โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน(Diabetes Mellitus)

1.  โรคเบาหวานคืออะไร  คำจำกัดความของโรคเบาหวาน สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความโรคเบาหวานไว้ คือ โรคเบาหวานเป็นกลุ่มโรคทางเมตะบอลิซึมที่แสดงอาการ โดยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นผสมมาจาก ความผิดปกติของการหลั่งอินซูลิน หรือการออกฤทธิ์ของอินซูลิน หรือทั้งสองอย่าง ภาวะที่น้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง จะเป็นผลให้เกิดการเสื่อมของอวัยวะในร่างกาย ในระยะยาวเกิดโรคแทรกซ้อนและทำให้การเสียหน้าที่ ของอวัยวะที่สำคัญหลายอวัยวะที่ทำงานล้มเหลวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตา ไต ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด 

ประวัติโรคเบาหวาน โรคเบาหวาน มีหลักฐานปรากฏในกระดาษปาปิรุสของอียิปต์ ซึ่งเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่มากที่สุดชิ้นหนึ่ง จากการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางโบราณคดีพบว่ากระดาษที่บันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นมีอายุประมาณ 1500 ปีก่อน คริสตกาล จึงหมายความว่า “เบาหวาน” เป็นโรคที่เก่าแก่มากและเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 1 มีการพบบันทึกของแพทย์ชาวกรีก ชื่อ “อารีอุส” ซึ่งได้บันทึกอาการของโรคที่มีลักษณะของการกัดกินเนื้อหนังและมีการถ่ายปัสสาวะเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้ง โดย “อารีอุส” ได้ตั้งชื่อโรคนี้ว่า diabetes insipidus ซึ่งปัจจุบันชื่อเรียกนี้จะหมายถึงโรค “เบาจืด”

ผ่านไปอีกเกือบ 1700 ปี ได้มีคำว่า mellitus เกิดขึ้น mellitus เป็นภาษาลาติน แปลว่า น้ำผึ้ง ซึ่งนำมาใช้เรียกโรคที่มีอาการแบบเดียวกับ diabetes โดยหมายถึง “เบาหวาน

ในปัจจุบันโรคเบาหวานเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลกอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จากข้อมูลของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) พบว่าผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลก ว่ามีจำนวน 285 ล้านคน และในปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 438 ล้านคน ที่สำคัญในจำนวนนี้ 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย สำหรับการคาดประมาณจำนวนประชากรที่เป็นโรคเบาหวานในอนาคตของประเทศไทยโดยสำนักควบคุมโรคไม่ติดต่อ พบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2563 จะมีจำนวนประชากรที่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วง 501,299 -553,941 คน/ปี และในปี พ.ศ. 2563 จะมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่สูงถึง 8,200,000 คนประเทศไทยได้กำหนดโรคเบาหวานเป็นโรควิถีชีวิตที่สำคัญหนึ่งในห้าโรคที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554 -2563 จากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 พบว่าอัตราป่วยด้วยโรคเรื้อรัง พ.ศ. 2544 - 2552 มีผู้ป่วยเป็นเบาหวานเพิ่มขึ้นจาก 288 คน เป็น 736 คน ต่อประชากรแสนคน

โดยทั่วไป โรคเบาหวานสามารถ แบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ เบาหวานชนิด 1 (Diabetes mellitus type 1), เบาหวานชนิด 2 (Diabetes mellitus type 2)

เบาหวานชนิด 1 โรคเบาหวานชนิดต้องพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus) และเพราะเบาหวานชนิดนี้มักพบในเด็กและวัยรุ่น จึงเรียกได้อีกชื่อว่า โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น หรือ Juvenile diabetes mellitus

เบาหวานชนิด 2 เบาหวานในผู้ใหญ่ (Adult onset diabetes mellitus) และเป็นเบาหวานที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งอินซูลิน (Non- insulin-dependent diabetes mellitus)

ตารางเปรียบเทียบเบาหวานประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2

 

เบาหวานประเภทที่1

เบาหวานประเภทที่

กลุ่มอายุ

มักเกิดกับผู้มีอายุน้อยกว่า 40ปี

มักเกิดกับผู้มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป

น้ำหนักตัว

ผอม

อ้วน

การทำงานของตับอ่อน

ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้

1.สามารถผลิตอินซูลินได้บ้าง

2.ผลิตได้ปกติแต่อินซูลินไม่มีประสิทธิภาพ

3.เซลล์ร่างกายต่อต้านอินซูลิน

การแสดงออกของอาการ

เกิดอาการรุนแรง

1.ไม่มีอาการเลย

2.มีอาการเล็กน้อย

3.อาการรุนแรง จนช็อกหมดสติได้

การรักษา

เพิ่มปริมาณอินซูลินในร่างกาย

อาจใช้การควบคุมอาหารได้

 

2.  สาเหตุของโรคเบาหวาน ในคนปกติในระยะที่ไม่ได้รับประทานอาหารตับจะมีการสร้างน้ำตาลออกมาตลอดเวลาเพื่อให้เป็นอาหารของสมองและอวัยวะอื่นๆ ในระยะหลังรับประทานอาหารพวกแป้งจะมีการย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ระดับน้ำตาลที่สูงขึ้นจะกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพื่อเพิ่มการนำน้ำตาลไปใช้ทำให้ระดับน้ำตาลลดลงมาเป็นปกติ  ในผู้ป่วยเบาหวานที่อาจเกิดจากการขาดอินซูลินหรือดื้อต่อฤทธิ์ของอินซูลินทำให้ไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ ขณะเดียวกันมีการสลายไขมันและโปรตีนในเนื้อเยื่อมาสร้างเป็นน้ำตาลมากขึ้น ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง จนล้นออกมาทางไตและมีน้ำตาลในปัสสาวะ เป็นที่มาของคำว่า”เบาหวาน” 

ระดับน้ำตาลในเลือดคนปกติเป็นเท่าไหร่

ตาราง ค่าน้ำตาลในเลือด (มก.ดล.)

 

น้ำตาลในเลือดเมื่องดอาหาร

น้ำตาลในเลือดหลังอาหาร

คนปกติ

60 – น้อยกว่า 100

น้อยกว่า 140

ภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน

100 – น้อยกว่า 126

140 – น้อยกว่า 200

เบาหวาน

126 ขึ้นไป

200 ขึ้นไป

ดังนั้นโรคเบาหวาน จึงมีสาเหตุจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอ ที่ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกิน โรคเบาหวานจะมีอาการเกิดขึ้นเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งโดยปกติน้ำตาลจะเข้าสู่เซลล์ร่างกายเพื่อใช้เป็นพลังงานภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเบาหวานร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ในระยะยาวจะมีผลในการทำลายหลอดเลือด ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่สภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

3.  อาการของโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลคนปกติจะอยู่ในช่วง 60-99 มก./ดล. ก่อนรับประทานอาหารเช้า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลสูงจากค่าปกติไม่มากอาจไม่มีอาการชัดเจน จะต้องทำการตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัย ถ้าไม่ทราบว่าเป็นเบาหวานมาเป็นเวลานานผู้ป่วยอาจมาตรวจพบด้วยภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้

กลุ่มอาการเด่นของโรคเบาหวานมีดังนี้

·         ปัสสาวะมากกว่าปกติ ปัสสาวะหลายครั้งตอนกลางคืน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเมื่อเลือดไหลผ่านไตก็ไม่สามารถเก็บกักน้ำตาลไว้ได้ ก็ถูกขับออกทางปัสสาวะ ทำให้เสียน้ำออกไปทางปัสสาวะ

·         ดื่มน้ำบ่อยและมากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการ เนื่องจากถ่ายปัสสาวะมากและบ่อย ทำให้ร่างกายขาดน้ำจึงเกิดความกระหายน้ำ

·         หิวบ่อยกินจุแต่ผอมลง เพราะอินซูลินไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เพียงพอ จึงนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ทำให้รู้สึกหิว รับประทานได้มาก

·         เป็นแผลหรือฝีง่าย และหายยากเนื่องจากน้ำตาลสูง เนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผลมีความชุ่มชื้นสูงทำให้ความต้านทานต่อเชื้อโรคลดลง

·         คันตามตัว ผิวหนังและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ สาเหตุของอาการคันเกิดได้หลายอย่าง เช่น ผิวหนังแห้งเกินไป หรือการอักเสบของผิวหนังซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนการคันบริเวณอวัยวะเพศมักเกิดจาการติดเชื้อรา

·         ตาพร่ามัวต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย การที่ตาพร่ามัวในโรคเบาหวานสาเหตุอาจเกิดได้หลายประการ คือ อาจเป็นเพราะสายตาเปลี่ยน (ตาสั้นลง) เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลไปคั่งอยู่ในตาหรือตามัว อาจเกิดจากต้อกระจก หรือเส้นเลือดในตาอุดตันก็ได้

·         มือชา เท้าชา หมดความรู้สึกทางเพศ เนื่องจากน้ำตาลในเลือดที่สูงนานๆ ทำให้เส้นประสาทเสื่อม บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ พบบ่อยๆว่าผู้ป่วยที่ละเลยไม่รับการวินิจฉัยและรับการรักษาโรคเบาหวานตั้งแต่ต้นจะทราบว่าเป็นโรคเบาหวานก็ต่อเมื่อมีโรคแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

·         เบื่ออาหารอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายไม่มีเรี่ยวแรง

·         น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะถ้าหากน้ำหนักเคยมากมาก่อน อันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปสร้างพลังงานได้เต็มที่ จึงต้องนำไขมันและโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้ทดแทน

โรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน  ไตเสื่อม ไตวาย จากเบาหวาน ไตเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองสารต่างๆที่อยู่ในกระแสเลือด  มีเส้นเลือดขนาดเล็กมากมายบริเวณไต  เมื่อผนังเส้นเลือดถูกทำลายโดยน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่เป็นเวลานาน  การทำหน้าที่ในการกรองของไตจะเริ่มเสื่อมลง  ทำให้โปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมานานกว่า  10  ปี มักเกิดปัญหาไตเสื่อม  แต่ความรุนแรงและระยะการเกิดจะมากหรือน้อยขึ้นกับการควบคุมน้ำตาลในเลือด 

จอประสาทตาเสื่อและต้อกระจกจากเบาหวาน มีสาเหตุจากการสะสมรวมตัวกันของน้ำตาลบริเวณเลนส์ตา  ทำให้เลนส์ตาบวมและมัวลงไม่เกี่ยวกับการไหลเวียนของเลือดภายในลูกตา  ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการควบคุมน้ำตาลในเลือด บริเวณจอตา  เป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดฝอยมาเลี้ยงมาก  เมื่อเส้นเลือดฝอยถูกทำลายทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยโป่งพองจนแตก มีเลือดไหลออกมาในบริเวณวุ้นตา  เมื่อรอยรั่วหายดีแล้วเกิดแผลเป็นซึ่งจะขัดขวางการไหลของเลือดภายในตา  จึงเกิดการงอกใหม่ของเส้นเลือดฝอย เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด  แต่เส้นเลือดฝอยที่งอกใหม่จะเปราะบาง  แตกง่าย  ทำให้มีเลือดออกมาอยู่ในวุ้นตาและจอตา  ระยะนี้จะพบว่าผู้ป่วยมีอาการตามัว  เมื่อแผลเป็นเกิดมากขึ้นจะสร้างเส้นใยเป็นร่างแหในลูกตา  เมื่อรอยแผลเป็นหดรัดตัว  เกิดการดึงรังและฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณส่วนหลังของลูกตา  จะมีอาการเหมือนมีม่านดำขึงผ่านขวางตาหรือเหมือนมีแสงสีดำพาดผ่านตา  ซึ่งเมื่อมีอาการเช่นนี้ให้พบจักษุแพทย์ทันทีเพราะอาจทำให้ตาบอดได้

ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน เป็นโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน  โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ทำให้รู้สึกรำคาญและทุกข์ทรมาน  เกิดจากเส้นเลือดฝอยที่มาเลี้ยงเส้นประสาทถูกทำลาย   ไม่สามารถส่งออกซิเจนมาตามกระแสเลือดเพื่อไปเลี้ยงเส้นประสาทได้  รวมถึงการมีน้ำตาลสะสมรวมตัวกันอยู่บริเวณเส้นประสาทเองด้วย จึงทำให้การทำงานของเส้นประสาทเสื่อมลง   การรับรู้ความรู้สึกต่างๆลดลง  โดยเฉพาะบริเวณปลายมือปลายเท้า จะเกิดอาการชา  เมื่อกระทบถูกความร้อนหรือเจ็บปวดจะไม่ค่อยรู้สึก  จึงเป็นอันตรายกับผู้ป่วยเบาหวาน  เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ง่ายโดยไม่รู้สึกตัว  เมื่อเป็นมากอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลง  ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลง 

 นับเป็นโรคแทรกซ้อนที่คุกคามต่อชีวิตได้  ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก จากเส้นเลือดหัวใจตีบ  กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด โรคหลอดเลือดหัวใจ มักเกิดจากควบคุมเบาหวานไม่ดี  ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่ออกกำลังกาย อ้วน สูบบุหรี่ประวัติโรคหัวใจในครอบครัว  และเป็นผู้ที่เครียดเป็นประจำ

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน เป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากหลอดเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณสมองตีบตัน  ทำให้เกิดการพิการหรืออาการรุนแรงถึงเสียชีวิตได้  โอกาสเกิดหลอดเลือดสมองตีบตันจะสูงมากขึ้น ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันเลือดสูงร่วมด้วย  ทำให้อวัยวะที่สมองส่วนนั้นควบคุมอยู่ อ่อนแรงลงไปเกิดอัมพฤกษ์  หรืออัมพาต 

4.  ปัจจัยเสี่ยง/กลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคเบาหวามมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่

·         พันธุ์กรรม สาเหตุหลักของผู้ป่วยเบาหวานคือ พันธุ์กรรม พบว่าประมาณหนึ่งในสามของผู้ป่วยโรคเบาหวานมีประวัติญาติเป็นเบาหวาน ลักษณะยีนของการเป็นเบาหวานเป็นลักษณะทางพันธุ์กรรมที่สืบทอดกันผ่านโครโมโซมในนิวเครียสของเซลล์เช่นเดียวกับการสืบทองของพันธุ์กรรมอื่นๆ

·         ความอ้วน ความอ้วนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคเบาหวานเนื่องจากจะทำให้เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดน้อยลง อินซูลินจึงไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ดีเหมือนเดิม จนกลายมาเป็นภาวะขาดน้ำตาลในเลือดสูง

·         อายุ เมื่ออายุมากขึ้นอวัยวะต่างๆย่อมต้องเสื่อมลง รวมทั้งตับอ่อนที่มีหน้าที่สังเคราะห์และผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ก็จะทำหน้าที่ได้ลดลงจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเบาหวาน

·         ตับอ่อนไม่สมบูรณ์ อีกสาเหตุหนึ่งของเบาหวานอาจเกิดจากการที่ตับอ่อนได้รับการกระทบกระเทือนหรือเกิดอุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อตับอ่อน รวมทั้งอาจเกิดจากโรค เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากการดื่มสุรามากเกินไป ซึ่งมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเอาบางส่วนของตับอ่อนออก หกบุคคลนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นเบาหวานอยู่แล้ว เมื่อตกอยู่ในภาวะนี้ก็จะแสดงอาการของโรคเบาหวานได้เร็วขึ้น

·         การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เชื้อไวรัสบางชนิด เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมีผลข้างเคียงในการเกิดโรคเบาหวาน เช่น คางทูม หัดเยอรมัน

·         ยาบางชนิด ยาบางชนิดก็มีผลต่อการเกิดโรคเบาหวานเช่นเดียวกัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด เนื่องจากทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ยาติดต่อกันนานๆ

·         ภาวการณ์ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสังเคราะห์ขึ้นมานั้น มีผลยังยั้งการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ที่ตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มียีนเบาหวานอนยู่ในร่างกาย และภาวะเบาหวานแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายอย่างมาก จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด

กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน

·         ผู้ที่มีอาการต่างๆของโรคเบาหวานตามที่กล่าวมา

·         อายุมากกว่า 40 ปี

·         มีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน

·         เคยมีระดับน้ำตาลอยู่ในระยะก่อนเบาหวาน

·         เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

·         คลอดบุตรหนักมากกว่า 4 กก.

·         ความดันโลหิตสูง

·         มีไขมันในเลือดผิดปกติ

·         มีโรคหลอดเลือดตีบแข็ง

·         มีโรคที่บ่งบอกว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลินได้แก่โรครังไข่มีถุงน้ำหลายถุง

ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวแม้ไม่มีอาการของโรคเบาหวานควรตรวจสอบ ถ้าระดับน้ำตาลอยู่ในข่ายสงสัยควรตรวจซ้ำในระยะ 1 ปี

5.  แนวทางการรักษาโรคเบาหวาน เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเบาหวานไม่มีอาการ ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เบาหวานจึงควรตรวจคัดกรองเบาหวานทุกปี แพทย์วินิจฉัยโรคเบาหวานได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยต่างๆ ประวัติการเจ็บ ป่วยของคนในครอบครัว การตรวจร่างกาย และที่สำคัญคือ การตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณน้ำตาลในเลือด และ/หรือ ดูสารที่เรียกว่า ฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1C: Glycated hemoglobin)

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดนั้นเป็นวิธีที่จะทำให้เราทราบได้อย่างชัดเจนว่ามีระดับน้ำตาลสูงเพียงใด ซึ่งทำให้ทราบว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ค่อนข้างที่จะแน่นอน ในคนปกติระดับน้ำตาลในเลือดจะคงที่ คือประมาณ 80-110 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีค่าประมาณ 70-115 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อรับประทานอาหาร อาหารจะถูกย่อยสลายเป็นน้ำตาลกลูโคสและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแต่จะไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หลังรับประทานอาหารเช้าแล้ว 2 ชั่วโมง แต่หากตรวจพบระดับน้ำตาลที่สูงเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไปก็จะถือว่าผู้นั้นเป็น “เบาหวาน”

ตรวจหา ฮีโมโกบิน เอ วัน ซี (Hb A1 C)คือการตรวจจำนวนน้ำตาลที่จับอยู่กับฮีโมโกบินซึ่งเป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่งในเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่นำออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ การตรวจด้วยวิธีนี้จะใช้หลังการรักษาแล้วเพื่อตรวจผลของการควบคุมโรคมากกว่าตรวจเพื่อหาโรค  กรณีที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานในภาวะที่ควบคุมได้ยากหรือมีโรคแทรกซ้อนควรได้รับการตรวจทุกๆ 2 สัปดาห์หากอยู่ระหว่างช่วงตั้งครรภ์และเป็นเบาหวานควรตรวจปริมาณฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hb A1 C) ทุกๆ 1 – 2 เดือนเพื่อบอกปริมาณน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในภาวะที่เป็นอันตรายหรือไม่ นอกจากนี้อาจมีการตรวจอื่นๆประกอบด้วย เช่น  ตรวจระดับน้ำตาลในปัสสาวะ กรณีที่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในปัสสาวะและพบว่ามีน้ำตาลปนออกด้วยนั้น ย่อยแสดงว่าผู้นั้นป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยดูประกอบกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากไตของคนเรามีความสามารถกรองน้ำตาลได้ประมาณ 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  ฉะนั้นหากร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับนี้ ไตก็จะไม่สามารถกรองน้ำตาลเอาไว้ได้น้ำตาลส่วนที่เกินออกมาเหล่านั้นก็จะถูกขับออกมากับปัสสาวะ

Glucose tolerance test (GTT)การตรวจด้วย GTT มักทำในเด็กที่ยังไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาลหลังงดอาหารกับการตรวจปัสสาวะยังไม่พบความผิดปกติ GTT มักทำในเด็กที่มีครอบครัวที่มีบิดาหรือมารดาเป็นโรคเบาหวานหรือตรวจฝาแฝดเหมือน (identical twins) ที่คนหนึ่งเป็นโรคเบาหวานแล้ว

การรักษาโรคเบาหวน ปัจจุบันโรคเบาหวานมีแนวทางการรักษา 4 แนวทางประกอบกันคือ  การฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายโดยตรง  การใช้ยาเม็ดควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย

การรักษาโดยการฉีดอินซูลิน การใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 1 มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อย่างเพียงพอ โดยทั่วไปแพทย์มักกำหนดให้ฉีดอินซูลินเข้าสู่ร่างกายวันละ 2 ครั้ง การใช้อินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2  ในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 นั้น ตับอ่อนยังคงทำหน้าที่ผลิตอินซูลินได้ แต่ร่างกายกลับต่อต้านอินซูลินหรืออินซูลินที่ได้ไม่มีคุณภาพเพียงพอทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ เป้าหมายของการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นไปที่การลดระดับน้ำตาบในกระแสเลือดทั้งในช่วงก่อนและหลังรับประทานอาหารเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดแดง

การรักษาโดยการใช้ยา ยารักษาเบาหวาน ยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวานนั้น แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ ยาที่มีผลในการกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งปริมาณอินซูลินเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Sulfonylureas (Chlorpropamide, Acetazolamide, Tolazamide, Glyburide หรือ Glipizide) โดยทำหน้าที่ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ด้วยการกระตุ้นให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินในปริมาณมากขึ้น ยาที่มีผลในการยับยั้งการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตในลำไส้ เช่น Alpha-Glycosides inhibitors (Acarbose และ Meglitol) วยชะลอกระบวนการยอยและดูดซมน้ำตาลและแปงในลําไสซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหลังมื้ออาหาร ยาที่มีผลในการลดการสร้างกลูโคสในตับและเพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคส เช่น Biguanide (Metformin) เป็นยาที่ช่วยลดปริมาณการผลิตกลูโคสจากตับและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินซึ่งผลิตโดยตับอ่อน ยาที่ทำหน้าที่ลดภาวะการต้านอินซูลินในร่างกาย ได้แก่ ยาในกลุ่ม Thiazolidine diones  Thiazolidinediones (Rosiglitazone และ Pioglitazone) ยาชนิดนี้ไม่มีฤทธิ์ต่อตับอ่อน แต่ทำหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลินที่ตับอ่อนผลิตออกมา การควบคุมอาหาร การควบคุมอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาล เป็นการช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี และหากทำควบคู่ไปกับการใช้ยาด้วยแล้วก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ/ประสิทธิผลในการรักษาโรคเบาหวานได้ดียิ่งขึ้น

การรักษาโดยการออกกำลังกาย เมื่อออกกำลังกายจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ได้แก่  มีการใช้พลังงานมากขึ้น มีการทำงานของปอดและหัวใจเพิ่มขึ้น มีการปรับระดับฮอร์โมนหลายอย่าง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ระยะเวลาของการออกกำลังกาย ความหนักเบาของการออกกำลังกาย ภาวะโภชนาการและสภาพความสมบูรณ์ของปอดและหัวใจ

6.  การติดต่อของโรคเบาหวาน โรคเบาหวานเป็นโรคในระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายจึงไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือสัตว์สู่คน

7.  การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน พฤติกรรมการบริโภค เลือกบริโภคอาหารให้ครบ 5หมู่ โดยคำนึงถึงพลังงานที่ได้จากอาหารโดยประมาณจากคาร์โบไฮเดรต(แป้ง)ประมาณ 55 - 60%โปรตีน (เนื้อสัตว์) ประมาณ 15-20%ไขมัน ประมาณ 25% ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากควรจะต้องลดปริมาณการรับประทานลง โดยอาจจะค่อยๆลดลงให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณที่เคยรับประทานปกติ และพยายามงด อาหารมันและทอด รับประทานอาหารที่มีกากใยมากเพื่อช่วยในการขับถ่าย. หลีกเลี่ยงการรับประทานจุกจิกและรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา พยายามรับประทานอาหารในปริมาณที่สม่ำเสมอกันในทุกมื้อ หากมีอาการเกี่ยวกับโรคไตหรือความดันโลหิตสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ควบคุมการรับประทานอาหารแม้ระดับน้ำตาลในเลือดจะปกติแล้วก็ตาม งดบริโภคอาหารต่างๆเหล่านี้ น้ำตาลทุกชนิด รวมไปถึงน้ำผึ้ง ผลไม้กวนประเภทต่างๆ ขนมเชื่อม ขนมหวานต่างๆ ผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ น้ำหวานประเภทต่างๆ ขนมทอดกรอบหรือชุบแป้งทอด ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ กินยาให้ถูกต้องครบถ้วน ไม่ขาดยา รู้จักผลข้างเคียงจากยาเบาหวาน และการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รักษาสุขอนามัยเสมอ เพราะผู้ป่วยจะติดเชื้อต่างๆได้ง่าย จากเบาหวานเป็นสาเหตุที่ทำให้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลง รักษาสุขภาพเท้าเสมอ เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เพิ่มโอกาสเกิดผลข้างเคียงของโรคเบาหวาน เลิกสุรา หรือจำกัดสุราให้เหลือน้อยที่สุด เพราะสุราอาจมีผลต่อยาที่ควบคุมโรคเบาหวานและโรคต่างๆ ทำให้ควบคุมโรคต่างๆได้ยาก ไม่ซื้อยากินเอง และไม่ใช้สมุนไพรเมื่อกินยาเบาหวาน เพราะอาจต้านหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาเบาหวาน จนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเบาหวานที่รุนแรงได้ เช่น ผลต่อไต หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตามแพทย์แนะนำ เช่น วัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่พบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์เบาหวานและจักษุแพทย์แนะนำ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาแต่เนิ่นๆ ป้องกันตาบอดจากเบาหวาน พบแพทย์ตามนัดเสมอ หรือรีบพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อมีอาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม

เป้าหมายการควบคุมของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตามคำแนะนำของสมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา

 

เป้าหมาย

น้ำตาลก่อนอาหาร (มก./ดล.)

น้ำตาลหลังอาหาร 2 ชั่วโมง (มก./ดล.)

น้ำตาลเฉลี่ย hba1c (%)

 โคเลสเตอรอล (มก./ดล.)

เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (มก./ดล.)

แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล (มก./ดล.)

ไตรกลีเซอไรด์ (มก./ดล.)

ดัชนีมวลกาย (กก/ตรม.)

ความดันโลหิต (มม.ปรอท)

ออกกำลังกาย (นาที/สัปดาห์)

90-130

<180

<7

<180

>40

<100

<150

<23

<130/80

150

การกำหนดเป้าหมายอาจได้รับการพิจารณาในรายละเอียดเฉพาะในผู้ป่วยแต่ละรายโดยคำนึงถึง อายุ สภาวะร่างกาย และ ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

8.  การป้องกันตนเองจากโรคเบาหวาน  การป้องกันการเป็นเบาหวาน ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และแก้ไขปัจจัยเสี่ยงอื่นๆอันจะก่อให้เกิดโรคเบาหวาน ควบคุมโภชนาการ ให้มีความสมดุล(กินอาหารคบ 5 หมู่ และกินแต่พอดี)ควรตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอโดยปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจเช็คเมื่อใด และ ระยะเวลาห่างในการ ตรวจที่เหมาะสมออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที หรือลดน้ำหนักในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (ลดเพียง 7 10% ของน้ำหนักปัจจุบันก็เพียงพอ)

ขอย้ำอีกครั้งว่า ระดับน้ำตาบในเลือดที่ผิดปกตินี้ เกิดจากแป้งและน้ำตาลที่เรากินเข้าไป นอกจากยาแล้ว เรื่องปริมาณแป้งและน้ำตาล และการออกกำลัง ก็เป็นอีก 2 เสาหลักที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เป็นปกติได้

9.  สมุนไพรที่สามารถช่วยบรรเทา/รักษาโรคเบาหวานได้ สมุนไพรหลายชนิดมีรายงานการศึกษาว่ามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด จากที่กล่าวมาข้างต้น สมุนไพรที่มีความโดดเด่นมากที่สุดคือ มะระขี้นก ตำลึง และผักเชียงดา

มะระขี้นก มีการนำมาใช้รักษาโรคเบาหวาน พบในตำรับยาพื้นบ้านของทางอินเดียและศรีลังกา ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศอินเดีย แพทย์แผนเดิมของพม่าและแพทย์จีน มีการสั่งจ่ายมะระขี้นกเป็นสมุนไพรเดี่ยวให้กับผู้ป่วยเบาหวาน รายงานการศึกษาวิจัยพบว่ามี สรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินเดีย พบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลอง และผู้ป่วยเบาหวาน และสามารถชะลอการเกิดต้อกระจกซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้  จากผลการวิจัยสรุปว่ามะระมีกลไกการออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้หลายวิธี คือ ออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน ออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์กลูโคส และเพิ่มการใช้กลูโคสในตับ องค์ประกอบทางเคมีที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดคือ อินซูลิน คาแรนทิน (charantin) และไวซีน (vicine)

ผักตำลึง ตำลึงเป็นยาพื้นบ้านใช้รักษาเบาหวาน ทั้งราก เถา ใบ มีสูตรตำรับหลากหลาย และในตำราอายุรเวทก็มีการใช้เป็นยารักษาเบาหวานมานานนับพันปี ชาวเบงกอลในอินเดียใช้ตำลึงเป็นยาประจำวันสำหรับแก้โรคเบาหวาน  รายงานการศึกษาวิจัย พบว่าตำลึงสามารถ ลดน้ำตาลในเลือดได้โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่าตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลการลดน้ำตาลดีที่สุด ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในคนและสัตว์ทดลอง มีการศึกษาพบว่าการกินตำลึงวันละ ๕๐ กรัม (ครึ่งขีด) ทุกวันสามารถรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ได้

ผัดเชียงดา ผักเชียงดาเป็นผักที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยารักษาเบาหวานเช่นเดียวกับอินเดียและประเทศแถบเอเชียมานานกว่า ๒ พันปีแล้ว รายงานการศึกษาวิจัยของผักเชียงดา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ และปี พ.ศ.๒๕๒๔ มีการยืนยันผลการลดน้ำตาลในเลือดและเพิ่มปริมาณอินซูลินในสัตว์ทดลองและในคนที่เป็นอาสาสมัครที่แข็งแรง พบว่าผักเชียงดาไปฟื้นฟูบีตาเซลล์ของตับอ่อน (อวัยวะที่สร้างอินซูลิน) ทำให้ผักเชียงดาสามารถช่วยคุมน้ำตาลได้ในคนเป็นเบาหวานทั้งชนิดที่ ๑ และชนิดที่ ๒  ในปี พ.ศ.2523 มีการศึกษาผลของผักเชียงดาในผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่า ผักเชียงดาสามารถลดการใช้ยารักษาเบาหวานแผนปัจจุบัน และบางรายสามารถเลิกใช้ยาแผนปัจจุบัน  โดยใช้แต่ผักเชียงดาอย่างเดียวสำหรับการคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาพบว่าสารสกัดผักเชียงดาสามารถลดปริมาณการใช้อินซูลินได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลินได้อีกด้วย

เห็ดหลินจือ เห็ดหลินจือสุดยอดสมุนไพรของโลก มีฤทธิ์ช่วยรักษาโรคเบาหวานได้ โดยมีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ว่าสาร Ganoderans A,Bและ C ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Polysaccharide ช่วยกระตุ้นการสร้างอินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงได้

เจียวกู่หลาน นับว่าเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่เด่นชัดและได้รับการรับรองจากนักวิจัยหลายๆสถาบันว่า เป็นสมุนไพรที่พิชิตโรคเบาหวานได้ดีที่สุดอีกชนิดหนึ่ง โดยสารออกฤทธิ์ในเจียวกู่หลานจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินและยับยั้งการดูดซึมกลูโคสในทางเดินอาหาร จึงเป็นผลทำให้ระดับน้ำตาบในเลือดลดต่ำลงได้ 

 

 

เอกสารอ้างอิง

1.  American Diabetes Association [ADA]. (2004). Preventive foot care in people with diabetes. Diabetes Care, 32,63 – 64.

2.  นพ.ณัฐพงศ์ โฆษชุณหนันท์. ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน. ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

3.  Diabetes Care, volume 34, supplement 1,January 2011.

4.  Aekplakorn, Stolk, Neal, Suriyawongpaisal, Chongsuvivatwong, & Cheepudomwit et al., 2003 (วิชัย,2553; Institute for Population and Social Research, 2552; Jiamjarasrangsi & Aekplakorn, 2005;Jiamjarasrangsi, Lohsoonthorn, Lertmaharit, & Sangwatanaroj, 2008)

5.  Patel, P., and Macerollo, A. (2010). Diabetes mellitus: diagnosis and screening. Am Fam Physician. 81, 863-870.

6.  เทพ หิมะทองคำ และ ชัยชาญ ดีโรจน์วงศ์.(2548.) ความรู้เรื่องโรคเบาหวานฉบับสมบูรณ์.(พิมพ์ครั้งที่ 6).กรุงเทพฯ:วิทยพัฒน์.

7.  International expert committee report on the role of the A1c assay in the diagnosis of diabetes. Diabetes Care, volume 32, number 7,July 2009.

8.  Statement by an American Association of Clinical Endocrinologists/American College ofEndocrinology Consensus Panel on Type 2 Diabetes Mellitus: An Algorithm for Glycemic Control

9.  Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.

10.  Mayer B, David Son , et al.Diabetes education for the nurse ,  patient and family. Diabetes Mellitus Diagnosis and Treatment. Churchill Livington , 1991: p316.

11.  ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด.ยารักษาโรคเบาหวาน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่381.คอลัมน์ ฉลาดใช้...ยา มกราคม.2554

12.  ดุษณี สุทธปรียาศรี. Clinical Nutrition. โครงการตำราวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรม. กรุงเทพมหานคร 2532 : หน้า 172.

13.  Kinson J, et al Caring for  the diabebetic.London , Churchlll Livington , 1984 : p92.

14.  John C, Pickup & Gareth Wikams. The heart and macrovascular disease in mellitus. Chronic Complication of Diabetes. London , Blackwell Scientific Publications, 1994 : p 195-209.

15.  Consensus Statement “ The phamacological treatment if hyperdlycemia in NIDDM”.Diabetes Care , 1995 ; 18:11.

16.   ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร.3 สมุนไพรพิชิตโรคเบาหวาน.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่379.คอลัมน์เรื่องเด่นจากปก.พฤศจิกายน2553