โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

โรคถุงลมโป่งพองคืออะไร โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) ซึ่งโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะประกอบไปด้วยโรคหลอดลมอักเสบและถุงลมโป่งพอง โดยปกติแล้วจะพบลักษณะของ 2 โรคนี้ร่วมกัน แต่หากตรวจพบว่าปอดมีพยาธิสภาพของถุงลมที่โป่งพองออกเป็นลักษณะเด่น ก็จะเรียกว่า “โรคถุงลมโป่งพอง” ซึ่งหมายถึง ภาวะพิการอย่างถาวรของถุงลมในปอด ซึ่งเป็นผลมาจากผนังถุงลมเสียความยืดหยุ่นและเปราะง่าย ทำให้ถุงลมสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ และผนังของถุงลมที่เปราะยังมีการแตกทะลุ ทำให้มีถุงลมขนาดเล็ก ๆ หลาย ๆ อันรวมตัวเป็นถุงลมที่โป่งพองและพิการ ส่งผลให้จำนวนพื้นผิวของถุงลมที่ยังทำหน้าที่ได้ทั้งหมดลดน้อยลงกว่าปกติ และมีอากาศข้างในปอดมากกว่าปกติเป็นผลให้ออกซิเจนจึงเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจตื้นและเกิดอาการเหนื่อยหอบง่ายตามมา

โรคนี้มักจะพบในผู้สูงอายุ (ช่วงอายุ 45-65 ปี) พบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง และมักพบร่วมกับโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและแยกออกจากกันยาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประวัติการสูบบุหรี่จัด  มานานเป็น 10-20 ปีขึ้นไป หรือไม่ก็มีประวัติอยู่การได้รับมลพิษทางอากาศในปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่ว่าจะเป็นอากาศเสีย ฝุ่น ควัน หรือมีอาชีพทำงานในโรงงานหรือเหมืองแร่ที่หายใจเอาสารระคายเคืองเข้าไปเป็นประจำ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นโรคที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในประชากรทั่วโลก โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาพบเป็นลำดับที่ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากร หากนับเฉพาะโรคถุงลมโป่งพอง อัตราการพบโรค คือ 18 คน ในประชากร 1,000 คน  ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันของถุงลมโป่งพองในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกันกับทั่วโลก และเป็นหนึ่งในสิบ สาเหตุของการเสียชีวิต ของประชากรไทย จึงนับเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยอีกโรคหนึ่ง

สาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง คือการสูบบุหรี่ แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 6 เท่า ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีประวัติสูบบุหรี่จัด (มากกว่าวันละ 20 มวน) นาน 10-20 ปีขึ้นไปสารพิษในบุหรี่จะค่อยๆ ทำลายเยื่อบุหลอดลมและ ถุงลมในปอด ทีละน้อย ใช้เวลานานนับสิบๆ ปี จนในที่สุดถุงลมปอดพิการ คือสูญเสียหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนอากาศ (นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอากาศเสียออกจากร่างกาย และนำออกซิเจนซึ่งเป็นอากาศดีเข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบทางเดินหายใจ) เกิดอาการหอบเหนื่อยง่าย และเกิดโรคติดเชื้อของปอดซ้ำซาก

นอกจากบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยส่วนน้อยยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น มลพิษในอากาศ การหายใจเอามลพิษในอากาศ เช่น ควันจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ไอเสียรถยนต์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดถุงลมโป่งพอง เพราะพบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีอัตราการป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคถุงลมโป่งพองได้มากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบท มลพิษทางอากาศจึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ควันพิษหรือสารเคมีจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละอองหรือควันพิษที่มีส่วนประกอบของสารเคมีหรือฝุ่นละอองจากไม้ ฝ้าย หรือการทำเหมืองแร่ หากหายใจเข้าไปในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เกิดถุงลมโป่งพองได้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสมากขึ้นไปอีกหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ ภาวะพร่องสารต้านทริปซิน (α1-antitrypsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่าง ๆ จึงช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมปอดถูกสารพิษ ภาวะนี้จัดเป็นโรคทางพันธุกรรมที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้ ซึ่งโรคทางพันธุกรรมชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในคนเชื้อชาติผิวขาว มักเกิดอาการในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 40-50 ปี และผู้ป่วยมักจะไม่สูบบุหรี่ อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้ก็พบเกิดได้น้อยมากคือประมาณ 3% ของโรคปอดเรื้อรังทั้งหมด

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง ระยะแรกจะมีอาการของหลอดลมอักเสบเรื้อรัง กล่าวคือจะมีอาการไอมีเสมหะเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี ผู้ป่วยมักจะไอหรือขากเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้าเป็นประจำ จนนึกว่าเป็นเรื่องปกติและไม่ได้ใส่ใจดูแลรักษา ต่อมาจะเริ่มไอถี่ขึ้นตลอดทั้งวัน และมีเสมหะจำนวนมาก ในช่วงแรกเสมหะมีสีขาว ต่อมาอาจจะกลายเป็นสีเหลืองหรือเขียว มีไข้ หรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราวจากโรคติดเชื้อแทรกซ้อน นอกจากอาการไอเรื้อรังดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงมาก  อาการหอบเหนื่อยจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น แม้แต่เวลาเดินตามปกติ เวลาพูดหรือทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย

                   หากผู้ป่วยยังสูบบุหรี่ต่อไป ในที่สุดอาการจะรุนแรง จนแม้แต่อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกหอบเหนื่อย ทั้งนี้เนื่องจากถุงลมปอดพิการอย่างรุนแรง ไม่สามารถทำหน้าที่แลกเปลี่ยนอากาศ นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายให้เกิดพลังงานผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหนักเป็นครั้งคราว เนื่องจากมีการติดเชื้อ (หลอดลมอักเสบ ปอด) แทรกซ้อน ทำให้มีไข้ ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียว หายใจหอบ หายใจมีเสียงดังวี้ดๆ ตัวเขียว จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล  เมื่อเป็นถึงขั้นระยะรุนแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด รูปร่างผ่ายผอม มีอาการหอบเหนื่อย อยู่ตลอดเวลา มีอาการทุกข์ทรมานและอาจเสียชีวิตได้จากโรคแทรกซ้อน

            นอกจากนั้น ในบางรายอาจพบว่ามีริมฝีปากหรือเล็บเป็นสีคล้ำออกม่วงเทาหรือฟ้าเข้มเนื่องจากขาดออกซิเจน หรือหากมีอาการหายใจตื้นเป็นเวลานานหลายเดือนและมีอาการที่แย่ลงอีกด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคถุงลมโป่งพอง ปัจจัยเสี่ยงแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ปัจจัยด้านผู้ป่วย เช่น ลักษณะทางพันธุกรรม เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ขาดเอนไซม์ (Enzyme) ชื่อ Alpha-one antitrypsin  ซึ่งเป็นเอนไซม์ป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจากสารต่างๆ ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานได้
  2. ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อม มีความสำคัญมากที่สุด ได้แก่
  • ควันบุหรี่ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคนี้ พบว่ามากกว่าร้อยละ 75.4 ของผู้ป่วยCOPD เกิดจากบุหรี่การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งรวมถึงบุหรี่ยาเส้นพื้นบ้านด้วย ปริมาณและระยะเวลาที่สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค ยิ่งสูบบุหรี่มากและสูบมานานหลายปี ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มาก นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้เช่นกัน
  • มลภาวะทั้งในบริเวณบ้าน ที่ทำงาน และที่สาธารณะที่สำคัญคือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร (biomass fuel) และสำหรับขับเคลื่อนเครื่องจักรต่างๆ (diesel exhaust)

แนวทางการรักษาโรคถุงลมโป่งพอง การวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพองแพทย์จะอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ ประวัติสัมผัสปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับอาการ ผลการตรวจร่างกาย ภาพรังสีทรวงอก และยืนยันการวินิจฉัยด้วย spirometry ดังอาการต่อไปนี้

อาการส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จะมีอาการเมื่อพยาธิสภาพลุกลามไปมากแล้ว อาการที่ตรวจพบ ได้แก่ หอบเหนื่อยซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ไอเรื้อรังหรือมีเสมหะโดยเฉพาะในช่วงเช้า อาการอื่นที่พบได้ คือ แน่นหน้าอก หรือหายใจมีเสียงหวีด

การตรวจทางรังสีวิทยาภาพรังสีทรวงอกมีความไวน้อยสำหรับการวินิจฉัยโรคถุงลมโป่งพอง แต่มีความสำคัญในการแยกโรคอื่น ในผู้ป่วย emphysema อาจพบลักษณะ hyperinflation คือ กะบังลมแบนราบและหัวใจมีขนาดเล็กมีอากาศในปอดมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่มี corpulmonale จะพบว่าหัวใจห้องขวา และ pulmonary trunk มีขนาดโตขึ้น และ peripheral vascular marking ลดลง

การตรวจสมรรถภาพปอด Spirometry มีความจำเป็นในการวินิจฉัยโรคนี้มาก และสามารถจัดระดับความรุนแรงของโรคได้ด้วย โดยการตรวจ spirometry นี้จะต้องตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการคงที่ (stable) และไม่มีอาการกำเริบของโรคอย่างน้อย 1 เดือน การตรวจนี้สามารถวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ  โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วเป่าลมหายใจออกอย่างรวดเร็วผ่านเครื่องสไปโรมิเตอร์ (Spirometry) แล้ววัดดูค่า FEV1 (Forced expiratory volume in 1 second) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกใน 1 วินาที และค่า FVC (Forced vital capacity) ซึ่งหมายถึง ปริมาตรอากาศที่หายใจออกทั้งหมดจนสุดอย่างเต็ม 1 ครั้ง จะพบลักษณะของ airflow limitation โดยค่า FEV1 / FVC หลังให้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่าร้อยละ 70 และแบ่งความรุนแรงเป็น 4 ระดับ โดยใช้ค่า FEV1 หลังให้ยาขยายหลอดลม

การตรวจด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Pulse oximetry) เป็นการตรวจเพื่อวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ซึ่งในผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองมักจะมีออกซิเจนในเลือดต่ำ คือ วัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดได้น้อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ (โดยค่าปกติจะอยู่ที่ 96-99% หากต่ำกว่านี้ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ)

การตรวจหาระดับสารทริปซินในเลือด หากผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองมีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี สาเหตุอาจมาจากภาวะพร่องสารต้านทริปซินซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมได้ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องตรวจหาปริมาณ α1-antitrypsin ในเลือด

การรักษา เพื่อคงสภาพร่างกายปัจจุบันให้ดีที่สุด และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วยหลัก 4 ประการ คือ  การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง  การรักษา stable COPD  การประเมินและติดตามโรค  การรักษาภาวะกําเริบเฉียบพลันของโรค (acute exacerbation)

  1. การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ในการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร โดยใช้พฤติกรรมบำบัด หรือร่วมกับยาที่ใช้ช่วยเลิกบุหรี่ และหลีกเลี่ยงหรือลดมลภาวะ เช่น เลี่ยงการใช้เตาถ่านในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เป็นต้น
  2. การรักษา  stable COPD การดูแลรักษาผู้ป่วยอาศัยการประเมินความรุนแรงของโรคตามอาการและผล spirometry ส่วนปัจจัยอื่นที่ใช้ประกอบในการพิจารณาให้การรักษา ได้แก่ ประวัติการเกิดภาวะกำเริบเฉียบพลันของโรค ภาวะแทรกซ้อน ภาวการณ์หายใจล้มเหลว โรคอื่นที่พบร่วม และสถานะสุขภาพ  (health status) โดยรวม

การให้ข้อมูลที่เหมาะสมเกี่ยวกับโรค และแผนการรักษาแก่ผู้ป่วยและญาติ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยมีทักษะในการเรียนรู้การใช้ชีวิตกับโรคนี้ดีขึ้น และสามารถวางแผนชีวิตในกรณีที่โรคดำเนินเข้าสู่ระยะสุดท้าย  (end of life plan)

การรักษาด้วยยา การใช้ยามีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ ลดการกำเริบ และเพิ่มคุณภาพชีวิต ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดที่มีหลักฐานชัดเจนว่าสามารถลดอัตราการตาย และชะลออัตราการลดลงของสมรรถภาพปอดได้ ซึ่งการรักษาดัวยยา จะประกอบด้วยยาต่างๆ เช่น

ยาขยายหลอดลม ยากลุ่มนี้ทำให้อาการและสมรรถภาพการทำงานของผู้ป่วยดีขึ้น ลดความถี่และความรุนแรงของการกำเริบ เริ่มคุณภาพชีวิตทำให้สถานะสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้น แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจจะมีการตอบสนองต่อยาขยายหลอดลมตามเกณฑ์การตรวจ spirometry ก็ตาม

ยาขยายหลอดลมที่ใช้ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ β2-agonist, anticholinergic แĈะ xanthine derivative

การบริหารขยายหลอดลม แนะนำให้ใช้วิธีสูดพ่น  (metered-dose หรือ dry-powder inhaler) เป็นอันดับแรกเนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงน้อย

ICSถึงแม้ว่าการให้ยา ICS อย่างต่อเนื่องจะไม่สามารถชะลอการลดลงของค่า FEV แต่สามารถทำให้สถานะสุขภาพดีขึ้น และลดการกำเริบของโรคในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการรุนแรงและที่มีอาการกำเริบบ่อย

ยาผสม ICS และ LABA ชนิดสูด มีหลักฐานว่ายาผสมกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ายา LABA หรือยา ICS ชนิดสูดเดี่ยวๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยขั้นรุนแรงและมีอาการกำเริบบ่อยๆ แต่ก็ยังมีความโน้มเอียงที่จะเกิดปอดอักเสบสูงขึ้นเช่นกัน

Xanthine derivatives มีประโยชน์แต่เกิดผลข้างเคียงได้ง่าย จึงควรพิจารณาเลือกยาขยายหลอดลมกลุ่มอื่นก่อน ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ได้จากการศึกษายาชนิดที่เป็น sustained-release เท่านั้น

การรักษาอื่นๆ วัคซีน แนะนำให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ เดือนมีนาคม – เมษายน แต่อาจให้ได้ตลอดทั้งปี การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด  (pulmonary rehabilitation)มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอาการของโรค เพิ่มคุณภาพชีวิต และเพิ่มความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดนี้ จะต้องครอบคลุมทุกปัญหาที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สภาพของกล้ามเนื้อ สภาพอารมณ์และจิตใจ ภาวะโภชนาการเป็นต้น ให้การบำบัดด้วยออกซิเจนระยะยาว  การรักษาโรคการผ่าตัด และ/หรือ หัตถการพิเศษ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา และการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดอย่างเต็มที่แล้ว ยังควบคุมอาการไม่ได้ ควรส่งต่ออายุรแพทย์ผู้ชำนาญโรคระบบการหายใจ เพื่อประเมินการรักษาโดยการผ่าตัด เช่น

  • Bullectomy
  • การผ่าตัดเพื่อลดปริมาตรปอด  (lung volume reduction surgery)
  • การใส่อุปกรณ์ในหลอดลม (endobronchial valve)
  • การผ่าตัดเปลี่ยนปอด

การประเมินและติดตามโรค ในการประเมินผลการรักษาควรมีการประเมินทั้ง อาการผู้ป่วย  (subjective) และผลการตรวจ (objective) อาจประเมินทุก 1-3 เดือนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคและปัจจัยทางเศรษฐสังคม ทุกครั้งที่พบแพทย์ ควรติดตามอาการ อาการเหนื่อยหอบ ออกกำลังกาย ความถี่ของกการกำเริบของโรค อาการแสดงของการหายใจลำบาก และการประเมินวิธีการใช้ยาสูดทุก 1 ปี ควรวัด  spirometry ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยคุกคามกิจวัตรประจําวัน ควรวัด BODE Index, 6 minute walk distance, ระดับ oxygen saturation หรือ arterial blood gases

การรักษาภาวะกำเริบเฉียบพลันของโรค  (acute exacerbation)การกำเริบเฉียบพลันของโรค หมายถึง ภาวะที่มีอาการเหนื่อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในระยะเวลาอันสั้น (เป็นวันถึงสัปดาห์) และ/หรือ มีปริมาณเสมหะเพิ่มขึ้น หรือมีเสมหะเปลี่ยนสี (purulent sputum) โดยต้องแยกจากโรคหรือภาวะอื่นๆ เช่น หัวใจล้มเหลว pulmonary embolism, pneumonia, pneumothorax

การติดต่อของโรคถุงลมโป่งพอง โรคถุงลมโป่งพองเกิดจาก เยื่อบุหลอดลมและถุงลมในปอดถูกทำลายโดยสารพิษต่างๆ เช่น สารพิษในควันบุหรี่ , มลพิษทางอาการและสารเคมี ที่เราสูดดมเข้าไป เป็นเวลานานและในปริมาณที่มาก ซึ่งโรคถุงลมโป่งพองไม่ได้มีการติดต่อ จากคนสู่คน หรือ จากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด แต่อาจพบได้ว่าเกิดจากกรรมพันธุ์ (ภาวะบกพร่องสารต้านทริปซีน (a1-antitrypsin)) แต่พบได้น้อยมาก ประมาณ 3% ของโรคปอดเรื้อรังทั้งหมด

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

  1. ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอและใช้ยารักษาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์กำหนด
  2. เลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด
  3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษ เช่น ฝุ่น ควัน
  4. ดื่มน้ำมากๆ วันละ 10-15 แก้ว เพื่อช่วยขับเสมหะ
  5. ในรายที่เป็นระยะรุนแรง มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรหาทางบำรุงอาหารให้ร่างกายแข็งแรง
  6. หากจำเป็นควรมีถังออกซิเจนไว้ประจำบ้าน เพื่อใช้ช่วยหายใจ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย
  7. หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น เป็นไข้ หายใจหอบ ก็ควรรีบพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
  8. รับประทานอาการที่มีประโยชน์ครบ ทั้ง 5 หมู่
  9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  10. รักษาสุขภาพอย่างเคร่งครัด

การป้องกันตนเองจากโรคถุงลมโป่งพอง

  • การป้องกันที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สูบบุหรี่ (รวมถึงยาเส้น) และหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่สูบบุหรี่หรือสถานที่ที่มีควันบุหรี่ 
  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หากเลิกสูบไม่ได้ ควรหมั่นไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเริ่มมีอาการไอบ่อยทุกวันโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ และรู้จักสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองจากควันและสารพิษที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ส่วนผู้ที่ต้องทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนหุงต้มหรือก่อไฟภายในที่ขาดการถ่ายเทอากาศ
  • ถ้าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด ต้องได้รับการรักษาอย่างจริงจังและรับประทานยาอย่างเคร่งครัด

สมุนไพรที่ใช้รักษา/บรรเทาอาการของโรคถุงลมโป่งพอง

  • ขิงแก่ สุดยอดอาหารบำรุงปอด ช่วยขับสารนิโคตินในผู้สูบบุหรี่  มีสรรพคุณในการกำจัดนิโคตินตกค้างในปอดรวมถึงหลอดลม ช่วยขจัดสารพิษที่เกิดจากนิโคตินในกระแสเลือด นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเด่นเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบทางเดินหายใจ การเปิดหลอดลม ระบายขับความร้อน เวลารับประทานขิงจึงรู้สึกโล่ง
  • กระเทียม กระเทียมเป็นยาบำรุงร่างกาย กินเป็นยาแก้อักเสบในอก ในปอด แก้เสมหะ
  • ขมิ้น  เป็นสมุนไพรพื้นฐานที่ใช้รักษาอาการอักเสบกับอวัยวะต่างๆ แก้ไข้เพ้อคลั่ง แก้ไข้ร้อน แก้เสมหะ อายุเวทแนะนำให้กินผงขมิ้นละลายกับน้ำผึ้ง เป็นยาบำรุงปอด สมานแผลอักเสบในปอด มีขมิ้นแคปซูลกินเช้าเย็นได้
  • ฟ้าทะลายโจร  รสขม สรรพคุณกินแก้อาการอักเสบต่างๆ แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปอดอักเสบ แก้ไอ แก้เจ็บคอ

 

 เอกสารอ้างอิง

    1. สมุนไพรบำรุงปอด.สยามรัฐ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.siamrath.co.th/web/?q
    2. รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.ถุงลมปอดโป่งพอง.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่361.คอลัมน์สารานุกรมทันโรค.พฤษภาคม.2552
    3. Spencer S, Calverley PM, Burge PS, et al. Impact of preventingexacerbations on deterioration of health status in COPD. EurRespir J 2004; 23:698-702.
    4. Calverley P, Pauwels R, Vestbo J, et al. Combined salmeterol and fluticasone in the treatment of chronic obstructive pulmonary disease: a randomized controlled trial. Lancet 2003; 361:449-56
    5. Eric G. Honig, Roland H. Ingram, Jr. Chronic bronchitis, emphysema, and airways obstruction, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald, Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
    6. Calverley PM, Anderson JA, Celli B, et al. Salmeterol and fluticasone propionate and survival in chronic obstructive pulmonary disease. N Engl J Med 2007; 356:775-89.
    7. โรคถุงลมโป่งพอง-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.pobpad.com
    8. แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง พ.ศ.2553.สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย,สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ.วารสารวัณโรค โรคทรวงอกและเวชบำบัดวิกฤต.ปีที่31.ฉบับที่3.กรกฎาคม-กันยายน2553.หน้า102-110
    9. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ถุงลมปอดโป่งพอง (Emphysema)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 432-436.
    10. Szafranski W, Cukier A, Ramirez A, et al. Efficacy and safety of budesonide/formoterol in the management of chronic obstructive pulmonary disease. Eur Respir J 2003; 21:74-81.
    11. Lung Health Study Research Group. Effect of inhaled triamcinolone on the decline in pulmonary function in chronic obstructive pulmonary disease: Lung Health Study II. N Engl J Med 2000; 343:1902-09.
    12. Mahler DA, Wire P, Horstman D, et al. Effectiveness of fluticasone propionate and salmeterol combination delivered via the Diskus device in the treatment of chronic obstructive pulmonary disease. Am J Respir Crit Care Med 2002; 166:1084-91.
    13. Burge PS, Calverley PM, Jones PW, et al. Randomised, double blind, placebo controlled study of fluticasone propionate in patients with moderate to severe chronic obstructive pulmonary disease: the ISOLDE trial. BMJ 2000; 320:1297-303.
    14. Wongsurakiat P, Maranetra KN, Wasi C, et al. Acute respiratory illness in patients with COPD and the effectiveness of influenza vaccination: a randomized controlled study. Chest 2004; 125: 2011-20.
    15. Pauwels RA. Lofdahl CG, Laitinen LA, et al. Long-term treatment with inhaled budesonide in persons with mild chronic obstructive pulmonary disease who continue smoking. European Respiratory Society Study on Chronic Obstructive Pulmonary Disease. N Engl J Med 1999; 340:1948-53.
    16. Jones PW, Willits LR, Burge PS, et al. Disease severity and the effect of fluticasone propionate on chronic obstructive pulmonary disease exacerbations. Eur Respir J 2003; 21:68-73.
    17. Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease. Global strategy for the diagnosis, management and prevention of chronic obstructive pulmonary disease. NHLBI/WHO workshop report. Bethesda, National Heart, Lung and Blood Institute, Date updated; November 2008.