เจตมูลเพลิงขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เจตมูลเพลิงขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 23ข้อ


ชื่อสมุนไพร
เจตมูลเพลิงขาว

ชื่ออื่นๆ ปิดปิวขาว (เหนือ) , หนวดแมว (ลื้อ) , ตอชู , ตั้งชูอ้วย (กะเหรี่ยง) , โก้นหลัวะ(ม้ง) , ไป๋เสี่ยฮวง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago zey/anica Linn.
ชื่อพ้อง Agni , Bama , Cheraka , Cuita , Duoi cong , Plumbago auricurata
วงศ์ Plumbaginaceae

  

 

ถิ่นกำเนิดเจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาวมีถิ่นกำเนิดในอินเดีย และกระจายพันธุ์ไปในเขตร้อนในบริเวณในบริเวณใกล้เคียงในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยมักจะพบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกและกระจายพันธุ์ได้ดีในเขตร้อน
 

ประโยชน์และสรรพคุณเจตมูลเพลิงขาว

  1. ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
  2. ใช้ทาแก้กลากเกลื้อนและปวดข้อ
  3. เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
  4. ขับลมลำไส้
  5. แก้อาการหาวเรอ
  6. เป็นยาขับระดู
  7. แก้ฟกช้ำ ฝีบวม มาเลเรีย
  8. แก้ลมและเสมหะ
  9. ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม
  10. แก้ฟกช้ำ ฝีบวม
  11. แก้ไข้มาลาเรีย
  12. แก้ปวดเมื่อย กระดูกหัก ปอดบวม
  13. แก้โรคตา แก้หนาวเย็น
  14. แก้ท้องเสีย กระจายเลือดลม
  15. แก้ริดสีดวงทวาร แก้บวม แก้คุดทะราด
  16. เป็นยาบำรุงธาตุ บำรุงโลหิต ขับโลหิตที่เป็นพิษ 
  17. แก้ไอปวดหลัง
  18. ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  19. ช่วยให้คลอดบุตรง่าย บำรุงร่างกาย
  20. แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง
  21. เป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด
  22. ช่วยขับเหงื่อ
  23. ช่วยแก้ปอดบวม 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้เจตมูลเพลิงขาว

1. ปวดข้อ หรือเคล็ดขัดยอก ใช้รากแห้ง 1.5-3 กรัม ต้มนํ้าหรือ แช่เหล้ากินครั้งละ 5 มล. วันละ 2 ครั้ง
2. ขับประจำเดือน ใช้รากเจตมูลเพลิงขาวแห้ง 30 กรัม และเนื้อหมูแดง 60 กรัม ต้มน้ำกิน
3. อาการม้ามบวม ใช้รากแห้งดองเหล้ากิน ถ้าอาการมากใช้ใบ สดและข้าวเหนียวตำให้ละเอียดปั้นเป็นเม็ดใหญ่พอควร นึ่งให้สุก กินก่อนนอนและตอนตื่นนอนครั้งละเม็ด
4. ฟกช้ำ ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ใส่เหล้าลงไปเล็กน้อย แล้วทาบริเวณที่เป็น
5. ฝีคัณฑสูตร ฝีบวม เต้านมอักเสบ ไฟลามทุ่ง ใช้ใบสดพอประมาณ ตำให้ละเอียด ใช้ผ้าก๊อส 2 ชั้นห่อพอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย
6. ไข้มาเลเรีย ใช้ใบสด 7-8 ใบ ตำให้ละเอียด พอกบริเวณชีพจร ตรงข้อมือ 2 ข้าง ก่อนจะเกิดอาการ 2 ชั่วโมง(พอกจนกระทั่งบริเวณที่ พอกรู้สึกเย็นจึงเอาออก)
7. ผิวหนังหนาเนื่องจากเสียดสีกันนาน (callus) ใช้ใบสด 1 กำมือ ข้าวสวย 1 กำมือ เกลือเล็กน้อย ตำละเอียดพอกบริเวณที่เป็นวันละครั้ง
8. กลากเกลื้อน ใช้รากสดตำให้ละเอียดผสมน้ำหรือเหล้าทาบริเวณที่เป็น
9. ใช้รักษาโรคผิวหนังและผื่นคันได้ โดยนำรากมาป่นให้ละเอียดผสมน้ำมันพืชเล็กน้อยทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปเจตมูลเพลิงขาว

จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ
ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน
ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น
ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว
 

การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาวขยายพันธุ์เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง กล่าวคือ การขยายพันธุ์เจตมูลเพลิงขาวสามารถทำได้โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง ปกติก็ใช้วิธีเพาะเมล็ด แต่ในกรณีที่ต้องการปลูกเป็นจำนวนมาก เราสามารถใช้วิธีการปักชำกิ่งก่อนนำไปปลูกขยายลงแปลงหรือลงในรองซีเมนต์ (หากปลูกลงแปลงรากของเจตมูลเพลิงจะไชลงในดินลึกและยากแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงใช้วิธีปลูกลงในรองซีเมนต์ชนิดไม่มีก้น แต่ใช้วัสดุแผ่นเรียบวางรองพื้นแทน เพื่อป้องกันไม่ให้รากซอนไชลงพื้น) ชนิดที่ต้องให้ระบายน้ำได้สะดวก โดยปลูกในช่วงต้นฝนแล้วรดน้ำให้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปล่อยจนมีอายุครบ 1 ปี(เป็นอย่างน้อย) แล้วจึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิต
การชำส่วนของลำต้น คือการตัดส่วนของยอดและส่วนของลำต้น ประมาณ 2 นิ้ว หรือ 2 ข้อของลำต้น นำมาชำด้วยวัสดุปักชำขี้เถ้าแกลบใช้เวลาประมาณ 45-50 วัน จะสามารถนำไปปลูกลงถุงเพื่อเลี้ยงให้ต้นแข็งแรงก่อนนำไปปลูกในแปลง วิธีนี้จะได้ผล 40-50 % การชำราก คือการตัดส่วนของรากเจตมูลเพลิงขาวที่อยู่ใต้ดินนำมาชำกับวัสดุปักชำตัดรากยาวประมาณ 2 นิ้วใช้เวลา 60-90 วัน จะเริ่มแตกยอดและรากใหม่ 6 เดือนพร้อมปลูกได้ วิธีนี้จะได้ผล 80-90%

องค์ประกอบทางเคมี

ราก มี plumbagin, 3-biplumbagin, 3-chloro plumbagin, isozeylinone, zeylinone, chitranone, sistosterol, elliptinone, droserone protease, glucose และ fructose

 รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเจตมูลเพลิงขาว

โครงสร้างเจมูลเพลิงขาว

Plumbagin

  

โครงสร้างเจตมูลเพลิงขาว

 3-chloroplumbagin

 

  เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว 

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว

จากการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาได้มีการนำเอาสารสกัดหยาบจากต้นเจตมูลเพลิงขาวมาศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ กัน เช่น
1. Hypothermic activity
2. Antibacterial activity ต่อเชื้อดังต่อไปนี้ Proteus vulgaris , Pseudomonas aeroginosa , Salmonella gallnarum , Klebsella pneumonia , Staphylococcus albus , Escherichia coli และ Staphylococcus aureus
3. Antiyeast ต่อเชื้อ Candida albican
4. Antihepatotoxic activity
5. Hyperglycemic activity
6. เพิ่มปริมาณ plasma bilirubin
อาทิเช่น มีฤทธิ์ต่อมดลูกโดยเฉพาะในสัตว์กำลังท้องจะมีความไวเป็น พิเศษ ความเข้มข้น 1.0 X10 -8มีฤทธิ์กระตุ้น แต่ถ้าขนาด 1.0 X 10 -7 จะยับยั้งการบีบตัวของมดลูกกระต่าย ถ้าฉีดจำนวนพอประมาณเข้าช่องท้องหนูขาวที่กำลังท้อง จะทำให้ลูกในท้องตายและทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ สารสกัดจากรากโดยใช้แอลกอฮอล์หรือนํ้ามีฤทธิ์ต้านแบคที-เรีย Micrococcus pyogenes var. aureus, Salmonella typhi และ Mycobacterium phlei นอกจากนี้สารสกัดโดยแอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์กำจัดเพลี้ยได้อีกด้วย
เจตมูลเพลิงขาวมีฤทธิ์ต่อการเต้นของหัวใจและมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้น หรือทำให้ประสาทสงบระงับ (ได้แก่พวกหนูตะเภา กระต่าย และกบ) หากใช้สารสกัดจากเจตมูลเพลิงขาว (Plumbagin) ในอัตราส่วน 0.1 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายทดลอง พบว่าจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลองให้ตื่นตัว แต่หากใช้ในอัตราส่วนมากจนเกินไป จะทำให้ประสาทส่วนกลางตายด้าน จนหมดความรู้สึก มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตและหยุดการหายใจของกระต่าย หากนำสารสกัดเจตมูลเพลิงมาฉีดเข้าที่ตัวของหนูหรือกระต่ายในอัตราส่วน 10 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม พบว่าจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งการหายใจและความดันได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตลดลง เนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอยยับยั้งการเต้นของหัวใจให้ลดลง แต่ถ้าใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้ในที่สุด

รับผลิตสมุนไพร


การศึกษาทางพิษวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว

ไม่มีข้อมุลการศึกษาทางพิษวิทยาของเจตมูลเพลิงขาว
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเจตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า) เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้

 

เอกสารอ้างอิง

1. เจตมูลเพลิงขาว มีสรรพคุณดังนี้ .ไทยเกษตรศาสตร์ (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaikasart.com
2. Dinda, B. and Chel, G. 1992. 6-Hydroxyplumbagin, a naphthoqulnone from Plumbago indica. Phytochemistry, 31:1;3652-3653.
3. กรวิภา จารุพันธ์ , เดชา ศรีพจนารถ , ธนศรี แสงรุ้ง.รายงานการวิจัย.การเหนี่ยวนำให้เกินรากเพาะเลี้ยงจากต้นเจตมูลเพลิงขาว.ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.2540.20หน้า
4. เจตมูลเพลิงขาว.กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนาราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี.
5. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “เจตมูลเพลิงขาว (Chetta Mun Phloeng Khao)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 97.
6. เจตมูลเพลิงขาว,ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php/main.php?action=viewpage&pid=37
7. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เจตมูลเพลิงขาว”. หน้า 173.
8. เจริญ สุขพงษ์.2533.คู่มือแนะนำลักษณะและประโยชน์ของสมุนไพร พรรณไม้ที่วงการวิทยาศาสตร์ยอมรับ.สำนักพิมพ์หมึกจีน,กรุงเทพฯ.120 น.
9. พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ . 2532 . คู่มือการใช้สมุนไพร.พิมพ์ครั้งที่ 4, หจก.ภาพพิมพ์ จำกัด,กรุงเทพฯ298 น.
10. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “เจตมูลเพลิงขาว”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 184.
11. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “เจตมูลเพลิงขาว”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 230-232.