“สมอไทย” สมุนไพรพันธุ์ไทย กับ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

“สมอไทย” สมุนไพรพันธุ์ไทย กับ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์           

 เมื่อบทความที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับ“สมอไทย”กันมาบ้างแล้ว ในเรื่องราวเกี่ยวกับชื่อวิทยาศาสตร์ถิ่นกำเนิดรวมถึงด้านต่างๆ พอสังเขปแต่หากเรารู้จักสมอไทยในเรื่องราวเหล่านั้นแต่เรายังไม่รู้จักลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสมอไทยแล้วก็เหมือนกับเราพลาดในสิ่งที่สำคัญของเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนี้เสียแล้ว ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะขอนำทุกท่านมารับทราบถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสมอไทยสมุนไพรสายพันธุ์ไทยที่ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย โดยสมอไทยนั้นถูกจัดให้เป็นไม้ยืนต้นเช่นเดียวกับขี้เหล็กและมะขามแขก ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่เป็นประเภทไม้ผลัดใบจะมีลำต้นสูง 10 – 30 เมตร มีทรงพุ่งโปร่ง และลำต้นมักจะแตกกิ่งปานกลาง และมีรูปร่างไม่แน่นอน เปลือกลำต้นขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดมีสีเทาอมดำ เปลือกในมีสีเหลืองอ่อนส่วนเนื้อไม้เป็นไม่เนื้อแข็ง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านเรือนได้ ใบของสมอไทยเป็นใบเดียวเรียงตัวกันเยื่องสลับข้างในบริเวณปลายของกิ่งแขนง ใบเป็นรูปไข่และรีกว้าง มีความกว้างประมาณ 5 – 10 เซนติเมตร ยาว 10 – 18 เซนติเมตรโคนใบและปลายใบมีลักษณะมน แผ่นใบจะเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ใบด้านบนมีสีเขียวเข้มด้านล่างใบมีสีขาวกว่า แผ่นใบมีขนขึ้นปกคลุม มีเส้นแขนงใบข้างละ 5 – 8 เส้น ก้านใบยาว 1.5 – 3 เซนติเมตร จะเริ่มผลัดใบช่วงกุมภาพันธ์ – มีนาคม ดอกของสมอไทย เป็นช่อแยกแขนงมี 3 – 5 ช่อโดยปลายช่อห้อยลงด้านล่าง แต่ละช่อจะมี 10 – 20 ดอก ขนาดดอกเล็กประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร มีลักษณะเป็นรูปถ้วยมีกลีบดอก 5 กลีบ และมีสีขาวอมเหลืองมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ซึ่งมักจะออกพร้อมกับใบอ่อน ผลของสมอไทยนั้นจะเป็นผลที่มีลักษณะรูปไข่ไปจนถึงค่อนข้างกลม กว้าง 2 – 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 – 3.5 เซนติเมตร มีลักษณะผิวเกลี้ยงๆ มีสันตื้นๆ สามารถมองเห็นได้ตามแนวยาว 5 สัน ผลอ่อนจะมีสีเขียวสดผลแก่จะเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเขียวอมน้ำตาบ โดยผลของสมอไทยนี้จะมีเนื้อค่อนข้างหนา และแข็งแต่เนื้อจะกรอบให้รสเปรี้ยวอมฝาด ซึ่งเมื่อชิมแรกๆจะมีรสเปรี้ยวอมฝาดจากนั้นจะขมและจะหวานในตอนหลัง และในสมอไทย 1 ผลจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด มีรูปร่างยาวรีเปลือกเมล็ดหนามีสีน้ำตาลเหลือง โดยในระบบการเจริญเติบโตปกติทั่วไปของสมอไทยนั้นจะเริ่มออกดอกในเดือน เมษายน – มิถุนายน และติดผลเดือนตุลาคม – มกราคม ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีกลไกการทำงานของต้นสมอไทยทำให้เกิดสมุนไพรอีก 1 ชนิดนั่นก็คือ “โกฐพุงปลา” หรือ terminalia gall ซึ่งโกฐพุงปลานี้เป็นปุ่มหูดที่เกิดจากต้นสมอไทยซึ่งเกิดจากแมลงเจาะกิ่งและใบอ่อนของต้นสมอไทยแล้ววางไข่เอาไว้จากนั้นต้นสมอไทยจะมีกลไกการสร้างปุ่มหูดขึ้นมาหุ้มไข่ของแมลงเหล่านั้น และเมื่อปุ่มหูดเหล่านี้แห้งและแข็งก็จะมีลักษณะคล้ายกับกระเพาะปลาแห้ง จึงเรียกกันว่าโกฐพุงปลาจะมีรสฝาดและขมจัด นิยมนำมาใช้เป็นยาฝาดสมานอย่างแรง รวมถึงไข้คุมธาตุ แก้อุจาระพิการ แก้ไข้ แก้พิษ ได้อีกด้วย

 

 

ลูกสมอไทย พริกไทยดำ มะรุม