โรคต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

โรคต่อมทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)

โรคต่อมทอนซิลอักเสบคืออะไร  ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลำคอ ซึ่งเป็นต่อมคู่ซ้ายขวาใกล้กับโคนลิ้น โดยเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอมจากอาหาร , น้ำดื่มและการหายใจ เช่น แบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายคล้ายกองทหารด่านหน้า และบ่อยครั้งที่ต่อมทอนซิลมักเกิดการอักเสบขึ้น

ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อของต่อมทอนซิลซึ่งเป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่ง พบได้ในทุกอายุ แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็ก และไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โอกาสเกิดโรคเท่ากันทั้งในเพศหญิงและเพศชาย  ต่อมทอนซิลอักเสบพบได้ทั้งการอักเสบติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งเมื่อเกิดมักมีอาการรุนแรงกว่า แต่รักษาหายได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์ และอักเสบเรื้อรังที่มักจะเป็นๆหายๆ อาการแต่ละครั้งรุนแรงน้อยกว่าชนิดเฉียบพลัน แต่มีอาการอักเสบเฉียบพลันซ้อนได้เป็นระยะๆ ซึ่งนิยามของต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรังได้แก่ มีต่อมทอนซิลอักเสบเกิดขึ้นอย่างน้อย 7 ครั้งใน 1 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 5 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 2 ปีที่ผ่านมา หรืออย่างน้อย 3 ครั้งทุกปีติดต่อกันใน 3 ปีที่ผ่านมา

อีกทั้งโรคนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่นเกิดจากกลุ่มโรคติดเชื้อและกลุ่มโรคไม่ติดเชื้อ ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึงการอักเสบจากโรคติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ” (Group A beta-hemolytic streptococcus) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส” (Streptococcus pyogenes) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้

สาเหตุของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ  การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ผ่านเข้าทางปาก โดยต่อมทอนซิลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อด้วยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค และเนื่องจากเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรก ต่อมทอนซิลจึงเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อมาก โดยต่อมทอนซิลอักเสบส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้สูงกว่าการติดเชื้ออื่นๆประมาณ 70 - 80% ของต่อมทอนซิลอักเสบทั้งหมด ซึ่งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่อมทอนซิลอักเสบมีหลายชนิดเช่น                                                

  • ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดทั่วไป
  • ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่
  • ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) ทำให้เกิดโรคกล่องเสียงอักเสบและกลุ่มอาการครู้ป
  • ไวรัสเอนเทอร์โร (Enteroviruses) ต้นเหตุของโรคมือเท้าปาก
  • ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola) ทำให้เกิดโรคหัด
  • ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ไวรัสที่มักเป็นสาเหตุ ของอาการท้องเสีย
  • ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ (Epstein-Barr) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคโมโนนิวคลีโอซิส แต่ทอนซิลอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดนี้จะพบได้ไม่บ่อย
  • และอีกสาเหตุหนึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียประมาณ 15 - 20 %
    สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากการเชื้อสเต็ปโตคอคคัสกลุ่ม  ที่ทำให้เกิดทอนซิลอักเสบแบบเป็นหนอง (exudative tonsil litis)

อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ  โดยทั่วไปแล้วโรคต่อมทอนซิลอักเสบมักเกิดร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของลำคอเสมอ อาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบแยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  1. กลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส มีอาการเจ็บคอเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่เจ็บมากขึ้นตอนกลืน อาจมีอาการเป็นหวัด น้ำมูกใส ไอ เสียงแหบ มีไข้ ปวดศีรษะเล็กน้อย ตาแดง บางคนอาจมีอาการท้องเดินหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย  การตรวจดูคอจะพบผนังคอหอยแดงเพียงเล็กน้อย ทอนซิลอาจโตเล็กน้อยมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อย
  2. กลุ่มที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย จะมีอาการไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน  หนาวสั่น  ปวดศีรษะ  ปวดเมื่อยตามตัว  อ่อนเพลีย  เบื่ออาหาร  เจ็บคอมากจนกลืนน้ำลายหรืออาหารลำบาก  อาจมีอาการปวดร้าวขึ้นไปที่หู  บางคนอาจมีอาการปวดท้อง  หรืออาเจียนและมีกลิ่นปากร่วมด้วย  มักจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล ไอ  หรือตาแดง  แบบการติดเชื้อจากไวรัส 

            นอกจากนี้จะพบผนังคอหอยและเพดานอ่อน  มีลักษณะแดงจัดและบวม  ทอนซิลบวมโตสีแดงจัด  และมีแผ่นหรือจุดหนองสีขาวๆเหลืองๆติดอยู่บนทอนซิล  นอกจากนี้ ยังอาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองที่ใต้ขากรรไกรบวมโตและเจ็บ

แนวทางการรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
การวินิจฉัยโรคทอนซิลอักเสบแพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยอาการแสดงและการตรวจลำคอโดยอาจใช้วิธีการต่อไปนี้

  • ใช้ไฟฉายส่องดูบริเวณลำคอ รวมทั้งอาจดูบริเวณหูและจมูกร่วมด้วย เนื่องจากเป็นบริเวณที่แสดงอาการติดเชื้อได้เช่นกัน
  • ตรวจดูผื่นแดงที่เป็นอาการของโรคไข้อีดำอีแดงซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกับกับโรคคออักเสบ
  • ตรวจด้วยการคลำสัมผัสเบา ๆ ที่ลำคอเพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไม่
  • ใช้เครื่องสเต็ทโทสโคปฟังเสียงจังหวะการหายใจของผู้ป่วย

ถ้าหากพบผนังคอหอยและทอนซิลมีลักษณะแดงเพียงเล็กน้อยหรือไม่ชัดเจน ก็มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ถ้าทอนซิลบวมโต แดงจัด และมีแผ่นหรือจุดหนองติดอยู่บนทอนซิล ก็มักจะมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อบีตาฮีโมโลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ  ในรายที่ไม่แน่ใจแพทย์อาจต้องทำการตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอยและทอนซิล โดยใช้วิธีที่เรียกว่า "rapid strep test" ซึ่งสามารถทราบผลได้ในไม่กี่นาที ถ้าผลการตรวจไม่ชัดเจน  ก็อาจต้องทำการเพาะเชื้อซึ่งจะทราบผลใน 1-2 วัน

การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ คือ

  1. เกิดจากเชื้อไวรัส ก็จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ แก้หวัด ไม่มีการให้ยาปฏิชีวนะ เพราะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ ซึ่งอาการของโรคมักจะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์
  2. เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากให้ยาบรรเทาตามอาการแล้ว  ก็จะให้ยาปฏิชีวนะรักษาด้วย เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) อีริโทรไมซิน (Erythromyin)  อาการมักทุเลาหลังกินยาปฏิชีวนะ 48-72 ชั่วโมง โดยแพทย์จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ 10 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆตามมา

ทั้งนี้การรับประทานยาปฏิชีวนะควรต้องรับประทานให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่กำจัดไม่หมดอาจส่งผลให้การติดเชื้อแย่ลงหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย นอกจากนี้ในเด็กยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ไต และไข้รูมาติกซึ่งเป็นการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจร่วมกับมีไข้ตามมาได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออก (tonsillectomy) ซึ่งเป็นวิธีรักษาทอนซิลอักเสบที่เป็นซ้ำหลายครั้ง หรือทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเท่านั้น โดยสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้

  • ทอนซิลอักเสบมากกว่า 7 ครั้งในรอบหนึ่งปี
  • ทอนซิลอักเสบมากกว่า  4-5 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
  • ทอนซิลอักเสบมากกว่า 3 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้การผ่าตัดทอนซิลในกรณีที่ต่อมทอนซิลอักเสบทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ยากจะรักษาตามมา เช่น

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (ก่อให้เกิดอาการนอนกรมเพราะต่อมทอนซิลโต)
  • หายใจลำบาก (เนื่องจากต่อมทอนซิลโตมากจนอุดกั้นทางเดินหายใจ)
  • กลืนลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลืนเนื้อหรืออาหารชิ้นหนา ๆ
  • เป็นฝีที่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วยังไม่ดีขึ้น
  • มีต่อมทอนซิลโตข้างเดียว ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ต่อมทอนซิล)

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ  การบวมอักเสบของต่อมทอนซิลบ่อยครั้งหรือเรื้อรังอาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หายใจลำบาก การติดเชื้อที่แพร่ลึกลงไปสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆตามมา เช่น  ในกลุ่มที่มีสาเหตุจากไวรัส ส่วนใหญ่จะไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนผู้ที่อาการของโรคร่วมกับเป็นไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่  ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น และในกลุ่มที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย อาจมีภาวะแทรกซ้อนดังนี้

  1. เชื้ออาจลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เป็นหูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบ  ไซนัสอักเสบ ปอดอักเสบ ฝีที่ทอนซิล 
  2. เชื้ออาจเข้ากระแสเลือดแพร่กระจายไปยังที่ต่างๆ  ทำให้เป็นข้ออักเสบชนิดเฉียบพลัน  กระดูกอักเสบเป็นหนอง  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  3. ทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (autoimmun reaction) กล่าวคือหลังจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อขึ้นมา  แล้วไปก่อปฏิกิริยาต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง ได้แก่ ไข้รูมาติก (มีการอักเสบของข้อและหัวใจ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรัง อาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจพิการ หัวใจวายได้) และ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน (มีไข้ บวม ปัสสาวะสีแดง อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้) โรคแทรกเหล่านี้มักเกิดหลังทอนซิลอักเสบ 1-4 สัปดาห์

สำหรับไข้รูมาติก มีโอกาสเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 0.3-3 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่ทั้งนี้การป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงดังกล่าวสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการกินยาปฏิชีวนะให้ครบ 10 วัน (แม้ว่าอาการจะทุเลาหลังกินยาได้ 2-3 วันไปแล้วก็ตาม)

การติดต่อของโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบติดต่อได้เช่นเดียวกับในโรคหวัดทั่วไปและในโรคไข้หวัดใหญ่คือ เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของดรคอยู่ในน้ำลายและเสมหะ (รวมถึงสารคัดหลั่งอื่นๆ) ของผู้ป่วย และจะติดต่อจากการสัมผัสเชื้อโรคดังกล่าวจากผู้ป่วย จากการไอ จาม หายใจ หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งจากจมูกและช่องปากเช่น น้ำมูก น้ำลายผู้ป่วย และจากใช้ของใช้ส่วนตัวที่สัมผัสสารคัดหลั่งดังกล่าวของผู้ป่วยร่วมกันเช่น แก้วน้ำ ช้อน ผ้าเช็ดหน้า และเมื่อเชื้อโรคเข้าไปสู่ร่างกายที่คอหอย และทอนซิลหากเป็นเชื้อไวรัสก็จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-4 วัน และหากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

  1. หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการ และสั่งยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น เพนิซิลิน อีริโทรมัยซิน คลาริโทรไมซิน ให้แล้ว ข้อสำคัญ คือ ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่อง 7 - 10 วันจนครบ แม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไข้รูมาติก หรือไตอักเสบแทรกซ้อน
  2. ถ้ามีไข้สูงใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น กินยาลดไข้-พาราเซตามอลเป็นครั้งคราว
  3. ถ้าเจ็บคอมาก ควรกินอาหารอ่อน เช่น น้ำหวาน นม ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำซุป กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ (ผสมเกลือป่น 1 ช้อนชา หรือ 5 มล. ในน้ำอุ่น 1 แก้ว) วันละ 2-3 ครั้ง
  4. กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้เองที่บ้าน ใช้เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำเปล่าประมาณ 250 มิลลิลิตร กลั้วลำคอแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บคอลงได้
  5. ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  6. รักษาความชุ่มชื้นของบ้าน หลีกเลี่ยงอากาศแห้งเนื่องจากจะส่งผลให้ระคายเคืองที่คอและเจ็บคอยิ่งขึ้น
  7. หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองที่คอ เช่น ควันบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย
  8. หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้ลงอย่างน้อย 1 วัน เพื่อการพักผ่อนเต็มที่และป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

การป้องกันตนเองจากโรคต่อมทอนซิลอักเสบทำได้โดย

  1. รักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมจานหรือดื่มน้ำร่วมแก้วกับผู้ป่วย
  3. หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
  4. หลีกเลี่ยงการคลุกคลีสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อยวันละ 7 - 8 ชั่วโมง

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

ฟ้าทะลายโจร  ชื่อวิทยาศาสตร์ Andropraphis paniculata (Burm.f.) Wall. EX Nees ชื่อพ้อง Justicia paniculata Burm.f. ชื่อวงศ์ Acanthaceae สรรพคุณ: ตำรายาไทย: มีการใช้ส่วนเหนือดินเก็บก่อนที่จะมีดอก เพื่อรักษาไข้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ดับพิษร้อน ระงับอักเสบในอาการไอ เจ็บคอ คออักเสบ ต่อมทอนซิล หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ขับเสมหะ ลดบวม แก้ติดเชื้อ รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:.บรรเทาอาการเจ็บคอ รับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บรรเทาอาการหวัด รับประทานครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน  องค์ประกอบทางเคมี: สารประเภทแลคโตน andrographolide,neoandrographolide,deoxyandrographolide, deoxy-didehydroandrographolide สารกลุ่มฟลาโวน เช่น aroxylin, wagonin, andrographidine A  จากการศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจส่วนบนไม่รุนแรง  223 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร 200 มิลลิกรัมต่อวัน และอีกกลุ่มรับประทานยาหลอกเป็นระยะเวลา 5 วัน ซึ่งจะวัดผลด้วยการประเมินอาการจากตัวผู้ป่วยเองในด้านต่าง ๆ ได้แก่ อาการไอ เสมหะ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ มีไข้ เจ็บคอ อาการเหนื่อยง่าย และปัญหาในการนอน ผลพบว่า ทั้ง 2 กลุ่มมีอาการดีตั้งแต่เริ่มจนจบการทดลอง แต่กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรเห็นผลได้อย่างชัดเจนในช่วงวันที่ 3-5 มากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก อย่างไรก็ตาม ยังพบผลข้างเคียงเล็กน้อยในทั้ง 2 กลุ่ม จากการทดลองจึงเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรอาจช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจตอนต้น

โทงเทง  ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Physalis angulata  L. ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Physalis minima ชื่อสามัญ :   Hogweed, Ground Cherry ชื่อวงศ์ :   SOLANACEAE สรรพคุณโทงเทง :ตำรายาไทย ผลรสเปรี้ยวเย็น แก้ต่อมน้ำลายอักเสบต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ แก้อักเสบในคอ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ตำพอกแก้ปวดบวม ส่วนประโยชน์ที่สำคัญของโทงเทงที่ ใช้รักษาอาการทอนซิลอักเสบ โดยหมอพื้นบ้านนั้นจะใช้ทั้งต้นตำให้แหลกละลายกับสุรา เอาสำลีชุบเอาน้ำยาใช้อมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละนิด แก้ทอนซิลอักเสบ หรือที่เรียกว่าต่อมน้ำลายอักเสบ แก้ฝีในคอ ใช้แก้อาการอักเสบในลำคอได้ดี หรือคนที่แพ้แอลกอฮอล์ก็ใช้ละลายกับน้ำส้มสายชูแทน ใช้ภายในแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ภายนอกแก้ฟกบวมอักเสบทำให้เย็น และอีกตำรายาหนึ่งระบุว่าแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ให้ใช้ต้นนี้สดๆ (หรืออย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้ร้อยกว่าราย บางคนรับประทาน 4-10 ครั้งก็หาย บางคนรับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงหาย

ปลาไหลเผือก  ชื่อวิทยาศาสตร์ :  EURYCOMA LONGIFOLIA Jack. วงศ์ : SIMAROUBACEAE สรรพคุณทางยา : ราก ต้านโรคมะเร็ง รักษาโรคอัมพาต ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง ขับพยาธิ แก้อาการท้องผูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ วิธีการใช้ตามตำราไทย : ต้านโรคมะเร็ง ช่วยขับถ่ายน้ำเหลือง ขับพยาธิ แก้อาการท้องผูก แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้อาการเจ็บคอ นำรากแห้งประมาณ 8-15 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มก่อนอาหารทุกเช้าและเย็น (2 เวลา)

 

เอกสารอ้างอิง

  1. พรพิมล พฤกษ์ประเสริฐ.(2550). การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน. ใน ประยงค์ เวชวนิชสนอง และวนพร อนันตเสรี. กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป (หน้า214-216).หน่วยผลิตตำราคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  2. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ทอนซิลอักเสบ.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่324.คอลัมน์สารานุภาพทันโรค.เมษายน.2549
  3. ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฎสุนทร.คออักเสบและตอ่มทอนซิลอกัเสบปัญหาของหนูน้อย.ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.
  4. ทอนซิลอักเสบ-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  5. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 410-413.
  6. วิทยา บุญวรพัฒน์.”โทงเทง” หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า284.
  7. ฟ้าทะลายโจร.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=97
  8. โทงเทง สมุนไพรหยุดการอักเสบในลำคอ.ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร.สถาบันวิจัยสมุนไพร.กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.