ความเป็นพิษของกวาวเครือขาวในห้องทดลอง

ความเป็นพิษของกวาวเครือขาวในห้องทดลอง

ในการทดลองและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุนไพรนั้นนอกจากจะมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาอีกด้วย เพราะการศึกษาทางด้านพิษวิทยานั้น เป็นการศึกษาถึงปฏิกิริยาของสารออกฤทธิ์ต่างๆ ภายในสมุนไพรแต่ละชนิดที่จะเกิดกับอวัยวะหรือระบบไหลเวียนโลหิตในสัตว์ทดลองที่นำมาทำการทดลอง เพื่อที่จะได้ทราบว่าหากมีการนำมาใช้กับมนุษย์จริงๆ แล้วจะเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์อะไรกับมนุษย์บ้าง และทำให้ทราบขนาดการใช้สมุนไพรและระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสมว่าควรใช้ติดต่อกันกี่วัน  รวมถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคไตควรระวังการใช้มะขามแขก เพราะอาจทำให้เลือกมีภาวะโปแตสเซียมต่ำ โสม(โสมคน) ควรระวังในผู้ที่มีประวัติความดันโลหิตสูงและอาจเกิดผื่นที่ผิวหนัง ดังนั้นในการศึกษาวิจัยในห้องทดลองของสมุนไพรต่างๆนั้น จึงมีการศึกษาควบคู่กันไปทั้งด้านเภสัชและพิษวิทยา ในกวาวเครือขาวก็เช่นกัน ในคราวที่แล้วได้นำเสนอในเรื่องเภสัชวิทยา หรือ ฤทธิ์ทางเภสัชของกวาวเครือขาวไปแล้ว ในครั้งนี้จึงขอนำเสนอการทดสอบความเป็นพิษหรือพิษวิทยา ของกวาวเครือขาว ให้ทุกท่านได้รับรู้กันครับ โดยในการทดสอบความเป็นพิษของกวาวเครือขาวนั้นมีอยู่มากมายหลายสถาบันที่ทำการศึกษาวิจัยและทดลองกันแต่ที่พอรวบรวมได้นั้นมีดังนี้  การทดสอบพิษเฉียบพลันของกวาวเครือขาวในหนูทดลอง มีการใช้หนูทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมียกลุ่มละ 5 ตัว โดยให้กลุ่มแรกได้รับการป้อนผงกวาวเครือขาว แขวนตะกอนในน้ำที่มีความเข้มข้น 1:2.5 โดยป้อนครั้งละ 20 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยทำ 2 ครั้งห่าง 6 ชั่วโมง แล้วสังเกตอาการทุกวันจนครบ 2 อาทิตย์ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ป้อนเพียงน้ำกลั่นอย่างเดียว ผลปรากฏว่าหนูทดลองไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ และไม่มีหนูตายเลยในช่วง 2 อาทิตย์ ที่มีการทดลอง จึงสรุปได้ว่ากวาวเครือขาวไม่มีพิษเฉียบพลัน และอีกการทดสอบหนึ่งคือ การทดสอบพิษเรื้อรังของกวาวเครือขาวในหนูทดลอง  โดยการให้หนูทดลองกลุ่มที่ 1 ได้รับผงกวาวเครือขาวแขวนตะกอนในน้ำ ขนาด 250 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นเวลานาน 6 เดือน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มควบคุมที่ป้อนน้ำกลั่นปริมาณ 5 มิลลิลิตร/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผลปรากฏว่าหนูกลุ่มทดลองมีน้ำหนักตัวต่ำกว่ากลุ่มควบคุมและการได้รับกวาวเครือขาวในปริมาณที่สูงมีผลชักนำให้น้ำหนักอัณฑะลดลงในหนูเพศผู้แต่น้ำหนักมดลูกเพิ่มขึ้นในหนูเพศเมีย จึงสรุปได้ว่าการบริโภคกวาวเครือขาวติดต่อกันนานๆ มีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ไขกระดูก และกวาวเครือขาวไม่เหมาะที่จะให้เพศชายบริโภคนานๆเพราะไปกดการทำงานของอัณฑะ ส่วนในเพศหญิงจะเกิดการกระตุ้นที่มดลูกให้สมบูรณ์ แต่หากมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะมดลูกหนาตัว (huperplasia) จากผลการทดสอบทั้ง 2 แบบข้างต้นนั้น เราจะเห็นได้ว่ากวาวเครือขาวมักจะให้ผลที่ดีแก่สตรีมากกว่าบุรุษแต่หากบริโภคในขนาดที่มากเกินและติดต่อกันเป็นเวลานานแล้ว จากที่จะมีประโยชน์จะกลับกลายเป็นผลเสียกับสุขภาพทันที ดังนั้นในการจะใช้สมุนไพรตัวไหนควรศึกษาทั้งทางด้านเภสัชวิทยา และพิษวิทยาไปพร้อมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

 

กวาวเครือขาว เจียวกู่หลาน กระชายดำ