ถั่วขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ถั่วขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 9ข้อ

ชื่อสมุนไพร  ถั่วขาว เป็นชื่อที่ ม.จ. ภีศเดช รัชนีองค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวงทรงอนุมัติให้ใช้ และทรงสนับสนุนให้มีการส่งเสริมควบคู่ไปกับถั่วแดงหลวงถั่วขาวเป็นพืชตระกูลเดียวกับถั่วเหลืองถั่วปากอ้า ถั่วแขก และถั่วพู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่นอ  ถั่วขาว ถั่วนา ถั่วฝักยาว (ภาคกลาง) ถั่วดอก ถั่วปี ถั่วหลา (ภาคเหนือ) โถ่วขาว (ไทใหญ่)
ชื่ออื่นๆ  White Kidneys Beans , Navy bean , ถั่วแฮร์คอต (Haricot bean)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Phaseolus vulgalis L.
ชื่อวงศ์  Fabaceae

ถิ่นกำเนิดถั่วขาว

ถั่วขาว (White Kidneys Beans) เป็นถั่วที่ชาว แอชเทกส์ (Aztecs) นำเข้ามาปลูกในอเมริกากลางลักษณะคล้ายกับถั่วฝักยาว และ ถั่วบอร์ลอตติ (Borlotti bean) มีต้นกำเนิดในพื้นที่สูง ในแถบประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา หลังการค้นพบทวีปอเมริกาได้กระจายเข้าสู่ทวีปยุโรปและทวีปอื่นๆต้องการอากาศหนาวเย็นในช่วงการเจริญเติบโต ส่วนในประเทศไทยมีการปลูกถั่วขาวในพื้นที่โครงการหลวง ได้แก่ พันธุ์ปางดะ 2 ที่สามารถปลูกได้ดีและให้ผลผลิตสูง ถั่วขาวนี้เป็นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นโดย มจ.ภีศเดช รัชนี (องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง) รวมถึงสนับสนุนให้มีการศึกษาและทดลองปลูกในโครงการหลวงแถบภาคเหนือ เมื่อประสบความสำเร็จแล้วจึงได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ปลูกควบคู่ไปกับถั่วแดงหลวงของโครงการหลวงด้วย (เชื่อว่าการกระจายพันธุ์น่าจะเกิดจากทหารหรือคนเรือที่ไปทำสงคราวหรือการค้านำติดตัวไปปลูกยังยุโรปรวมถึงประเทศอาณานิคมต่างๆ) แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าในปัจจุบันนี้ไทยเราสั่งนำเข้าถั่วขาวจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความต้องการในประเทศมากกว่าจำนวนที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ดังนั้นในทางการเกษตรกรรมจึงนับได้ว่าถั่วขาวเป็นพืชที่น่าจับตามองอีกชนิดหนึ่งเลยทีเดียว
 

ประโยชน์และสรรพคุณของถั่วขาว

  1. เป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ
  2. ช่วยให้ร่างกายลดการดูดซึมสารอาหารประเภทแป้งได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  3. ช่วยเผาผลาญไขมันเปลี่ยนเป็นพลังงานแทน
  4. ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
  5. ฟื้นฟูในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน
  6. ช่วยระบบขับถ่าย
  7. แก้ปัญหาท้องผูก
  8. ช่วยสร้างและซ่อมแซมเซลล์
  9. ช่วยฟื้นฟูเซลล์และอวัยวะที่เสื่อมสภาพ

          ถั่วขาว มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารที่จำเป็น เช่น คาร์โบไฮเดรต วิตามิน มีกากและเส้นใยอาหารและมีสารช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟ่า-อะไมเลส ทำให้ลดการสะสมแป้งในร่างกาย การใช้ประโยชน์ของถั่วขาว ได้ถูกนำมาแปรรูปทางด้านอุตสาหกรรมและอาหารพร้อมบริโภคต่างๆ หลากหลาย เช่น ถั่วขาวในกาแฟและโกโก้ ซุปครีมถั่วขาว ถั่วขาวผสมคอลลาเจน ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศหรือนำมาทำเป็นผลิตเสริมอาหารผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เช่น ส้มแขก พริกไทยดำ กระบองเพชร ไคโตซาน ก็ได้เช่นกัน

ลักษณะทั่วไปถั่วขาว

ถั่วขาวมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนถั่วแดงหลวง และถั่วแขก กล่าวคือ เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียวทรงต้นเป็นพุ่มเตี้ย และทอดยอดเป็นบางพันธุ์ ใบเป็นชุดประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบย่อยอาจกว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับพันธุ์มีระบบรากแก้วหยั่งลึกลงดิน ดอกออกเป็นช่อ มีลักษณะเช่นเดียวกับดอกถั่วทั่วๆ ไป โดยธรรมชาติเป็นพืชผสมตัวเอง ภายหลังการผสมพันธุ์ฝักจะเจริญออกมายาว ฝักอาจกลมหรือแบนประกอบด้วยเมล็ดหลายเมล็ด เมล็ดมีสีขาว ลักษณะกลมมีขนาดเล็กกว่าเมล็ดถั่วแดงหลวง ถั่วขาวมีจำนวนโครโมโซม 22 โครโมโซม(2n=2x=22) เท่ากันกับถั่วแดงหลวงและถั่วแขก
           ถั่วขาวในประเทศไทยจัดเป็นพืชที่นำเข้าจากต่างประเทศตามถิ่นกำเนิดของพืช ความเหมาะสมของพื้นที่ที่ใช้ปลูกในประเทศไทยจึงอยู่ในเขตบนที่สูงที่มีอากาศเย็นที่ระดับความสูงประมาณ 800 - 1,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล อุณหภูมิในช่วงการเจริญเติบโตควรอยู่ระหว่าง18.3 - 23.9 องศาเซลเซียส อากาศร้อนกว่า 24 องศาเซลเซียส อาจทำให้การผสมเกสรไม่ดีดอกร่วง อากาศเย็นและชื้น ฝนชุกก็จะทำให้การเติบโตไม่ดี และไม่ทนต่อการเกิดน้ำค้างแข็ง
 

การขยายพันธุ์ถั่วขาว

การปลูกถั่วขาว ดินที่ปลูกควรมีความอุดมสมบูรณ์และมีการระบายน้ำได้ดีไม่เป็นกรดจัด ดินที่ใช้ปลูกได้ผลผลิตดีควรมีระดับความเป็นกรด (pH) 6.5 - 6.8 ระยะปลูกระหว่างหลุม และระหว่างแถวควรจะอยู่ประมาณ25×50 เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ดีประมาณ 10 กิโลกรัม/ไร่โดยหยอดหลุมละ 4 - 5 เมล็ด
           โครงการวิจัยและพัฒนาถั่วที่สูง มูลนิธิโครงการหลวงได้นำถั่วขาวมาพัฒนาและศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกบนที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น โดยทดลองปลูกที่สถานีเกษตรหลวงปางดะและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวระหว่างปี 2541 – 2547 พันธุ์ถั่วขาวที่ศึกษาได้แก่ พันธุ์ปางดะ 1 ปางดะ 2 ปางดะ 3 และ ปางดะ 4 จากการศึกษา พบว่า ผลผลิตเฉลี่ยของทั้ง 5 ฤดูปลูกของถั่วขาวแต่ละพันธุ์แตกต่างกันระหว่างพันธุ์ ถั่วขาวพันธุ์ปางดะ 1 ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงสุด 238.6 กิโลกรัมต่อไร่รองลงมาคือสายพันธุ์ปางดะ 2 ปางดะ 4 และปางดะ 3แต่ละพันธุ์มีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยทั้ง 5 ฤดูปลูก 67-82 วันโดยที่พันธุ์ปางดะ 4 มีอายุเก็บเกี่ยวนานที่สุด รองลงมาได้แก่พันธุ์ปางดะ 1 2 และ3 แต่ในปัจจุบันพันธุ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกคือ ปางดะ 2 และฤดูปลูกที่เหมาะสมอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนธันวาคม
 

สารสกัดที่ได้จากการสกัดเมล็ดถั่วขาว

การนำเมล็ดถั่วขาวมาสกัดด้วยน้ำพบสาร ฟาซิโอลามิน(Phaseolamin) ในส่วนของโปรตีน ที่สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟา-อะไมเลส(alpha-amylase) ซึ่งมีหน้าที่ย่อยแป้งดิบและแป้งสุกที่ลำไส้เล็ก ทำให้อาหารประเภทแป้งที่เราบริโภคเข้าไปไม่เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลทั้งหมด โดยสารฟาซิโอลามินในถั่วขาว มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการย่อยแป้งเป็นน้ำตาบถึง 66% แป้งที่เราบริโภคเข้าไปจึงไม่ถูกดูดซึมสู่ร่างกายทั้งหมด การสะสมของไขมันที่เกิดจากการเปลี่ยนรูปของน้ำตาลจึงลดลงด้วย เมื่อร่างกายได้รับพลังงานลดลงจึงดึงเอาไขมันเก่าที่สะสมไว้มาเผาผลาญทำให้ไขมันในร่างกายลดลงด้วย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของถั่วขาว 

ถั่วขาว

 

 

ถั่วขาว

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของถั่วขาว

สารฟาซิโอลามิน ถูกค้นพบจากสารสกัดจากถั่วแดงหลวง (kidney bean) ในปีค.ศ. 1975 และในปีค.ศ. 1980 เริ่มมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของสารสกัดฟาเซโอลามิน โดยกล่าวว่ามีคุณสมบัติเป็นตัวบล็อกแป้ง (starch blockers) ใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและผู้ที่เป็นเบาหวาน ปีค.ศ. 2001 มีการศึกษาผลของสารสกัดจากถั่วขาว (Phase 2TM) ต่อการดูดซับแป้งน้ำหนักของคนที่รับประทาน และ Body fat mass โดยทดลองในคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 30 คน รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว (Phase 2TM) 500 มก. ก่อนมื้ออาหารอีกกลุ่มไม่ได้รับประทานสารสกัดจากถั่วขาว เป็นเวลา30 วัน ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากถั่วขาวมีค่า การดูดซับแป้งลดลงถึง 66% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทาน ซึ่งค่าดูดซับแป้งไม่ลดลงแต่อย่างใด

           นอกจากนั้นยังพบว่าหลังจากครบ 30 วัน น้ำหนักเฉลี่ยของกลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากถั่วขาวลดลง 6.45 ปอนด์(2.93 กก.) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน ซึ่งไม่มีผู้ใดน้ำหนักลดลงถึง 1 ปอนด์(0.45 กก.) เลย และยังพบว่ากลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากถั่วขาวมี Body fat mass ลดลงมากกว่า 10% และมีขนาดรอบเอวลดลงมากกว่า 3% ด้วยในปีค.ศ. 2004 มีรายงานการวิจัยของนายแพทย์Jay Udini และคณะยืนยันผลของสารสกัดถั่วขาวในลักษณะเดียวกัน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Alternative Medicine Review2004 :9 :1 ; 36-39. ในหัวเรื่อง “การศึกษาผลของ “Phase 2” ในการยับยั้งการดูดซึมคาร์โบไฮเดรตและลดน้ำหนัก”(Blocking Carbohydrate Absorbtion and Weight Loss: A Clinical Trial Using Phase 2 Brand Proprietary Fractionated White Bean Extract) โดยศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นคนอ้วน 50 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธี สุ่มตัวอย่าง กลุ่มแรกให้รับประทาน Phase 2 1,500 มก.วันละ 2 เวลาพร้อมอาหารส่วนอีกกลุ่มเป็น กลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับ Phase 2 จากการศึกษาพบว่า Phase 2 สามารถช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้และมีผลต่อการลดน้ำหนักและสัดส่วนดังตารางต่อไปนี้

 สารสกัดถั่วขาว

การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่วขาว

มีการศึกษาด้านความปลอดภัย พบว่าไม่พบอาการข้างเคียงอันตรายแบบเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อแป้งส่วนหนึ่งที่ไม่ถูกย่อย ผ่านเข้าไปสู่ลำไส้ใหญ่ อาจเกิดการหมักจากเชื้อจุลินทรีย์ และก่ออาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียนได้
           รูปแบบขนาดวิธีใช้ ปัจจุบันมีข้อมูลว่าการรับประทานสารสกัดจากถั่วขาวปริมาณ 500-3000 มก.ต่อวัน ช่วยให้ลดน้ำหนักได้
 

ขายส่งสมุนไพรเชียงดาวเฮิร์บ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

• หากรับประทานถั่วขาวสกัดในปริมาณมากเกินควรอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น จุกเสียดท้อง ท้องเสีย และท้องอืด ได้ ผู้ที่แพ้อาหารประเภทถั่วไม่ควรรับประทานสารสกัดจากถั่วขาว
• ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานถั่วขาวสกัด
• ผู้ที่เป็นโรคตับและโรคไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานถั่วขาว
• ผู้ที่กำลังรับประทานยาลดน้ำตาลอยู่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเช่นกัน เนื่องจากอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป
• จุดเด่นของสารสกัดจากถั่งขาว คือ สกัดการย่อยอาหารกลุ่ม ข้าวแป้ง จึงเหมาะกับบุคคลที่พบปัญหาการบริโภคอาหารประเภทข้าว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว มากเกินพอดี ผู้ที่อ้วนเพราะชอบบริโภค ขนมหวาน น้ำตาล หรือ อาหารที่อุดมไปด้วยไขมัน เนื้อสัตว์ ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากถั่วขาว
• ก่อนซื้อควรอ่านฉลากดูปริมาณของสารสกัดจากถั่วขาวที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่ควรหวังผลด้านลดน้ำหนัก หากปริมาณที่ได้รับจาการบริโภคต่อวัน น้อยกว่า 500 มิลลิกรัม ซึ่งจะเห็นว่าหลายผลิตภัณฑ์โฆษณาว่ามีสารสกัดจากถั่วขาว แต่ปริมาณมีเพียงเล็กน้อย
• ควรต้องคำนึงถึงช่วงระยะเวลาในการบริโภคด้วย ช่วงที่จะเกิดประโยชน์มากที่สุด ควรบริโภคก่อนอาหารมื้อหลักพร้อมน้ำ
• ควรบริโภคก่อนอาหารอย่างน้อย 1 - 2 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะผ่านออกจากกระเพาะอาหารใช้เวลาประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง
• ผู้ที่รับประทานถั่วขาวสกัดเพื่อลดน้ำหนัก ควรออกกำลังกายเพิ่มเติมและคุมอาหารประเภทอื่นๆที่นอกจากแป้งร่วมด้วย เนื่องจากการรับประทานอาหารเสริมลดน้ำหนักเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่เห็นผลเร็วเท่าการดูแลตัวเองร่วมด้วย
  

เอกสารอ้างอิง

1. ลักขณา ร่มเย็น ถั่วขาวพืชมหัศจรรย์บนที่สูง,คอลัมน์เคียงบ่าชาวไร่.หนังสือพิมพ์ กสิกร ปีที่ 82 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม – สิงหาคม 2552,หน้า 32 – 34
2. ถั่วขาว.โครงการองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก. สมุนไพร
http://hkm.hrdi.or.th/know/edge/detail/277
3. แผ่นพับการปลูกพืชไร่บนพื้นที่สูง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย
4. สุมินทร์ สมุทคุปติ์.2543.แนวทางการวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์และการพัฒนาการผลิตพืชตระกูลถั่วบนพื้นที่สูง.โครงการวิจัยและพัฒนาถั่วบนพื้นที่สูง.มูลนิธิโครงการหลวง.เชียงใหม่.80 หน้า
5. สุมินทร์ สมุทคุปติ์.2549.วิจัยและพัฒนาถั่วบนพื้นที่สูง:รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์.มูลนิธิโครงการหลวง,เชียงใหม่.130 หน้า
6. สารสกัดจากถั่วขาว มหัศจรรย์ ลดอ้วน ชัวร์ หรือ มั่วนิ่ม .คอลัมน์ เคล็ด(ไม่)ลับ เพื่อประโยชน์ในการเลือกบริโภค.คู่มือโครงการอย่าหลงเชื่ออ่าน.ศูนย์วิทยาบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.กระทรวงอาหารและยา.กระทรวงสาธารณสุข
7. นส.รินทร์ลภัส พุกจินดา , นส.กฤติกา สิมปิทีป.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพจากสารสกัดถั่วขาวในรูปแบบเยลลี่.โครงการพิเศษหลักสูตร ปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
8. หนังสือตารางการแสดงคุณค่าทางโภชนาการชองอาหารไทย NUTRITIVE VALVES OF THAI FOODS DEPARTMENT OF HEALTH MINISTRY OF PUBLIC HEALTH SEPTEMBER 2011
9. อาจารย์ ดร.อัจฉรา หัตถโกศล.สุขภาพดีด้วยถั่ว.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ชุดโครงการ “รวมพลังขยับกายสร้างสังคมไทย ไร่พุง” .เครือข่ายคนไทยไร้พุง.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย.
10. Jay Udini, et al. Blocking Carbohydrate Absorbtion and Weight Loss : A Clinical Trial Using Phase 2 Brang Proprietary Fractionted White Bean Extract.Alternative Medicine Review.2004:9:1;36-39
11. ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์.เปิดประเด็จฮอต:กระแสผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกับสุขภาพ ข้อเท็จจริงกับสิ่งที่ต้องพึงระวัง.ภาควิชาโภชนาวิทยา.คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า 51-52
12. สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.ลองสารสกัดถั่วขาวอย่างไรคุ้มมากที่สุด
13. ถั่วขาว.vitamin villa.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://vitaminrilla,com/whita-bean