ลูทีน

ลูทีน

ชื่อสามัญ Lutein

ลูทีน (Lutein)

มีชื่อมาจากภาษาลาตินว่า ลูเทียส (Luteus) หมายถึงสีเหลือง ลูทีน แคโรทีนอยด์ (carotenoids) ซึ่งมีลักษณะเป็นสารสีเหลือง ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ได้ (non-provitamin A carotenoids) โดยทั่วไป หรือ เรียกอีกอย่างว่าเป็นกลุ่มแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสร้างสารประกอบทั้งสองนี้ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร ลูเทอิน และซีอาแซนทินเป็นแคโรทีนอยด์ 2 ตัว เท่านั้นที่พบอยู่ที่แมคูลา (macula) และที่เลนส์ของตา ที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์ต่อดวงตาของคนเรา ซึ่งชาวต่างประเทศรู้จักสารอาหารลูทีน (lutein) กันอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นสารอาหารที่ช่วยชะลออาการจอประสาทตาเสื่อมของผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม สารอาหารลูทีนนี้ ร่างกายของคนเราไม่สามารถสังเคราะห์สารลูทีน ขึ้นมา ใช้เองได้ จะต้องกินเข้าไปเท่านั้น

ประโยชน์และสรรพคุณของลูทีน

ลูทีน และซีแซนทินเป็นแคโรทีนอยด์ที่สะสมอยู่บริเวณเรตินาของดวงตา ซึ่งเม็ดสีนี้จะทำหน้าที่ปกป้องเรตินา และจอประสาทตาจากกระบวนการ OxidativeStress ซึ่งนั่นหมายความว่าจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ ลูทีน (lutein) และซีแซนทีน (zeaxanthin) ทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชันเพื่อป้องกันเซลล์รับแสง (photoreceptor cells) จากอันตรายจากอนุมูลอิสระที่เซลล์สร้างขึ้นเนื่องมาจากมีปริมาณออกซิเจนสูง (oxygen tension) และจากการถูกแสง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าสารประกอบทั้งสองนี้มีหน้าที่ในการกรองแสงสีฟ้าที่เป็นคลื่นแสงที่มีพลังงานสูง โดยประมาณว่าจะสามารถกรองแสงสีฟ้าลงได้ถึง 40 % ก่อนที่แสงจะตกถึงแมคูลา ดังนั้นจะสามารถลดสภาวะความเครียดออกซิเดชันต่อจอประสาทตาได้อย่างมีนัยสำคัญ

           นอกจากนี้ลูทีนยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในดวงตาของคนเราอีกด้วย เพราะดวงตาของเราจะมีสารอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นตัวทำลายเซลล์รับภาพ และทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับจอประสาทตาทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ได้ ลูทีนถือเป็นสารอาหารที่มีความ สำคัญในการปกป้องจอประสาทตา โดยลูทีน จะทำงานร่วมกันกับกรดไขมันดีเอชเอ และกรดไขมันอีพีเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านการมองเห็นของเด็ก โดยไขมันดีเอชเอ และกรดไขมันอีพีเอ จะทำหน้าที่เหมือนเป็นหลอดไฟ ส่วนลูทีนจะทำหน้าที่เหมือนเป็นสารเคลือบหลอดไฟไม่ให้เสื่อมเร็ว และนอกจากลูทีนจะพบมากในดวงตาของคนเราแล้ว ยังพบได้ในสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการมองเห็นถึงร้อยละ 66 จึงเชื่อว่าลูทีน มีส่วนช่วยในการรับภาพ และส่งต่อไปยังสมองได้ดีขึ้นอีกด้วย

           จากการศึกษาทางระบบวิทยา พบหลักฐานว่า ลูทีน และซีแซนทีนช่วยลดโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration: AMD) สำนักงาน อาหาร และยาสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลูทีน และซีแซนทีน ในการลดความเสี่ยงของการเกิดความเสื่อมของตา อันมีสาเหตุมาจากอายุที่เพิ่มขึ้น นอกจากลูทีน และซีแซนทีน จะมีคุณสมบัติในการช่วยชะลอความเสื่อมของเรตินา และเลนส์ตาแล้ว ยังทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก และป้องกันการเกิดโรคหัวใจ

ขนาดและปริมาณที่ควรใช้ลูทีน

จากการศึกษาพบว่า ระดับลูทีน 2.0–6.9 มิลลิกรัมต่อวัน จะช่วยป้องกันความเสื่อมของจุดด่างในดวงตาได้แต่ลูทีนก็ยังไม่ได้มีการกำหนดปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน (Dietary Recommended Intake (DRI)) แต่งานวิจัยพบว่า ต้องรับประทาน 6-10 มิลลิกรัมต่อวัน จึงจะมีประสิทธิภาพในการดูแลดวงตา และจะมีความปลอดภัยหากรับประทานไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของลูทีน

โครงสร้างลูทีน 

 
อาหาร    ปริมาณ ลูทีนซีแซนทีน
  (มิลลิกรัมต่อ น้ำหนักสด 100กรัม)
ผักปวยเล้ง ดิบ (raw spinacia oleracea l.) 11.9
ผักปวยเล้ง สุก (cooked spinacia oleracea l.) 7.1
ผักกาดแก้ว (ดิบ) (lettuce,raw) 2.6
บร็อคโคลี่ (สุก) (broccoli cooked) 2.2
ข้าวโพด (ชนิดหวาน สุก) (sweet com cooked) 1.8
ถั่วลันตา (เขียว สุก) (green pea cooked) 1.4
แขนงกะหล่ำ (สุก) (brussels sprouts cooked) 1.3
กะหล่ำปลี (ขาว ดิบ) (white cabbage raw) 0.3
ไข่แดง (ขนาดกลาง) (egg yolk medium) 0.3

แหล่งกำเนิดลูทีน

ลูทีน (Lutein) นั้นเป็นสารที่มีอยู่ในระบบร่างกายของมนุษย์อยู่แล้ว กล่าวคือ ภายในจอประสาทตาของคนเรา มีร่องเล็กๆ อยู่จุดหนึ่งที่มีเซลล์รับภาพจอประสาทตา ซึ่งเป็นจุดที่แสงตกกระทบ และทำให้คนเราสามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนในแต่ละวัน ซึ่งบริเวณเซลล์รับภาพนี้มีสารสีเหลือง หรือ ลูทีน อยู่หนาแน่นมากที่สุด โดยจะพบได้ตรงชั้นเนื้อเยื่อที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาท หรือ เรตินาตรงบริเวณ Macula Luta ซึ่งจุดดังกล่าวเป็นจุดที่สำคัญมากต่อการมองเห็น หากบริเวณดังกล่าวเสื่อม หรือ เสียไป อาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือ ตาบอดได้ 


แหล่งที่มาของลูทีน

ถึงแม้ว่าลูทีน (Lutein) จะเป็นสารที่มีอยู่แล้วในร่างการมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายมนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะสังเคราะห์สารลูทีน (Lutein) ขึ้นมาใช้เองได้ จึงต้องจำเป็นที่จะต้องได้รับจากอาหารต่างๆ ที่มีสารลูทีนนั่นเอง ซึ่งโดยธรรมชาตินั้นลูทีน (Lutein) เป็นสารธรรมชาติที่มีในนมมารดา และในพืชผักผลไม้หลายชนิด เป็นสารในตระกูลของสารแคโรทีนอยด์ ในธรรมชาติ

           แคโรทีนอยด์ในอาหารธรรมชาติมีประมาณ 600 ชนิด แต่ที่พบมากมี 6 ชนิด คือ

Ø  แอลฟา-แคโรทีน (Alpha-carotene)

Ø  บีตา-แคโรทีน (Beta-carotene)

Ø  บีตา-คริพโตแซนทิน (Beta-cryptoxanthin)

Ø  ไลโคพีน (Lycopene)

Ø  ลูทีน (Lutein)

Ø  ซีแซนทีน (Zeaxanthin) 

       โดยพืชผักที่มีสารลูทีนโดยมากมักจะเป็นผักผลไม้ที่มีสีเหลือง และสีเขียวเข้ม เช่น ข้าวโพด แครอท ฟักทอง ผักปวยเล้ง คะน้า ผักโขมฯ การบริโภคพืชผักที่มีลูทีน หรือ แม้แต่อาหารสุขภาพที่มีสารสำคัญนี้มีประโยชน์ในโรคหลายชนิดด้วยกัน ที่สำคัญ คือ โรคต้อกระจก และโรคจุดรับภาพเสื่อม แหล่งที่พบลูทีนในธรรมชาตินอกจาก จะพบมากในดอกดาวเรือง และโกจิเบอร์รี่(เก๋ากี้) แล้ว ยังพบใน กะหล่ำ ถั่วลันเตาต้นอ่อนกะหล่ำดาว ผักกาด ถั่วพิสตาชิโอ บรอกโคลี ไข่

 

กลไกการทำงานของลูทีน

สารลูทีนในเซลล์รับภาพของจอประสาทตานี้ จะทำหน้าที่สำคัญ คือ คอยกรองแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อจอประสาทตา และเป็นแสงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะมีอยู่ทั่วไปรอบๆ ตัวเรา ซึ่งทั้งแสงจากดวงอาทิตย์ แสงจากโทรทัศน์ แสงจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟ เป็นต้น ลูทีนกับโรคต้อกระจก กลไลของลูทีน สามารถลด ป้องกัน หรือ ชะลอการเกิดต้อกระจกได้นั้น เป็นเพราะลดกลไกการเกิดความเสื่อมของโรคต้อกระจกโดยตรง และการที่แคโรทีนอยด์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะอนุมูลอิสระเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดต้อกระจก มีการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุ ต่างๆ พบว่ากลุ่มที่มีระดับของลูทีนใน กระแสเลือดสูงจะมีความขุ่นของเลนส์ตาน้อยกว่า ซึ่งเป็นการวิจัยของจักษุแพทย์และผู้วิจัยสรุปว่า ลูทีนน่าจะลดการเกิดความเสื่อมของเลนส์ตาในผู้สูงอายุได้จริง ยังมีการวิจัยว่าการรับประทานลูทีน ในปริมาณสูงเพิ่มความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกไปแล้ว การวิจัยนี้เป็นการวิจัยที่มีการออกแบบแผนการวิจัยมาอย่างดี และทาการทดลองเป็นเวลานานถึงสองปี ลูทีนกับโรคจุดรับภาพเสื่อม นอกจากลูทีน จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกแล้ว ยังพบว่ามีประโยชน์ในโรคจุดรับภาพเสื่อม ซึ่งมีหลายๆ การศึกษาสนับสนุนข้อมูลดังกล่าว โดยพบว่าถ้าปริมาณลูทีนในลูกตาลดน้อยลง จะพบความเสื่อมมากขึ้นในการเป็นโรคจุดรับภาพเสื่อม และความเสี่ยงในการเป็นโรคจุดรับภาพเสื่อมจะลดลง หากมีปริมาณลูทีน ในเลือดสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า การบริโภคอาหารที่มีลูทีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
 

การศึกษาทางระบาดวิทยาและการศึกษาทางคลินิก

มีรายงานการวิจัยที่ Harvard School of Public Health, Boston ในผู้ชาย 36,644 คน ที่ได้รับอาหารเสริม และวิตามินต่างๆ พบว่ากลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมเที่มีลูทีน จะลดความเสื่อมของโรคต้อกระจกถึง 19% และที่ University of Massachusetts ทาวิจัยในสุภาพสตรีถึง 50,461 คน พบว่าการได้รับลูทีน จะลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจกถึง 22% การวิจัยที่ University of Wisconsin Madison Medical School ในผู้สูงอายุ 43-48 ปี จานวน 1,354 คน พบว่า ลูทีนช่วยลดอุบัติการณ์ของต้อกระจกที่เกิดตรงกลางเลนส์ (Nuclear Cataracts) ได้ถึง 50% จากรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยา ซึ่งเป็นการศึกษาในประชากรกลุ่มใหญ่ 12 ฉบับ พบว่ากลุ่มคนที่รับประทานอาหารที่มีผักและผลไม้ที่มีลูทีน และซีแซนทีนสูงสุด หรือ กลุ่มคนที่มีระดับลูทีน และซีแซนทีนในเลือดสูงสุด (เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ต่ำสุด) จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อมน้อยกว่ามาก นอกจากนี้การศึกษาทางคลินิก (การศึกษาในคน) 7 ฉบับ พบว่าการได้รับลูทีน และซีแซนทีน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของอาหาร หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีผลทำให้ระดับของลูทีน ในเลือด ในแมคูลาสูงขึ้น และทำให้การวัดการมองเห็นต่างๆ ดีขึ้น และมีแนวโน้มในการป้องกันการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม การรับประทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณที่สูงที่สุดจะมี อัตราเสี่ยงต่ำกว่า 43% สำหรับภาวะการเสื่อมของจอประสาทตาตามอายุอย่างเฉียบพลันของจอประสาทตา เมื่อเปรียบเทียบการรับประทานในปริมาณที่ต่ำที่สุด จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างจำนวน 876 คน ซึ่งมีอายุ ระหว่าง 55-80 ปี การได้รับลูทีน และซีซานทีน ในอัตราสูงจะช่วยลดความเสี่ยงของจอประสาทตาเสื่อมอย่างเฉียบพลันตามอายุได้  จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า หญิง และชายที่ได้รับ ลูทีนในระดับสูงที่สุดจะเป็นต้อกระจกในอัตราที่ต่ำกว่า ผู้ที่ไม่รับประทานลูทีนจากผัก ผลไม้ และสารลูทีนอาจช่วยป้องกันมะเร็งปอด มะเร็งสำไส้ และมะเร็งเต้านม พบว่าการรับประทานสารลูทีน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ในทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และการลดอัตราเสี่ยงที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจพบการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะเริ่มแรก การรับประทานผักที่อุดมไปด้วยแคโรทีนอยด์ ซึ่งประกอบด้วยลูทีนในปริมาณสูงจะมีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ลดลง โดยเฉพาะสำหรับสตรีที่มีประวัติว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ด้วยที่ว่าลูทีน (Lutein) เป็นสารที่มีในร่างกายมนุษย์ แล้วแหล่งที่มีลูทีนก็เป็นพืชผัก และไข่ที่เราใช้ประกอบอาหารอยู่เป็นประจำ จึงคาดว่าไม่น่าจะมีอันตรายหากรับประทานลูทีนในแหล่งอาหารจากธรรมชาติเหล่านี้ แต่หากเป็นสารสกัด หรือ อาหารเสริมที่มีลูทีน สกัดเข้มข้นแล้ว ควรรับประทานไม่เกินวันละ 20 มิลลิกรัม เพราะหากรับประทานมากเกิน จะเกิดการสะสมที่ตับ และทำให้เกิดอาการตัวเหลืองที่เรียกว่า Carotenemia แต่หากหยุดรับประทานสักพักอาการก็จะหายไปเอง และกลับมาเป็นปกติ
 

เอกสารอ้างอิง ลูกทีน
  • รศ.วิมลศรีสุข.กินอะไร...ชะลอจอประสาทตาเสื่อม. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. ภาควิชาอาหารเคมี. คณะเภสัชศาสตร์. มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phamacy.mahidol.ac.th/th/Knowledge/article/189/ชะลอจอประสาทตาเสื่อมต้องกินอะไร/
  • The body of evidence to support a protective role for lutein and zeaxanthin in delaying chronic disease. Overview. J Nutr. 2002 Mar;132(3):518S-524S
  • A prospective study of carotenoid and vitamin A intakes and risk of cataract extraction in US women. Am J Clin Nutr. 1999 Oct;70(4):509-16
  • Lens aging in relation to nutritional determinants and possible risk factors for age-related cataract. Arch Ophthalmol. 2002 Dec;120(12):1732-7
  • นพ.สรายุธ สุภาพรรณชาติ. สาร”ลูทีน ”กับจอประสาทตา. คำถามสุขภาพ.บทความสุขภาพมูลนิธิหมอชาวบ้าน (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.doctor.or.th/ark/detail/5878
  • Lutein, but not alpha-tocopherol, supplementation improves visual function in patients with age-related cataracts: a 2-y double-blind, placebo-controlled pilot study. Nutrition. 2003 Jan;19(1):21-4
  • Dietary carotenoids, vitamins A, C, and E, and advanced age-related macular degeneration. Eye Disease Case-Control Study Group. JAMA. 1994 Nov 9;272(18):1413-20
  • Protective role of lutein on light-damage of retina. Wei Sheng Yan Jiu. 2008 Jan;37(1):115-7
  • A prospective study of carotenoid intake and risk of cataract extraction in US men. Am J Clin Nutr. 1999 Oct;70(4):517-24
  • The macular pigment: a possible role in protection from age-related macular degeneration. Adv Pharmacol. 1997;38:537-56
  • Antioxidant and prooxidant properties of carotenoids. Arch Biochem Biophys. 2001 Jan 1;385(1):20-7
  • Antioxidant status and neovascular age-related macular degeneration. Eye Disease Case-Control Study Group. Arch Ophthalmol. 1993 Jan;111(1):104-9
  • Antioxidant intake and risk of incident age-related nuclear cataracts in the Beaver Dam Eye Study. Am J Epidemiol. 1999 May 1;149(9):801-9
  • Ocular photosensitization. Photochem Photobiol. 1987 Dec;46(6):1051-5
  • ดร.สถาพร คำหอม.แคโรทีนอยด์ (Carotenoid)ภาควิชาวิศวกรรมเคมี และวัสดุ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์.หนังสือคู่มืออาหารเสริม ฉบับสมบูรณ์.สำนักพิมพ์เอ็มไอเอส.กรุงเทพฯ 2556. หน้า 323-326
  • สารพฤกษเคมี.วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki
  • Klaver C, Wolfs R, Vingerling J, Hofman J, de Jong P. Age-specific prevalence and causes of blindness and visual impairment in an older population: the Rotterdam Study. Arch Ophthalmol 1998;116:653-8.
  • Massacessi A, Faletra R, Gerosa G, Staurenghi G, Orzalesi N. The effect of oral supplementation of macular carotenoids (lutain and zeaxanthin) on the prevention of age-related macular degeneration: an 18-month follow-up study. ARVO 2001;42:S234.
  • ผักครึ่งอย่างอื่นครึ่ง.สถาบันมะเร็งแห่งชาติกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข.พิมพ์ครั้งที่ 1. 16 หน้า