โรคอหิวาตกโรค

โรคอหิวาตกโรค (Cholera)

1.  อหิวาตกโรคคืออะไร อหิวาตกโรคมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น โรคอหิวาต์, โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง, โรคลงราก หรือโรคห่า (Cholera) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานเข้าไป เชื้อจะไปอยู่บริเวณลำไส้ และจะสร้างพิษออกมา ทำปฏิกิริยากับเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ทำให้เกิดอาการท้องเดินอย่างมาก   

เริ่มด้วยอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างมากโดยไม่มีอาการปวดท้อง บางรายอุจจาระขาวขุ่นเหมือนน้ำซาวข้าว บางครั้งมีคลื่นไส้ อาเจียน สูญเสียน้ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเป็นกรดในเลือด และการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว โดยประมาณ 1 ใน 10 หรือคิดเป็นร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยทั้งหมด จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ ถ่ายเหลวเป็นน้ำมาก อาเจียน ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วและนำไปสู่ภาวะขาดน้ำและช็อคได้ หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง 

อหิวาตกโรคพบเกิดได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้เท่ากัน เป็นโรคพบบ่อยในประเทศยังไม่พัฒนา ซึ่งเกิดขึ้นตลอดทั้งปีและมีการระบาด เป็นครั้งคราวเสมอ ทั่วโลกพบโรคนี้ได้ประมาณ 3 - 5 ล้านคนต่อปี และอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ในปี 2553 ประมาณ 58,000 - 130,000 คน   ส่วนในประเทศไทยรายงานจากสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์อหิวาตก โรคจาก 1 มกราคม พ.ศ. 2555 ถึง 18 กันยายน ปีเดียวกัน พบโรคนี้ที่วินิจฉัยได้แน่นอนคิดเป็น 0.05 รายต่อประชากร 1 แสนคน  ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทางกระทรวงสาธารณสุขของไทยเรียกโรคนี้ว่า "โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง" โดยอาศัยอาการและคุณสมบัติของเชื้อที่เป็นสาเหตุการระบาดในประเทศไทยว่า มีสาเหตุจากเชื้อ Vibrio cholerae O1 ไบโอไทป์ El Tor ซึ่งแทบไม่พบสาเหตุที่เกิดจาก V. cholerae ไบโอไทป์ classical.เลย

2.  สาเหตุของอหิวาตกโรค อหิวาตกโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แกรมลบที่มีชื่อว่า วิบริโอคอเลอเร” (Vibrio cholerae) ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มหลายชนิดซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้ เป็นแบคทีเรียในตระกูล Vibrionaceae มีรูปร่างเป็นแท่งงอคล้ายกล้วยหอม มี flagella ที่ปลาย 1 เส้น ติดสีกรัมลบ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ไม่สร้างสปอร์ ไม่ต้องการออกซิเจน มีน้ำย่อย oxidase สามารถหมักน้ำตาลกลูโคส ซูโครส และมานิทอลได้ ให้ผลลบต่อไลซีนและ การทดสอบออนิทีนคาร์บอกซิเลส. เชื้อ V. cholerae จะมีรูปร่างกลมขณะอยู่ในสิ่งแวดล้อมในระยะพัก เมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสมจะปรับตัวเป็น active form รูปร่างยาว. การแบ่งกลุ่มของเชื้ออาศัย O antigen สามารถแบ่งกลุ่มต่างๆได้มากกว่า 200 ซีโรกรุ๊ป  เชื้อ Vibrio cholerae serogroup O(โอ)1ที่เป็นต้นเหตุของอหิวาตกจากโรค มี 2 biotypes คือ classical และ El Tor แต่ละ biotype แบ่งออกได้เป็น 3 serotypes คือ Inaba, Ogawa และ Hikojima เชื้อเหล่านี้จะสร้างสารพิษเรียกว่า Cholera toxin ทำให้เกิดอาการป่วยคล้ายกัน ปัจจุบันพบว่าการระบาดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ biotype El Tor เป็นหลักแทบไม่พบ biotype classical เลย ในปี พ.ศ. 2535-2536 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียและบังคลาเทศสาเหตุเกิดจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่คือ Vibrio cholerae O139 ดังนั้นในปัจจุบัน ซีโรกรุ๊ป O1 และ O139 เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญทำให้เกิดการระบาดได้. ส่วนซีโรกรุ๊ปอื่น (non-O1, non-O139) อาจทำให้เกิดอาการอุจจาระร่วงได้แต่ไม่พบว่าทำให้เกิดการระบาดของโรค.

แบคทีเรีย V.cholerae ถูกรายงานครั้งแรก ในปี ค.ศ.1854 ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี โดย Pacini ได้ตรวจพบแบคทีเรีย รูปร่างโค้งงอจำนวนมากในลำไส้ผู้ป่วย แล้วให้ชื่อว่า Vibrio cholera แต่การค้นพบครั้งนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับจนกระทั่ว Robert Koch ได้ศึกษาผู้ป่วยชาวอียิปติ ในปี ค.ศ.1883 และตรวจพบเชื้อแบคทีเรียรูปร่างคล้ายตัวอักษร comma และสามารถแยกเชื้อบริสุทธิ์ จึงตั้งชื่อว่า Kommabazillen แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น Vibrio comma และใช้ชื่อดังกล่าวมาหลายสิบปี จนกระทั่วคณะทำงานในกลุ่มของ Pacini ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Vibrio cholera จากประวัติดั้งเดิม พบว่าดรคนี้มีมาตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ.1800 หรือก่อนศตวรรษที่ 19 สันนิษฐานว่าจุดเริ่มต้นมาจากแม่น้ำคงคา และแม่น้ำพรหมบุตร ในประเทศอินเดีย ส่วนความหมายของ cholera ได้รับอิทธิพลมาจากภาษากรีก หมายถึง ‘bilious’ แปลว่า เกี่ยวกับน้ำดี การระบาดใหญ่ทั่วโลกพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1817 จนกระทั่ง ค.ศ.1923 รวม 6 ครั้ง มีสาเหตุจาก Vibrio cholerae serogroup O1 biotype Classical ปลายปี ค.ศ.1992 เกิดโรคระบาดใหญ่คล้ายอหิวาตกโรคอีกครั้งในทางตอนใต้และตะวันออกของอินเดีย รวมทั้งบังคลเทศ ลักษณะเชื้อคล้ายกับ V.cholerae serogroup O1 biotypeEl Tor แต่ไม่ตกตะกอนกับ antiserum ทั้ง 138 serogroup ที่มีอยู่เดิม จึงจัดให้เป็น V.cholerae สายพันธุ์ใหม่ serogroup O139 หรือ V.cholerae  Bengal.

3.  อาการของอหิวาตกโรค ผู้ที่ติดเชื้อแต่ละคน อาจแสดงอาการไม่เท่ากัน ขึ้นกับปริมาณเชื้อที่ได้รับและความต้านทางของแต่ละบุคคล ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 1-5 วัน อาการที่เห็นได้ชัด ได้แก่ อุจจาระร่วง ลักษณะอุจจาระในระยะแรกมักมีเศษอาหารปนอยู่ ต่อมามีอาการถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว ถ้าถ่ายนานๆอาจมีน้ำดีปนออกมาด้วย อุจจาระไม่มีมูกเลือด ผู้ป่วยอาจมีอาเจียนร่วมด้วย ส่วนอาการปวดท้องและมีไข้ไม่ค่อยพบ ในรายที่อาการไม่รุนแรงมักมีอาการคล้ายกับของโรคติดเชื้อในลำไส้จากเชื้อต่างๆ ได้แก่ Salmonella, Shigella และ Escherichia coli เป็นต้น  หากเป็นอย่างไม่รุนแรง พวกนี้มักหายภายใน 1 วัน หรืออย่างช้า 5 วัน มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ วันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระไม่เกินวันละ 1 ลิตร ในผู้ใหญ่อาจมีปวดท้องหรือ คลื่นไส้อาเจียนได้   ในรายที่อาการรุนแรง จะพบสภาวะร่างกายขาดสารน้ำและแร่ธาตุ ทำให้อ่อนเพลีย กระหายน้ำ เป็นตะคริว เสียงแหบ แก้มตอบ  เบ้าตาลึก ผิวหนังและเยื่อเมือกต่างๆ แห้ง มือและนิ้วเหี่ยวย่น  ตัวเย็น ชีพจรเบาจนกระทั่งจับไม่ได้ เลือดข้น มีความเป็นกรดในเลือดสูง  ความดันโลหิตต่ำ ลักษณะนี้ถ้าให้การรักษาไม่ถูกต้องและทันท่วงที ผู้ป่วยอาจช็อก ไตวายอย่างเฉียบพลัน  เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้รวดเร็ว  อาการอุจจาระร่วงและอาเจียนอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำไปมากกว่า 1 ลิตรต่อชั่วโมง หรือ 10-15 ลิตรต่อวัน (ร่างกายของมนุษย์มีน้ำประมาณ 20-40 ลิตร) อุจจาระของผู้ป่วยจะประกอบด้วย epithelial cell, mucosa cell อีเลคโตรไลท์ และเชื้อ V.cholerae ประมาณ 10-10 ต่อมิลลิลิตร สัดส่วน ผู้ติดเชื้อ biotype Classical และ biotype El Tor ที่แสดงอาการชนิดรุนแรงต่อชนิดไม่ รุนแรงเท่ากับ 1:5-1:10 และ 1:25-1:100 ตามลำดับ

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอหิวาตกโรค  แบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี หรือเชื้ออหิวาต์ มักพบในอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลหรืออุจจาระของคนซึ่งมีเชื้อนี้อยู่ในนั้น ดังนั้นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่ระบาดของโรคจึงมักมาจากน้ำ อาหารบางชนิด และปัจจัยอื่นๆ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

·         แหล่งน้ำ เชื้ออหิวาต์สามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้เป็นระยะเวลานาน โดยแหล่งน้ำสาธารณะที่ได้รับการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ถือเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคชั้นดี ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดและปราศจากการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดีอย่างเพียงพอจึงเสี่ยงป่วยเป็นอหิวาตกโรคได้

·         อาหารทะเล การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือไม่ได้ปรุงสุก โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอย ซึ่งเกิดในแหล่งน้ำที่น้ำปนเปื้อนสารพิษนั้น จะทำให้ร่างกายได้รับเชื้ออหิวาต์

·         ผักและผลไม้สด พื้นที่ที่อหิวาตกโรคระบาดในท้องถิ่นนั้น ผักและผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือกมักเป็นแหล่งเพาะเชื้ออหิวาต์ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการใช้ปุ๋ยคอกที่ไม่ได้หมักหรือแหล่งน้ำเน่า ผลิตผลที่ปลูกอาจปนเปื้อนเชื้ออหิวาต์ได้

·         ธัญพืชต่าง ๆ สำหรับพื้นที่ที่อหิวาตกโรคระบาดนั้น การปรุงอาหารด้วยธัญพืชอย่างข้าวหรือข้าวฟ่างอาจได้รับเชื้ออหิวาต์ปนเปื้อนหลังจากปรุงเสร็จ และเชื้อจะอยู่ในอาหารอีกหลายชั่วโมงที่อุณหภูมิระดับห้อง โดยเชื้อที่ยังคงอยู่จะกลายเป็นพาหะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของของเชื้ออหิวาต์

·         การจัดการสุขาภิบาลไม่ดี เนื่องจากอหิวาตกโรคจะเกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดผ่านทางน้ำ หากพื้นที่ใดมีการจัดการระบบสุขาภิบาลไม่ดี ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่าย เช่น ในค่ายลี้ภัย ประเทศหรือพื้นที่ที่ประสบภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร เกิดสงคราม หรือประสบภัยทางธรรมชาติฯลฯ

·         ภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Hypochlorhydria/Chlorhydria) เนื่องด้วยเชื้ออหิวาต์ไม่สามารถอยู่ได้ในภาวะที่มีกรด ดังนั้น กรดในกระเพาะอาหารของคนเราถือเป็นด่านปราการชั้นแรกที่ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ แต่สำหรับผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารต่ำ อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้ยาลดกรดหรือยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร จะไม่มีกรดมาป้องกันเชื้ออหิวาต์ จึงเสี่ยงเป็นอหิวาตกโรคได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป

·         การอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรค ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ที่ป่วยเป็นอหิวาตกโรคมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้

5.  แนวทางการรักษาอหิวาตกโรค  แพทย์สามารถวินิจฉัยอหิวาตกโรคได้จากประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค ลักษณะอุจจาระ (วินิจฉัยทางคลินิก) การตรวจอุจจาระ และการเพาะเชื้อจากอุจจาระดังนี้

การวินิจฉัยทางคลินิก อาศัยประวัติ อาการ และอาการแสดง และลักษณะอุจจาระ. ในถิ่นที่มีการระบาดเมื่อมีผู้ป่วยอุจจาระร่วงอย่างแรงร่วมกับอาการของภาวะขาดน้ำอย่างรวดเร็วรุนแรง ให้สงสัยว่าผู้ป่วย เป็นอหิวาตกโรคไว้ก่อน.

การวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ทำได้โดยตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะไม่พบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ถ้าใช้ dark-field microscope จะเห็นเชื้อ V. cholerae เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วไปทางเดียว กันแบบดาวตก (shooting star หรือ darting). หากมี antisera ต่อ V. cholerae O1 หรือ O139 หยดลงในอุจจาระ เชื้อจะหยุดเคลื่อนไหวทันที น่าจะเป็น V. cholerae O1 หรือ O139 ซึ่งทำได้รวดเร็ว แต่วิธีนี้ยังมีความไวและความจำเพาะไม่ดีนัก.

การตรวจยืนยันด้วยการเพาะเชื้อจากอุจจาระได้ผลแน่นอนที่สุด ควรเก็บตัวอย่างอุจจาระใน Cary-Blair transport medium ซึ่งเก็บได้นานถึง 7 วัน. การเพาะเชื้อจะใช้ใน thiosulphate citrate bile salt sucrose (TCBS) agar เชื้อขึ้นได้ดี. ห้องปฏิบัติการบางแห่งจะแยกเชื้อใน alkaline peptone water ด้วยเชื้อที่เพาะได้จะถูกทดสอบความไวของยาและทดสอบว่าเป็น V. cholerae O1 หรือ O139 การตรวจหาสายพันธุกรรม ด้วย poly chain reaction (PCR) หรือ DNA probe มีความไวสูง และอาจยืนยันว่า เชื้อมียีนก่อโรคหรือไม่ด้วย

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีวิธีการวินิจฉัยใหม่ๆ เช่น เทคนิคพีซีอาร์ (Polymerase Chain Reaction: PCR) เทคนิคนี้คือการสังเคราะห์ชิ้นส่วนดีเอ็นเอในหลอดทดลอง ซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาตรวจชื้ออหิวาต์ด้วย อย่างไรก็ตาม เทคนิคพีซีอาร์ยังไม่ได้นำมาใช้ในฐานะการตรวจแอนติบอดี้ในเลือดอย่างแพร่หลายในปัจจุบันนัก  การตรวจด้วยแถบตรวจอหิวาตกโรค วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ไม่สามารถเข้ารับการวินิจฉัยด้วยวิธีตรวจตัวอย่างอุจจาระได้ โดยผู้ป่วยจะทราบผลการวินิจฉัยได้ก่อนจากแถบตรวจดังกล่าว ทำให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคและนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดของโรคต่อไป อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยแถบวัดนี้อาจไม่แม่นยำเสียทีเดียว วิธีวินิจฉัยที่เที่ยงตรงที่สุดคือการตรวจตัวอย่างอุจจาระผู้ป่วย ซึ่งทำการตรวจในห้องทดลองด้วยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การรักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่ถูกต้องและได้ผลคือ  การทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไปกับอุจจาระ  และอาเจียน ด้วยปริมาณที่เหมาะสมและทันเวลาในกรณีที่ผู้ป่วยยังดื่มได้ควรให้ดื่มทางปาก แต่ถ้าไม่ได้ควรให้ทางเส้นเลือด  ในปริมาณที่เทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่สูญเสียไปโดยประมาณคือ ร้อยละ 5 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่เป็นน้อยร้อยละ 7 ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในรายที่มีอาการปานกลาง และร้อยละ 10 ในผู้ป่วยมีอาการช็อค ควรให้น้ำเกลือ isotonic ทางหลอดเลือดทันที น้ำเกลือควรประกอบด้วยไบคาร์บอเนต (อะซิเตรต หรือแล็กเตตไอออน) 24-48 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตร และ 10-15 มิลลิอิควิวาเลนต์ต่อลิตรของโปแตสเซียม  ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ Ringer’s lactate solution ในเด็กให้เป็นสารละลาย 2 ชนิดผสมกันในอัตราส่วน 2:1 คือ isotonic salution : isotonic sodium lactate (1/6 โมลาร์) หรือ isotonic sodium bicarbonate ส่วนน้ำตาลเกลือแร่ที่ดื่มนั้น ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลกให้ใช้สารละลายที่เรียกกว่า oral rehydration solution (ORS) ซึ่งในส่วนผสมของ ORS จะให้ปริมาณของอีเลคโตรไลท์ครบตามที่ร่างกายต้องการ คือ Na 90, K 20, CI 80 และ HCO   30 mEq/L อย่างไรก็ตามการกำจัดเชื้อให้หมดจากอุจจาระนั้น ควรให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมเพื่อลดระยะเวลาการป่วยให้สั้นลงและเป็นการลดแหล่งแพร่เชื้อด้วย

ควรใช้ข้อมูลการเฝ้าระวังการดื้อยาของเชื้อทางห้องปฏิบัติการเพื่อทราบแนวโน้มการดื้อยาประกอบการพิจารณา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ในปัจจุบันสามารถเลือกใช้ยาที่เหมาะสม (First drug of choice) ในรายที่อาการรุนแรงให้พิจารณาในการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ tetracyclineหรือยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆ จะช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ลดการสูญเสียน้ำ ตลอดจนลดระยะของการแพร่เชื้อลง

·       ยาปฏิชีวนะองค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำการรักษาคือ

·       เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ให้ Norfloxacin20 มก/กก/วัน นาน 3 วัน

·       เด็กอายุมากกว่า 8 ปี ให้ Tetracycline 30 มก/กก/วัน นาน 3 วัน

ในผู้ใหญ่ให้

Tetracyclineครั้งละ 500 มก.วันละ 4 ครั้ง นาน 3 วันหรือ

Doxycyclineครั้งละ 100 มก.วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วันหรือ

Norfloxacinครั้งละ 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน (กรณีเชื้อดื้อต่อ Tetracycline)

6.  การติดต่อของอหิวาตกโรคการติดต่อ อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อรวดเร็ว รุนแรง และก่อการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เชื้ออหิวาตกโรคสามารถมีชีวิตอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด คนเป็นแหล่งเก็บกักที่สำคัญของเชื้อชนิดนี้ โดยเชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระของผู้ติดเชื้อ (ทั้งผู้ป่วยและพาหะ) เมื่อถูกขับถ่ายออกมาก็จะสามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้จากการปนเปื้อนในแหล่งน้ำต่าง ๆ (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึง) อาหาร น้ำดื่ม ภาชนะใส่อาหาร มือของผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ล้างน้ำหลังถ่ายอุจจาระ สิ่งของและสภาพแวดล้อมที่ถูกมือของผู้ติดเชื้อสัมผัส ทั้งนี้จะมีแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้อ คนเราสามารถติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยทางใดทางหนึ่งดังนี้

·       การดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบดิบ ๆ

·       การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ซึ่งการปนเปื้อนเชื้ออาจเกิดจากข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

แมลงวัน ที่ไต่ตอมอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เป็นพาหะนำเชื้อ

มือของผู้ติดเชื้อ หรือมือของคนใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ (จากการสัมผัสมือของผู้ติดเชื้อ หรือสิ่งของ)

ปนเปื้อนในดินหรือน้ำที่มีเชื้อ เช่น ผักผลไม้ที่ปลูกโดยการใส่ปุ๋ยที่ทำจากอุจจาระคน และผักผลไม้ที่ล้างด้วยน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน

·       การติดต่อจากคนสู่คน (พบได้น้อยมาก) จากการสัมผัสใกล้ชิด โดยการใช้มือสัมผัสถูกมือของผู้ติดเชื้อโดยตรง หรือจากการสัมผัสถูกสิ่งของ แล้วนำมือที่เปื้อนเชื้อนั้นไปสัมผัสกับปากของตนเองโดยตรงหรือไปเปื้อนถูกอาหารหรือน้ำดื่มอีกต่อหนึ่ง หรือจากการสัมผัสอุจจาระของผู้ป่วยหรือการถูกผู้ป่วยอาเจียนใส่

·       การติดต่อที่พบบ่อย การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคมักเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลที่นิยมกินกันแบบดิบ ๆ (เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ปูแสมเค็ม) อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารกระป๋องที่เสียแล้ว รวมทั้งน้ำแข็ง ไอศกรีมที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยมีแมลงวันหรือมือเป็นสื่อกลางในการนำพาเชื้อ

7.  การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคอหิวาตกโรค

·       รักษาสุขอนามัย อย่างเคร่งครัด

·       ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆทุกครั้งก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการดูแลผู้ป่วย

·       ทำลายอุจจาระด้วยการใส่น้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนหรือตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาล

·       เสื้อผ้า เครื่องใช้ ต้องซักล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนหรือน้ำต้มเดือดเช่นกัน

·       ดื่มแต่น้ำสะอาดหรือต้มสุก อาหารทุกชนิดต้องปรุงสุก และบริโภคทันทีหลังปรุง ไม่ทิ้งค้าง

·       ดื่มน้ำชาแก่แทนน้ำ หรืออาจต้องงดอาหารชั่วคราว เพื่อลดการระคายเคืองในลำไส้

·       ดื่มน้ำเกลือแร่ ORSเพื่อลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย สลับกับน้ำต้มสุก ถ้าเป็นเด็กเล็กควรปรึกษาแพทย์

·       ถ้าท้องเสียอย่างรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

·       ไปพบแพทย์ตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัด

8.  การป้องกันตนเองจากอหิวาตกโรค  อหิวาตกโรคนั้นเกิดจากผู้ป่วย รับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน ดังนั้นควรระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม  ตลอดจนรักษาความสะอาดตามหลักสุขอนามัย ดังนี้

·       รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ และดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างสะอาด ทุกครั้งก่อนใช้ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง สุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม

·       ระมัดระวังการกินน้ำแข็ง

·       กินแต่อาหารปรุงสุกโดยเฉพาะอาหารทะเล

·       ผักผลไม้ต้องล้างให้สะอาด

·       ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หรือก่อนปรุงอาหาร และหลังการขับถ่าย

·       ไม่เทอุจจาระ ปัสสาวะและสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำลำคลอง หรือทิ้งเรี่ยราด ต้องถ่ายลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ และกำจัดสิ่งปฏิกูลโดยการเผาหรือฝังดิน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค

·       ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก เมื่อลงเล่นหรืออาบน้ำในลำคลอง

·       หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค

·       ควบคุมแมลงวันโดยใช้มุ้งลวด พ่นยาฆ่าแมลง หรือใช้กับดัก ควบคุมการขยายพันธุ์ด้วยการเก็บและทำลายขยะโดยวิธีที่เหมาะสม

·       ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังท้องที่ซึ่งมีความเสี่ยงในการติดโรคสูงอาจกินยาปฏิชีวนะ จะช่วยป้อง กันโรคได้ สำหรับระยะเวลาสั้นๆ เช่น ภายใน 2 สัปดาห์แต่เชื้ออาจดื้อยาได้

·       การให้วัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในขณะที่มีการระบาดปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้แล้วเพราะสามารถป้องกันได้เพียงร้อยละ 50 และมีอายุสั้นเพียง 3-6 เดือน สำหรับวัคซีนชนิดกินที่ให้ภูมิคุ้มกันสูงต่อเชื้ออหิวาต์สายพันธุ์ o1 ได้หลายเดือนมีใช้แล้วหลายประเทศ มีสองชนิด ชนิดแรกวัคซีนเชื้อยังมีชีวิตกินครั้งเดียว (สายพันธุ์ CVD 103-HgR)ส่วนชนิดที่สองเป็นเชื้อตายแล้วประกอบด้วยเชื้ออหิวาห์ตายแล้วกับ cholera toxin ชนิดB-subunit กิน 2 ครั้ง

9.  สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาอหิวาตกโรค

เนื่องด้วยอหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อรวดเร็วรุนแรง และก่อการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยเกิดจากการได้รับเชื้ออหิวาตกโรคซึ่งอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย (ซึ่งแบคทีเรียสามารถอยู่ได้นานถึง 7 - 14 วัน) แล้วปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม จากผิวน้ำในแหล่งน้ำดื่ม น้ำใช้ และเมื่อกินหรือดื่มอาหาร/น้ำปนเปื้อนเหล่านี้จึงก่อการติดโรค

ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อ จะเกิดอาการได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมง ถึง 5 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะเกิดอาการภายใน 1-2 วัน ดังนั้นอหิวาตกโรคจึงไม่เหมาะในการใช้สมุนไพรมาทำการบำบัดรักษา เพราะเป็นโรคที่มีการติดต่อ การระบาดที่รวดเร็วและมีความรุนแรง จนถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

เอกสารอ้างอิง

1.   หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  อหิวาต์ (Cholera)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 492-496.

2.   Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.

3.   อหิวาตกโรค – อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบหมอ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.haamor.com/th

4.   ศาสตรจารย์ พญ.วันดี วราวิทย์.อหิวาตกโรค.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่284.คอลัมน์เวชปฏิบัติปริทัศน์.สิงหาคม.2551

5.   ศาสตรจารย์เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์.อหิวาตกโรค (Cholera).หาหมอ.com (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www”haamor.com/th

6.   อหิวาตกโรค.แผนกพยาบาลอายุรศาสตร์และจิตเวชศาสตร์.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.

7.   Ryan, E, and Ferraro, M. Z2011). Case 20-2011. N Engl J Med. 364, 2536-2541.

8.   Swerdlow,D.L. and Ries,A.A. 1993 Vibrio cholera non-O1-the eighth pandemic? Lancet. 342:382-383.

9.   Hall, R.H., Khambaty, F.M., Kothary, M. and Keasler, S.P. 1993. Non-Ol Vibrio cholera. Lancet. 342:430.

10.   Cholera .กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.

11.   อรษา สุตเธียรกุล.2541. โรคติดเชื้อ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด

12.   Kaper, J.B., Morris, J.G., Jr. and Levine, M.M. 1995. Cholera. Clin. Microbiol. Rev.8  8:48-86.

13.   Benenson, A.S. 1991. Cholera. In: Evans, A.S. and Brachman, P.S. (eds.). Bacterial Infections of Humans, Epidemiology and Control.,2 nd. P.207-225.New York: Plenum.

14.   Farmer,J.J.1991. The family Vibrionaceae. In Balows,A., Truper, H.G., Dworkin, M., Harder, W. and Schleifer, K.H. (eds.) The Prokaryotes, (2nd) A Handbook on the Biology of Bacteria: Ecophysiology, Isolation, Identification, Applications.p. 2938-2951.New York: Springer-Verlag.

15.  Lee,JV.1990. Vibrio Aeromonas and Plesiomonas In: Parker, M.T. and Collier, L.H. (eds.). Principles of Bacteriology, Virology and Lmmunity, 8 th Vol III. P.514-524. Philadelphia: B.C. Deeker.

16.  Attridge, S.R. and Rowley, D.1990. Cholera. In: Smith, G.R. and Easmon, C.S.F. (eds.). Principles of Bacteriology, Virology and Immunity, 8 th Vol III. P.459-468. Philadelphia:B.C.Decker.

17.  Albert, M.J., Ansaruzzaman, M., Bardhan, D., Salam, M.A., Siddique, A.K., Yunus, M.D. and Zaman, K.1993. Large epidemic of cholera in Bangladesh caused by Vibrio cholera O139 synonym Bengal. Lancet.342:387-390.

18.  Bennish M.L. 1994. Cholera: pathophysiogy, clinical features, and treatment. In: Wachsmuth, I.K., Blake, P., and Olsvik, O.(eds.). Vibrio cholera and cholera : Mokecular to Global  Perspectives. P. 229-255. Washington, D.C., ASM Press.

19.  วรรธนี สังข์หิรัญ.คุณลักษณะของ Vibrio cholera ในสิ่งแวดล้อมและผู้ป่วยในประเทศไทย.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.ปีการศึกษา 2545.