส่วนปลายของก้านใบ มักออกเป็นกระจุกๆละ 2-3 ดอก โดยดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ประมาณ 2 เท่า และดอกเดี่ยวๆ เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเกสรเชื่อมกันเล็กน้อย มีอับเรณูแตกอยู่ตามแนวราบ ส่วนกลีบรอง และกลีบดอกเป็นรูปไข่ ขอบกลีบมีสีอ่อน
  • ผลลูกใต้ใบ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวเรียบมีสีเขียวอ่อนนวล ผลมีขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร โดยผลมักจะเกาะติดอยู่บริเวณใต้โคนของใบย่อย และอยู่ในบริเวณกลางก้านใบ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็นพู 6 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด สีน้ำตาล มีลักษณะเป็นรูปเสี้ยว 1 ส่วน 6 ของรูปทรงกลม มีสันตามยาวทางด้านหลัง และมีขนาดเล็กมากประมาณ 0.1 เซนติเมตร

ลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ

การขยายพันธุ์ลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถพบได้ทั่วไปในที่โล่งแจ้ง และตามริมไม้ในที่โล่งทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะฤดูฝนจึงไม่มีการนิยมนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด ส่วนการขยายพันธุ์ของลูกใต้ใบนั้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ในปัจจุบันนั้นเมื่อเริ่มมีการตื่นตัวถึงสรรพคุณของลูกใต้ใบที่มีรายงานการศึกษาวิจัยมารับรองแล้วนั้น จึงเริ่มเห็นมีการเพาะกล้าของลูกใต้ใบ มาจำหน่าย และเกษตรกรก็เริ่มเพาะปลูกลูกใต้ใบเพื่อจำหน่ายมากขึ้นกว่าอดีต

องค์ประกอบทางเคมี

องค์ประกอบทางเคมีของลูกใต้ใบ จะประกอบไปด้วยสารแทนนิน (Tannins), ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids), ลิกแนนส์ (Lignans), ไกลโคไซด์ (Glycosides), ซาโปนิน (Saponin) ฯลฯ  และสมุนไพรลูกใต้ใบยังประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญอีกเช่น ธาตุโซเดียม 0.86 %, ธาตุโพแทสเซียม 12.84 %, ธาตุเหล็ก 10.68 %, ธาตุแคลเซียม 6.57 %, ธาตุแมกนีเซียม 0.34 %, ธาตุอะลูมิเนียม 3.92 %, ธาตุฟอสฟอรัส 0.34 %

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของลูกใต้ใบ

ลูกใต้ใบ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลูกใต้ใบ

จากการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองหลายรายงานพบว่าลูกใต้ใบ สามารถยับยั้ง DNA poly-merase ของ HBV ซึ่งเป็นเอนไซม์สำหรับสังเคราะห์ DNA ของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ สารสกัดเมทานอลจากลูกใต้ใบ (ไม่ระบุความเข้มข้น) สารสกัดเมทานอลจากทั้งต้น (ไม่ระบุความเข้มข้น) สารสกัดน้ำจากทั้งต้น มีค่า IC50 เท่ากับ 500 มค.ก./มล. สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 75 มค.ก./มล. สารสกัดน้ำจากทั้งต้นมีฤทธิ์อ่ออนในการยับยั้ง DNA polymerase ของ HBV มีค่า IC50 เท่ากับ 59 มค.ก./มล. และขนาด 43 มค.ก./มล. มีฤทธิ์อ่อนในการยังยั้ง HBV สารสกัดเมทานอลยังมีฤทธิ์ยับยั้ง HBV antigen

           สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 100 มค.ก./มล. สามารถยับยั้งการแบ่งตัวภายในเซลล์ HBV สารสกัดเอทานอล สารสักดเฮกเซน สารสกัดคลอโรฟอร์ม สารสกัดบิวทานอล และสารสกัดน้ำจากทั้งต้น ขนาด 4 มก./มล. มีฤทธิ์ต้าน HBV antigen โดยสารสัดบิวทานอลมีฤทธิ์สูงสุด และยับยั้งปฏิกิริยาระหว่า HBs Ag/Hbe Ag ยับยั้งการสังเคราะห์ DNA ของ HBV และยับยั้งการ expression ของ HBV antigen สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 0.5 มก./มล. ทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง hepatoma cell line HepA2 ที่ถูกทำให้ติดเชื้อ HBV พบว่าสารสกัดจะยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ และกดการสร้าง Hbs Ag แต่ไม่ลดการสร้าง HBsAg gene promotor ซึ่งจะไปกระตุ้น CAT activity สารสกัดน้ำจากใบมีฤทธิ์ยับยั้งการ expression ของ HBV antigen โดยมี IC50 เท่ากับ 5 มค.ก./มล.

           ส่วนการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดลูกใต้ใบ ให้ผลในการยับยั้งเชื้อ HBV ในสัตว์ทดลองโดยเมื่อฉีดสารสกัดน้ำจากทั้งต้นขนาด 80 มก./กก. เข้าช่องท้องหนู G26 transgenic mice จะยับยั้งการเกิด transcription ในตับหนูโดยลด HBV mRNA และขนาด 100 มค.ก./มล. (ไม่ระบุวิธีการบริหารยา) จะลดการเกิด transgenic เช่นกัน โดยระดับของ HBs Ag mRNA ในเซลล์ตับลดลง และยับยั้ง expression ของ HBV mRNA

           นอกจากนั้นยังมีผู้วิจัยแยกสารประกอบกลุ่ม lignan ได้จากสารสกัด ethyl acetate จากลูกใต้ใบซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็งโดยพบว่าไปยับยั้งการแสดงออกของ ยีน Bcl-2 และการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ telomerase ร่วมกับการกระตุ้นการทำงานแสดงออกของ ยีน c-myc และการทำงานของเอนไซม์ caspases ส่งผลให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์แบบ apoptosis และยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาต่างๆ อีกเช่น

  1. สารสกัดด้วยเอทานอลของรากลูกใต้ใบชนิด P.amarus มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ และยังสามารถช่วยลด Oxidative stress ได้เมื่อศึกษาในหลอดทดลอง ส่วนในสารสกัดแบบน้ำชาของลูกใต้ใบก็พบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเช่นเดียวกัน
  2. สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบชนิด P.amarus มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นโรคเบาหวานจากการฉีดสาร Alloxan และสารสกัดด้วยน้ำจากใบ และเมล็ดของ P. amarus ก็มีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน โดยมีการทดลองใช้ดื่มน้ำตาลซูโครส 10% เป็นเวลา 30 วัน เพื่อทำให้ภาวะน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น แต่ผลการทดลองก็พบว่าสามารถช่วยลดภาวะเบาหวานได้
  3. มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี สารสกัดด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ของลูกใต้ใบชนิด P. amarus มีฤทธิ์แรงในการช่วยยับยั้ง HIV-1 โดยเป็นสารออกฤทธิ์ในกลุ่ม Gallotannin ซึ่งสาร Corilagin, Ellagitannins และ Geraniin นั้นจะมีฤทธิ์แรงที่สุด นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้อ HIVE ได้ถึง 30% และมีผลยับยั้งเชื้อ HIVE ทั้งใน in vitro และใน in vivo
  4. ช่วยป้องกันการเกิดพิษต่อตับของหนูขาวจากการได้รับยาพาราเซตามอล โดยพบว่าการให้ต้ม หรือ ผงของลูกใต้ใบจำนวน 1 ครั้ง ในขนาด 3.2 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในหนูทดลอง ก่อนให้พาราเซตามอลเป็นเวลา 1 ชั่วโมง มีผลช่วยลดความเป็นพิษได้ดีที่สุด
  5. สารสกัดด้วยเมทานอลของลูกใต้ใบ P. amarus มีฤทธิ์ในการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF), 4-nitro-O-phenylenediamine, Aflatoxin B1, Sodium azide และ N-methyl-N-nitro-N- nitrosoguanidine เมื่อทำการศึกษาด้วย Ames test ในหนูทดลอง โดยผลการต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดใน in vitro จะดีกว่าใน in vivo

           ฤทธิ์ปกป้องตับของลูกใต้ใบ ในหนูขาว การศึกษาในหนูขาวโดยแบ่งหนูขาวออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมให้กินสารละลายกลูโคส (Isocaloric glucose solution) กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารละลายเอทานอล (20% น้ำหนัก/ปริมาตร) ขนาด 5 ก./กก./วัน กลุ่มที่ 3 ได้รับสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลขนาด 250 มก./กก./วัน ร่วมกับสารละลายกลูโคส กลุ่มที่ 4 และ 5 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลขนาด 250 และ 500 มก./กก./วัน ร่วมกับสารละลายเอทานอลขนาด 5 ก./กก./วัน ตามลำดับ นาน 4 สัปดาห์ (เอทานอลให้นาน 3 สัปดาห์) พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับเอทานอลเพียงอย่างเดียว สารสกัดลูกใต้ใบขนาด 250 และ 500 มก./กก./วัน ในหนูกลุ่มที่ 4 และ 5 ที่เหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษที่ตับด้วย เอทานอลสามารถลดระดับการเกิด lipid peroxidation ได้ 29.10 และ 45.67% ตามลำดับ และยังสามารถเพิ่มระดับการทำงานของเอนไซม์ reduced glutathione (GSH), superoxide dimutase (SOD), catalase (CAT) ในตับ โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบขนาด 250 มก./กก./วัน สามารถเพิ่มระดับการทำงานของเอนไซม์ GSH, SOD และ CAT ได้ 27.60, 36.36 และ 28.61% ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบขนาด 500 มก./กก./วัน สามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวได้ 81.60, 51.03 และ 37.41% ตามลำดับ และหนูในกลุ่มที่ 4 และ 5 ยังสามารถลดการทำงานของเอนไซม์ glutathione-S transferase ได้ 28.19 และ 47.99% นอกจากนี้ยังพบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบ 250 มก./กก./วัน ร่วมกับ เอทานอล (กลุ่มที่ 4) การทำงานของเอนไซม์ alanine transaminase (ALT) aspartate transaminase (AST) และ alkaline phosphatase (ALP) ในตับเพิ่มขึ้น 12.68, 42.35 และ 40.01% ตามลำดับ ในขณะที่ ALT และ AST ในพลาสมาลดลง 41.38 และ 51.90% เช่นเดียวกับหนูในกลุ่มที่ 5 ที่ได้รับสารสกัดลูกใต้ใบ 500 มก./กก./วัน ร่วมกับเอทานอล ระดับของ ALT, AST และ ALP ในตับเพิ่มขึ้น 42.35, 21.63 และ 116.9% ในขณะที่ค่า ALT และ AST ในพลาสมาลดลง 51.90 และ 51.20% จากการศึกษาสรุปได้ว่าสารสกัดใบของลูกใต้ใบด้วยเมทานอลสามารถป้องกันการถูกทำลายของตับในหนูขาวที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษที่ตับได้


การศึกษาทางคลินิกของลูกใต้ใบ

การศึกษาผู้ป่วยที่เป็นพาหนะของโรคตับอักเสบบีจำนวน 78 คน (แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 40 คน กลุ่มควบคุม 38 คน) สามารถติดตามผลหลังการทดลอง 1 เดือน ได้เพียง 60 คน (แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 37 คน กลุ่มควบคุม 23 คน) กลุ่มทดลองจะรับประทานยาผงลูกใต้ใบทั้งต้นบรรจุแคปซูลขนาด 200 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 30 วัน กลุ่มควบคุมจะรับประทานยาหลอกคือ lactose แทน ใช้การตรวจหา HBs Ag และ HBe Ag ในซีรัมของผู้ป่วยด้วยวิธี ELISA

           หลังจากทดลอง 1 เดือน พบว่าผู้ป่วยในกลุ่มทดลอง 22 คน ใน 37 คน (59%) ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบ ในขณะที่มีผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเพียง 1 คนเท่านั้น (4%) ที่ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบ ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ HBs Ag ในซีรัมเป็นผลลบใน 1 เดือนแรก จำนวน 22 คน ในกลุ่มทดลอง และ 1คนในกลุ่มควบคุม และเมื่อติดตามการรักษาจนถึง 9 เดือน เหลือผู้ป่วยในกลุ่มทดลองเพียง 1 คน ยังตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบเช่นเดิมผู้ป่วยที่เป็นพาหะที่มี HBs Ag และ HBe Ag จะมีผลตอบสนองต่อการรักษาน้อยกว่ากลุ่มพาหะที่ไม่มี HBe Ag กลุ่มที่มี HBs Ag และ HBe Ag จะปลอดการเป็นพาหะหลังการทดลองเพียง 29% (5 ใน 17 คน) และกลุ่มที่ไม่มี HBe Ag จะปลอดการเป็นพาหนะหลังการทดลองถึง 85% (17 ใน 20 คน) ส่วนผู้ป่วยที่เป็นพาหะที่ได้รับยาหลอก 1 คน ที่ตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบนั้นเป็นพาหะที่เดิมมีเพียง HBs Ag เท่านั้น และเป็นพาหะที่ไม่มีอาการ ไม่พบอาการข้างเคียงในผู้ป่วยทุกคนที่ทำการศึกษาในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามหลังจากติดตามผลได้ 3 เดือน พบว่าจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยกลุ่มควบคุมเหลือเพียง 19 คน ในขณะที่กลุ่มทดลองมีถึง 36 คน

           นอกจากนี้ลูกใต้ใบ ยังสามารถลดการอักเสบของตับได้ ดังในการทดลองให้ผู้ป่วยชาย และหญิงที่เป็นตับอักเสบเรื้อรัง รับประทานผลจากลูกใต้ใบทั้งต้นขนาด 1.5 ก./วัน ให้ผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังทั้งสองเพศรับประทานต้นลูกใต้ใบ (ไม่ระบุขนาด) พบว่าสาร catechin จะลดระดับบิลิรูบินในพลาสมา และลด Bromsulfthalein clearance (BSP clearance) การศึกษาในผู้ป่วยตับอักเสบจากเชื้อไวรัส 120 ราย รับประทานยาตำรับของอายุรเวท 4 ชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรพลายชนิดรวมทั้งลูกใต้ใบด้วย (ไม่ระบุขนาดที่รับประทาน) ผู้ป่วยทุกคนไม่ได้รับยาแผนปัจจุบัน พบว่าผู้ป่วยส่วนมากจะมีค่า serum glutamic oxaloacetic transaminase (SGOT). Serum glutamic pyruvic transaminase (SGPT) และบิลิรูบินลดลง และมีผู้ป่วย 1 รายที่ตรวจพบ HBs Ag เป็นผลลบ


การศึกษาทางพิษวิทยาของลูกใต้ใบ

  • การทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดเซลล์ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงด้วยเอทานอล (50%) เมื่อให้หนูถีบจักรกิน พบว่าขนาดสูงสุดก่อนเกิดอาการพิษ คือ 1 ก./กก. สารสกัด 50% อัลกฮออส์จากทั้งต้น เมื่อให้หนูกินหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดน้ำจากพืชทั้งต้น เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูถีบจักร ขนาด .01 มก. หรือ 1.8 มก. ไม่พบพิษ สารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทน เอทานอล และสารสกัดด้วยน้ำ เมื่อให้เข้าทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักรในขนาด 500 มก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดน้ำจากทั้งต้นฉีดเข้าช่องท้องลูกเป็ดขนาด 500 มก./กก. ไม่พบพิษ สารสกัดเอทานอล 95% จากทั้งต้น เมื่อให้เข้าทางกระเพาะอาหารหนูถีบจักร ขนาด 100 มก./กก. นาน 30 วัน ไม่พบพิษ หนูที่กินสารสกัดจากพืชที่อยู่เหนือดิน (ไม่ระบุชนิดของสารสกัด) ขนาด 0.2 มก.วัน เป็นเวลา 90 วัน ไม่พบพิษ เมื่อให้ผู้ใหญ่ทั้งเพศชาย และหญิงรับประทานลูกใต้ใบ ขนาด 2.7 ก./วัน ไม่พบพิษ ผู้ใหญ่รับประทานพืชส่วนที่อยู่เหนือดินขนาด 1.5 ก. ไม่พบพิษ และเมื่อให้เด็กรับประทานพืชทั้งต้น (ไม่ระบุขนาดที่รับประทาน) ไม่พบพิษ

           ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาดของสารสกัด) เมื่อให้เข้าทางช่องท้องหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูถีบจักรและหนูขาว ทำให้เกิดการซัก ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาด) มีฤทธิ์ลดอัตราการเต้นและบีบตัวของหัวใจกบ หนูขาว และหนูถีบจักร ส่วนสกัดของสารสกัด (ไม่ระบุชนิดและขนาด) มีฤทธิ์ลดความดันในสุนัข

  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์ เมื่อให้หนูถีบจักรเพศผู้ กินสารสกัดอัลกอออล์จากทั้งต้น ขนาด 100, 250, 400 และ 500 มก./กก. จะลดอัตราการมีลูกลง 10, 32, 52 และ 72% ตามลำดับ และเมื่อให้หนูกินสารสกัดดังกล่าวในขนาดสูงเท่ากับ 500 มก./กก. จะลด cauda epididymal sperm counts ลดการเคลื่องที่ของสเปิร์ม ยังยั้ง succinate dehydrogenase ใน epididymis และ testis เปอร์เซ็นต์ของสเปิร์มที่มีชีวิตลดลง

           เมื่อให้สารสกัดเอทานอล 95% จากทั้งต้น ทางสายยางให้อาหารแก่หนูถีบจักรเพศเมีย ขนาด 100 มก./กก.นาน 30 วัน จะทำให้หนูมีลูกยาก

  • เป็นพิษต่อเซลล์ สารสกัดน้ำจากทั้งต้น ความเข้มข้น 1 มก./มล., 200 มค.ก./มล. และ 500 มค.ก./มล. เป็นพิษต่อเซลล์ sarcoma (Rous virus) (11), Ca-Hepatocarinoma-G2(7) และ cell  line HuH-7 (13) ตามลำดับ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
 

  1. สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานลูกใต้ใบ เพราะลูกใต้ใบมีสรรพคุณในการขับประจำเดือนซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
  2. ลูกใต้ใบมีฤทธิ์ทางเภสัชที่เหมือนกับยาแอสไพริน ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งตัวของเลือดไม่ควรรับประทาน
  3. การใช้สมุนไพรลูกใต้ใบ นั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป และไม่ควรใช้เกิดขนาดที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์
  4. ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ลูกใต้ใบ
  1. ศิริพร เหลียงกอบกิจ. ลูกใต้ใบ &ตับอักเสบบี. จุลสารข้อมูลสมุนไพร.
  2. รศ.ภกญ.นวลน้อย จูฑะพงษ์. รายงานการวิจัยฤทธิ์ของลูกใต้ใบต่อหน้าที่ไมโตคอนเดรียในตับหนูขาว. สาขาวิชาเภสัชวิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
  3. ฤทธิ์ปกป้องตับของลูกใต้ใบในหนูขาว. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์, 2530. สมุนไพรไทยตอนที่ 5 . ฝ่ายพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กองบำรุง กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ
  5. Faremi TY, Suru SM, Fafunso MA, Obioha UE.Hepatoprotective potentials of Phyllanthus amarus againt etanol-induced oxidative stress in rats. Food Chem Toxicol.2008;46:2658-64
  6. Van Welzen, P., Chayamarit, K. (2007) Euphorbiaceae, in: Santisuk, T., Larsen, K. (Eds.), Flora of Thailand. Prachachon Co. LTD., Bangkok, pp. 473-507.
  7. เต็ม สมิตินันทน์, 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
  8. Giridharan, P., Somasundaram, S.T., Perumal, K., Vishwakarma, R.A., Karthikeyan, N.P., Velmurugan, R., Balakrishnan, A. (2002) Novel substituted methylenedioxy lignan suppresses proliferation of cancer cells by inhibiting telomerase and activation of c-myc and caspases leading to apoptosis. British Journal of Cancer 87: 98-105.