รางแดง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

รางแดง งานวิจัยและสรรพคุณ 10ข้อ

ชื่อสมุนไพร  รางแดง 
ชื่ออื่นๆ เถาวัลย์เหล็ก (สระบุรี) เครื่องก้องแกบ หนามหัน (ภาคเหนือ) เขาแกลบ เห่าดำ ฮ่องหนัง (เลย) ทรงแดง (ภาคใต้)  ซอแพะแหล่โม (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ventilago denticulata Willd.
วงศ์ RHAMNACEAE

ถิ่นกำเนิดรางแดง

รางแดงเป็นพรรณไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักจะขึ้นตามป่าโปร่ง แต่อาจพบได้ในป่าเบญจพรรณบางพื้นที่ โดยรางแดงนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ แต่ก็มีรายงานมาว่ามีการพบรางแดงในประเทศอินเดียด้วยเช่นกัน ส่วนในประเทศไทยนั้นพบได้ในป่าโปร่งทุกภาคของประเทศ แต่ว่ากันว่าพบมากแถบจังหวัดสระบุรี

ประโยชน์และสรรพคุณรางแดง

  1. เป็นยายาขับเสมหะ
  2. แก้ผิดสาบ ปวดเมื่อยต่างๆ
  3. ทำให้ชุ่มคอ
  4. ช่วยเจริญอาหาร
  5. ขับปัสสาวะ
  6. เป็นยาอายุวัฒนะ
  7. ช่วยลดคลอเลสเตอรอล
  8. ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ
  9. ช่วยบำรุงเส้น แก้เส้น แก้กษัย
  10. เป็นยาบำรุงกำลัง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ นำเถารางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร และน้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร นำมาดองไว้ 15 วัน ใช้กินครั้งละ 30 มิลลิลิตร

  • ใช้เป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร ให้นำเถารางแดง, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, ต้นเถาวัลย์เปรียง และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่ม

  • ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงเส้นสาย แก้เส้น แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ ให้นำเถาต้มกับน้ำดื่ม

  • ใช้เป็นยาขับเสมหะ ให้นำรากต้มกับน้ำดื่มรับประทาน

  • แก้ผิดสาบ ให้นำรากรางแดง, รากชะอม, รากเล็บเหยี่ยว, รากสามสิบ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง, และเขากวาง นำมาฝนใส่น้ำแล้วดื่ม

  • นำใบต้มกับน้ำดื่มรับประทาน ช่วยทำให้ชุ่มคอ

  • นำใบมาย่างไฟให้กรอบแล้วชงดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ

  • ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำยาสระผมแก้รังแค ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรอื่นๆ เช่น ใบหมี่เหม็น ส้มป่อยหรือมะนาหรือมะกรูด และน้ำด่าง(น้ำขี้เถ้า) นำมาต้มรวมกันแล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผม

ตำรับยาแก้ปวดเมื่อย ระบุให้ใช้รางแดง 1 ขีด, อ้อยดำ 1 ขีด, และยาหัว 1 ขีด ต้มจนเดือดประมาณ 15 นาที ใช้ต้มกินครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา ส่วนตำรับยาแก้ปวดเมื่อยของชาวล้านนา จะใช้ลำต้นรางแดง ผสมกับลำต้นและรากงวงสุ่ม ลำต้นเปล้าล้มต้น ลำต้นเปล้าลมเครือ ลำต้นแหนเครือ ลำต้นหนาด และลำต้นบอระเพ็ด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดเมื่อย

ลักษณะทั่วไปรางแดง

รางแดง จัดเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่มเนื้อแข็ง มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ เถาเป็นสีเทา เมื่อเถามีอายุมากผิวของลำต้นหรือเถาจะมีลักษณะเป็นรอยแตกระแหงตามยาวเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม โดยลำต้นเมื่อยังอ่อนจะเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อแก่แล้วจะแตกเป็นสีแดง ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ 

ใบรางแดง แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหยักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น

ดอกรางแดง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายยอด เป็นดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเขียวแกมเหลืองอ่อน หรือสีเขียวอมขาว
ผลรางแดง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลมีรูปร่างกลม ด้านปลายผลแผ่เป็นครีบคล้ายปีกแข็ง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด

รางแดง

รางแดง

การขยายพันธุ์รางแดง

การขยายพันธุ์รางแดงสามารถทำได้ด้วยวิธีการทาบเถา ใช้เมล็ด ใช้กิ่งชำ กิ่งตอน โดยวิธีการปลูกให้นำกิ่งที่ได้จากการปักชำ หรือกิ่งตอน รวมถึงต้นกล้าจากการเพาะเมล็ด มาปลูกลงดินโดยให้หลุมที่ปลูกมีความกว้าง x ลึก ประมาณ 30 x 30 ซม. แล้วนำปุ๋ยอินทรีย์ มารองที่ก้นหลุม 1 ใน 4 ของหลุม และกลบดินเล็กน้อย แล้วจึงนำต้นกล้าหรือกิ่งพันธุ์ที่จะปลูกลงปลูกกลางหลุมแล้วกลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม

องค์ประกอบทางเคมี

ข้อมูลการศึกษาวิจัยของรางแดงมีน้อยมากทั้งในไทยและในต่างประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือ ประมาณ พ.ศ.2548  มีรายงานการศึกษาวิจัยการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase  (เอนไซม์ phosphodiesterase เป็นเอนไซม์ จะทำหน้าที่ย่อยสลาย cyclic CMP และ cyclic GMP ซึ่งสารทั้งสองตัวนี้ควบคุมกลไกการทำงานในระดับเซล โดยเกี่ยวข้องกับระบบของร่างกายหลายระบบ เช่น การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบ การแข็งตัวของอวัยวะเพศ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น) โดยคัดเลือกสมุนไพรไทยที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยาบำรุงกำหนัดและยาบำรุงสมอง 19 ชนิด พบว่ามีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดังกล่าวอยู่ 7 ชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ รางแดง


การศึกษาทางเภสัชวิทยา

เนื่องจากรางแดงมีนักวิจัยนำมาทำการศึกษาวิจัยค่อนข้างน้อย (ทั้งในไทยและต่างประเทศ) จึงไม่ค่อยมีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยรางแดงมากเท่าที่ควร แต่ที่มีการศึกษาวิจัยรางแดงก็จะเป็นการศึกษาวิจัยแบบ การสำรวจพืชสมุนไพรตามภูมิปัญญาชาวบ้านตามแหล่งธรรมชาติต่างๆ เช่น มีรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องความหลายหลายของพืชสมุนไพรสำหรับรักษาอาการไข้จากอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจาจังหวัดกระบี่ ที่อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยระบุว่าเปลือกต้นและเนื้อไม้ของรางแดง(Ventilago denticulate Willd.) สามารถรักษาอาการไข้ และมีฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านการอักเสบได้


การศึกษาด้านพิษวิทยา

มีการศึกษาความเป็นพิษของรางแดงเพียง 1 การวิจัยเท่านั้น คือ มีการทดสอบความเป็นพิษพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากทั้งต้นรางแดงด้วยแอลกอฮอลล์และน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (ค่าLD₅₀) คือ 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จึงเรียกได้ว่ารางแดงมีความเป็นพิษน้อย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจากการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของรางแดงจะมีค่าความเป็นพิษน้อย แต่จากการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่ากลุ่มบุคคลต่อไปนี้ไม่ควรใช้รางแดง ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคความดันต่ำ สตรีมีครรภ์ สตรีทีกำลังให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ 



เอกสารอ้างอิง

กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “เครือเขาแกบ…พญาดาบหัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [29 พ.ค. 2014].

รางแดง รักษาเบาหวาน.กระดานถามตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6063

หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รางแดง”.  หน้า 677-678.

Akram, M.T., Dhenge, R.M. and Itankar, P.R. (2009). Anti-inflammatory activity of ethanolic extract of Ventilago denticulata. Indian Journal of Natural Products 25(2): 22-24.

ปฐมา จันทรพล,ศรายุทธ ต้นเถียร, อรทัย เนียมสุวรรณ.ความหลากหลายของพืชสมุนไพรสำหรับรักษาอาการไข้จากอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จังหวัดกระบี่.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 42 ฉบับที่ 2.2557.หน้า 313-326

เต็ม สมิตินันทน์,2544.ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย.ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้,กรุงเทพฯ

ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และวิเชียร จีรวงศ์.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม.กทม.อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง.2555.

พงษ์ศักดิ์ พลเสนา,2550.พืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน.ฉบับสมบูรณ์.สวนพฤกษศาสตร์ ภาคตะวันออก(เขาหินซ้อน).เจตนารมณ์ภัณฑ์,ปราจีนบุรี.

หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “รางแดง”.  หน้า 221.

รางแดง.แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://thaiherbal.org/3227