โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease : GERD)

โรคกรดไหลย้อนคืออะไร 

โรคกรดไหลย้อน” (Gastroesophageal reflux disease ,GERD) เป็นโรคที่เกิดจากการไหลย้อนของกรด (น้ำย่อย) ในกระเพาะอาหารกลับไปที่หลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติร่างกายของเราจะมีการไหลย้อนของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารแต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณกรดที่ย้อนมากขึ้นหรือย้อนบ่อยกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรค หรือหลอดอาหารมีความไวต่อกรดมากขึ้นแม้ว่าจะมีปริมาณกรดที่ย้อนขึ้นไปไม่มากกว่าปกติส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และแสบอกหรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาลดกรด (antacids)  ที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดมารับประทานเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด จึงพบว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้น  และหากปล่อยให้เกิดอาการเรื้อรังและรักษาด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเกิดหลอดอาหารอักเสบ แผลที่หลอดอาหาร หรือหลอดอาหารตีบ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของโรคกรดไหลย้อนได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หรือ CLASSIC GERD ซึ่งกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่ภายในหลอดอาหาร ไม่ไหลย้อนเกินกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน ส่วนใหญ่จะมีอาการของหลอดอาหารเท่านั้น
  2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal Reflux : LPR) หมายถึงโรคที่มีอาการทางคอและกล่องเสียง ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของคอและกล่องเสียง จากการระคายเคืองของกรด

ซึ่งโรคกรดไหลย้อนนี้ เป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย (Syspepsia) และพบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย โดยพบได้ใกล้เคียงกัน เป็นโรคที่พบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบอัตราเกิดสูงขึ้นในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และพบได้สูงสุดในช่วงอายุ 60 - 70 ปีขึ้นไป มีรายงานว่าประเทศแถมตะวันตกพบโรคนี้ได้ประมาณ 10 - 20% ของประชากรเลยทีเดียว

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติ ของการทำหน้าที่ของกล้ามเนื้อหูรูดที่อยู่ตรงส่วนล่างของหลอดอาหาร (lower esophageal sphincter, LES) ในคนปกติขณะกลืนอาหารหูรูดนี้จะคลายตัวเพื่อเปิดทางให้อาหารไหลผ่านลงไปในกระเพาะอาหาร เมื่ออาหารผ่านลงกระเพาะอาหารจนหมดแล้วหูรูดนี้จะหดรัดเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำย่อย (ซึ่งเป็นกรดเกลือ) ที่อยู่ในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหาร

แต่ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน พบว่ากล้ามเนื้อหูรูดตรงส่วนล่างของหลอด อาหารนี้หย่อนสมรรถภาพ ทำให้มีน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นไปที่หลอดอาหารมากกว่าปกติ (คนทั่วไปหลังกินข้าวอาจมีน้ำย่อยไหลย้อนได้ 1-4 ครั้ง ซึ่งไม่ทำให้เกิดอาการ) ทำให้เกิดอาการผิดปกติ และการอักเสบของเยื่อบุหลอด อาหารได้

ส่วนสาเหตุที่ทำให้หูรูดดังกล่าวทำงานผิดปกติยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากความเสื่อมตามอายุ (พบในคนอายุมากกว่า 40 ปี) หรือหูรูดยังเจริญไม่เต็มที่ (พบในทารก) หรือมีความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด

นอกจากนี้พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หรือโรคบางชนิดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของหลอดอาหารให้เกิดความผิดปกติได้ หรือทำให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดในปริมาณมากขึ้น เช่น เข้านอนหลังรับประทานอาหารทันที รับประทานอาหารปริมาณมากภายในมื้อเดียว อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

อาการของโรคกรดไหลย้อน   
อาการของผู้ป่วยนั้นขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด เช่น

  1. อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร
  • อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ (Heartburn) หลังกินอาหาร 30-60 นาที หรือหลังกินอาหารแล้วล้มตัวลงนอนราบ นั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ รัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงคับเอว มักมีอาการมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์และอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง แต่ละครั้งมักปวดอยู่นาน 2 ชั่วโมงและบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่บริเวณคอได้
  • รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ หรือแน่นคอ
  • กลืนลำบาก กลืนเจ็บ หรือกลืนติดๆ ขัดๆ คล้ายสะดุดสิ่งแปลกปลอมในคอ
  • เจ็บคอ แสบคอหรือปาก หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก (bile or acid regurgitation)
  • มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา
  • เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหาร หรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอก หรือคอ
  • รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia)
  • มีน้ำลายมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุได้
  1. อาการทางกล่องเสียง และหลอดลม
    • เสียงแหบเรื้อรัง หรือ แหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม
    • ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารหรือขณะนอน
    • ไอ หรือ รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
    • กระแอมไอบ่อย
    • อาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ (ถ้ามี) แย่ลง หรือไม่ดีขึ้นจากการใช้ยา
    • เจ็บหน้าอก (non – cardiac chest pain)
    • เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ
  2. อาการทางจมูก และหู
    • คัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือมีน้ำมูก หรือเสมหะไหลลงคอ
    • หูอื้อเป็นๆ หายๆ หรือปวดหู
  3. บางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น มีอาการกลืนอาหารแข็งลำบาก เนื่องจากปล่อยให้เกิดภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรังจนตีบตัน
  4. ส่วนในทารกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อนตั้งแต่แรกเกิดได้ เนื่องจากหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารยังเจริญไม่เต็มที่ ทารกจึงมักมีอาการงอแง ร้องกวน อาเจียนบ่อย ไอบ่อยตอนกลางคืน เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงวี้ด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ทารกบางรายอาจสำลักน้ำย่อยเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งอาจกำเริบได้บ่อย แต่อาการมักจะหายไปเมื่ออายุได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่บางรายก็อาจรอจนถึงเข้าสู่วัยรุ่นอาการจึงจะดีขึ้น

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน

แพทย์วินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้จาก ประวัติอาการ การตรวจลำคอ การตรวจร่างกาย การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์แยกจากโรคปอดต่างๆ การส่องกล้องตรวจกล่องเสียง หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ และอาจตัดชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อแยกจากโรคมะเร็งหลอดอาหาร และอาจมีการตรวจวิธีเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ตรวจวัดภาวะความเป็นกรดของหลอดอาหารในขณะส่องกล้อง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์กลืนสารทึบแสง, การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์, การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร เป็นต้น 

แต่โดยส่วนมากแล้ว แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนจากอาการแสดงก็เพียงพอต่อการตัดสินโรคแล้ว ซึ่งอาการแสดงที่พบได้บ่อย ได้แก่ อาการแสบลิ้นปี่ จุกแน่นยอดอก และเรอเปรี้ยวหลังกินอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น หรือมีพฤติกรรมที่เป็นเหตุกำเริบแต่ในรายที่ไม่แน่ชัดอาจต้องทำการตรวจพิเศษ (ซึ่งพบได้ไม่บ่อย)

แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน

  1. การปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน (lifestyle modification) การรักษาวิธีนี้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และลดการกลับเป็นซ้ำ โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียงมากขึ้น เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด (ยกเว้นจะผ่าตัดแก้ไข) การรักษาวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพราะเป็นการรักษาที่ต้นเหตุ แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หรือหายดีแล้วโดยไม่ต้องรับประทานยาแล้วก็ตาม ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนดังนี้        
  • ควรพยายามลดน้ำหนัก
  • พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับหรือรัดแน่นเกินไป
  • ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษา และหลีกเลี่ยงการเบ่ง
  • ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก
  • รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท เช่น กาแฟ น้ำอัดลม
  • ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
  • ปัจจุบันยาที่ได้ผลดีที่สุด  คือ ยาลดกรดในกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊ม (Proton pump inhibitors) เช่น โอเมพราโซล (omeprazole)ขนาด 20 มิลลิกรัม วันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันอาการของโรคกรดไหลย้อน โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 - 8สัปดาห์ หรืออาจต้องใช้ยาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นกรณีที่เป็นมากหรือมีอาการมานาน ซึ่งอาจจะมีการปรับการรับประทานยาเป็นระยะ ๆ ตามอาการที่มี  หรือรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ในบางกรณีอาจใช้ยาเพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น เมโทโคลพราไมด์ (metoclo-pramide) ขนาด 10 มิลลิกรัม 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งยานี้ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณ 30 นาที
  • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น
  • ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานยาที่ใช้ในการรักษาภาวะนี้ได้
  • ผู้ป่วยที่ดีขึ้นหลังจากการใช้ยา แต่ไม่ต้องการที่จะรับประทานยาต่อ
  • ผู้ป่วยที่กลับเป็นซ้ำบ่อยหลังหยุดยา
  1. การรักษาด้วยยา   กรณีที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย ควรรับประทานยาตามกำหนดอย่างเคร่งครัด และถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  1. การผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปที่ หลอดอาหาร คอและกล่องเสียง การรักษาวิธีนี้จะทำใน

ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น การรักษาโดยการผ่าตัดมีหลายวิธี เช่น endoscopic fundoplication, radiofrequency therapy, injection / implantation therapy เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน

  1. อายุ ยิ่งสูงขึ้น โอกาสเกิดโรคนี้ยิ่งสูงขึ้น
  2. การกินอาหารแต่ละมื้อในปริมาณสูง โดยเฉพาะกินมื้อเย็นก่อนนอน เพราะปริมาณอาหารยังค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร และการนอนราบยังเพิ่มแรงดันในกระเพาะอาหาร อาหารและกรดจึงไหลย้อนกลับเข้าหลอดอาหารได้ง่าย
  3. การกินอิ่มมากไป (กินอาหารมื้อใหญ่หรือปริมาณมาก)กระตุ้นให้มีน้ำย่อยหลั่งออกมามาก ประกอบกับการขยายตัวของกระเพาะอาหารทำให้หูรูดคลายตัวมากขึ้น
  4. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีน (เช่น กาแฟ ยาชูกำลัง) นอกจากกระตุ้นให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้นแล้ว ยังเสริมให้หูรูดคลายตัวอีกด้วย
  5. การกินอาหารที่ไขมันสูง ข้าวผัด ของทอดและอาหารผัดน้ำมัน ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนไหวช้าลง ทำให้มีโอกาสเกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น
  6. โรคหืด เชื่อว่าเป็นผลมาจากการไอและหอบ ทำให้เพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้กรดไหลย้อน
  7. การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาร์บอเนต (น้ำอัดลม) การกินอาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ น้ำองุ่น น้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น น้ำส้มคั้น) ผลไม้เปรี้ยว ช็อกโกแลต หรือสะระแหน่ การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแอนติโคลิเนอร์จิก ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตาและกลุ่มต้านแคลเซียม ยาทางจิตประสาท ฮอร์โมนโพรเจสเตอโรน เป็นต้น) จะเสริมให้หูรูดคลายตัว หรือมีกรดหลั่งมากขึ้น
  8. แผลเพ็ปติก และการใช้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ทำให้อาหารขับเคลื่อนลงสู่ลำไส้ช้าลง ทำให้มีกรดไหลย้อนได้
  9. โรคอ้วน เพราะจะทำให้มีความดันในช่องท้องสูงขึ้น ความดันในกระเพาะอาหารจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
  10. การตั้งครรภ์ เพราะจะเป็นการเพิ่มความดันในกระเพาะอาหารจากครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น
  11. เบาหวาน เมื่อเป็นโรคนี้นาน ๆ จะมีการเสื่อมของประสาทกระเพาะ ทำให้กระเพาะอาหารขับเคลื่อนช้า จึงทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้
  12. ความเครียด เพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
  13. การมีไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia, Diaphragmatic hernia ซึ่งมีกระเพาะอาหารบางส่วนไหลเลื่อนลงไปที่กะบังลม) ขนาดใหญ่ ทำให้หูรูดอ่อนแอมากขึ้น

การติดต่อของโรคกรดไหลย้อน โรคกรดไหลย้อนเกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร ทำให้มีกรด (น้ำย่อย) จากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปที่หลอดอาหารและเกิดการอักเสบและอาการต่างๆตามมา ซึ่งโรคกรดไหลย้อนนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ เพราะไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคกรดไหลย้อน

  1. กินยาให้ครบถ้วนและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์
  2. สังเกตว่าบริโภคสิ่งใดบ้างที่ทำให้อาการกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยง เช่น อาหารมัน (รวมทั้งข้าวผัด ของทอด ของผัดที่อมน้ำมัน) อาหารเผ็ดจัด หัวหอม กระเทียม แอลกอฮอล์ บุหรี่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน น้ำอัดลม น้ำผลไม้เปรี้ยว ผลไม้เปรี้ยว ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ ช็อกโกแลต ยาบางชนิด
  3. หลีกเลี่ยงการกินอาหารปริมาณมาก (หรืออิ่มจัด) และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ ระหว่างกินอาหาร ควรกินอาหารมื้อเย็นในปริมาณ  น้อย และทิ้งช่วงห่างจากเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  4. หลังกินอาหารควรปลดเข็มขัดและตะขอกางเกงให้หลวม ไม่ควรนอนราบหรือนั่งงอตัว โค้งตัวลงต่ำ ควรนั่งตัวตรง ยืน หรือให้รู้สึกสบายท้อง หลีกเลี่ยงการยกของหนักและการออกกำลังกายหลังอาหารใหม่ๆ
  5. หมั่นออกกำลังกายและผ่อนคลายความเครียด เนื่องเพราะความเครียดมีส่วนทำให้หลั่งกรดมากขึ้น ทำให้อาการกำเริบได้
  6. ถ้าน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
  7. ถ้ามีอาการกำเริบตอนเข้านอน หรือตื่นนอนตอนเช้า มีอาการเจ็บคอ เจ็บลิ้น เสียงแหบ ไอ ควรหนุนศีรษะสูง 6-10 นิ้ว โดยการหนุนขาเตียงด้านศีรษะให้สูง หรือใช้อุปกรณ์พิเศษ (bed wedge pillow) สอดใต้ที่นอนให้เอียงลาดจากศีรษะลงมาถึงระดับเอว หรือใช้เตียงที่มีกลไกปรับหัวเตียงให้สูงได้ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีหนุนหมอนหลายใบให้สูง เพราะอาจทำให้ท้องโค้งงอ ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น ดันให้น้ำย่อยไหลย้อนได้
  8. งด/เลิก ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  9. ควบคุมรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
  10. พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆเลวลงหรือผิดไปจากเดิม

การป้องกันตนเองจากโรคกรดไหลย้อน การป้องกันโรคกรดไหลย้อนนั้นตัวเราเองเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเรา เช่น

  1. เลือกรับประทานอาหารและเสี่ยงรับประทานอาหารโดยอาหารที่พึงหลีกเลี่ยง ได้แก่
  • ชา กาแฟ และน้ำอัดลมทุกชนิด
  • อาหารทอด อาหารไขมันสูง
  • อาหารรสจัด รสเผ็ด
  • ผลไม้รสเปรี้ยว ส้ม มะนาว มะเขือเทศ
  • หอมหัวใหญ่ สะระแหน่ เปปเปอร์มิ้นต์
  • ช็อกโกแลต
  1. กินอาหารมื้อเล็กๆ พออิ่ม การรับประทานอิ่มเกินไปจะทำให้หูรูดหลอดอาหารเปิดง่ายขึ้นและทำให้เกิดการย้อนของกรดง่ายขึ้น
  2. ไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายหลังอาหารทันที หลังรับประทานอาหารเสร็จควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงจึงเอนตัวนอน เพื่อให้อาหารเคลื่อนตัวออกจากกระเพาะอาหารเสียก่อน
  3. งดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารนิโคตินในบุหรี่เพิ่มความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและทำให้หูรูดอ่อนแด ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮล์ทำให้หูรูดเปิดออกได้เช่นกัน
  4. ลดแรงกดต่อกระเพาะอาหาร เสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดแน่นบริเวณผนังหน้าท้อง การก้มตัวไปด้านหน้า น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน ล้วนเป็นสาเหตุที่เพิ่มแรงกดต่อกระเพาะอาหารและทำให้กรดไหลย้อนกลับ
  5. ผ่อนคลายความเครียด ความเครียดที่มากเกินไปจะทำให้อาการแย่ลง จึงควรหาเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายให้สมดุลกับตารางชีวิต
  6. รักษาโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน เช่น เบาหวาน โรคหืด โรคอ้วน แผลเท็ปติก ฯลฯ

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน / รักษาโรคกรดไหลย้อน

ยอ  ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia วงศ์Rubiaceae มีรายงานการศึกษาวิจัยในหนู พบว่า “ยอ” ซึ่งมีสารสำคัญ คือ สโคโปเลติน (scopoletin) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยนั้น สามารถลดการอักเสบของหลอดอาหารจากการไหลย้อนของกรดได้ผลดี พอๆ กับยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อน คือ รานิติดีน (ranitidine) และแลนโสพราโซล (lansoprazole) เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการหลั่งของกรด ต้านการเกิดแผล และทำให้การบีบตัวของระบบทางเดินอาหารดีขึ้น โดยมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องโดยตรง และยังมีรายงานว่าสามารถเพิ่มการดูดซึมของรานิติดีน “ยอ” จึงเหมาะในการเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการกรดไหลย้อนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งจากการศึกษาวิจัยข้างต้น และการที่ “ยอ” มีรสร้อน ช่วยย่อยอาหาร ทำให้อาหารไม่ตกค้าง ไม่เกิดลมในกระเพาะอาหาร ลดการเกิดแรงดันที่ทำให้กรดไหลย้อน “ยอ” ยังช่วยให้กระเพาะบีบเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ทำให้อาหารเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กได้ดีขึ้น ทั้งนี้สมุนไพรที่อาจใช้ร่วมกัน คือ ขมิ้นชัน เนื่องจากขมิ้นชันมีสรรพคุณในการรักษาอาการท้องอืด และช่วยขับน้ำดีเพื่อย่อยไขมัน ทำให้อาหารไม่ตกค้างในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กนานเกินไป ทั้งช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย มีผู้แนะนำให้กินขมิ้นชันก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน ขนาดรับประทานคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ 3 เม็ดๆ ละ 500 มก.

ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma longa L. วงศ์ Zingiberaceae ชื่อพ้อง  C. domestica Valeton  ชื่ออื่น ๆ ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขมิ้นชัน ขี้มิ้น หมิ้น ตายอ สะยอ Turmeric สารออกฤทธิ์ curcumin, ar-turmeronecurcumin จากขมิ้นลดการอักเสบจากบาดแผลได้ดี การทดลองในหลอดทดลอง โดยใช้สารสกัดขมิ้น 160 มก./กก. กรอกเข้าทางกระเพาะอาหาร (intragastric) ของหนูขาว ยับยั้งการอักเสบคิดเป็น 29.5% curcumin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เกิดจากการเหนี่ยวนำด้วยคาราจีแนน การทดลองเปรียบเทียบระหว่าง phenylbutazone กับ sodium curcuminate 30 มก./กก. พบว่าได้ผลดี แต่ถ้าสูงขึ้นเป็น 60 มก./กก. ฤทธิ์ต้านการอักเสบจะลดลง และ sodium curcuminate ยังสามารถยับยั้งการบีบตัวของลำไส้หนูในหลอดทดลองที่เหนี่ยวนำจากนิโคติน อะซีติลโคลีน 5-hydroxy-tryptamine ฮีสตามีนและแบเรียมคลอไรด์ นอกจากนี้ sodium curcuminate ยังลดจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้เล็กของกระต่าย โดยไปลดระยะห่างของจังหวะการบีบรัดตัวของลำไส้ ขมิ้นสามารถต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยกระตุ้นการหลั่งมิวซินมาเคลือบและยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยต่างๆ สารสำคัญในการออกฤทธิ์คือ curcumin ในขนาด 50 มก./กก. สามารถกระตุ้นการหลั่งมิวซินออกมาเคลือบกระเพาะอาหาร แต่ถ้าใช้ในขนาดสูงอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ มีการทดลองในกระต่ายเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีการหลั่งกรดมาก พบว่าผงขมิ้นไม่เปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหาร แต่เพิ่มส่วนประกอบของมิวซิน

ย่านาง หรือใบย่านาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ ว่า Tiliacora triandra (Colebr.) Diels มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bamboo grass อยู่ในวงศ์ Menispermaceae ใบของย่านาง คือเป็นส่วนที่มีประโยชน์และถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคมากที่สุด เพราะเป็นพืชที่มีฤทธิ์เย็น และมีสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง นอกจากนี้ถูกจัดเอาไว้ในตำราสมุนไพรว่าเป็นยาอายุวัฒนะอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของใบย่านางในการรักษาโรคมีดังนี้

 ระบบทางเดินอาหาร-ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ  -ช่วยลดอาการหดเกร็งตามลำไส้  -ช่วยรักษาอาการกรดไหลย้อน

รักษาและป้องกันโรคภัยต่าง ๆ -ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง  -ช่วยป้องกันและบำบัดการเกิดโรคหัวใจ  -ช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ -ช่วยรักษาอาการของโรคเบาหวาน โดยไปลดระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลง

ระบบผิวหนัง  -ช่วยในการรักษาโรคเริม งูสวัด   -ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย

ระบบสืบพันธุ์และทางเดินปัสสาวะ  -ช่วยรักษาโรคนิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในถุงน้ำดี   -ช่วยรักษาอาการปัสสาวะแสบขัด ออกร้อนในทางเดินปัสสาวะ

ขึ้นฉ่าย (Apium graveolens L.) ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารในร่างกายและช่วยลดอาการของโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งรวมถึงโรคกรดไหลย้อน

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Rao TS, Basu N, Siddiqui HH.  Anti-inflammatory activity of curcumin analogs.  Indian J Med Res 1982;75:574-8.
  2. รศ.ดร.สุจิตรา ทองประดิษฐ์โชติ.เกิร์ด (GERD)-โรคกรดไหลย้อน.ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “โรคกรดไหลย้อน/เกิร์ด (Gastroesophageal reflux disease/GERD)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 533-536.
  4. โรคกรดไหลย้อน.ความรู้สู่ประชาชน.สมาคมประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว(ไทย)
  5.   Nutakul W.  NMR analysis of antipeptic ulcer principle from Curcuma longa L.  Bull Dept Med Sci 1994;36(4):211-8.
  6. Kahrilas, P. (2003). GERD pathogenesis, pathophysiology, and clinical manifestations. Cleveland Clinic Journal of Medicine. 70, s4-s18.
  7. กรดไหลย้อน-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com.
  8. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคกรดไหลย้อน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่365.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.กันยายน.2552
  9. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  10. ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD). ความรู้สำหรับประชาชน.ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
  11. ขมิ้น.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. Srimal RC, Dhawan BN.  Pharmacology of diferuloyl methane (curcumin), a non-steroidal anti-inflammatory analogs in rats.  J Pharm Pharmacol 1973;25(6):447-52.
  13. Sinha M, Mukherjee BP, Mukherjee B, Sikdar S, Dasgupta SP.  Study of the mechanism of action of curcumin: an antiulcer agent.  Indian J Pharm 1975;7:98-9.
  14.   Rafatullah S, Tariq M, AI-Yahya MA, Mossa JS, Ageel AM.  Evaluation of tumeric (Curcuma longa) for gastric and duodenal antiulcer activity in rats.  J Ethnopharmacol 1990;29(1):25-34.