โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Thyrotoxicosis)

โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Thyrotoxicosis)

โรคไทรอยด์เป็นพิษคืออะไร  ก่อนที่จะทำความเข้าใจกับโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้น ควรทำความรู้จักกับต่อมไทรอยด์กันก่อนต่อมไทรอยด์ เป็นต่อมที่อยู่ส่วนหน้าของบริเวณลำคอใต้ลูกกระเดือก และติดกับหลอดลม มีลักษณะคล้ายผีเสื้อ ลักษณะทางกายภาพของต่อมแบ่งเป็นทั้งหมด 2 ซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งต่อมทั้ง 2 ซีกจะเชื่อมกันด้วยเนื้อเยื่ออิสมัส (Isthmus) โดยต่อมไทรอยด์จะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนที่สำคัญ 3 ชนิด คือไทโรซีน (Thyroxine - T4) และฮอร์โมนไทรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine - T3) ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการเผาผลาญของร่างกายที่เรียกว่า เมตาบอลิซึม (Metabolism) รวมถึงฮอร์โมนแคลซิโทนิน (Calcitonin) ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนของเลือด  นอกจากนี้ต่อมไทรอยด์ยังเป็นต่อมที่ทำงานโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) และของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งทั้งต่อมใต้สมองและสมองไฮโปทาลามัสยังควบคุมการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ด้วย เช่น ต่อมหมวกไต อัณฑะ และรังไข่ และยังมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจ ดังนั้น หากการทำงานของต่อมไทรอยด์ มีภาวะผิดปกติ จึงอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ของอวัยวะเหล่านั้น รวมถึงสัมพันธ์กับอารมณ์และจิตใจด้วย  ส่วนโรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน(Overactive Thyroid)  คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์* มีการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป กระตุ้นให้อวัยวะทั่วร่างกายมีการเผาผลาญสูงกว่าปกติและทำให้ระบบต่างๆของร่างกายผิดปกติตามไปด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย ๆ ต่างขึ้นตามมา เช่น เหนื่อยง่าย ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ขี้ร้อนง่าย เหงื่อออกมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ เป็นต้น โดยโรคนี้พบได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 5-10 เท่า

สาเหตุของโรคไทรอยด์เป็นพิษ  ต่อมไทรอยด์เป็นพิษมีหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายที่ผิดปกติกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป จนทำให้ร่างกายมีปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าความต้องการของร่างกาย และมีสภาวะเป็นพิษ จนส่งผลต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ซึ่งเราเรียกภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนมากเกินว่า ภาวะต่อมไทรอยด์ ทำงานเกิน  (hyperthyroidism)  และเรียกอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากภาวะมีฮอร์โมนไทรอยด์ มากเกินนี้ว่า ภาวะพิษจากไทรอยด์ (thyrotoxicosis) โดยสาเหตุการเกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษนั้นมีได้หลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  1. โรคเกรฟส์ หรือ โรคคอพอกตาโปน (Graves’ disease) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 60-80% ของผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษทั้งหมด ซึ่งโรคนี้จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนไทโรซีนออกมามากผิดปกติจนทำให้กลายเป็นพิษ และเป็นโรคที่พบได้มากในวัยรุ่นและวัยกลางคน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5-10 เท่า สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับเพศ (พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย) และกรรมพันธุ์ (พบว่าผู้ป่วยบางรายมีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย) การสูบบุหรี่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ความเครียดก็มีส่วนกระตุ้นให้โรคกำเริบได้
  2. เนื้องอกที่ต่อมไทรอยด์ เป็นกรณีที่พบได้น้อย เช่นกัน เนื้องอกที่เกิดบริเวณไทรอยด์ และเนื้องอกที่เกิดบริเวณต่อมใต้สมอง อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจนกลายเป็นพิษได้
  3. การอักเสบของต่อมไทรอยด์ (Thyroiditis) การอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุของต่อมไทรอยด์จะทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ถูกผลิตออกมามากขึ้น และทำให้ฮอร์โมนรั่วไหลออกไปที่กระแสเลือด ทั้งนี้การอักเสบของต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บ ยกเว้นอาการไทรอยด์อักเสบแบบกึ่งเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้น้อย สามารถส่งผลให้เกิดอาการเจ็บได้
  4. การรับประทานอาหาร การรับประทานอาหารที่มีไอโอดีนมากเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์แต่พบได้น้อยมาก
  5. การได้รับการเสริมฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไป ยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนบางชนิด เช่น ยาอะไมโอดาโรน (Amiodarone) ที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้นจนกลายเป็นพิษได้

อาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ

ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด มักมีอาการคล้ายกัน กล่าวคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจหวิว ใจสั่น บางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก ร่วมด้วยมักจะมีความรู้สึกขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ฝ่ามือมีเหงื่อชุ่ม  ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักตัวลดลงรวดเร็ว ทั้งๆ ที่กินได้ปกติ หรืออาจกินจุขึ้นกว่าปกติด้วยซ้ำ ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญมากมักมีอาการมือสั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาทำงาน ละเอียด เช่น เขียนหนังสือ งานฝีมือ เป็นต้น อาจมีลักษณะอยู่ไม่สุข ชอบทำโน่นทำนี่ บางทีดูเป็นคนขี้ตื่น หรือท่าทางหลุกหลิก อาจมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย นอนไม่หลับ หรืออารมณ์ซึมเศร้า บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยคล้ายท้องเดิน หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนส่วนอาการที่พบได้มากที่สุดในคนที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษคือ อาการคอพอก ซึ่งเป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์โตขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกหรือเห็นก้อนขนาดใหญ่ที่บริเวณคอ  ผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกน้อย หรือมาไม่สม่ำเสมอ หรือขาดประจำเดือน มักตรวจพบว่ามีต่อมไทรอยด์โต (คอพอก) ชีพจรเต้นเร็ว (มากกว่า 120 -140 ครั้งต่อนาที) และอาจมีอาการตาโปน (ลูกตาปูดโปนออกมามากกว่าปกติ) และเห็นส่วนที่เป็นตาขาวด้านบนชัด (เนื่องจากหนังตาบนหดรั้ง) คล้ายทำตาจ้องดูอะไรหรือตาดุ ผิวหนังคลำดูมีลักษณะเรียบนุ่มและมีเหงื่อชุ่ม ทั้งนี้ถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่รุนแรงมากนัก ก็อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาการมักไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจนมากนัก

                                                                              

แนวทางการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ  การวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วยตัวเอง วิธีวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ ก็คือการสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น น้ำหนักลดผิดปกติ มือสั่น เหนื่อยง่าย หายใจสั้น หรือมีอาการบวมที่บริเวณคอ ควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนการวินิจฉัยโรคไทรอยด์เป็นพิษโดยแพทย์นั้น จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดงของโรค ได้แก่ ใจสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว ต่อมไทรอยด์โต และตาโปน  และหากพบว่ามีอาการเหล่านี้ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจเลือด เป็นการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์และการเผาผลาญ เช่น
  • การตรวจวัดปริมาณฮอร์โมนไทรอยด์ ปริมาณของฮอร์โมนไทรอยด์ T3 และ T4 ในเลือด
  • การตรวจทีเอสเอช (Thyroid-stimulating hormone : TSH) เป็นการตรวจวัดระดับฮอร์โมนต่อมใต้สมองที่มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งในผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมักจะมีค่า TSH ที่ต่ำกว่าปกติ
  • การตรวจวัดระดับปริมาณแอนติบอดีของต่อมไทรอยด์ (Thyroidglobulin) เป็นการตรวจที่ช่วยวินิจฉัยโรคเกรฟส์ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

    การตรวจเอกซเรย์ เป็นการตรวจที่สามารถช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานและความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์ได้ชัดขึ้น เช่น

  • การตรวจอัลตราซาวนด์ เป็นการตรวจที่ช่วยวัดขนาดของต่อมไทรอยด์และความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
  • การตรวจสแกนต่อมไทรอยด์ (Thyroid scan) เป็นการตรวจโดยใช้รังสีเพื่อให้เห็นการทำงานของต่อมไทรอยด์ว่าต่อมไทรอยด์มีการงานที่มากผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบซีทีสแกน (CT scan) หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอ็มอาร์ไอ (MRI) แพทย์มักใช้ในกรณีที่สงสัยว่าความผิดปกติของต่อมไทรอยด์อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็ง และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะใช้ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าสาเหตุของไทรอยด์เป็นพิษอาจเกิดจากต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ

การรักษาหลักของไทรอยด์เป็นพิษ คือ การกินยา เมื่ออาการดีขึ้น แพทย์จะค่อยๆลดยาลง และ หยุดยาได้ในที่สุด หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือ การกินไอโอดีนกัมมันตรังสี ระยะเวลาเฉลี่ยในการรักษามักจะประมาณ 2 ปีซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมีอาการไม่รุนแรงมากและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก แพทย์มักแนะ นำให้รักษาด้วยยาก่อน ยาที่ใช้รักษานี้จะเป็นยาลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์และยาลดอาการใจสั่น ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยานี้จะต้องสามารถกินยาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้กินยาประมาณ 1 ถึง 2 ปีโดยในระหว่างที่รักษาด้วยยาอยู่นี้แพทย์จะนัดตรวจติดตามดูอาการและเจาะเลือดวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์บ่อยๆเช่น ทุก 1 - 2 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยกินยาในขนาดที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป ข้อเสียของการรักษา ด้วยยาคือ ผู้ป่วยมักจะต้องกินยานานเป็นปี มีโอกาสเกิดการแพ้ยาได้

ซึ่งยาที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกลุ่ม ยาต้านไทรอยด์ เช่น ยาเม็ดพีทียู (PTU) หรือเมทิมาโซล (methimazole) ยานี้มีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ อาจทำให้เกิดภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำ ซึ่งทำให้ติดเชื้อรุนแรงได้ ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 200 คน และมักจะเกิดขึ้นในระยะ 2 เดือนแรกของการใช้ยา

  1. การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์สำหรับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์โตมากหรือมีอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก เพราะต่อมไทรอยด์ที่โตขึ้นกดเบียดทับหลอดลม หรือหลอดอาหาร ซึ่งทั้งสองอวัยวะนี้อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนเพื่อให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดเล็กลง จะได้สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง และอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบากจะดีขึ้น แม้ว่าเป็นวิธีที่ทำให้หายจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็อาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดได้เช่น เสียงแหบจากผ่าตัดโดนเส้นประสาทกล่องเสียงที่อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์หรือหากแพทย์ตัดต่อมไทรอยด์ออกน้อยเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยก็อาจจะยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่เช่นเดิม แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัดต่อมไทรอยด์ออกมากเกินไป หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะเกิดอาการจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้เช่นกัน
  2. การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีน  น้ำแร่รังสีไอโอดีนเป็นสารไอโอดีนประเภทหนึ่ง (Iodine-131) ที่ให้รังสีแกมมา (Gamma ray) และรังสีบีตา (Beta ray ) และสามารถปล่อยรังสีนั้นๆออกมาทำลายเซลล์ของต่อมไทรอยด์ได้ เมื่อผู้ป่วยกินน้ำแร่รังสีไอโอดีนเข้าไป ก็จะถูกดูดซึมโดยต่อมไทรอยด์ทำให้ต่อมไท รอยด์ มีขนาดเล็กลงและการสร้างฮอร์โมนก็จะลดลงไปด้วย อาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษจึงดีขึ้น น้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป จะต้องรับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลบางโรง พยาบาลที่ให้การรักษาด้านนี้เท่านั้นโดยจะใช้ระยะเวลาการรักษาด้วยวิธีนี้ประมาณ 3-6 เดือน

การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนมีข้อดีคือ สามารถรักษาภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษให้หายขาดได้สูง สะดวก ง่าย ปลอดภัย เหมาะสมกับผู้ป่วยที่อายุ 20 ปีขึ้นไปและต่อมไทรอยด์ไม่โตมาก หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน 1 - 2 ปีแล้วยังไม่หาย หรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่อีก หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการผ่าตัดแล้วยังมีอาการจากภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษอยู่ข้อเสียของการรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนคือ หลังการรักษาผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้บ่อย ทำให้ต้องกินยาฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต

นอกจากนั้น การรักษาด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดีนนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้ง ครรภ์เพราะรังสีมีผลต่อทารกในครรภ์ อาจก่อความพิการหรือการแท้ง หรือในผู้ป่วยให้นมบุตรอยู่เพราะน้ำแร่รังสีไอโอดีนจะปนออกมากับน้ำนมส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ของทารกได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคไทรอยด์เป็นพิษ  ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆอาจมีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่างๆได้แก่

  1. ไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤต หากมีการควบคุมระดับไทรอยด์ที่ไม่ดี อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น หรือเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งสัญญาณที่บอกว่าไทรอยด์เป็นพิษเข้าขั้นวิกฤตคือ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูงเกินกว่า 38 องศาเซลเซียส ท้องเสีย อาเจียน ตัวเหลือง ตาเหลือง มีอาการสับสนมึนงงอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นหมดสติได้ โดยสาเหตุที่อาจทำให้อาการเข้าสู่ภาวะวิกฤต ได้แก่ การติดเชื้อ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ การตั้งครรภ์ และความเสียหายของต่อมไทรอยด์ โดยภาวะไทรอยด์เป็นพิษขั้นวิกฤติเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
  2. ปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะแทรกซ้อนที่มักเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษก็คือ ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น หัวใจเต้นเร็ว หรือโรคหัวใจเต้นผิดปกติที่เกิดจากการสั่นที่หัวใจห้องบน (Atrial Fibrillation) หรือแม้แต่ภาวะหัวใจวาย ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้เพียงพอ
  3. ปัญหาสายตา โดยปัญหาสายตาที่เป็นภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ตาแห้ง ตาไวต่อแสง ตาแฉะ เห็นภาพซ้อน ตาแดง หรือบวม ตาโปนออกมามากว่าปกติ และบริเวณเปลือกตาแดง บวม เปลือกตาปลิ้นออกมาผิดปกติ และมีบางส่วนที่ต้องสูญเสียการมองเห็น ดังนั้นในการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยอาจต้องพบจักษุแพทย์เพื่อรักษาควบคู่กันไปด้วย แต่ปัญหาด้านสายตานี้พบได้ในผู้ป่วยโรคเกรฟวส์เท่านั้น ที่มีปัญหาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  4. ภาวะไทรอยด์ต่ำ หลายครั้งการรักษาไทรอยด์เป็นพิษก็อาจทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติจนเกิดภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น รู้สึกหนาวและเหนื่อยง่าย น้ำหนักขึ้นผิดปกติ มีอาการท้องผูก และมีอาการซึมเศร้า ทว่าอาการจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และมีผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้นที่เกิดอาการโดยถาวรและต้องใช้ยาในการควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ไปตลอดชีวิต
  5. กระดูกเปราะบาง โรคไทรอยด์เป็นพิษ หากไม่ได้รับการรักษาสามารถส่งผลเสียต่อมวลกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอ หรือกลายเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนไทรอยด์มากไป ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการดูดซึมแคลเซียมของกระดูกได้

การติดต่อของโรคไทรอยด์เป็นพิษ  โรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้นกันต้านทานโรคของร่างกายผิดปกติ ที่ไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ทำให้ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ซึ่งโรคไทรอยด์เป็นพิษนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อเพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ  หากตรวจพบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ ก็ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ติดตามรักษาตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
  2. กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ อย่าหยุดยาหรือปรับขนาดยาเอง ยาที่ให้อาจเป็นยาต้านไทรอยด์  ที่ใช้รักษาคอพอกเป็นพิษ ซึ่งต้องกินนานเป็นแรมปี ในรายที่แพทย์ทำการรักษาด้วยน้ำแร่หรือผ่าตัด อาจมี ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แทรกซ้อน แพทย์ก็จะให้  ยาฮอร์โมนไทรอยด์กินทดแทนทุกวันไปจนชั่วชีวิต
  3. ผู้ป่วยที่กินยารักษาอยู่อาจเกิดการแพ้ยาได้ ซึ่งมักจะมีอาการไข้ ปวดตามข้อ บางรายอาจมีตัวเหลือง ตาเหลือง จากภาวะตับอักเสบ หรือเจ็บคอ เป็นไข้สูง กินยาแก้อักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแล้วไม่ดีขึ้นซึ่ง อาจเกิดจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ  ดังนั้นถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจจะแพ้ยาดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ก่อนกำหนดนัดเสมอ
  4. เมื่อได้รับการรักษาจนอาการทุเลาดีขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆ เช่น คนปกติ สามารถออกกำลังกายหรือทำงานที่ต้องใช้แรงกายได้เป็นปกติ
  5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกำเริบ
  6. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันตนเองจากโรคไทรอยด์เป็นพิษ  เนื่องจากโรคนี้ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงไม่มีวิธีป้องกันโดยตรง แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ถ้าพบว่ามีอาการที่สงสัยภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ควรรีบพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการตรวจวินิจฉัยถูกต้องและได้รับการรักษาที่เหมาะสม เพราะถ้าเป็นต่อมไทรอยด์เป็นพิษจริงแล้วไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงที่สำคัญคือ หัวใจ เต้นเร็ว หัวใจวาย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ  สำหรับการใช้สมุนไพรในโรคไทรอยด์เป็นพิษ มีรายงานว่าสารสกัดกระเทียม ลูกซัด และวุ้นของว่านหางจระเข้ มีฤทธิ์ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้

ว่านหางจระเข้  ชื่อวิทยาศาสตร์  Aloe vera L. วงศ์   Aloaceae  ชื่อพ้อง  A. indica Royle, A. barbadensis Mill. สารออกฤทธิ์  Methyl polysaccharide, oligosaccharide , polysaccharide, polyuronide

ลูกซัด  ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonella foenum-graecum L. ชื่อวงศ์  Papilionaceae  องค์ประกอบทางเคมี เมล็ดมี galactomannan ร้อยละ 14-15 น้ำมันระเหยยาก (fixed oil) มีรสขมและกลิ่นเหม็น น้ำมันระเหยง่ายร้อยละ 0.02 พบอัลคาลอยด์ trigonelline , steroid ที่พบเช่น diosgenin, yamogenin, tigogenin, neotigogenin, yuccagenin, gitogenin ฟลาโวนอยด์เช่น vitexin, orientin, quercetin, luteolin    กรดอะมิโนชื่อ 4-hydroxyisoleucine

กระเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium  sativum L. วงศ์   Liliaceae สารออกฤทธิ์   allicin, allyl methyl sulphide, diallyl disulfide, diallyl sulphide, diallyl trisulfide ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เกี่ยวกับการเพิ่มภูมิต้านทาน  ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันสารสกัดกระเทียมด้วยน้ำมีฤทธิ์เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ natural killer (NK) Lamm และ Riggs ศึกษาพบว่าสารประกอบซัลเฟอร์ (low molecular weight sulfur compounds) และโปรตีน F4 เป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ macrophage, natural killer cell และเซลล์ LAK และยังพบว่าไปเพิ่มการผลิต IL-2, TNF และ g-interferon ด้วยฤทธิ์ดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในการลดการกดภูมิคุ้มกันจากการได้รับเคมีบำบัดและรังสี UV กระเทียมสดและผลิตภัณฑ์กระเทียมในรูปเม็ดจะเพิ่ม delayed type hypersensitivity (DTH) response ขนาดที่ให้ผลในการเพิ่มการตอบสนองดังกล่าวมากที่สุด คือ 20 มก./กก. โดยโปรตีนบริสุทธิ์จากกระเทียมจะให้ผลเพิ่มการตอบสนองมากที่สุด และส่วนสกัด (partial purified fraction) ให้ผลมากกว่าสารสกัดกระเทียมสารประกอบซัลเฟอร์ เช่น diallyl sulphide (DAS), diallyl disulphide (DADS), allyl methyl sulphide (AMS) ในกระเทียม มีผลทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อทดสอบกับหนูถีบจักร โดยให้สาร 5 ครั้งๆ ละ 20 มก. พบว่า DADS ให้ผลดีที่สุด หนูถีบจักรที่ได้รับ DAD และ DADS มีน้ำหนักม้ามเพิ่มขึ้น การได้รับ DAS, AMS, DADS มีผลให้จำนวน plaque forming cells ในม้ามเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีผลเพิ่มเซลล์ไขกระดูกและเพิ่มจำนวน a-esterase positive cells ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าสารจากกระเทียมกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.คอพอกเป็นพิษ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่ 341.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กันยายน 2550
  2. ไทรอยด์เป็นพิษ.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://medplant.mahidol.ac.th/user/repl.asp?id=5515
  3. หาหมอดอทคอม.  “ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)”.  (รศ.นพ.จรูญศักดิ์ สมบูรณ์พร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [16 ก.ค. 2017].
  4. รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์.ไทรอยด์เป็นพิษ ไม่ใช่มะเร็งไทรอยด์.ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
  5. กระเทียม.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. Bahn RS, Burch HB, Cooper DS, Garber JR, Greenlee MC, Klein I, et al. Hyperthyroidism and other causes of thyrotoxicosis: management guidelines of the American Thyroid Association and American Association of Clinical Endocrinologists. Thyroid 2011; 21: 593 – 646.
  7. ไทรอยด์เป็นพิษ-อาการ,สาเหตุ,การรักษา,พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://pobpad.com
  8. Kang NS, Moon EY, Cho CG, Pyo S.  Immunomodulating effect of garlic component, allicin, on murine peritoneal macrophages.  Nutr Res (N.Y., NY, U.S.) 2001;21(4):617-26.
  9. ว่านหางจระเข้.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. Lamm DL, Riggs DR.  The potential application of Allium sativum (garlic) for the treatment of bladder cancer.  The Urologic Clinics of North America 2000;27(1): 157-62.
  11. Ghazanfari T, Hassan ZM, Ebrahimi M.  Immunomodulatory activity of a protein isolated from garlic extract on delayed type hypersensitivity.  Int Immunopharmacol 2002;2(11):1541-9.
  12. Kuttan G.  Immunomodulatory effect of some naturally occuring sulphur-containing compounds.  J Ethnopharmacol 2000;72(1-2):93-9.
  13. Abuharfeil NM, Maraqa A, Von Kleist S.  Augmentation of natural killer cell activity in vitro against tumor cells by wild plants from Jordan.  J Ethnopharmacol 2000;71 (1-2):55-63.
  14. Farkas A.  Methylation of polysaccharides from aloe plants for use in treatment of wounds and burns.  Patent: U S 3,360,510, 1967:3pp.
  15. Cheon J, Kim J, Lee J, Kim H, Moon D.  Use of garlic extract as both preventive and therapeutic agents for human prostate and bladder cancers.  Patent: U S US 6,465,020 ,2002:7pp.
  16. Farkas A.  Topical medicament containing aloe polyuronide for treatment of burns and wounds.  Patent: U S 3,103,466, 1963:4pp.
  17. Strickland FM, Pelley RP, Kripke ML.  Cytoprotective oligosaccharide from aloe preventing damage to the skin immune system by UV radiation.  Patent: PCT Int Appl WO 98 09,635, 1998:65pp.
  18. ลูกซัด.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedruy.com/main.php?action=viewpage&pid=122
  19. ณรงค์ชัย ประสิทธิ์ภูริปรีชา นิศา อินทรโกเศส โอภา วัชรคุปต์ พิสมัย ทิพย์ธนทรัพย์.  การทดลองใช้สารสกัดว่านหางจระเข้กับแผลที่เกิดจากรังสีบำบัด.  รายงานโครงการพิเศษ คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2529.