โรคต่อมลูกหมากโต

โรคต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy-BPH)

โรคต่อมลูกหมากโตคืออะไรต่อมลูกหมาก (prostate gland) เป็นต่อมของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้ชาย อยู่ตรงด้านหลังของคอกระเพาะปัสสาวะในอุ้งเชิงกรานหลังกระดูกหัวหน่าว มีรูปร่างคล้ายลูกเกาลัด ต่อมมี 5 กลีบ หนักประมาณ 20 กรัม (ขนาดเท่าผลลิ้นจี่) มีหน้าที่สร้างน้ำเมือก (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของน้ำกาม) เพื่อให้ตัวอสุจิแหวกว่ายและกินเป็นอาหาร  โดยทั่วไปต่อมลูกหมากจะหยุดเจริญเติบโตหลังจากอายุ 20 ปี  จนกระทั่งอายุประมาณ 45 ปี จะมีการเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง และเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากโตถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่น่าหนักใจของคุณผู้ชายทั้งหลาย โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตจะอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะค่อย ๆ โตขึ้น ว่ากันว่าชายสูงอายุ 2 ใน 5 คนจะมีอาการถ่ายปัสสาวะผิดปกติ อาการดังกล่าวเกิดจากการที่ต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะมีขนาดโตขึ้นและไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลง

และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยหลายๆชิ้นสรุปว่า ในเพศชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักตรวจพบโรคต่อมลูกหมากโต เนื่องจากความผิดปกติทางด้านขนาดและจำนวนเซลล์ต่อมลูกหมาก เมื่อขนาดของต่อมลูกหมากโตขึ้น จะส่งผลทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ถ่ายปัสสาวะบ่อย ลำบาก ต้องเบ่งเป็นเวลานาน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ในที่สุดอาจถ่ายปัสสาวะไม่ออก และมีปัญหาเกี่ยวกับอวัยวะเพศไม่แข็งตัว การทำงานของต่อมลูกหมากอาศัยการกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศชายซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากอัณฑะ ซึ่งฮอร์โมนเพศชายนี้ยังเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการโตของเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยความผิดปกติของต่อมลูกหมากที่พบมากในชายไทย คือ โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia; BPH) มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) และต่อมลูกหมากอักเสบ (prostatis) ร้อยละ 80 18 และ 2 ตามลําดับ  โดยโรคต่อมลูกหมากโตนี้ เป็นโรคพบบ่อยมากของผู้ชายวัยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยพบได้ประมาณ 30-40% ของผู้ชายวัย 50-60 ปี และเมื่ออายุ 85 ปีจะพบโรคนี้ได้สูงถึง 90% โรคนี้พบได้ในผู้ชายทั่วโลก ทุกเชื้อชาติ

สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคต่อมลูกหมากโต แต่แพทย์เชื่อว่า เมื่อชายสูงอายุขึ้นจะมีผลต่อการสร้างกลุ่มฮอร์โมนเพศชายจากอัณฑะที่ชื่อ แอนโดรเจน (Androgen)จึงทำให้ร่างกายขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศชายชนิดต่างๆโดยเฉพาะระหว่างฮอร์โมน เทสโทสสเตอโรน  (Testosterone)กับฮอร์โมน ไดไฮโดรเทสโทสสเตอโรน () (DHT) ซึ่งภาวะนี้ส่งผลให้เซลล์ของต่อมลูกหมากมีการเจริญเติบโตผิดปกติได้ ที่เรียกว่า โรคต่อมลูกหมากโต

นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะคนที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ซึ่งต้องรับการรักษาโดยผ่าตัดมักจะมีประวัติว่าคนในครอบครัวมักมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก

    ฮอร์โมนที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต                         

                                                                                                                  

 

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต อาการของโรคต่อมลูกหมากโตนั้น เกิดจากเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้น จะไปก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อท่อปัสสาวะ และเมื่อต่อมฯยิ่งโตขึ้น ก็จะกดเบียดทับ หรือเบียดรัดรอบๆท่อปัสสาวะ จึงส่งผลให้ท่อปัสสาวะตีบแคบลง จนถึงอาจอุดตัน ดังนั้นอาการของโรคต่อมลูกหมากโต ก็คือ

  1. ลุกขึ้นถ่ายปัสสาวะกลางดึกมากกว่า 1 - 2 ครั้ง
  2. สายปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลช้า หรือไหล ๆ หยุด ๆ
  3. เกิดความรู้สึกว่าการขับถ่ายปัสสาวะเป็นเรื่องวุ่นวายในชีวิตประจำวัน
  4. ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีที่ปวดปัสสาวะ
  5. ต้องเบ่งหรือรอนานกว่าจะสามารถปัสสาวะออกมาได้
  6. รู้สึกปัสสาวะไม่สุด ทำให้อยากปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ
  7. ปัสสาวะบ่อย ห่างกันไม่เกิน 2 ชั่วโมง

และในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เนื่องจากเบ่งถ่ายนาน ๆ อาจทำให้หลอดเลือดดำที่ท่อปัสสาวะคั่ง แล้วแตกจนมีเลือดออกมาได้  ทั้งนี้โรคต่อมลูกหมากโตอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้แก่  ปัสสาวะไม่ออกเลย ทางเดินปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ไตเสื่อมหรือกระเพาะปัสสาวะเสื่อม ปัสสาวะเป็นเลือด  เป็นต้น ซึ่งอาจพบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของผู้ป่วยต่อมลูกหมากทั้งหมด

แนวทางการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต การตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต

  1. การซักประวัติ บ่อยครั้งแพทย์ให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถาม (IPSS) เพื่อประเมินความรุนแรงของความผิดปรกติของการถ่ายปัสสาวะ
  2. การตรวจทวารหนักเพื่อคลำต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ภายในร่างกาย ดังนั้น การใช้นิ้วทาสารหล่อลื่นคลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนักจะเป็นวิธีการตรวจร่างกายที่ง่ายที่สุดในการประเมินถึงลักษณะทางภายกายภาพของต่อมลูกหมาก และที่สำคัญยังสามารถบอกได้ถึงความผิดปรกติที่สงสัยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยโดยหากพบว่ามีลักษณะโต ผิวเรียบแสดงว่าเป็นต่อมลูกหมากโตธรรมดา แต่ถ้ามีลักษณะโตผิวไม่เรียบหรือค่อนข้างแข็ง น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
  3. การตรวจปัสสาวะเป็นขั้นตอนที่สำคัญ และจำเป็นต้องทำในผู้ป่วยทุกราย เพื่อดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อ มีเม็ดเลือดผิดปรกติหรือไม่ และยังเป็นการบอกถึงความผิดปรกติของร่างกายในระบบอื่นได้
  4. การตรวจเลือดเพื่อหาค่า PSA (prostatic specific antigen) ซึ่งจะตรวจต่อเมื่อผู้ป่วยมีสุขภาพโดยรวมแข็งแรง และน่าจะมีชีวิตยืนยาวมากกว่า 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก มีแนวโน้มจะโตและลุกลามช้าโดยแพทย์จะตรวจหาเอนไซม์ในเลือด ชื่อ พี.เอส.เอ (PSA : Prostate Specific Antigen) ซึ่งมีค่าปกติประมาณ 0 - 4 ng/ml (นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร) และถ้าพบว่าผลเลือดสูงกว่าปกติ แพทย์จะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อของต่อมลูกหมาก โดยใช้เข็มเล็ก ๆ ผ่านทางทวารหนัก และนำไปตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์ว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
  5. การตรวจอัลตราซาวน์ ส่วนมากมักใช้เมื่อมีความผิดปรกติในการตรวจปัสสาวะ แต่ปัจจุบันเป็นที่นิยมส่งตรวจกันมากขึ้นเนื่องจากปลอดภัยและให้ประโยชน์สูง
  6. การตรวจความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry)  มักจะร่วมกับการตรวจปัสสาวะที่เหลือค้างหลังจากปัสสาวะหมดแล้ว มีประโยชน์ในการประเมินความรุนแรงและติดตามการรักษา
  7. การตรวจอื่น ๆ เช่น การส่องกล้อง การตรวจยูโรพลศาสตร์จะทำเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต อาจต้องใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน แต่โดยหลัก ๆ แล้วสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้การเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต การใช้ยารักษา การผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียดคือ

  1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน: โดยแพทย์จะเลือกใช้วิธีการนี้ในกรณีผู้ป่วยมีอาการจากโรคต่อมลูกหมากโตค่อนข้างน้อย และอาการของผู้ป่วยยังไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย  โดยการปรับพฤติกรรมฯ คือการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง ได้แก่
    • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงก่อนเข้านอน วิธีนี้จะช่วยลดการปวดปัสสาวะในเวลากลางคืนได้ แต่ก็ไม่ควรอดหรือลดปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวัน
    • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน หรือลดปริมาณลงเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะปัสสาวะและทำให้อาการแย่ลง
    • ออกกำลังกาย มีการวิจัยพบว่าการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 30-60 นาทีต่อวันจะช่วยให้อาการดีขึ้น
    • จำกัดการรับประทานยาลดน้ำมูก หรือยาแก้แพ้ การใช้ยาทั้ง 2 ชนิดจะทำให้ปัสสาวะได้ลำบาก เนื่องจากยาจะเข้าไปทำให้กล้ามเนื้อบริเวณท่อปัสสาวะที่ควบคุมการไหลของปัสสาวะหดตัว
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนัก ทำให้ความเสี่ยงโรคอ้วนลดลงซึ่งเกี่ยวของกับโรคต่อมลูกหมากโต
    • ฝึกการเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องน้ำทุก ๆ 4-6 ชั่วโมงเป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยได้มากในกลุ่มผู้ป่วยที่ปัสสาวะบ่อยและไม่สามารถกลั้นได้
    • ปัสสาวะครั้งละ 2 ที เพื่อไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะที่จะทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย ได้แก่ เมื่อปัสสาวะไปแล้ว ให้รออีกประมาณ 5 นาที แล้วปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง ระหว่างรอ อาจเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืน เป็นต้น
    • ทำการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน(ฝึกขมิบก้นเพื่อกลั้นปัสสาวะ วิธีฝึกเช่นเดียวกับที่ผู้หญิงฝึกขมิบช่องคลอด) ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำอย่างเคร่งครัด
    • เมื่อจะต้องออกจากบ้าน ควรวางแผนเรื่องการปัสสาวะ(การใช้ห้องน้ำ)ไว้ล่วงหน้าเสมอเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปัสสาวะ

 การใช้ยาต่างๆ: ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมฯไม่ได้ผล หรือในผู้ป่วยที่ตั้งแต่แรกมีอาการรุนแรงระดับปานกลาง หรือมีอาการที่มีผลต่อการใช้ชีวิติประจำวัน ซึ่งยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2-3 ชนิด บางชนิดเป็นยาลดอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อที่บีบรัดท่อปัสสาวะ บางชนิดมีสรรพคุณลดขนาดต่อมลูกหมาก และบางชนิดเป็นสมุนไพรที่สกัดขึ้นเพื่อลดอาการบวม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการให้ยาตามความเหมาะสมซึ่งยาที่ใช้รักษาอาการของโรคต่อมลูกหมากโต สามารถแบ่งออกได้ 3 กลุ่มดังนี้  ยาในกลุ่มอัลฟา-บล็อกเกอร์ (Alpha adrenergic blockers)   ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เป็นยาลดความดัน แต่ปัจจุบันได้พัฒนาต่อจนมีผลต่อความดันโลหิตน้อยมาก ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์เร็ว ผู้ป่วยจะรู้สึกปัสสาวะสะดวกขึ้นภายใน 3 วัน แต่ถ้าหยุดยาและอาการก็จะกลับมาอย่างรวดเร็ว ยาในกลุ่มนี้จะใช้กันแพร่หลายที่สุด พราโซซิน (prazosin) เทราโซซิน (tera-zosin) ดอกซาโซซิน (doxazosin) ยาที่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน (DHT) (Dihydrotestosterone)  ยาในกลุ่มนี้จะลดการสร้างฮอร์โมน DHT ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก แม้ว่าจะออกฤทธิ์ช้า แต่สามารถลดขนาดของต่อมลูกหมากได้ในระดับหนึ่ง จะมีประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยที่มีต่อมลูกหมากค่อนข้างโต ไฟนาสเตอไรด์ (fina-steride) ยาสมุนไพร มีอยู่หลายชนิด สำหรับชนิดที่แพร่หลายที่สุด คือ จากสมุนไพรชื่อ Saw palmetto แต่ประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจนนัก

  1. การผ่าตัด: แพทย์จะเลือกใช้วิธีการนี้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับ อาการ สุขภาพผู้ป่วย ความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว และดุลพินิจของแพทย์ ใน ปัจจุบันนิยมผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (transurethral resection of the prostatic หรือ TURP) เป็นการผ่าตัดเป็นวิธีรักษาโดยขูดต่อมลูกหมากด้วยกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ หรือที่เพื่อตัดต่อมลูกหมากออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งสามารถทำได้โดยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ หรือศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ในระหว่างผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการวางยาเฉพาะส่วนล่าง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ ในระยะ 3 - 4 วันแรกแพทย์จะใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะได้พัก และรอให้ปัสสาวะใสเสียก่อนจึงจะเอาสายสวนปัสสาวะออก ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 - 4 สัปดาห์ วิธีนี้แพทย์จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือมีภาวะแทรกซ้อน  นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆอีกเช่น  การใช้คลื่นความร้อน เช่น ไมโครเวฟ คลื่นวิทยุ หรือเลเซอร์ ผ่านเข้าไปที่ต่อมลูกหมาก เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อและเล็กลง ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์เลือกใช้ในรายผู้ป่วยที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดรวมถึงวิธี การขยายท่อปัสสาวะโดยการใส่ท่อคาไว้ (prostatic urethral stent) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้  หรือปฏิเสธการผ่าตัด

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคต่อมลูกหมากโต

  1. ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวมีปัญหาหรือเคยป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต
  3. ผู้ที่มีความผิดปกติของอัณฑะ
  4. ผู้มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
  5. ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย
  6. ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวาน

การติดต่อของโรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่เกิดจากการขาดสมดุลของฮอร์โมนเพศชายหลายๆชนิด ซึ่งจะทำให้เซลล์ของต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติ มักเกิดในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และโรคต่อมลูกหมากโตนี้ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อและไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน และจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต

  1. ฝึกปัสสาวะให้เป็นเวลา เช่น ทุก 3 ชั่วโมง แล้วค่อยๆปรับระยะเวลาตามอาการเพื่อป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  2. ปัสสาวะครั้งละ 2 ที เพื่อไม่ให้ปัสสาวะเหลือค้างในกระเพาะปัสสาวะที่จะทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะและปัสสาวะบ่อย ได้แก่ เมื่อปัสสาวะไปแล้ว ให้รออีกประมาณ 5 นาที แล้วปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง ระหว่างรอ อาจเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นยืน เป็นต้น
  3. ทำการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการฝึกขมิบก้น/ขมิบเพื่อกลั้นปัสสาวะ
  4. ดื่มน้ำในแต่ละวันให้พอควร อย่าให้มากเกินไป
  5. ลด หรือเลิกดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน
  6. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่จะทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาโรคซึมเศร้า
  8. การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับสุขภาพทุกวัน เพื่อการควบคุมน้ำหนัก และไม่ให้เกิดโรคอ้วน
  9. เมื่อจะต้องออกจากบ้าน ควรวางแผนเรื่องการใช้ห้องน้ำไว้ล่วงหน้าเสมอเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปัสสาวะ
  10. รักษาร่างกายให้อบอุ่น อากาศที่หนาว จะทำให้อาการแย่ลง
  11. ระวังไม่ให้ท้องผูก

การป้องกันตนเองจากโรคต่อมลูกหมากโต ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีใดที่ช่วยป้องกันปัญหาต่อมลูกหมากโตได้อย่างแท้จริงเพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ และความเสี่ยงต่อโรคที่สำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขได้นั้นก็คืออายุที่มากขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น หากมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งนานๆ ปัสสาวะไม่พุ่ง กลางคืนต้องลุกขึ้นมาถ่ายปัสสาวะ บ่อย หรือปัสสาวะเป็นเลือด ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด  เมื่อพบว่าเป็นต่อมลูกหมากโตก็ควรกินยารักษา หรือทำการผ่าตัดแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์  

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคต่อมลูกหมากโต พืชสมุนไพรที่มีรายงานการวิจัยทางคลินิกว่ามีฤทธิ์รักษาโรคต่อมลูกหมากโตได้แก่ มะเขือเทศ และฟักทอง โดยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอยู่เป็นโรคต่อมลูกหมากโตระยะเริ่มต้นรับประทานซอสมะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) วันละ 50 กรัม (มี lycopene อยู่ 13 มิลลิกรัม) ติดต่อกัน 10 สัปดาห์พบว่า มีผลทำให้ค่า prostate-specific antigen (PSA) ในเลือดซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงภาวะต่อมลูกหมากโตลดลง และการศึกษาทางคลินิกโดยให้ผู้ป่วยรับประทานแคปซูลสารสกัดเมล็ดฟักทองขนาด 1000 มิลลิกรัมต่อวัน มีผลทำให้ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตมีอาการดีขึ้น เมื่อรับประทานติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์

มะเขือเทศ  ชื่อวิทยาศาสตร์Solanum lycopersicum วงศ์ Solanaceae มีหลายการศึกษาพบว่าไลโคพีนในมะเขือเทศสามารถลดระดับ PSA และป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ โดยผ่านกลไกการทำงานต่าง ๆ ได้แก่ การลดการเกิด lipid oxidation ต้านอนุมูลอิสระและ ลดการสังเคราะห์ 5- alpha dihydrotestosterone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการโตของต่อมลูกหมากและยังพบว่าการบริโภคไลโคพีนจากผลิตภัณฑ์มะเขือเทศซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีระดับไลโคพีนในเลือดสูงขึ้นจะสามารถลดระดับ PSA ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้  Schwarz และคณะ (2008) ศึกษาในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต (PSA > 4 mg/L) บริโภคไลโคพีนวันละ 15 mg นาน 6 เดือน พบว่าสามารถป้องกันต่อมลูกหมากโตได้เมื่อตรวจทางทาวรหนักและการตรวจอัลตราซาวด์และระดับ PSA ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอก(placebo) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(P < 0.05) และการทำแบบสอบถามอาการของต่อมลูกหมากฉบับนานาชาติ (International Prostate Symptom Score; IPSS) พบว่ากลุ่มที่ได้รับไลโคพีนมีอาการของต่อมลูกหมากดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตที่มีความเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 80 ที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในอนาคต (High Grade Prostatic Intraepithelial Neoplasia; HGPIN) โดยกลุ่มทดลองที่ได้รับไลโคพีนวันละ 8 mg ต่อเนื่องทุกวันนาน 1 ปี (20 คน) เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (20 คน) พบว่ากลุ่มที่ได้รับไลโคพีนมีระดับ PSA ลดลง จาก 6.07 mg/L เป็น 3.5 mg/L คิดเป็นร้อยละ 42 และมีไลโคพีนในเลือดเพิ่มขึ้นจาก 360 เป็น 680 mg/L และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาพบว่ากลุ่มทดลองมีผู้ป่วยจำนวน 2 คนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ในขณะผู้ป่วยกลุ่มควบคุมจำนวน 6 คนที่ไม่ได้รับประทานอาการที่มีไลโคพีน (มะเขือเทศ แตงโม) ตลอดช่วงที่ทำการศึกษามีระดับ PSA เพิ่มสูงขึ้น และผู้ที่มีระดับไลโคพีนในเลือดลดลงกลับเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงว่าการบริโภคไลโคพีนนาน 1 ปีสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้

ฟักข้าว มีชื่อสามัญว่า Spring bitter cucumber ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Momordica Cochinchinensis Spreng.  ฟักข้าว เป็นผลไม้ที่อุดมด้วยไลโคปีน และสารพฤษเคมีอื่นๆ ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ เช่น เบต้า-แคโรทีน สูงกว่าแครอท 10 เท่า มีวิตามินซีมากกว่าส้ม 40 เท่า มีซีแซนทีนมากกว่า ข้าวโพด 40 เท่า อุดมด้วยวิตามินอี วิตามินเอ กรดไขมันโอเมก้า-3, โอเมก้า-6 และโอเมก้า-9 ช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระสูง และการไหลเวียนของเลือด  และในฟักข้าว มีไลโคปีน ชนิดพิเศษ เรียกว่า ไลโปแคโรทีน (Lipocarotene) เป็นกรดไขมันสายยาวที่ช่วยจับแคโรทีน จึงช่วยดูดซึมแคโรทีน ฟักข้าว จึงเป็นแหล่งของไลโคปีน ที่ดีที่สุด  ไลโคปีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า ช่วยชะลอความชรา ต้านความเสื่อมของร่างกาย ช่วยลดโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากในเพศชาย โดยต่อมลูกหมาก เป็นต่อมที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ ต่อมลูกหมากตั้งอยู่ระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะ เมื่อผู้ชายอายุสูงขึ้นคือ ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศชาย(เทสโทสเตอโรน) ลดลง ส่งผลให้เซลล์ในต่อมลูกหมาก แบ่งตัวมากขึ้น ต่อมลูกหมากจึงโตขึ้น และหากมีการอักเสบร่วมด้วยก็จะมีโอกาสเกิดมะเร็ง ได้สูงขึ้น ไลโคปีน จะควบคุมการโตของต่อมลูกหมาก ช่วยทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตาย และลด การแบ่งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากได้อีกด้วย

หญ้าหนวดแมว ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthosiphon stamineus Benth.   วงศ์ : Labiatae หรือ Lamiaceae   สรรพคุณหญ้าหนวดแมว ช่วยขับปัสสาวะ ทำให้การหลั่งปัสสาวะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในตำรายาหลายฉบับกล่าวถึงสรรพคุณต่างๆ เช่น  ตำรายาใช้ใบ และลำต้นการรักษา และป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะ ลำต้น ใช้ทั้งแบบสดหรือแบบแห้ง ด้วยการต้มดื่ม โดยเฉพาะชายสูงอายุที่ช่วยแก้โรคต่อมลูกหมากโต และแก้ปัญหาปัสสาวะติดขัด รวมถึงมีฤทธิ์ในการขับกรดยูริก

เถาวัลย์เปรียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Derris scandens (Roxb.) Benth  ชื่อวงศ์Papilionaceae  สรรพคุณ:           ตำรายาพื้นบ้าน: ใช้เถา ขับปัสสาวะ แก้กระษัยเหน็บชา ถ่ายกระษัย แก้เส้นเอ็นขอด ถ่ายเสมหะ ไม่ถ่ายอุจจาระ ทำให้เส้นเอ็นอ่อนลง ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ

กระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L. ชื่อวงศ์ Malvaceae  สรรพคุณ:     ตำรายาไทย: กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว แก้อาการขัดเบา  การศึกษาทางคลินิก: ลดความดันโลหิต ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยโรคนิ่วในท่อไต ถ่ายปัสสาวะสะดวกขึ้น ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีอาการปวดแสบเวลาปัสสาวะน้อยลง  รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:   ขับปัสสาวะ ใช้สมุนไพรแห้ง บดเป็นผง 3 กรัม (หรือ 1 ช้อนชา) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย

 

 เอกสารอ้างอิง

  1. โรคต่อมลูกหมายโต .สมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. Mohanty NK, Saxena S, Singh UP, Goyal NK, Arora RP. Lycopene as a chemopreventive agent in the treatment of high-grade prostate intraepithelial neoplasia. Urol Oncol Sem Orig Invest 2005;23:383-385
  3. สมุนไพรตัวไหนบ้างที่ใช้รักษาต่อมลูกหมากโต.กระดานถาม-ตอบ.สำรักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6686
  4. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ต่อมลูกหมากโต.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่345.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.มกราคม.2551
  5. รศ.นพ.อนุพันธ์ ตันติวงศ์.ต่อมลูกหมากโต.ภาวิชาศัลย์ศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ต่อมลูกหมากโต-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์ดอทคอม.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก https://www.pobpad.com
  7. Wei MY, Giovannucci EL. Lycopene, tomato products, and prostate cancer incidence: A review and reassessment in the PSA screening era. J Oncol 2012:2012:1-7. (doi: 10.1155/2012/271063)
  8. เอมอร.ชัยประทีป.ผลของมะเขือเทศที่อุดมไปด้วยไลโคพีนในโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก.คอลัมน์นิพนธ์ปริทัศน์.นิตยสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ.ปีที่10.ฉบับที่3.กรกฎาคม-กันยายน.2558.หน้า117-121
  9. เกรียงศักด์ เดชอนันต์,  พยับเมฆหรือหญ้าหนวดแมว, วนสาร, ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 : หน้า 33-35.2528,
  10. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hyperplasia /BPH)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 865-867.
  11. Edwards,J. Am Fam Physician 2008;77(10): 1410-1413
  12. Ellinger S. Tomatoes, tomato products, and lycopene in prevention and therapy of prostate diseases-Is there evidence from intervention studies for preventive and for therapeutic effects. In: Watson RR,
  13. เถาวัลย์เปรียง.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=63
  14. พะยอม ตันติวัฒน์.สมุนไพร.2521
  15. . Schwarz S, Obemuller-jevic UC, Hellmis E. Koch W, Jacobi G, Biesalski HK. Lycopene inhibits disease progression in patients with benign prostate hyperplasia. J Nutr 2008;138:49-53.
  16. Pearson;R; and Williams; P. Am Fam Physician.2014;90(11):769-774
  17. กระเจี๊ยบแดง.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=1